บันทึกสืบพยานคดี 112 ของ “ไมค์ ภาณุพงศ์” เหตุโพสต์จดหมายในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” ปี 63 ต่อสู้ว่าเป็นการตั้งคำถามต่อกษัตริย์เท่านั้น

วันที่ 28 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรม กรณีการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563

คดีนี้มี แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564  ภาณุพงศ์ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พร้อมกับ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาจากการโพสต์ “ราษฎรสาส์น” ถึงกษัตริย์เช่นเดียวกัน โดยทั้งสองถูกแจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ต่อมาในวันที่ 23 ก.ย. 2564 วิวัฒน์ ศิริชัยสุทธิกร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า 

จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก ได้โพสต์ข้อความว่า “#คุณคิดว่า คุณยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตย หรือศพของประชาชนแล้วคุณจะสง่างามหรอ … #ประชาสาส์น #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” (ระบุชื่อของรัชกาลที่ 10) 

ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ดูหมิ่น ทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย อันเป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยการโพสต์ของจำเลยดังกล่าวทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้ามากดไลค์, มีความคิดเห็น และแชร์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ภายหลังจากที่ศาลอาญารับฟ้องก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ทำให้ภาณุพงศ์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กระทั่งในวันที่ 23 พ.ย. 2564 ในการยื่นประกันครั้งที่ 5 ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ให้อยู่ในเคหสถานตลอดเวลา, ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัว (EM) และให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแล รวมระยะเวลา 62 วันที่ภาณุพงศ์ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีนี้

อ่านฐานข้อมูลคดี: คดี 112 “ไมค์-ภาณุพงศ์” โพสต์ตั้งคำถาม รัชกาลที่ 10 ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น”

.

คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค., 1 ก.ย. 2566 และ 31 ม.ค. 2567 โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 7 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบ 1 ปาก ได้แก่ จำเลยที่อ้างตนเป็นพยาน

ภาณุพงศ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา  โดยรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊คและโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง แต่มีข้อต่อสู้ว่า โพสต์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 

นอกจากนี้ จำเลยไม่ได้มีเจตนาใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 แต่ต้องการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ตอนนั้นที่รัฐกับประชาชนขัดแย้งกัน โดยถามว่าพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทในการเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร และในข้อความไม่มีคำด่า ไม่มีคำหยาบคาย

.

แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 ขณะพยานอยู่ที่บ้านที่จังหวัดพิษณุโลก ได้พบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งมีรูปของภาณุพงศ์เป็นรูปโปรไฟล์ โพสต์ข้อความประมาณว่า เหยียบบนซากศพของประชาชน มีการติด #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเอ่ยพระนามรัชกาลที่ 10 เป็นโพสต์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563

ขณะนั้นบัญชีดังกล่าวมียอดผู้ติดตามประมาณ 90,000 คน มียอดไลค์ข้อความดังกล่าว 6,100 ไลค์ คอมเมนต์ 232 ครั้ง และแชร์ 150 ครั้ง 

พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 10 จึงเดินทางไปแจ้งความที่ บก.ปอท. พนักงานสอบสวนรับเป็นคดี และเรียกให้พยานไปให้การในฐานะผู้กล่าวหา

พยานเบิกความว่า เท่าที่พยานทราบ จำเลยเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ขณะนั้นพยานเป็น CEO ของ ศชอ. (ศาลไม่ได้จดบันทึก) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยคอยตรวจสอบและดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับล้มล้างหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

พยานแจ้งความให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับบุคคลแค่ 2 คน คือ อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ หรือมากที่สุดไม่เกิน 4 คน เคยเป็นพยานในชั้นตำรวจไม่เกิน 5 คดี และเป็นพยานในชั้นศาล 2 คดีรวมคดีนี้

พยานรู้จักจำเลยจากสื่อโซเชียลมีเดียว่าเป็นทีมเดียวกับอานนท์, “เพนกวิน” พริษฐ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา ที่ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยด่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และรับว่า กลุ่มของจำเลยมีการเคลื่อนไหวที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มของพยาน

