เดือนมีนาคม 2568 มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นใหม่ 3 คดี โดยมี 2 คดี เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ “จิรดี” ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดพัทลุง และ “ปูน” ธนพัฒน์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 พบว่าทั้งสองคนถูกออกหมายจับไปดำเนินคดี และมีผู้กล่าวหาเป็นคนเดียวกันคือ ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาลของ ‘วีรวัฒน์’ ซึ่งทางศูนย์ทนายฯ เพิ่งทราบข้อมูล
ในขณะเดียวกัน ยังมีคดีที่ศาลชั้นต่าง ๆ ทยอยมีคำพิพากษาออกมา โดยในคดีมาตรา 112 มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 6 คดี และมีคำพิพากษาคดีของ “วิจิตร” ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้จำคุก 10 ปี โดยไม่ได้รับประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
นอกจากนั้นยังมีคดีข้อหามาตรา 116 เหตุชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ศาลลงโทษจำเลยบางส่วนจำคุก 9 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนในข้อหาละเมิดอำนาจศาลของอานนท์ พบว่าศาลอ่านคำสั่งที่ห้องเวรชี้ ไม่เปิดเผยต่อประชาชนที่ไปติดตามคดี และลงโทษจำคุกเต็มอัตราโทษคือ 6 เดือน แต่ยังต้องติดตามรายละเอียดต่อไป
ส่วนอีกคดีหนึ่งที่มีความสำคัญ ได้แก่ ‘คดีทรงผมนักเรียน’ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้เพิกถอนกฎกระทรวงว่าด้วยทรงผมนักเรียนทันที เห็นว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพร่างกาย โดยไม่ได้คำนึงถึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนั้นยังมีคำพิพากษาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ออกมาอีก 4 คดี ซึ่งมีหนึ่งคดีที่ยกฟ้องทุกข้อหา คือชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม และจำเลยไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ต้นไม้เสียหาย ในส่วนการสั่งฟ้องคดีใหม่ พบว่าเดือนที่ผ่านมา อัยการยังคงมีคำสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งสิ้น 4 คดี ถึงแม้พบว่าเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล หากจำเลยต่อสู้คดีนั้นมีแนวโน้มที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในสัดส่วนมากกว่า
.
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2568 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,962 คน ในจำนวน 1,318 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 แล้ว มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 3 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,029 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 278 คน ในจำนวน 311 คดี (จำนวนนี้อย่างน้อย 164 คดี ถูกดำเนินคดีเนื่องจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษ)
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 55 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 675 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 182 คน ในจำนวน 100 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 210 คน ในจำนวน 233 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 45 คน ใน 27 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 37 คน ใน 11 คดี
จากจำนวนคดี 1,318 คดีดังกล่าว มีจำนวน 691 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว)
.
