คดีการเมืองคืออะไร?: สองมุมมองที่แตกต่างของความเป็นคดีการเมือง

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

.

ในโลกของการเมืองและกฎหมาย ‘คดีการเมือง’ เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงสองทศวรรษของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีแม้จะเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงจนแทบจะเป็นปกติ ทว่าในเชิงนิยาม ความหมายที่เห็นพ้องต้องกันของคดีการเมืองยังคงเป็นที่ถกเถียงและยังคงห่างไกลจากฉันทามติในทศวรรษปัจจุบัน คำว่าคดีการเมืองถูกใช้อย่างกว้างขวางในการกล่าวถึงคดีต่าง ๆ ตั้งแต่คดียุบพรรคตัดสิทธิ์นักการเมือง คดีของการประท้วงเคลื่อนไหวเรียกร้อง คดีทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง ไปจนกระทั่งคดีที่ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจ ทำให้ในทางปฎิบัติการระบุว่าคดีใดเป็นคดีการเมืองดูจะเป็นป้ายกำกับกว้าง ๆ สำหรับคดีจำนวนมาก ซึ่งจากคดีหนึ่งไปสู่อีกคดีหนึ่งมีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียดอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้ง การจัดจำแนกว่าการกระทำใดเข้าข่ายเป็นคดีทางการเมือง มี ‘ความเป็นการเมือง’ ไม่น้อยไปกว่าชื่อของมัน โดยขณะที่ผู้คนฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าคดีบางลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีการเมือง อย่างคดีมาตรา 112 หรือคดีตัดสิทธินักการเมืองจากการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมเพราะไม่เทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้คนอีกฝ่ายกลับยืนกรานปฏิเสธและยืนยันว่าคดีที่ฝ่ายตรงข้ามระบุว่าเป็นคดีการเมือง ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็นคดีอาญา หรือคดีไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามกฎหมายปกติ ไม่ใช่คดีการเมือง (ดูตัวอย่างในไทยรัฐออนไลน์ 2566; ไทยโพสต์ 2566) ในแง่นี้การถกเถียงต่อคำว่า ‘คดีการเมือง’ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน ไม่เพียงในความสัมพันธ์เชิงการนิยามระหว่างกฎหมายและการเมือง แต่ยังสะท้อนถึงความตึงเครียดในการช่วงชิงนิยามระหว่างฟากฝ่ายต่าง ๆ ทางการเมืองอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี การปล่อยให้การจัดจำแนกคดีการเมืองเป็นเรื่องของการฉวยใช้ในทางการเมืองอย่างเดียว โดยละเว้นการพิจารณาในเชิงนิยามอย่างถี่ถ้วน เพื่อค้นหาหลักเกณฑ์พื้นฐานที่สามารถยอมรับร่วมกันในการตัดสินความเป็นคดีการเมือง อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การพิจารณาความเป็นคดีการเมืองมีความสำคัญต่อกระบวนการนิรโทษกรรมที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ อันถูกระบุว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมบนฐานของคดีการเมือง  

บทความนี้มุ่งความสนใจไปที่การพิจารณานัยยะต่าง ๆ ของคดีการเมือง ผ่านการสำรวจเทียบเคียงแนวคิดที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณานัยยะของคดีการเมืองในสองมิติหลัก ได้แก่ 1) คดีการเมืองในแง่การถูกกล่าวหาจากการออกมาต่อต้านทางการเมือง และ 2) คดีการเมืองในแง่การดำเนินคดีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง เพื่อพยายามไขปริศนาภายใต้ข้อถกเถียงว่า คดีการเมืองคืออะไรกันแน่?

.

.

คำว่า ‘คดีการเมือง’ นั้น ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ‘คดีความ’ กับ ‘ความเป็นการเมือง’  เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า คดีความเป็น “เรื่องที่ฟ้องร้องหรือกล่าวหากันในทางกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความตามที่กฎหมายกำหนด” (ดูใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554) ขณะที่การมุ่งพิจารณา ‘ความเป็นการเมือง’ ในส่วนที่แตกต่างกันของคดีความ ส่งผลต่อการเห็นนัยยะของคดีการเมืองที่ต่างกัน เนื่องจากคดีความเป็นพื้นที่ซึ่งความเป็นการเมืองสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ โดยอาจเข้ามาเกี่ยวข้องได้ตั้งแต่ระดับตัวความผิดที่กระทำ, เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณา, เป็นเป้าประสงค์ของการดำเนินคดี ไปจนกระทั่งอยู่ในเนื้อในของตัวระบบกฎหมายเอง 

