#วันเด็กแห่งชาติ ปีที่ 4: เด็ก-เยาวชน ยังอยู่ในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 230 คน

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2567 นับเป็นปีที่สี่แล้ว ที่เด็กและเยาวชนที่ออกมาชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ยังคงอยู่ภายใต้สถานการณ์การถูกดำเนินคดีที่สืบเนื่องมาจากความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา โดยยังมีคดีไม่น้อยกว่า 138 คดีที่ยังไม่สิ้นสุดลง และมีเด็กเยาวชนกว่า 230 คน ยังอยู่ในกระบวนการในคดีขั้นต่าง ๆ

ชวนทบทวนสถานการณ์การดำเนินคดีเด็กและเยาวชน ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา ปีที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผู้ถืออำนาจแล้วก็ตาม แต่การดำเนินคดีเหล่านี้ก็ยังดำเนินต่อไป

.

คดีเด็กเยาวชนนับเป็นราว 1 ใน 6 ของคดีทางการเมืองหลังปี 2563

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันที่ 12 ม.ค. 2567 พบเด็กและเยาวชนถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 286 คน ในจำนวน 217 คดี 

ในจำนวนนี้แยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 43 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

รอบปี 2566 ที่ผ่านไป มีคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 คดี มีเด็กที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ถูกกล่าวหาเพิ่มขึ้น 3 คน 

หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนคดีทางการเมืองทั้งหมดหลังการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เป็นต้นมา พบว่าสัดส่วนผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเด็กและเยาวชนคิดเป็นราวร้อยละ 17 ของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล หรือคิดอัตราส่วนเป็นประมาณ 1 ใน 6

ขณะที่เด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ “เอีย” เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี โดยขณะเกิดเหตุคดีแรกที่เขาถูกจับกุมที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 เขามีอายุเพียง 12 ปี 4 เดือนเศษ 

คดีนี้ของเอีย หลังการต่อสู้คดี ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเขามีความผิดตามฟ้อง แต่เห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 12 ปี ยังไม่ต้องรับโทษ ให้กล่าวตักเตือนและปล่อยตัวไป

.

คดียังดำเนินอยู่กว่า 138 คดี มีเด็กเยาวชนอยู่ในกระบวนการอีกกว่า 230 คน

หากพิจารณาความคืบหน้าทางคดีทางการเมืองของเด็กและเยาวชนถึงช่วงต้นปี 2567 โดยภาพรวมแยกได้เป็น

  • คดีที่สิ้นสุดแล้ว 79 คดี ในจำนวนนี้แยกเป็น
    • คดีที่เด็กเยาวชนถูกตำรวจเปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวนจำนวน 18 คดี เนื่องจากข้อหาที่ถูกกล่าวหามีอัตราโทษปรับ
    • คดีที่เด็กเยาวชนเข้าสู่มาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดีจำนวน 9 คดี
    • คดีที่เด็กเยาวชนเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนมีคำพิพากษาจำนวน 42 คดี
  • คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน 118 คดี
  • คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น 4 คดี 
  • คดีที่อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ หรือรอว่ามีการอุทธรณ์หรือไม่ 14 คดี
  • คดีที่อยู่ในระหว่างฎีกา หรือรอว่ามีการฎีกาหรือไม่ 2 คดี

เท่ากับยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 138 คดีที่ยังไม่สิ้นสุด ในจำนวนคดีที่ดำเนินอยู่นี้ มีเด็ก-เยาวชน ไม่น้อยกว่า 230 คน ยังตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่

.

รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า

.

ปี 66 พบคดีเด็กอายุ 14 ปี อย่างน้อย 2 ราย ถูกกล่าวหาข้อหา ม.112

ในจำนวนเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี แยกเป็นเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 20 คน ใน 23 คดี 

ในปี 2566 พบกรณีเด็กที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล ว่าถูกดำเนินคดีมาตรา 112  ได้แก่ กรณีของ “เมย์” (นามสมมติ) ซึ่งถูก แน่งน้อย อัศวกิตติกร กล่าวหาข้อหานี้ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก จากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยขณะเกิดเหตุนั้นเธอมีอายุเพียง 14 ปี 1 เดือนเศษเท่านั้น 

คดีนี้ น่าสนใจเมื่อในตอนแรก ตำรวจเรียกเด็กและผู้ปกครองเข้าสอบปากคำตั้งแต่ในช่วงปี 2564 แต่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด และต่อมาตำรวจยังทำความเห็นสมควรไม่ฟ้องคดีไปยังพนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก แต่อัยการได้มีคำสั่งกลับมาให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่เด็กรายนี้ เมื่อช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา

ต่อมาในชั้นศาล จำเลยได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพ และศาลเยาวชนฯ พิษณุโลกให้เด็กเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา โดยมีการกำหนดแผนฟื้นฟูให้เด็กในระยะ 1 ปีนี้

ขณะที่ในปีที่ผ่านมา กรณีของหยก เยาวชนอีกรายที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ขณะเกิดเหตุอายุ 14 ปี 7 เดือนเศษ ก็เป็นสถานการณ์สำคัญ โดยหลังหยกถูกตำรวจจับกุม แม้ได้ขอเลื่อนการรับทราบข้อหาออกไป ทำให้เธอตัดสินใจต่อสู้โดยการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และไม่ยื่นประกันตัว ทำให้หยกถูกคุมขังกว่า 51 วัน อยู่ในบ้านปรานี ก่อนที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ควบคุมตัวต่อ แม้ตำรวจยื่นขอขยายระยะเวลาออกไป ขณะนี้คดีของเธอยังอยู่ในชั้นสอบสวน

.

“ภูมิ หัวลำโพง” จากเด็กกู้ภัย สู่เยาวชนไทยที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง

.

ถึงสิ้นปี 66 ยังมีเยาวชน 2 รายถูกคุมขังที่บ้านเมตตา

ในปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กและเยาวชนที่ถูกฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาลในหลายคดี  ได้ตัดสินใจพร้อมกับผู้ปกครอง ให้การรับสารภาพในคดี และศาลก็ได้สั่งให้เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาแทบทั้งหมด และกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูต่าง ๆ โดยไม่มีการคุมขัง ตามมาตรา 132 วรรคแรก ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ

แต่ก็พบว่ามีคดีที่เยาวชนให้การรับสารภาพ และศาลเยาวชนฯ สั่งให้เข้ามาตรการพิเศษตามมาตรา 132 วรรคสอง โดยให้ควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจฯ เป็นระยะเวลาตามที่กำหนด พร้อมกับให้เข้าหลักสูตรฝึกอาชีพในระหว่างควบคุมตัว ได้แก่ คดีของภูมิ หัวลำโพง (ควบคุมตัว 1 ปี) และคดีของภัทรชัย (ควบคุมตัว 6 เดือน) ทั้งสองคดีมีข้อหาหลักตามมาตรา 112 (อ่านรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มเติม)

จนถึงวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ทั้งสองคนก็ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานแรกรับเด็กและเยาวชนชาย บ้านเมตตตา กรณีของภูมิ ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์คำสั่งของศาล และอธิบดีศาลเยาวชนฯ ได้อนุญาตให้อุทธรณ์แล้ว จึงต้องรอการพิจารณาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือไม่ต่อไปในปีนี้

.

.

ปี 66 พบคำพิพากษาคดีชุมนุมของเยาวชน เห็นว่าผิด ผลตรงข้ามกับคดีผู้ใหญ่ ที่ยกฟ้อง ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน

ขณะเดียวกัน ก็มีคดีของเยาวชนอีกหลายคนที่ยังคงต่อสู้คดีในชั้นศาล ประเด็นที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมา ได้แก่ คดีจากการชุมนุมที่เยาวชนถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลเยาวชนฯ มักมีคำพิพากษาว่ามีความผิด แต่ให้ลงโทษปรับเป็นหลัก หากเมื่อเทียบกับคดีของผู้ใหญ่ ซึ่งถูกกล่าวหาจากกิจกรรมเดียวกัน เหตุวันเดียวกัน ศาลในคดีของผู้ใหญ่กลับมีคำพิพากษายกฟ้อง

คดีในชุด “ขบวนกี” หรือคาร์ม็อบที่จัดขึ้นโดยกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2564 ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ทุกครั้งมีการดำเนินคดีเยาวชนและผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมแยกออกจากกัน 

พบว่ากิจกรรมใน 3 ครั้ง ที่ต่อสู้จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาทั้งหมดแล้ว คดีของเยาวชน ศาลเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด โดยเห็นว่ากิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่ในคดีของผู้ใหญ่ ศาลกลับยกฟ้องทั้งหมด โดยมากเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้แออัด จัดในที่โล่งแจ้ง ไม่ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

(ดูข่าว คดีขบวนกี 1 ของเยาวชน และของผู้ใหญ่, คดีขบวนกี 2 ของเยาวชน และของผู้ใหญ่, คดีขบวนกี 3 ของเยาวชน และของผู้ใหญ่)