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ศชอ. จะให้ความช่วยเหลือในคดีการบูลลี่ (bully) แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีทนายความในทีม เพียงแค่ไปปรึกษากับทนายความที่รู้จัก และพยานเป็นลูกตำรวจจึงพอจะรู้กฎหมายอยู่บ้าง

ทนายจำเลยถามว่า ประโยคตามฟ้องเป็นประโยคคำถามใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ต้องดูว่า ข้อความ “คุณคิดว่า…” นั้น ถามใคร ถามประชาชนทั่วไปหรือรัชกาลที่ 10 จึงทั้งใช่และไม่ใช่ประโยคคำถาม

ทนายจำเลยถามอีกว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่ารัชกาลที่ 10 ทำลายระบอบประชาธิปไตยหรือยืนบนซากศพประชาชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ

ทนายความถามต่อไปว่า ประชาชนทั่วไปมีสิทธิตั้งคำถามต่อพระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานตอบว่า ตั้งคำถามในสิ่งที่ถูกที่ควรได้ ทนายความถามเพิ่มเติมว่า ต้องตั้งคำถามในสิ่งที่เรียกร้องให้ดีขึ้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

จากนั้นทนายจำเลยให้พยานดูภาพข่าวแล้วถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เคยรับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 พยานตอบว่า เคยเห็นข่าวจากทีวีแต่ไม่ทราบรายละเอียด น่าจะมาจากรัชกาลที่ 9 ก่อนตอบทนายจำเลยว่า ในการไปแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 นั้น พยานไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต แต่เป็นการทำหน้าที่ในฐานะประชาชนคนไทย 

จากนั้นพยานเบิกความตอบพนักงานอัยการถามติงว่า ที่พยานตอบทนายจำเลยว่า ข้อความว่า “คุณคิดว่า” นั้น เป็นทั้งคำถามและไม่ใช่คำถาม เนื่องจากพยานเห็นว่าจำเลยหมายถึงประชาชนทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาอ่าน ส่วนข้อความต่อจากนั้นเป็นมีลักษณะใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 เมื่ออ่านทั้งประโยคพยานเห็นว่า จำเลยต้องการสื่อว่า รัชกาลที่ 10 ยืนอยู่บนซากศพของประชาชน เปรียบดังในหลวงเป็นฆาตกร ซึ่งพยานเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร เป็นความผิดตามมาตรา 112  

.

พ.ต.ท.ภาคิน ไกรกิตติชาญ สารวัตรกองกำกับการ 3 บก.ปอท. เบิกความว่า คดีนี้มีผู้มาแจ้งความว่ามีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 เมื่อวันเวลาใดจำไม่ได้ 

พยานเริ่มการสืบสวนเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 โดยการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย พบเห็นข้อความตามที่มีการแจ้งความจริง ในตอนนั้นเฟซบุ๊กของจำเลยมีผู้ติดตาม 101,094 คน และยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดโดยการโพสต์เชิญชวนชุมนุมและเกี่ยวกับประชาธิปไตย 

จากการตรวจสอบเชื่อว่าเป็นเฟซบุ๊กของจำเลยจริง เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดภาพตนเองและเผยแพร่เอกสารที่ถูกดำเนินคดีซึ่งเป็นเอกสารส่วนตัว และจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่ นอกจากนี้จำเลยยังไม่ได้มีการแจ้งความว่ามีผู้ปลอมเฟซบุ๊กของตน

จากนั้นพยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยเพื่อยืนยันตัวตนและตรวจสอบการโพสต์ข้อความที่มีการกล่าวหานั้น พยานเห็นว่า ได้ตรวจสอบโดยละเอียดแล้วในระดับหนึ่ง แต่พยานจำไม่ได้ว่า จำเลยมีการโพสต์ข้อความในประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เช่น เหตุการณ์น้ำมันรั่ว หรือสิทธิเด็ก หรือไม่ เนื่องจากพยานดูเพียงแค่ประเด็นที่เกี่ยวกับการแจ้งความ