.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญดังต่อไปนี้
คดี ม.112 – 116 ในภาคใต้ยังเพิ่มขึ้น แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์ฯ เป็นผู้กล่าวหาเช่นเดิม ผู้ถูกกล่าวหาอยู่กรุงเทพฯ ถูกจับลงใต้ 2 คนรวด
เดือนที่ผ่านมายังคงเป็นอีกเดือนที่คดีในพื้นที่ภาคใต้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนถูกจับกุมจากกรุงเทพฯ ไปดำเนินคดีทางไกลที่จังหวัดตรัง และพัทลุง
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 มีผู้ถูกจับกุมในวันเดียวกันถึง 2 คน รายแรก “จิรดี” (นามสมมติ) ประชาชนในกรุงเทพฯ อายุ 35 ปี ถูกตำรวจจากกองปราบปรามเข้าจับกุมจากสถานที่ทำงาน ในข้อหามาตรา 112 ตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 28 ส.ค. 2566 ก่อนที่จะถูกนำตัวไปยัง สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง ต่อมาทราบว่าเป็นเหตุจากการคอมเมนต์ในทวิตเตอร์เกี่ยวกับคนดีและคนไม่ดี โดยมีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และ ทักษิณ ชินวัตร
คดีนี้จิรดีเคยเดินทางไปพบตำรวจตามหมายเรียกเมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว และเคยถูกสอบสวนไว้ในฐานะพยาน แต่ตำรวจกลับไปร้องขอศาลออกหมายจับมาแจ้งข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา ทั้งเพิ่งมีการจับกุมหลังหมายจับออกมาแล้วเกือบ 2 ปี ต่อมาศาลจังหวัดพัทลุงอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหลังถูกควบคุมตัวรวม 3 วัน โดยจิรดีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
อีกรายหนึ่ง ได้แก่ “ปูน” ธนพัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าวัย 22 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลจังหวัดตรัง ลงวันที่ 7 มี.ค. 2568 ขณะเข้าแจ้งการชุมนุมสาธารณะที่ สน.ปทุมวัน ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก่อนตำรวจ สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง รับตัวไปดำเนินคดี ทราบต่อมาว่าถูกกล่าวหาจากรูปภาพการเดินพาหรดของนักเรียนและถือป้าย ‘ชาติ ศาสนา ประชาชน’ ที่ถูกโพสต์ในเพจ “ทะลุฟ้า” เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566
ธนพัฒน์ได้ประกันตัวในชั้นตำรวจ หลังถูกควบคุมตัวรวม 2 วัน โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นกัน
ในทั้งสองคดีนี้ มีผู้กล่าวหาเป็นคนเดียวกันคือ ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ซึ่งดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 – 116 ในหลายจังหวัดในพื้นที่ทางภาคใต้ และกระจายไปในหลายสถานีตำรวจ โดยทราบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วไม่น้อยกว่า 17 คดี และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์คดีในภาคใต้จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอีกคดีหนึ่งที่เพิ่มขึ้น คือ คดีละเมิดอำนาจศาลของ “วีรวัฒน์” (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกคุมขังในคดีเกี่ยวข้องกับการครอบครองวัตถุระเบิด ในช่วง #ม็อบ19กันยา64 ซึ่งทางศูนย์ทนายฯ เพิ่งได้ทราบข้อมูลว่าถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 จากโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน ทั้งเขายังถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม โดยถูกลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน แต่ยังไม่ทราบข้อมูลคดีแน่ชัด โดยทั้งสองคดีนี้สิ้นสุดไปแล้ว
.
.
ศาลพิพากษาคดี 112 หกคดีว่ามีความผิดทั้งหมด – พิพากษาคดี พ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 10 ปี ไม่ได้ประกัน
สถานการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ตลอดเดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 6 คดี เป็นคดีในศาลชั้นต้นทั้งหมด โดยมีทั้งคดีที่ให้การรับสารภาพและต่อสู้คดี ศาลได้พิพากษาออกมาทั้งหมดว่ามีความผิด ซึ่งมีแนวโน้มรอการลงโทษและไม่รอการลงโทษต่างกันออกไป
ในจำนวนนี้มีคดีที่จำเลยต่อสู้คดีจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีของ “ตี้” วรรณวลี, “บิ๊ก” เกียรติชัย และ เบนจา นักกิจกรรมทางการเมือง กรณีขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าทั้งสามคนมีความผิดมาตรา 112 โดยวินิจฉัยไปแนวว่าการหมิ่นอดีตกษัตริย์ฯ ก็กระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย อีกทั้งเห็นว่าวรรณวลีและเบนจามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม โดยให้จำคุกวรรณวลีและเบนจา คนละ 4 ปี ปรับ 20,200 บาท ส่วนเกียรติชัย จำคุก 3 ปี ปรับ 200 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้คนละ 5 ปี
ส่วนอีกคดีหนึ่งคือคดีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน กรณีปราศรัยในการชุมนุมที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2563 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าอานนท์มีความผิด จากการพูดให้เข้าใจพระมหากษัตริย์โอนทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของส่วนตัว ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 7 ของอานนท์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยรวมโทษจำคุกทุกคดีรวมกัน เป็นจำนวน 20 ปี 19 เดือน 20 วัน
.
