8 ปี รัฐประหาร: คดีการเมืองจากยุค คสช. นับสิบคดียังไม่สิ้นสุด

แม้การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จะผ่านไปเป็นระยะเวลา 8 ปี แล้ว และคณะรัฐประหาร คสช. ก็ยุติบทบาทไปในนาม แต่ผลพวงของการยึดอำนาจจากประชาชนกลับยังไม่ได้สิ้นสุดตามไปด้วย หากยังคงมีผลหลายประการสืบเนื่องมาทั้งในระบอบการเมืองและระบอบกฎหมาย  โดยเฉพาะรูปแบบการใช้อำนาจรัฐ ผ่าน “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” ที่ถูกนำมาใช้ปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองและการต่อต้านการรัฐประหารในช่วงดังกล่าว ก็ยังคงถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

คดีจากการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมากจากยุค คสช. ท้ายที่สุด แม้พบว่าศาลพิพากษายกฟ้อง อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือมีการจำหน่ายคดีเนื่องจากมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. แต่นักกิจกรรมหรือประชาชนผู้ถูกกล่าวหา ก็ต้องมีภาระทางคดียาวนานในการต่อสู้ในกระบวนการที่ผู้ยึดอำนาจเป็นผู้กำหนด ทั้งทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านอ่อนแรงลง

กล่าวได้ว่าการดำเนินคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้สนใจ “ผลลัพธ์” ของคดี ว่าจะทำให้เกิดความเป็นยุติธรรมหรือความเป็นธรรมขึ้นในสังคมหรือไม่ หรือฝ่ายไหนจะชนะคดี แต่กลับเป็น “ยุทธศาสตร์” หรือ “อาวุธ” ในการกำกับควบคุมสังคม สร้างความได้เปรียบให้ฝ่ายผู้มีอำนาจ และลดทอนความชอบธรรม ข่มขู่ปราบปราม หรือหน่วงรั้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่คัดค้านผู้มีอำนาจเอาไว้ ด้วยภาระต่างๆ ที่ต้องเจอในกระบวนการดำเนินคดี

อ่านโดยละเอียดในรายงาน 7 ปี รัฐประหาร: ทบทวนผลลัพธ์คดียุค คสช. ภาพสะท้อน ‘นิติสงคราม’ ที่กฎหมายคืออาวุธทางการเมือง

.

แม้จะผ่านไปแล้ว 8 ปี แต่คดีความจากการแสดงออกทางการเมืองในช่วง 5 ปี เศษในยุค คสช. ก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลง โดยมีจำนวนคดีที่ค้างคาอยู่กว่า 10 คดี บางคดีถูกขุดกลับขึ้นมาใหม่ หลายคดียังรอการสืบพยานในศาล และหลายคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลที่สูงขึ้นไป รวมไปถึงบางชีวิตยังถูกคุมขังจากคดีความในช่วงดังกล่าว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนทบทวนคดีความจากยุค คสช. บางส่วน ที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี อันยังส่องสะท้อนปัญหาการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไป 

.

.

2 คดีชุมนุมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ปี 2558

แม้ส่วนใหญ่คดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 จะสิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง แต่ยังมีคดีจากการชุมนุมบางคดีที่ยังไม่สิ้นสุด และกลับถูก “ขุด” ขึ้นมาดำเนินการต่ออีกในช่วงปีที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในช่วงปี 2558 มีกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มดาวดิน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นกำลังสำคัญ โดยจนถึงปัจจุบัน ยังมีคดีจากกิจกรรมในช่วงนั้นที่ค้างคาอยู่ 2 คดี

1. คดีการชุมนุมที่หน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีผู้ถูกดำเนินคดี 17 คน รวมทั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยเป็นเหตุการณ์การชุมนุมให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่ถูกออกหมายเรียกไปดำเนินคดีจากการชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 โดยกลุ่มนักกิจกรรมต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงไปทำกิจกรรมที่หน้า สน.ปทุมวัน ต่อมา พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ในขณะนั้น) ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ไปแจ้งความร้องทุกข์

2. คดี 14 นักศึกษา ชุมนุมเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 โดยเป็นการเดินขบวนและแสดงออกขับไล่คณะรัฐประหาร และวิจารณ์การทำงานของ คสช.