ทนายจำเลยถามว่า ประโยคที่จำเลยโพสต์เป็นประโยคคำถามใช่หรือไม่ พยานตอบว่า อยู่ที่การตีความ ส่วนตัวพยานเห็นว่า เป็นประโยคบอกเล่าผสมคำถาม 

ทนายความถามเพิ่มเติมว่า ไม่ได้เป็นประโยคที่ยืนยันว่าใครทำให้ประชาธิปไตยพังหรือเหยียบบนซากศพของประชาชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่แน่ใจ 

.

นพคุณ ทองถิ่น กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ติดต่อให้ไปให้ปากคำในฐานะพยาน ในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ติดต่อมาวันเวลาใดพยานจำไม่ได้

พนักงานสอบสวนให้พยานดูภาพโพสต์ของจำเลย พยานดูแล้วเห็นว่า ผู้โพสต์ต้องการจูงใจให้ผู้ที่เข้ามาอ่านเชื่อว่า รัชกาลที่ 10 อยู่เบื้องหลังการฆ่าประชาชนและทำลายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการดูถูกและให้ร้ายรัชกาลที่ 10 เป็นความผิดตามมาตรา 112 ทั้งนี้ โพสต์ของจำเลยชี้ชัดว่ากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เพราะมีการติดแฮชแท็กและเอ่ยพระนามโดยไม่ให้เกียรติ

นพคุณเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเป็นหนึ่งในสมาชิก ศปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่จงรักภักดี รวมตัวกันคอยสอดส่องดูแลคนที่จะมาทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และช่วยเหลือประชาชนด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ผู้ป่วยติดเตียง ไม่ใช่แค่แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 

กลุ่ม ศปปส. ไม่เคยจับจ้องเอาผิดบุคคลที่เห็นต่าง แต่เมื่อคนโจมตีสถาบันกษัตริย์ ประชาชนที่พบเห็นก็จะส่งข้อมูลมาให้กลุ่ม ซึ่งกลุ่มก็จะปรึกษาผู้รู้กฎหมายก่อนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากผิดจึงจะไปแจ้งความดำเนินคดี

นอกจากกลุ่ม ศปปส. ในประเทศไทยยังมีอีกหลายกลุ่มที่ทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน แต่พยานไม่ทราบว่าแต่ละกลุ่มดำเนินการอย่างไร เพราะต่างคนต่างทำ แต่หากจะมาร่วมกับ ศปปส.ก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งกลุ่ม ศชอ. ของผู้กล่าวหานั้น ก็มาร่วมทำกิจกรรมกับ ศปปส. ในบางครั้ง โดยพยานรับว่า รู้จักผู้กล่าวหาในคดีนี้ แต่ไม่ทราบว่ามีตำแหน่งอะไรใน ศชอ.

พยานรับว่า กลุ่ม ศปปส. เคยแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ที่แสดงออกเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะเกือบ 100 คดี 

ทนายความถามว่า หากบุคคลใดแสดงตัวว่าเป็นแกนนำ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มพยานใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ในความคิดเห็นของพยาน การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้แล้ว ไม่ได้มีเจตนาจ้องทำร้ายคนที่เห็นต่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นปฏิปักษ์กัน ถ้าไม่เป็นความผิดก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้ามีการให้ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงจะดำเนินคดี

พยานทราบว่า จำเลยเคยปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พยานไม่เคยไปแจ้งความดำเนินคดีจำเลย 

กลุ่ม ศปปส. จะมีทีมงานที่ทำงานโดยแบ่งหน้าที่กันทำ แต่พยานไม่เคยนับจำนวนที่แน่นอน พยานเห็นว่าประชาชนทุกคนที่จงรักภักดีคือสมาชิก ศปปส.