การมุ่งพิจารณาความเป็นการเมืองในมิติต่าง ๆ ส่งผลต่อการเห็นนัยยะของคดีการเมืองที่ต่างกัน ซึ่งกำหนดขอบเขตความกว้างแคบของคดีที่เข้าข่ายคดีการเมืองให้แตกต่างกันออกไปด้วย  ทั้งนี้เราสามารถจำแนกนัยยะของคดีการเมืองออกเป็น 2 นัยยะที่สำคัญ คือ นัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การพิจารณาความเป็นการเมืองจากการกระทำของฝ่ายผู้ถูกดำเนินคดี กับนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การพิจารณาความเป็นการเมืองจากฝ่ายผู้ดำเนินคดีหรือฝ่ายรัฐ

1) คดีการเมืองนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การกระทำของผู้แสดงออกต่อต้านทางการเมือง

คดีการเมืองในนัยยะนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นนัยยะทั่วไปที่ผู้คนในสังคมคุ้นชินที่สุด โดยถือว่าคดีการเมืองเป็นคดีจากการกระทำผิดที่มีจุดมุ่งหมายหรือมีแรงขับดันทางการเมือง  การพิจารณาความเป็นคดีการเมืองในนัยยะนี้ จึงมุ่งเน้นความสนใจไปที่ตัวการกระทำของผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยค้นหาความเป็นการเมืองจากรูปแบบหรือเจตนาของผู้กระทำการเป็นสำคัญ  คดีเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่การเขียนวิพากษ์วิจารณ์ การแขวนป้ายโปรยกระดาษ การชุมนุมประท้วง การทำร้ายเจ้าหน้าที่ในระหว่างการชุมนุม ไปจนกระทั่งการก่อกบฏล้มล้างการปกครอง  อาจกล่าวได้ว่าคดีการเมืองในลักษณะนี้มักเกี่ยวข้องกับการแสดงออกเรียกร้องทางการเมืองเป็นสำคัญ และมักอยู่ภายใต้บริบทของการเคลื่อนไหวต่อต้านบนความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐกับฝ่ายต่อต้านรัฐ

แน่นอนว่าสังคมการเมืองเป็นพื้นที่ของความหลากหลายในเชิงอุดมการณ์ แนวคิด และความปรารถนา สถาบันทางการเมืองใช้อำนาจในการกำหนดทิศทางตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของตน อย่างไรก็ดี บางการกระทำขององค์กรรัฐ อาจไม่สอดคล้องกับความปรารถนาของผู้คนบางกลุ่มในสังคม บางครั้งเมื่อความคับข้องใจของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนองจากสถาบัน องค์กร หรือตัวผู้มีอำนาจ และช่องทางถูกทำให้ตีบตันลง การแสดงออกเรียกร้องต่อต้านทางการเมืองนอกช่องทางการเมืองปกติ—ซึ่งบางครั้งเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กระทั่งเป็นการใช้กำลังและความรุนแรงจึงเกิดขึ้น 

ในหลายสถานการณ์ แม้การแสดงออกต่อต้านทางการเมืองมักถูกมองว่ามีความชอบธรรมทางศีลธรรมมากกว่าการละเมิดกฎหมายทั่วไป เนื่องจากมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแก่คนหมู่มาก  อย่างไรก็ตาม การกระทำด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรืออุดมคติทางการเมืองไม่อาจสามารถเป็นข้อยกเว้นอย่างสมบูรณ์สำหรับการไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย  ในรัฐจำนวนมากแม้แต่ที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ขอบเขตต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการกระทำที่มีเป้าหมายทางการเมืองยังคงมีอยู่ (ดูเพิ่มใน LAWS ON The Right of Peaceful Assembly WORLDWIDE) ส่งผลให้การกระทำที่ผิดกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นการกระทำผิดทางการเมือง ซึ่งคดีความจากการกระทำผิดดังกล่าวนับเป็นคดีการเมืองในนัยยะนี้