ภายใต้กิจกรรมเดียวกันและข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่แนวทางคำพิพากษาที่เห็นกันไปคนละทิศทางเช่นนี้ และศาลเยาวชนฯ มีแนวโน้มจะเห็นว่าเด็กเยาวชนที่ออกมาชุมนุมโดยสงบมีความผิด จึงทำให้เกิดคำถามต่อการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาตามมา

ขณะเดียวกัน ก็ควรกล่าวด้วยว่าปีที่ผ่านมา ก็มีคดีจากการชุมนุม ที่ศาลเยาวชนฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง ได้แก่ คดีของ “มิน” และ “ภูมิ” กรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง 

หลังคดียืดเยื้อมาเกือบ 3 ปี ศาลยกฟ้องโดยเห็นว่าจำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและเดินทางกลับ ไม่ได้ก่อการจลาจลหรือทำให้เกิดความวุ่นวาย แม้ทั้งสองจะมีการขึ้นพูดปราศรัย แต่เป็นการปราศรัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองโดยทั่วไป ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไม่ได้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การชุมนุมยังอยู่ในขอบเขตการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ตามมาตรา 44

น่าสนใจแนวทางคำพิพากษาที่แตกต่างกันอย่างมากจากคดีคาร์ม็อบขบวนกี ในกรณีของเยาวชนข้างต้น

.

“ผิดหวังแต่ไม่หมดหวัง”: เรื่องราวของ ‘ภูมิ’ เยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อการศึกษา-ปชต. ก่อนเผชิญกระบวนการยุติธรรม ‘ไม่เฟรนด์ลี่’ เกือบ 3 ปี

.

ปี 67 จับตาคำพิพากษาในคดีเยาวชนที่ต่อสู้

ในปี 2566 คดีที่เยาวชนต่อสู้คดี และก่อนหน้านี้ในศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษให้ควบคุมตัว คดีก็เริ่มขยับไปสู่การมีคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์มากขึ้น อาทิ 

คดีของ “ภูมิ หัวลำโพง” กรณีร่วมการชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เดิมศาลเยาวชนฯ พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุก 2 ปี 5 วัน เป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่หลังอุทธรณ์คดี  แม้ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับโทษจำคุกของศาลชั้นต้น แต่ได้แก้เป็นไม่เปลี่ยนโทษจำคุก แต่ให้ ‘รอการลงโทษ’ จำคุกไว้ โดยมีกำหนด 2 ปีแทน

หรือคดีมาตรา 112 ของ “เพชร” กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา63 ที่วงเวียนใหญ่ เดิมนั้น ศาลเยาวชนฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุก เป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี  แต่ในศาลอุทธรณ์ได้แก้ไขเช่นเดียวกันว่าไม่เปลี่ยนโทษจำคุก แต่ให้ ‘รอการลงโทษ’ จำคุกไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไปตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ

.

“นี่คือยุคสมัยที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลง”: ‘เบลล์’ เยาวชนพัทลุงผู้ต่อสู้คดี ม.112

.

แนวทางการพิพากษาของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ ยังต้องจับตาต่อไปในคดีของเยาวชน ซึ่งยังมีคดีที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาลงโทษให้ควบคุมตัวจำเลยในศูนย์ฝึกอบรมฯ อีก และยังรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เช่น คดีมาตรา 112-116 ของ “เบลล์” ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งปีที่ผ่านมา ศาลเยาวชนฯ พัทลุงพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง โดยลงโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน โดยให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

ขณะเดียวกัน ก็มีคดีมาตรา 112 ที่ศาลยกฟ้อง อย่างคดีของ “สายน้ำ” กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษ และใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” บนรูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ซึ่งศาลเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการดังกล่าวนั้น แต่อัยการก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

รวมทั้งคดีของ “สายน้ำ” อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีแต่งเสื้อครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ บนถนนสีลม ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 โดยเห็นว่าเป็นการล้อเลียนเสียดสีรัชกาลที่ 10 ลงโทษจำคุก 12 เดือน โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี นั้น ทางฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นกัน ทำให้ต้องติดตามคำพิพากษาทั้งสามคดีในศาลอุทธรณ์ต่อไป

อีกทั้ง ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น เช่น คดีมาตรา 112 ของ “เพชรและบีม” สองเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ที่สยามพารากอน ก็อยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในปีนี้ 

ปี 2567 จึงต้องติดตามสถานการณ์คำพิพากษา และการกำหนดมาตรการสำหรับคดีเยาวชนที่ยังดำเนินต่อไปนี้ 

.

X