พยานรับว่า ที่เบิกความตอบพนักงานอัยการว่าอ่านข้อความแล้วเข้าใจว่าในหลวงสั่งฆ่าประชาชนนั้น พยานไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน

ทนายความถามว่า ตามหลักภาษาไทย ข้อความที่จำเลยโพสต์ตามฟ้องเป็นประโยคคำถามใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เฉพาะข้อความว่า “คุณคิดว่า” เป็นประโยคคำถาม แต่เมื่ออ่านทั้งหมดไม่ใช่ประโยคคำถาม 

ทนายจำเลยถามต่อว่า มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง แต่เป็นการพูดในเชิงสัญลักษณ์ให้คนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิต บนซากศพและซากปรักหักพังของประชาธิปไตย 

ทนายจำเลยถามอีกว่า พยานเชื่อตามที่พยานโพสต์หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เชื่อ เพราะพยานจงรักภักดี เชื่อว่าอย่างไรพระองค์ก็ไม่ทำเช่นนั้น แต่ประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้เรื่องอาจถูกชี้นำให้เชื่อตามนั้นได้ ส่วนบุคคลใดจะเชื่อหรือไม่นั้น พยานเห็นว่าอยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละคน 

ต่อมา พยานตอบอัยการถามติง หลังจากอัยการให้ดูเอกสารซึ่งเป็นข้อความที่มีผู้มาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ตามฟ้องว่า ส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยและเชื่อตามที่จำเลยโพสต์ 

.

คมสัน โพธิ์คง เบิกความว่า พยานเคยเป็นอาจารย์ สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรังสิต มีประสบการณ์การสอนประมาณ 20 ปี เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน

พยานได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ให้ไปให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ของจำเลย เมื่อได้ดูข้อความพยานให้ความเห็นว่า เป็นการพูดถึงรัชกาลที่ 10 ว่ามีส่วนร่วมในการเข่นฆ่าประชาชน บนซากปรักหักพังของประชาธิปไตย มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 

พยานไม่ทราบว่า จำเลยมีเจตนามุ่งหมายอย่างไร แต่ข้อความมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พยานเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 

ก่อนตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่เคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เขียนตำรากฎหมายอาญา 2  ภาคความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงมาตรา 112  ซึ่งเป็นเอกสารการสอนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และพยานไม่เคยลงทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลใด ๆ

ทนายความถามว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นประโยคคำถามใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นประโยคคำถามในเชิงอธิบาย เหมือนการเปรย ไม่ต้องการคำตอบ

ทนายจำเลยถามอีกว่า ข้อความมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามที่โจทย์กล่าวอ้างหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีลักษณะยืนยันข้อเท็จจริง แต่มีลักษณะเป็นการกล่าวหาหรือต่อว่า เหมือนตั้งคำถามแต่เป็นการต่อว่า 

ทนายความจึงถามต่อว่า ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น หากการกระทำไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีพื้นฐานมาจากสิทธิความเป็นส่วนตัว คือ Right to Privacy ซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องที่กล่าวหาเป็นความจริงหรือเท็จ แต่หากกระทบชื่อเสียงส่วนตัวก็เป็นความผิด ซึ่งรวมถึงฐานความผิดตามมาตรา 112 ด้วย ดังนั้น แม้การกระทำจะไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง แต่หากมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น ทำให้เข้าใจหรือเกิดข้อสงสัยว่า ผู้กระทำทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ ก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

พยานตอบเพิ่มเติมว่า ข้อความตามฟ้องไม่มีข้อความที่บอกว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่งฆ่าประชาชนหรือทำให้ระบอบประชาธิปไตยพัง แต่ข้อความดังกล่าวทำให้เข้าใจเช่นนั้นได้ 

พยานยังเบิกความตอบพนักงานอัยการถามติงด้วยว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำถามเชิงชี้นำว่า รัชกาลที่ 10  มีส่วนร่วมในการทำลายระบอบประชาธิปไตย และเข่นฆ่าประชาชน

.