ทั้งนี้การกระทำความผิดทางการเมือง (political offence) ถูกให้ความหมายว่า คือ “ความผิดที่กระทำเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองหรือได้รับแรงขับดันจากแรงจูงใจทางการเมือง … การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่ถูกนำไปปฏิบัติโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย หรืออาจเป็นการกระทำทางการเมืองที่แคบกว่านั้น หรืออาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่เป็นผลมาจากความพยายามที่จะหลบหนีจากระบบการเมืองหรือการถูกเลือกปฏิบัติในทางการเมือง” (Law & Martin 2014) ในแง่นี้แรงจูงใจทางการเมืองของผู้กระทำความผิดจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นคดีการเมือง

อย่างไรก็ดี แม้การมีแรงจูงใจทางการเมืองจะเป็นประเด็นสำคัญต่อการเป็นคดีการเมือง ทว่ามันยังคงไม่ใช่จุดชี้ขาดหนึ่งเดียว รูปแบบของการกระทำยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังพูดถึงการกระทำผิดที่มี ‘การใช้ความรุนแรง’ เข้ามาเกี่ยวข้อง  ผู้คนในสังคมบางส่วนอาจเห็นว่า การกระทำผิดที่มีองค์ประกอบของการใช้ความรุนแรงทางการภาพ อย่างการสร้างความบาดเจ็บเสียหายต่อร่างกายหรือชีวิตของผู้อื่น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นคดีการเมืองเลย อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงการพิจารณาว่าการกระทำผิดที่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นการกระทำผิดทางการเมืองหรือไม่ มีความสลับซับซับซ้อนกว่านั้น  ภายใต้แนวคิดการกระทำผิดทางการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับประเด็นเรื่องข้อยกเว้นการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากการกระทำผิดทางเมือง (political offence exception) ซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่ยึดถือร่วมกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะในรัฐประชาธิปไตย ซึ่งมีรากฐานมาจากการสนับสนุนการต่อต้านระบอบเผด็จการผู้กดขี่และการปกป้องผู้ที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 

การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดทางการเมืองไม่ใช่ข้อพิจารณาที่ลอยอยู่กลางอากาศธาตุ แต่เกี่ยวข้องกับบริบททางการเมืองที่หล่อหลอมแนวคิดการกระทำผิดทางการเมือง ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19-20 ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองทั่วโลก เราพบว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบที่กดขี่ซึ่งผูกขาดการใช้กำลัง การเคลื่อนไหวยากที่จะหลีกเลี่ยงองค์ประกอบของการใช้กำลังหรือความรุนแรงโต้กลับในบางระดับ เช่น การประท้วงเรียกร้องเอกราชของไอร์แลนด์ โดยกลุ่ม IRA ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 การลุกฮือของประชาชนฮังการีในปี 1956 หรือแม้แต่การต่อต้านในเมียนมาในปัจจุบัน 

ด้วยความซับซ้อนนี้ ระบบยุติธรรมในหลายประเทศจึงได้พัฒนาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการกระทำผิดทางการเมืองที่มีองค์ประกอบของความรุนแรง โดยแบ่งเป็นสองประเภทหลัก คือ “ความผิดทางการเมืองโดยแท้” (purely political offence) ซึ่งไม่มีองค์ประกอบของความรุนแรงเลย และ “ความผิดทางการเมืองเชิงสัมพัทธ์” (relative political offences) ซึ่งมีองค์ประกอบของความรุนแรงแต่ยังคงมีจุดประสงค์ทางการเมือง (Phillips 1997 pp.342-343; Banoff & Pyle 1983 pp.178; Wijngaert 1980 pp.108-110; Bedi 1966 pp.182)

สำหรับความผิดทางการเมืองเชิงสัมพัทธ์ มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น หลักเกณฑ์การพิจารณาเป้าหมาย (objective test) ใช้ในฝรั่งเศส พิจารณาว่าการใช้ความรุนแรงมุ่งเป้าไปที่สถาบันทางการเมืองหรือตัวแสดงในสถาบันทางการเมืองเท่านั้นหรือไม่  หลักเกณฑ์การพิจารณาความเด่นชัดหรือความได้สัดส่วน (predominance or proportionality test) ใช้ในสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และเบลเยียม พิจารณาว่าองค์ประกอบทางการเมืองเด่นชัดกว่าองค์ประกอบทางอาญาหรือไม่ และการใช้ความรุนแรงได้สัดส่วนกับเป้าหมายทางการเมืองหรือไม่  หลักเกณฑ์การพิจารณาอุบัติการณ์ทางการเมือง (political incidence test) ใช้ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา พิจารณาบริบทที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น ว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ เป็นต้น (DeFabo 2012 pp 78-81) โดยแม้จะมีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียด แต่โดยความคิดรวบยอดสามารถยืนยันได้ว่า การมีองค์ประกอบของความรุนแรงในบางระดับ ไม่เสมอไปที่จะทำให้การกระทำผิดเหล่านั้นจะไม่เข้าข่ายเป็นคดีการเมือง