ส่วนคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี มีทั้งสิ้น 4 คดี ได้แก่ คดีของ “ฟ้า” พรหมศร นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรมูเตลู กรณีรวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง เมื่อปี 2564 ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษาจำคุกรวมหลายข้อหาเป็น 5 ปี 8 เดือน ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี 10 เดือน ไม่รอลงอาญา และได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
ส่วนในคดีของ “พิมพ์” แทนฤทัย นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ อายุ 25 ปี กรณีร่วมปราศรัยในเวทีเรียกร้องให้ สส. – สว. เคารพเสียงของประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในการชุมนุม ‘Respect My Vote’ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
เช่นเดียวกันกับคดีของ “ดลพร” (นามสมมติ) ประชาชนจังหวัดพังงา อายุ 27 ปี กรณีคอมเมนต์ใต้โพสต์เรื่องซุ้มเฉลิมพระเกียรติในกลุ่ม “ตลาดหลวง” เมื่อช่วงต้นปี 2566 ศาลจังหวัดกระบี่พิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี
ส่วนในคดีของ “เจ๊จวง” (สงวนชื่อสกุล) แม่ค้าบะหมี่หมูกรอบ อายุ 54 ปี กรณีปราศรัยถึงงบประมาณของขบวนเสด็จในกิจกรรมเรียกร้องการประกันตัวบุ้ง-ใบปอ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 4 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
.
ในขณะเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา ยังมีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ “วิจิตร” (นามสมมติ) ประชาชนจังหวัดขอนแก่น อายุ 59 ปี กรณีโพสต์ข้อความและภาพพาดพิงสถาบันกษัตริย์ – การรัฐประหาร บนเฟซบุ๊กรวม 10 โพสต์ ระหว่างวันที่ 24 ต.ค. 2557 – 20 มิ.ย. 2558 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 20 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
น่าสังเกตว่าคดีของวิจิตร ไม่ได้มีการนำมาตรา 112 มาใช้กล่าวหา เนื่องจากช่วงที่ดำเนินคดีนั้น รัฐมีนโยบายการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบังคับใช้มาตรานี้ โดยไม่นำข้อหานี้มาใช้กล่าวหาในคดีใหม่ ๆ แต่มักนำข้อกล่าวหาอื่นมาใช้กล่าวหาต่อการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แทน จนกระทั่งมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้กล่าวหาอีกครั้งในช่วงการชุมนุมของนักศึกษาเยาวชนปลายปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
.
ในปัจจุบัน (4 เม.ย. 2568) จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ายังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 47 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัว อย่างน้อย 29 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 19 คน)
สำหรับสถานการณ์การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังชั้นอุทธรณ์และฎีกา เดือนที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวไปแล้ว 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, วีรภาพ วงษ์สมาน และสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ แต่ไม่มีผู้ต้องขังในเรือนจำคนใดได้รับการประกันตัว
ในกรณีของ “ขนุน” สิรภพ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 หลังทนายความยื่นขอประกันตัวและยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาในระหว่างที่เขากำลังอดอาหารประท้วง พบว่าศาลยังคงยกคำร้องเช่นเดิม เขาจึงตัดสินใจยุติการอดอาหารเริ่มเข้ากระบวนการรักษาฟื้นฟูร่างกายเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา รวมแล้วขนุนอดอาหารไปทั้งสิ้น 24 วัน
นอกจากนั้นในคดีของ “วิจิตร” ที่ศาลอาญาลงโทษจำคุกและไม่รอลงอาญา คำร้องขอประกันตัวถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพบว่ามีคำสั่งยกคำร้อง ในขณะที่แนวโน้มคดีในศาลภาคต่าง ๆ ที่ลงโทษจำคุกและไม่รอลงอาญา ศาลชั้นต้นมักจะเป็นผู้สั่งอนุญาตให้ประกันตัวด้วยตนเอง โดยที่ไม่ส่งให้ศาลสูงพิจารณา ทำให้หลายคนยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
.