เนื่องจากทั้งสองคดีมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ทำให้คดียังไม่สิ้นสุดลง แม้ คสช. จะยุติบทบาทไปแล้วก็ตาม ทั้งสองคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน และ สน.สำราญราษฎร์ ยังเพิ่งมีการส่งสำนวนคดีทั้งสองให้กับอัยการไปเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 

ขณะนี้ทั้งสองคดียังอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ โดยมีการนัดฟังคำสั่งคดีทุกเดือน  ล่าสุดอัยการเลื่อนไปฟังคำสั่งพร้อมกันในวันที่ 26 พ.ค. 2565 นี้

.

.

คดีสิรภพ มาตรา 112

คดีของสิรภพ หรือ “รุ่งศิลา” เป็นคดีมาตรา 112 ที่สำคัญคดีหนึ่งในยุค คสช. โดยเขาถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีเกือบ 5 ปี นับจากถูกจับกุมในช่วงหลังรัฐประหาร และถูกกล่าวหาจากการโพสต์บทกลอนและข้อความจำนวน 3 ข้อความ เขายืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอด แม้จะถูกคุมขัง และถูกดำเนินคดีในศาลทหารซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า

หลังจากสิรภพได้รับการประกันตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 คดีได้ถูกโอนย้ายมาพิจารณาในศาลอาญา ก่อนจะสืบพยานจนเสร็จสิ้น และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 โดยศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดจำนวน 2 กรรม พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงลดโทษจำคุกลง 1 ใน 4 เหลือพิพากษาจำคุกรวม 4 ปี 6 เดือน

เนื่องจากสิรภพถูกคุมขังระหว่างพิจารณามาเกินกว่าโทษแล้ว ทำให้เขาไม่ถูกคุมขังอีก แต่สิรภพยังประสงค์จะอุทธรณ์คดีต่อ เนื่องจากยืนยันว่าตนมิได้กระทำความผิด โดยก่อนหน้านี้ หากเป็นการพิจารณาในศาลทหาร เขาจะไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เนื่องจากคดีจะสิ้นสุดในศาลเดียว แต่เมื่อโอนย้ายมาที่ศาลพลเรือน เขาจึงอุทธรณ์คดีต่อไปได้

ล่าสุด ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นี้

>> สนทนากับ “รุ่งศิลา” กวีที่แลกอิสรภาพเกือบ 5 ปี สู้คดี 112 ในวันที่สังคมยังหวาดกลัว

>> การเติบโตภาคบังคับของลูกสาวพ่อ : 4 ปี กับชีวิตและความเป็นไปของครอบครัว “สิรภพ” ผู้ต้องขังคดีม.112

>> 5 ปีการคุมขัง: คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “สิรภพ” คดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

.

.

คดี “บุปผา” และ “เสาร์” สองผู้ป่วยจิตเวช ในคดีมาตรา 112

“บุปผา” (นามสมมติ) เป็นผู้ป่วยจิตเวชวัย 51 ปี เป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กรวม 13 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์ เธอถูกทหารและตำรวจเข้าจับกุมในช่วงปี 2559 และถูกดำเนินคดีในศาลทหารที่จังหวัดชลบุรี โดยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ก่อนจะได้รับการประกันตัว

คดีนี้ แพทย์ให้ความเห็นว่าเธอสามารถต่อสู้คดีได้ แม้จะมีอาการของโรคจิตเภท หลงผิดว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นสายลับ และต้องรักษากฎมณเฑียรบาล โดยสันนิษฐานว่าจำเลยอาจมีอาการป่วยอยู่ก่อนถูกดำเนินคดี  อีกทั้งคดีนี้ยังถูกศาลให้พิจารณาเป็นการลับทั้งที่ศาลทหาร และเมื่อโอนย้ายมาพิจารณาที่ศาลจังหวัดพัทยา ศาลก็ยังให้พิจารณาเป็นการลับเช่นเดิม แม้ตอนอ่านคำพิพากษาในชั้นต่างๆ ผู้สังเกตการณ์คดีก็ไม่สามารถเข้าฟังได้

ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าบุปผามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แต่ยกฟ้องข้อหามาตรา 112 โดยลงโทษจำคุกทั้ง 13 กรรม กรรมละ 6 เดือน รวมจำคุก 78 เดือน (ราว 6.5 ปี) แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี และให้จำเลยไปรับการรักษาอาการทางจิต  ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เป็นการปรับบทมาตราที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้แก้ไขบทลงโทษใด

คดีนี้ ทางจำเลยยังประสงค์จะสู้คดีต่อไป จึงยังอยู่ระหว่างรอยื่นฎีกาต่อไป

ขณะที่ “เสาร์” หนุ่มไทลื้อวัย 57 ปี เป็นผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในช่วง คสช. เช่นเดียวกัน เขาถูกกล่าวหาจากกรณีการไปยื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในปี 2558 ขอเป็นคู่ความกับ ทักษิณ ชินวัตร ในคดียึดทรัพย์ เพื่อขอเรียกคืนทรัพย์จากทักษิณที่เขาเชื่อว่า รัชกาลที่ 9 ทรงจัดสรรให้เขารับผิดชอบ โดยเขาหลงไปว่าตัวเองสามารถติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 9 ผ่านทางโทรทัศน์ได้ 

คดีนี้เสาร์ถูกคุมขังในชั้นสอบสวน 84 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว โดยใช้เวลาต่อสู้คดีในศาลทหารยาวนา และคดีไม่สิ้นสุด จนโอนย้ายมาที่ศาลอาญา และต่อสู้คดีถึงชั้นศาลอุทรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 โดยเห็นว่าแม้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่ได้กระทำความผิดในเวลาที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนได้ เพราะจิตฟั่นเฟือน จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 1 

แต่ทางพนักงานอัยการยังขอขยายระยะเวลาการฎีกาคดีนี้ออกไปอยู่ในปัจจุบัน ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด แม้ผ่านไปกว่า 7 ปีแล้ว

>> อยุติธรรมยาวนาน และการทวงความยุติธรรมของ ‘เสาร์’ – ผู้ป่วยจิตเวช คดีหมิ่นฯ กษัตริย์

>> การทวงถามความยุติธรรมเกือบ 7 ปี ของ “เสาร์” ผู้ป่วยจิตเวช ที่ไม่ควรถูกดำเนินคดี ม.112 แต่แรก

.

.

คดีมาตรา 116 แปดแอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์”

ในช่วงเดือนเมษายน 2559 เจ้าหน้าที่ทหารมีการควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชนรวม 8 ราย จากทั้งกรุงเทพฯ และขอนแก่น ไปในค่ายทหารเป็นเวลา 2 วัน ก่อนจะถูกส่งตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองบังคับการปราบปราม ด้วยพฤติการณ์กล่าวหาว่าได้ร่วมกันทำเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและการทำงานของรัฐบาล โดยมี พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้กล่าวหา

คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกคุมขังหลังถูกยื่นขอฝากขัง 12 วัน ก่อนศาลทหารจะให้ประกันตัว โดยมีกรณีของหฤษฎ์ และณัฏฐิกา ที่ถูกอายัดตัวไปดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อด้วย โดยกรณีของหฤษฎ์หลังสู้คดีเกือบ 6 ปี ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ส่วนณัฏฐิกาตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ อันนับเป็นผลพวงหนึ่งจากการรัฐประหารที่ยังไม่สิ้นสุด

สำหรับคดี 8 แอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” นี้ มีการสืบพยานในศาลทหารไม่แล้วเสร็จ โดยคดีเป็นไปอย่างล่าช้า จนมีการโอนย้ายคดีมาที่ศาลพลเรือน แต่จนถึงปัจจุบันคดีก็ยังไม่สิ้นสุด โดยทราบว่ายังมีนัดสืบพยานที่ศาลอาญาอีกรวมทั้งหมด 10 นัด ในช่วงเดือนกันยายน 2565 – มีนาคม 2566

[คดีนี้มีสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย]

.