ลองจินตนาการถึงบรรดานักเคลื่อนไหวในประเทศเผด็จการที่ถูกปกครองด้วยความรุนแรง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐที่ยินดีจะหันอาวุธเข้าหาผู้ชุมนุมอยู่เสมอ หากการใช้ความรุนแรงเพียงบางระดับจะทำให้การกระทำของพวกเขาไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองอีกต่อไป หากปราศจากหลักเกณฑ์การพิจารณาดังว่า ย่อมเป็นการตัดโอกาสความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะได้รับความคุ้มครองในฐานะการกระทำผิดทางการเมือง เช่น การไม่ส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ซึ่งไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งกับบริบทที่พวกเขาเผขิญ การพิจารณาคดีการเมืองที่มีองค์ประกอบของความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยการพิจารณาอย่างรอบคอบ  

กระนั้นก็ตาม การใช้ความรุนแรงยังคงมีขอบเขต พึงเน้นย้ำว่า ความเป็นการเมืองไม่ได้เป็นข้อยกเว้นที่ทำให้การกระทำที่มีความรุนแรงใด ๆ เป็นการกระทำผิดทางการเมืองเชิงสัมพัทธ์เสมอไป โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงต่อพลเมือง การใช้ความรุนแรงที่มากเกินไปจนเข้าข่ายเป็นการก่อการร้าย ไม่สามารถยอมรับในฐานะการกระทำผิดทางการเมือง แม้ผู้ก่อเหตุจะมีการประกาศกร้าวอย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการกระทำของพวกเขาเหล่านั้นก็ตาม (EASO 2021 pp.18-19)

.

.

2) คดีการเมืองนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

ขณะที่มุมมองก่อนหน้ามุ่งเน้นไปที่การพิจารณาค้นหาความเป็นการเมืองจากการกระทำผิดของตัวผู้ถูกกล่าวหา โดยละเว้นความสนใจต่อการพิจารณาสถานะของกระบวนการดำเนินคดี มุมมองในการพิจารณาคดีการเมืองในนัยยะนี้มุ่งเน้นความสนใจที่ต่างออกไป ด้วยตระหนักว่า กระบวนการทางคดีจำนวนมากไม่ใช่กระบวนการที่เป็นกลาง ทว่าบ่อยครั้งกลับถูกใช้ด้วยวัตุประสงค์ทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับการคุมขังที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ทำให้ผู้ถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองภายใต้มุมมองนักโทษการเมืองในฐานะผู้ถูกกระทำจากรัฐ (เสกสิทธิ์ 2567) การพิจารณาคดีการเมืองในนัยยะนี้จึงมุ่งความสนใจไปที่การค้นหาความเป็นการเมืองจากการดำเนินคดีเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะพิจารณาความเป็นการเมืองจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา

ในปัจจุบันการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการ ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ได้พยายามนำเครื่องมือที่หลากหลายมาใช้เพื่อการกดขี่ปราบปรามต่อผู้เห็นต่าง กระทั่งต่อบรรดากลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ไม่พึงประสงค์ในสายตาของรัฐ ตั้งแต่เครื่องมือกดปราบที่ปรากฏความรุนแรงชันเจน เช่น การใช้กำลังทำร้ายร่างกาย การบังคับข่มขู่ การตามติด ไปจนกระทั่งวิธีการที่ซ่อนเร้นแยบคาย อย่างการกดปราบด้วยกฎหมาย ซึ่งการดำเนินคดีทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งในนั้น  เผด็จการร่วมสมัยทั่วโลกโดยเฉพาะในระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism) ได้นำกฎหมายมาใช้ในการปราบปรามเพื่อจำกัดความสามารถและพลังของฝ่ายตรงข้าม (Tertytchnaya & Tiratsoo 2024) ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การปราบปรามโดยกฎหมาย’ (legal repression)