พัลลภา เขียนทอง ประชาชนทั่วไป เบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ขณะพยานไปแจ้งความคดีหมิ่นประมาทส่วนตัว มีตำรวจมาถามว่าพอจะมีเวลาหรือไม่ ขอความเห็นของประชาชนว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับข้อความของภาณุพงศ์

พยานอ่านข้อความที่ตำรวจให้ดูแล้วให้ความเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยมีการกล่าวอ้างพระนามของรัชกาลที่ 10 ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่ทราบว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) คืออะไร และมาตรา 112 เขียนว่าอะไร แต่ตอนไปให้การตำรวจระบุว่าโพสต์เป็นความผิดตามข้อหาดังกล่าว 

คดีหมิ่นประมาทออนไลน์ที่พยานไปแจ้งความนั้น พยานไม่ทราบชื่อนามสกุลจริงของผู้ถูกกล่าวหา โดยขอให้ บก.ปอท. สืบหา

พยานเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ใช่การตั้งคำถาม และประชาชนทั่วไปมีสิทธิตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์, นายกรัฐมนตรี หรือบุคคลสาธารณะ แต่ต้องไม่ใช้ข้อความรุนแรง ส่วนข้อความดังกล่าวเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า พระมหากษัตริย์ทำให้ประชาธิปไตยพังทลายหรือเข่นฆ่าประชาชนหรือไม่นั้น พยานยืนยันตามที่ให้การในชั้นสอบสวน 

พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ และ ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร พนักงานสอบสวน บก.ปอท. เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ผู้กล่าวหามาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ภาณุพงศ์ จาดนอก และนำพยานหลักฐานเป็นหน้าบัญชีเฟซบุ๊กที่ปรินท์มาให้พนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

จากนั้น พยานได้ตรวจสอบว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงตามที่ผู้กล่าวหามาแจ้งความ จึงมีการรับคำร้องทุกข์เป็นคดีและสอบปากคำผู้กล่าวหา

ต่อมา ได้เสนอต่อผู้บังคับบัญชา จึงมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งของ บก.ปอท. ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 558/2563 ลงวันที่ 30 ต.ค. 2563 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยพยานทั้งสองเป็นพนักงานสอบสวนร่วม

ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ พยานได้สอบปากคำประชาชนทั่วไป ทั้งประชาชนที่มาติดต่อราชการที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และนักวิชาการทางกฎหมาย ซึ่งล้วนเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ต่อมา คณะพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเสนอผู้บังคับบัญชา และมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย ก่อนส่งสำนวนให้กับอัยการ พร้อมมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของจำเลยติดสำนวนไว้

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ในคณะทำงาน เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานและพิจารณาว่ามีน้ำหนักพอหรือไม่ ก่อนมีความเห็นเสนอหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนการพิจารณาสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องนั้น เป็นการตัดสินใจของหัวหน้าคณะทำงาน 

ในการคัดเลือกพยานมาให้ปากคำอย่างไร พยานคัดเลือกจากประชาชนที่มาติดต่อราชการที่ บก.ปอท. ในคดีอื่นว่า ยินดีให้ความคิดเห็นกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ โดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกพยาน 

พยานไม่ทราบว่า พยานปากนพคุณอยู่กลุ่ม ศปปส. ซึ่งมีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์กับจำเลย ไม่ได้สอบปากคำเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองของพยานปากดังกล่าว และไม่ทราบว่า นพคุณเป็นพยานในคดีมาตรา 112 หลายคดี เนื่องจากพยานเพิ่งเคยสอบปากคำพยานปากดังกล่าวครั้งแรก และไม่ทราบว่า พยานปากพัลลภาเป็นพยานในคดีมาตรา 112 หลายคดี

พยานไม่ได้ออกหมายเรียกเลขาธิการสำนักพระราชวังมาเป็นพยานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยในชั้นสอบสวนตามที่จำเลยร้องขอ เนื่องจากพยานและผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง

พยานไม่ทราบว่า ประโยคตามคำฟ้องเป็นประโยคคำถามหรือไม่ และไม่ทราบว่า มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่ารัชกาลที่ 10 ทำลายประชาธิปไตยหรือสั่งฆ่าประชาชนหรือไม่ พยานเป็นแค่คนรวบรวมความเห็นของพยานความเห็นเท่านั้น แต่รับว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีคำหยาบ

ในฐานะเจ้าพนักงาน ปอท. พยานทราบว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโพสต์ไม่สามารถควบคุมการแสดงความเห็นของบุคคลอื่นในโพสต์ได้ แต่สามารถตรวจสอบและลบข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ 

ด้าน ร.ต.อ.บูรฉัตร เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเป็นผู้อาวุโสน้อยสุดในคณะพนักงานสอบสวน เป็นคนจัดพิมพ์เอกสารต่าง ๆ และร่วมเสนอความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่เพื่อเสนอผู้บังคับบัญชา  

ในวันที่พยานเชิญพัลลภามาให้ปากคำ พัลลภาได้มาแจ้งความคดีหมิ่นประมาททางเฟซบุ๊ก โดยขอให้ตรวจสอบ URL และยืนยันตัวบุคคล พยานจึงเรียกให้มาเป็นพยานในคดีนี้ พยานยืนยันว่า พยานปากนพคุณ และพัลลภา ไม่ได้มาจากการจัดสรร แค่เป็นประชาชนที่มาในคดีอื่น

ส่วนพยานปากคมสัน คณะทำงานฯ เป็นผู้สืบเสาะหาและติดต่อไปให้มาเป็นพยานในคดีนี้ แต่พยานไม่ทราบว่า คมสันเคยมาเป็นพยานให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 คดีอื่นด้วยหรือไม่ 

ทนายความถามว่า พนักงานสอบสวนมีหน้าที่พิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของจำเลย ทำไมจึงไม่เชิญพยานที่จำเลยร้องขอมาให้ปากคำเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ร.ต.อ.บูรฉัตร ตอบว่า หากไม่มีคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พยานไม่มีอำนาจตัดสินใจออกหมายเรียกตามที่จำเลยร้องขอได้

พยานเห็นว่า ข้อความตามฟ้องเป็นประโยคบอกเล่าหรือแจ้งให้ทราบ แต่ไม่มีลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงหรือแสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 10 ทำลายระบอบประชาธิปไตย หรือยืนอยู่บนซากปรักหักพังของประชาธิปไตยหรือศพของประชาชน และไม่มีคำหยาบคายที่เป็นการด่าทอต่อว่า

.

“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยอ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นนักศึกษา ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และทำงานเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ในอดีตเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ระยอง

เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานเคยได้รับอบรมและเข้าร่วมเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.ระยอง เป็นจิตอาสา 904 รุ่นแรกของประเทศไทย ในช่วงที่รัชกาลที่ 9 สวรรคต และได้รับประกาศนียบัตรเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ก่อนออกมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้ยื่นพยานเอกสารเป็นหลักฐานส่งศาล

จุดเริ่มต้นของการออกมาเรียกร้องคือพลเอกประยุทธ์ทำการรัฐประหาร ปกติพยานทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนและสวัสดิการสังคมอยู่แล้ว จ.ระยอง มี GDP เป็นอันดับ 1 ของประเทศ เป็นเมืองท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พยานได้เรียกร้องเกี่ยวกับการเยียวยาและเรื่องที่รัฐบาลให้ทหารอียิปต์เดินทางเข้ามาใน จ.ระยอง 

หลังจากเรียกร้องกับรัฐบาล รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับประชาชน ฉีดน้ำ ใช้กระสุนยาง และรัฐบาลไม่มีการตอบสนองข้อเสนอใด ๆ จากประชาชน สภาวะในตอนนั้นเห็นว่ายังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จริง ๆ รัฐบาลประยุทธ์มีการตั้ง สว. และทำประชามติด้วยความไม่สุจริต สถานการณ์โรคโควิด-19 มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วย