.

คดีสุริยศักดิ์ มาตรา 112

สุริยศักดิ์ วัย 54 ปี เป็นอดีตแกนนำ นปช. จังหวัดสุรินทร์ ช่วงเดือนมีนาคม 2560 เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุมตัวพร้อมบุคคลอื่นๆ รวม 9 คน โดยอ้างว่าอยู่ในเครือข่ายของ “โกตี๋” วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับสูญหายไป ต่อมาเฉพาะกรณีของสุริยศักดิ์ เขาถูกตำรวจจาก บก.ปอท. เข้าแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย ในพฤติการณ์เกี่ยวกับการส่งข้อความติดต่อพูดคุยกันทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ในกลุ่มไลน์ “คนนอกกะลา” เมื่อช่วงวันที่ 13 ก.ค. 2559 โดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้กล่าวหา

คดีนี้สุริยศักดิ์ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาในศาลทหาร ตั้งแต่การจับกุม จนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2562 รวมเวลา 2 ปี 3 เดือนเศษ หลังจากนั้น คสช. จึงให้มีการโอนย้ายมาพิจารณาที่ศาลพลเรือน คดีของสุริยศักดิ์ยังดำเนินอยู่ที่ศาลอาญา และมีการเลื่อนคดีมาในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยยังมีนัดสืบพยานอีกรวมทั้งหมด 4 นัด ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 นี้

[คดีนี้มีสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย]

.

.

กลุ่มคดีคนอยากเลือกตั้ง ปี 2561

กลุ่มคดีในช่วงการชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” ในช่วงต้นปี 2561 เป็นอีกกลุ่มคดีหนึ่งที่ยังไม่สิ้นสุด โดยการชุมนุมในช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2561 เพื่อเรียกร้องให้ คสช. กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ไม่เลื่อนออกไป และเรียกร้องให้ยุติการสืบทอดอำนาจ นำไปสู่การดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมรวม 10 คดี คดีเกือบทั้งหมดศาลพิพากษายกฟ้องหรืออัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว

แต่ยังมีคดีที่ยังไม่สิ้นสุดอีก 3 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมที่หน้ากองทัพบก หรือ ARMY57 ในกรณีของกลุ่มแกนนำ 10 คน ที่มีข้อหาตามมาตรา 116 ด้วย โดยคดีทยอยสืบพยานที่ศาลอาญาเป็นระยะ จนสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จ หากยังเหลือนัดสืบพยานจำเลยต่อไป ทั้งหมด 5 นัด จนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2565

ส่วนคดีเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปถึงหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN62 ทั้งในส่วนของแกนนำและผู้ชุมนุม จำนวน 2 คดี โดยเป็นคดีของแกนนำ รวม 18 คน ที่มีข้อหาหลักตามมาตรา 116 ศาลอาญายังมีนัดสืบพยานอีก 15 นัด ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ยาวไปถึงเดือนมีนาคม 2566

ส่วนคดีของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมด 40 คน ซึ่งมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 216 และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ยังสืบพยานที่ศาลแขวงดุสิตไม่แล้วเสร็จเช่นกัน เหลือนัดสืบพยานอีกทั้งหมด 9 นัด ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 นี้

กลุ่มคดีคนอยากเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปราบปรามทางการเมืองในยุค คสช. โดยเฉพาะมาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่น” ในหมวดความมั่นคง ที่ถูกใช้อย่างบิดเบือนและกล่าวหาเกินจริง ท้ายที่สุด ศาลยกฟ้องคดีของแกนนำเหล่านี้ในภายหลังทั้งหมด

.

.