การปราบปรามด้วยกฎหมายเป็นคำกว้าง ๆ ที่รวมรูปแบบของการใช้เครื่องมือจำนวนมากบนวิธีการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อใช้ในการกดขี่ปราบปราม (Ellefsen, 2016) ตั้งแต่การใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพอย่างกว้างขวาง อย่างการออกกฎหมายความมั่นคงเพื่อจำกัดสิทธิ เช่น การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020 ในฮ่องกง ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีวัตถุประสงค์ในการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและการแสดงออกของประชาชนภายใต้สภาวะขัดแย้งทางการเมือง  การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเทศไทยเพื่อควบคุมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลระหว่างปี 2020-2022 บนข้ออ้างเรื่องการควบคุมโรคระบาดโควิด-19  ไปจนกระทั่งการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติต่อบรรดานักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐ เช่น การคุมขังก่อนการพิจารณาคดีที่ยาวนานผิดปรกติ การวางเงื่อนไขการประกันตัวที่ยุ่งยากซับซ้อน การใช้กฎหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับ มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของสื่อ Rappler ในฟิลิปปินส์ ปี 2019 ซึ่งเธอถูกรัฐบาลใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางไซเบอร์ (cyber libel law) จับกุมและดำเนินคดี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการจงใจใช้กฎหมายที่เพิ่งออกภายหลังเพื่อเล่นงานเธอ  หรือแม้แต่การจับกุมดำเนินคดีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยข้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางการเมือง แต่ถูกใช้เพื่อกดปราบฝ่ายตรงข้ามของผู้มีอำนาจ เช่น ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับกฎหมายภาษีหรือกฎระเบียบทางธุรกิจ อย่างกรณีของ อ้าย เหว่ยเหว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีน ซึ่งถูกจับกุมจากข้อหาการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ซึ่งทางการจีนอ้างว่าเป็นการจับกุมจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง (ดูใน Wong 2011) ก่อนจะควบคุมตัวเขาเป็นเวลา 81 วัน ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย และปราศจากการแจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ อย่างเป็นทางการ

การใช้กฎหมายและระบบตุลาการเป็นเครื่องมือเหล่านี้ทำให้คดีการเมืองในนัยยะนี้ถือได้ว่าเป็น ‘การพิจารณาคดีทางการเมือง’ (political trials) ซึ่งกระบวนการยุติธรรมไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นกลาง แต่เอนเอียงไปทางฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยในการพิจารณาคดีทางการเมือง ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ข้อเท็จจริงของคดีที่นำมาต่อสู้ แต่อยู่ที่วัตถุประสงค์ของรัฐในการดำเนินคดี เนื่องจากกระบวนการต่าง ๆ ถูกออกแบบและควบคุมเพื่อความได้เปรียบของฝ่ายผู้มีอำนาจ การพิจารณาคดีทางการเมืองเป็นเพียงนาฏกรรมทางกฎหมาย การไต่สวนและกระบวนการต่าง ๆ ถูกเรียงร้อย ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่จุดไคลแม็กซ์ ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องถูกบดขยี้ หรือทำให้ต้องยอมศิโรราบต่อรัฐอยู่เสมอ 

แม้ว่าเราจะทราบได้ด้วยหลักกฎหมายที่ควรจะเป็นว่าผู้ที่ถูกกล่าวหามีความบริสุทธิ์สักเพียงใด แต่เมื่อกระบวนการพิจารณาคดีทางการเมืองเริ่มขึ้น เราก็สามารถประเมินได้ไม่ยากว่ากระบวนการจะจบลงอย่างไร (Shen-Bayh 2022) คือไม่ใช่จบลงด้วยหลักการทางกฎหมาย แต่จบลงด้วยการกำหนดทิศทางของชนชั้นนำผู้มีอำนาจ ตัวอย่างที่โดดเด่น คือกรณีที่เกิดขึ้นในเวียดนาม ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (CPV) และผ่านการคัดกรองของพรรค ส่งผลให้ผู้พิพากษาอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาคดีการเมือง ส่งผลให้ “ทนายความฝ่ายจำเลยมักจะร้องเรียนเป็นประจำว่า ในหลายคดีดูเหมือนผู้พิพากษาได้ตัดสินความผิดของจำเลยไว้ก่อนที่การพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้น” (ดูใน 2023 Country Reports on Human Rights Practices: Vietnam)

ทั้งนี้ แตกต่างไปจากคดีการเมืองในนัยยะแรกที่มุ่งค้นหาแรงจูงใจทางการเมืองจากตัวผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากการพิจารณาการเป็นคดีการเมืองในนัยยะนี้มุ่งเน้นไปที่ความเป็นการเมืองจากกระบวนการพิจารณาคดี จึงมีหลักเกณฑ์ในการประเมินความเป็นคดีการเมืองที่ต่างออกไป คริสตอฟ สไตเนิร์ต (Christoph Steinert) ได้เสนอหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า 