รัฐบาลประยุทธ์มีการใช้ความรุนแรง ทำให้ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย พิการ พยานจึงตั้งคำถามกับพระมหากษัตริย์เพื่อให้พระองค์ช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อย้อนไปในยุคของรัชกาลที่ 9 พระองค์เคยมีบทบาทในการยุติความรุนแรง

บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของพยาน และพยานโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง 

หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรง ต้องยอมรับว่าไม่มีใครสามารถควบคุมรัฐบาลในตอนนั้นได้ แม้มีประชาชนออกมาเรียกร้องสูงถึง 200,000 คน มีเพียงแค่พระมหากษัตริย์ที่สามารถเป็นตัวกลาง อย่างเช่นในปี 2535 รัฐบาลสุจินดา คราประยูร ใช้ความรุนแรงถึงกับเข่นฆ่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยจำลอง ศรีเมือง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามามีบทบาทเรียกให้จำลองกับสุจินดาเข้าเฝ้า เจรจาพูดคุย หลังจากนั้นสถานการณ์จึงสงบลง

ข้อความที่พยานโพสต์ตามฟ้องไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์จะฆ่าหรือทำอะไรประชาชน ไม่ได้มีเจตนาใส่ร้ายว่าในหลวงกระทำ แต่ต้องการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ตอนนั้นที่รัฐกับประชาชนขัดแย้งกัน โดยถามว่าพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทในการเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร และในข้อความไม่มีคำด่า ไม่มีคำหยาบคาย

พยานไม่รู้จักบุคคลที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์ดังกล่าว และไม่ได้มีการนัดหมายให้มาแสดงความคิดเห็น โพสต์ของพยานเป็นสาธารณะ บุคคลอื่นสามารถมาแสดงความคิดเห็นได้ แต่พยานไม่ได้มีการโต้ตอบความคิดเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น โดยบุคคลที่มาแสดงความคิดเห็นมีมากกว่า 200 คน แต่ในพยานเอกสารของโจทก์ โจทก์คัดมาเพียงบางส่วนเท่านั้น

ก่อนและหลังวันที่โพสต์ข้อความดังกล่าว พยานไม่ได้โพสต์ข้อความในทำนองนี้อีก

พยานไม่เคยถูกพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก คดีของพยานอยู่ระหว่างพิจารณาคดีทั้งสิ้น 

ต่อมา ภาณุพงศ์เบิกความตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า ประกาศนียบัตรที่พยานได้รับเป็นทั้งช่วงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 

นอกจากคดีนี้ก็ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกหลายคดี โดยคดีมาตรา 112 ทุกคดีเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 10  และข้อความที่โพสต์มีการเอ่ยพระนามรัชกาลที่ 10

พนักงานอัยการถามว่า วัตถุประสงค์ของพยานคือไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ต้องการให้พระมหากษัตริย์ออกมาช่วยเหลือ แต่ทำไมข้อความของพยานไม่ได้มีการพูดถึงรัฐบาล พยานตอบว่า สถานการณ์ในขณะนั้นมีความรุนแรงของรัฐ พยานจึงเรียกร้องถึงพระมหากษัตริย์

อัยการถามต่อว่า คนที่มาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ตามฟ้อง ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ และพยานไม่ทราบว่า เฟซบุ๊กสามารถจำกัดบุคคลให้ไม่เห็นข้อความได้หรือไม่ 

พยานเห็นว่า ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะดูถูกหรือหมิ่นประมาท

ก่อนตอบทนายจำเลยถามติงว่า ในคดีมาตรา 112 ที่พยานถูกดำเนินคดี ล้วนมีเหตุมาจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเพื่อให้ประชาชนรักมากขึ้นกว่าเดิม

X