กลุ่มคดีสหพันธรัฐไท

กลุ่มคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกเกี่ยวกับ “สหพันธรัฐไท” ยังเป็นกลุ่มคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุค คสช. โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีผู้ถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 21 คน ในจำนวน 10 คดี ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาหลัก ตามมาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ จากเหตุการแสดงออกในช่วงปี 2561

หลังการต่อสู้คดี มีทั้งคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา หรือให้ลงโทษปรับในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญา ในข้อหาอั้งยี่  ในกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีกลุ่มนี้ มีกรณีของ “ประพันธ์” พนักงานนวดวัย 60 ปี ที่ถูกกล่าวหาในคดีแจกใบปลิว และคดีสวมเสื้อดำไปที่ห้างเดอะมอลล์บางกะปิ วันที่ 5 ธ.ค. 2561 ที่คุมขังในเรือนจำนานกว่า 2 ปีเศษ และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 

ขณะเดียวกันยังมีคดีที่ยังไม่สิ้นสุด ได้แก่ คดีของกฤษณะ, เทอดศักดิ์ และวรรณภา ที่ถูกฟ้องจากกรณีการแจกใบปลิว สติกเกอร์ และขายเสื้อสีดำของ “สหพันธรัฐไท” ซึ่งทั้งสามถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี สองรายแรกลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทั้งสามติดคุกอยู่ 19 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในระหว่างชั้นฎีกา โดยต้องติด EM ด้วย ทำให้คดีนี้ยังต้องติดตามคำพิพากษาในชั้นฎีกาต่อไป

นอกจากนั้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังมีการจับกุมนักศึกษาวัย 21 ปี ไปแจ้งข้อหามาตรา 116 และอั้งยี่ เหตุจากการแปะใบปลิวที่เกี่ยวข้องกับ “สหพันธรัฐไท” บนเสาไฟฟ้าย่านจังหวัดนนทบุรี ในช่วงปี 2562 คดีนี้ปัจจุบันถูกสั่งฟ้องที่ศาลจังหวัดนนทบุรีแล้ว อยู่ระหว่างรอนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 15 ส.ค. 2565 ยังนับเป็นคดีในกลุ่มสหพันธรัฐไทที่ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมมาในภายหลัง

>> เปิดฐานข้อมูล “คดีสหพันธรัฐไท” 

>> อิสรภาพที่ขมขื่นของ ‘นางประพันธ์’ อดีตผู้ต้องขังคดี ‘สหพันธรัฐไท’ นานกว่า 2 ปี

.

.

กลุ่มคดีแชร์เพจคนไทยยูเค

กลุ่มคดีของประชาชนที่แชร์ข้อความจากเพจ KonthaiUk (คนไทยยูเค) เป็นอีกกลุ่มที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก คือไม่น้อยกว่า 31 คน โดยมีการทยอยจับกุมประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ภายใต้การดำเนินการของตำรวจท่องเที่ยวนำโดย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล (ยศในขณะนั้น) ไปแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ที่ บก.ปอท. จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจคนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีการซื้อเรือเหาะ, วิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องการหลบหนีออกนอกประเทศเนื่องจากหนีข้อหากบฏ และกรณีการทุจริตในช่วงยุค คสช. โดยส่วนใหญ่เพียงแค่กดแชร์ข้อความจากเพจเท่านั้น

คดีกลุ่มนี้ มีทั้งส่วนที่ต่อสู้คดีและศาลอาญาพิพากษายกฟ้องไปแล้วรวม 10 ราย กรณีแชร์ข้อความประยุทธ์ลี้ภัย มีส่วนประชาชน 10 ราย ที่ให้การรับสารภาพ กรณีแชร์โพสต์วิจารณ์การทุจริตดาวเทียมของประยุทธ์และประวิตร ซึ่งศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้

ขณะที่ยังเหลือคดีของกลุ่มประชาชนอีก 11 คน ที่ถูกฟ้องจากการแชร์โพสต์ดาวเทียมเช่นเดียวกัน ที่ยังยืนยันต่อสู้คดี โดยมีการเลื่อนสืบพยานในช่วงสถานการณ์โควิดมา โดยกำหนดนัดสืบพยานที่ศาลอาญาคือวันที่ 16-19, 30-31 ส.ค. 2565

จำเลยหลายคนผู้ถูกกล่าวหาในคดีเหล่านี้ มีฐานะยากจน และอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ทำให้มีภาระในการเดินทางและค่าใช้จ่ายเพื่อต่อสู้คดี

>> ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่ได้ค่าเยียวยา 5 พัน: ชีวิตเกษตรกร-แรงงาน ผู้ต้องคดีคนไทยยูเค

.