“การพิจารณาคดีจะถือว่ามีอคติทางการเมือง หากมันได้รับการสนับสนุนอำนวยการจากรัฐ และ 

(ก) ขาดพื้นฐานทางกฎหมายภายในประเทศรองรับ หรือ

(ข) ละเมิดหลักการของความยุติธรรมเชิงกระบวนการ หรือ 

(ค) ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล” (Steinert, 2021 pp.3) 

ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าว นำมาสู่การพิจารณาในรายละเอียดของการดำเนินคดีต่าง ๆ เช่น การดำเนินคดีเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายที่ถูกออกเพื่อจำกัดเสรีภาพทางการเมืองซึ่งละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีการดำเนินคดีที่ผิดปกติไปจากกรณีทั่วไปอื่น ๆ หรือไม่ มีการคุมขังก่อนการพิจารณาคดีที่ยาวนานผิดปกติหรือไม่ มีการข่มขู่คุกคามผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้คนรอบข้างหรือไม่ มีการขัดขวางการเข้าถึงพยานหลักฐานเพื่อการต่อสู้ทางคดีที่เป็นธรรมหรือไม่ ไม่มีการอนุญาตให้ตั้งทนายความหรือไม่ ไม่ให้ประกันตัวในระหว่างการต่อสู้คดีด้วยเหตุผลที่ผิดปกติไปจากกรณีทั่วไปอื่น ๆ หรือไม่ เป็นต้น

คดีการเมืองในนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง กล่าวได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นอาวุธของรัฐ (lawfare) จึงไม่ใช่กระบวนการทางคดีที่เป็นกลางภายใต้หลักนิติรัฐอย่างที่ควรจะเป็น แต่เป็นกระบวนการทางคดีที่มีเป้าหมายเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดฝ่ายตรงข้าม การสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปราม หรือการส่งสัญญาณเตือนต่อผู้ที่อาจคิดท้าทายอำนาจรัฐ การดำเนินคดีกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือผู้นำทางความคิดมักจะส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวในวงกว้าง และเพิ่มต้นทุนในการแสดงออกเคลื่อนไหวของพวกเขา ทำให้ประชาชนทั่วไปลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสุ่มเสี่ยงที่อาจถูกดำเนินคดี

.

.

การมุ่งจุดสนใจในการพิจารณาความเป็นการเมืองที่มีอยู่ในคดีการเมืองที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการเห็นแง่มุมของคดีการเมืองที่แตกต่างกัน ระหว่างนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การต่อต้านแสดงออกทางการเมือง กับ นัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

อาจกล่าวได้ว่า นัยยะแรก มุ่งเน้นไปที่การพิจารณาความเป็นการเมืองจากกระทำของฝ่ายผู้ถูกดำเนินคดีเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจเรื่องสถานะความเป็นกลางของกระบวนยุติธรรม ขณะที่นัยยะหลัง มุ่งเน้นไปที่การพิจารณาความเป็นการเมืองจากฝ่ายผู้ดำเนินคดีหรือฝ่ายรัฐเป็นหลัก ส่งผลให้ในแง่ของเขตความกว้างแคบของคดีการเมือง การกระทำผิดที่จะสามารถเข้าข่ายการเป็นคดีการเมืองในนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การแสดงออกต่อต้านทางการเมืองย่อมมีขอบเขตที่แคบกว่า เนื่องจากการกระทำผิดจะต้องเกี่ยวข้องกับการแสดงออกต่อต้านทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่ขอบเขตของคดีการเมืองในนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่า เนื่องจากรัฐสามารถใช้คดีความผิดใดก็ได้ มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการกดปราบเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ตั้งแต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกต่อต้าน คดียุบพรรคตัดสิทธินักการเมืองจากการเสนอกฎหมาย ไปจนกระทั่งข้อกล่าวหาคดีทุจริตทางการเงิน หรือแม้แต่คดีจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างประเด็นเรื่องความจงรักภักดี หรือความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น 