.

คดีเอกชัยโพสต์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ ถูกจองจำระหว่างรอฎีกา

คดีโพสต์เล่าเรื่องราวเพศสัมพันธ์ในเรือนจำของ เอกชัย หงส์กังวาน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) นับได้ว่าเป็นคดีต่อนักกิจกรรมจากยุค คสช. ที่ยังยืดเยื้อมาถึงปัจจุบันอีกคดีหนึ่ง คดีนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เอกชัยเคลื่อนไหวตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างเข้มข้น ในช่วงปี 2561ทำให้เขาถูกทหารและตำรวจไปกล่าวหาคดีจากการแสดงออกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคดีที่ตำรวจ บก.ปอท. ย้อนกล่าวหาจากโพสต์เล่าเรื่อง “ชีวิตในเรือนจำครั้งแรกของผม” ตั้งแต่ในช่วงปี 2560

คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีความผิด ลงโทษจำคุกเอกชัย 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยเอกชัยประสงค์จะฎีกาต่อสู้คดีต่อ เนื่องจากเจตนาของเขาในการเขียนทความในซีรีส์ดังกล่าวเพียงต้องการสะท้อนปัญหาชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำ และทำให้เกิดการปรับปรุงปัญหาต่างๆ เท่านั้น แต่หลังมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 แล้ว

จึงต้องจับตาสถานการณ์การต่อสู้คดีชั้นฎีกาต่อของเอกชัย หากยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวต่อไป

>> สรุป 30 คดีทางการเมืองของ “เอกชัย หงส์กังวาน” ผู้ถูกจองจำในเรือนจำครั้งที่ 4

.

.

อัญชัญ กับโทษจองจำ 43.5 ปี ที่ยังไม่สิ้นสุด

แม้คดีอัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 66 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์คลิปเสียง “บรรพต” รวม 29 ข้อความ จะถึงที่สุดไปแล้ว แต่การจองจำนั้นยังไม่สิ้นสุด เมื่อเธอถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก รวม 87 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (ราว 43.5 ปี) ซึ่งเป็นโทษที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีการบันทึกมาในคดีข้อหานี้

หลังมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 อัญชัญถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลา 1 ปี 4 เดือนเศษ โดยเธอตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาอีกต่อไป ถ้านับจากก่อนหน้านี้เธอเคยถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในศาลทหารช่วง คสช. มาแล้วกว่า 3 ปี 9 เดือน ทำให้เธอถูกจองจำระยะเวลารวม 5 ปี เศษ หากต้องติดคุกจนครบกำหนดโทษ ก็ยังเหลือระยะเวลาอีกมากกว่า 38 ปี

แต่ในช่วงของการจองจำหลังคดีสิ้นสุด เธอเข้าเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนโทษจากการมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในวาระพิเศษไปแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ระยะเวลาต้องโทษลดลงไปจำนวนหนึ่ง ยังต้องติดตามอัตราโทษที่เหลือล่าสุดต่อไป

กรณีอัญชัญ สะท้อนให้เห็นความรุนแรงของโทษในคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ โดยตัวอัญชัญเองไม่ใช่ผู้ผลิตคลิปดังกล่าว เพียงแต่แชร์เนื้อหามาเท่านั้น ขณะที่บรรพต ผู้ผลิตคลิปตามฟ้องทั้งหมดดังกล่าว ในช่วง คสช. ได้ถูกดำเนินคดีจากคลิป 1 กรรม ทำให้เขาถูกจองจำไม่นานนัก ก่อนพ้นโทษไปแล้ว

>> จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม: การต่อสู้ของ “อัญชัญ” จำเลยคดี 112 กับโทษจำคุกครึ่งชีวิต

>> คณะทำงานสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้หญิงที่ถูกจําคุกในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยทันที

.

หมายเหตุ มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับอาวุธในยุค คสช. อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สิ้นสุด แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ ณ ที่นี้

.

X