ขณะเดียวกันในแง่ของความทับซ้อน ไม่ได้หมายความว่าคดีการเมืองในทั้งสองนัยยะจะแยกขาดจากกันอย่างสมบูรณ์ คดีการกระทำผิดจากการแสดงออกต่อต้าน อาจเป็นคดีที่ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้ หากมันถูกใช้โดยมีจุดมุ่งหมายจากรัฐหรือผู้มีอำนาจ ซึ่งย่อมทำให้มันเข้าข่ายเป็นคดีการเมืองในนัยยะที่ 2 ด้วย 

อย่างไรก็ดี ไม่จำเป็นเสมอไป ที่คดีจากการกระทำผิดทางการเมือง (political offence) ทั้งหมดจะถือเป็นการดำเนินคดีที่ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง การพิจารณาคดีเหล่านี้อาจมีสถานะเป็นกลางได้ หากกระบวนการทางคดีเกิดขึ้นบนความยุติธรรมเชิงกระบวนการ มีกฎหมายในประเทศรองรับ เป็นกฎหมายที่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลหรือฝ่ายชนชั้นนำไม่ได้มีส่วนสนับสนุน อำนวยการ หรือรู้เห็นเป็นใจให้นำกระบวนการทางกฎหมายเหล่านั้นมาใช้ ซึ่งย่อมส่งผลให้มันไม่เข้าข่ายการเป็นคดีการเมืองในนัยยะที่มุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

.

———————————-

อ้างอิงท้ายบทความ

Banoff, B. A., & Pyle, C. H. (1983). To Surrender Political Offenders: The Political Offense Exception to Extradition in United States Law. N.Y.U. Journal of internation Law and Politics, 16.

Bedi, S. D. (1966). Extradition in international law and practice.

DeFabo, V. (2012). Terrorist or Revolutionary: The Development of the PoliticalOffender Exception and Its Effects onDefining Terrorism in International Law. American University National Security Law Brief, 2(2) https://digitalcommons.wcl.american.edu/nslb/vol2/iss2/5

EASO. (2021). Practical Guide on Exclusion for Serious (Non-Political) Crimes. Luxembourg: Publication Office of the European Union. doi:10.2847/047718

Ellefsen, R. (2016). Judicial opportunities and the death of SHAC: legal repression along a cycle of contention. Social Movement Studies, 15(5), 441–456. https://doi.org/10.1080/14742837.2016.1185360

Law, J., & Martin, E. (2014) A Dictionary of Law. Oxford University Press.

LAWS ON The Right of Peaceful Assembly WORLDWIDE. The Right of Peaceful Assembly A Global Analysis of Domestic Regime. Retrieved 3 July 2024, from https://www.rightofassembly.info/

Phillips, R. S. (1997). The political offence exception and terrorism: its place in the current extradition scheme and proposals for its future. Dickinson Journal of International Law, 15(2). http://elibrary.law.psu.edu/psilr/vol15/iss2/4

Shen-Bayh, F. (2022). When persecution becomes prosecution. LSE. https://blogs.lse.ac.uk/africaatlse/2022/10/28/when-persecution-becomes-prosecution/

Steinert, C. V. (2021). Who is a political prisoner?. Journal of Global Security Studies, 6(3)

Tertytchnaya, K & Tiratsoo, M. (2024). Legal Repression in Russia. Oxford Research Encyclopedia of Politics. https://doi.org/10.1093/acrefore/9780190228637.013.2247

Wijngaert, Christine Van den (1980) The Political Offence Exception to Extradition: The Delicate Problem of Balancing the Rights of the Individual and the International Public Order. Deventer: Kluwer

Wong E. (2011) Chinese Defend Detention of Artist on Grounds of ‘Economic Crimes’ . The New York Times. Retrieved 3 July 2024, from https://www.nytimes.com/2011/04/08/world/asia/08china.html

ไทยโพสต์. (2566). ระวังตกเป็นเหยื่อ! ‘นิพิฏฐ์’ จำแนก ‘คดีการเมือง’ ชี้ความผิดตามม.112 ไม่ใช่ สืบค้น 10 กรกฎาคม 2567. จาก https://www.thaipost.net/hi-light/307269/

ไทยรัฐออนไลน์. (2566). “ธนกร” ชี้ กฎหมายนิรโทษกรรม ต้องไม่เหมารวม คดี ม.112 ย้ำ ไม่ใช่คดีการเมือง จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2743502

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์. (2567). นิยามที่หลากหลายและข้อถกเถียงต่อความหมายของ “นักโทษการเมือง”. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. สืบค้น 4 กรกฎาคม 2567. จาก https://tlhr2014.com/archives/67815

.

X