.
คดี ม.116 ลงโทษจำคุก 9 เดือน เหตุชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน- ขณะคดีละเมิดอำนาจศาลของ “อานนท์” ศาลนำตัวไปฟังคำสั่งละเมิดอำนาจศาลที่ห้องเวรชี้ ประชาชนไม่ได้ร่วมเข้าฟัง
ในเดือนมีนาคม ยังมีคดีข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีการอ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ มีรายละเอียดเป็นข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จำนวน 10 ข้อ โดยคดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 9 คน ถูกฟ้อง
หลังการต่อสู้คดี ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษาออกมาว่าจำเลย 4 คน ได้แก่ อานนท์, ณัฐชนน, ไฟซ้อน และลูกมาร์ค มีความผิดในข้อหามาตรา 116 เนื่องจากเห็นว่าการปราศรัยมุ่งประสงค์สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์ แต่ยกฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุก คนละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้ 1 ใน 4 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 9 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
แต่ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย 2 คน คือ ชนินทร์ และ “สาธร” โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นตัวการแบ่งหน้าที่กันทำในการปราศรัย
ส่วนในคดีละเมิดอำนาจศาล ของอานนท์ นำภา กรณีถอดเสื้อประท้วงศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ในวันที่ศาลนัดฟังคำสั่ง พบว่าศาลไม่เบิกตัวอานนท์ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี และเรียกทนายความไปฟังคำสั่งที่ห้องเวรชี้ โดยไม่ให้ประชาชนเข้าฟัง ก่อนอานนท์พยายามประท้วงการอ่านคำพิพากษาโดยไม่เปิดเผยของศาล
เบื้องต้น ทราบว่าศาลลงโทษจำคุกอานนท์ 6 เดือน แต่ยังไม่ทราบเนื้อหาคำสั่งโดยละเอียด และมีข้อสังเกตว่ากระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
.
.
ศาลมีคำพิพากษาคดีชุมนุม 4 คดี – อัยการยังคงสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุชุมนุมปี 2563-64 แม้พบว่าส่วนที่ต่อสู้คดี ศาลมีแนวโน้มยกฟ้องเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนั้นในเดือนที่ผ่านมายังมีคำพิพากษาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ออกมาอีก 4 คดี โดยมีเพียง 1 คดีที่ศาลยกฟ้อง และมี 3 คดีที่ศาลลงโทษ โดยคดีที่ศาลลงโทษ ได้แก่ คดีของโชคดี และวีรวิชญ์ กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษปรับ 30,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยร่วมการชุมนุมที่แออัด และหากละเมิดต่อกฏหมายจะอ้างเสรีภาพชุมนุมตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ และไม่มีกฎหมายให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ฟ้องในคดีอื่น
เช่นเดียวกับคดีของนิรันดร์ และ วิสณุพร กรณีร่วมกิจกรรม “คาร์ม็อบสุรินทร์” ขับไล่ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 30,000 บาท ก่อนลดโทษ 1 ใน 3 เหลือปรับ 20,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยโพสต์นัดชุมนุม รับบริจาค และร่วมปราศรัย ถือเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม อีกทั้งมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก เป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด
กลับกัน ในคดีของ 8 นักศึกษา-นักกิจกรรม กรณีชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ที่มีการย้ายต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเดินไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องคดีทุกข้อหา เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม และจำเลยไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ต้นไม้เสียหาย
ในส่วนของคดีข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มีคำพิพากษาออกมาหนึ่งคดี ได้แก่คดีของ นักกิจกรรมทางการเมือง – พระสงฆ์ รวม 5 ราย กรณีชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 โดยศาลพิพากษาว่ามีความผิดทุกข้อหา ให้ลงโทษปรับคนละ 2,500 บาท โดยในคดีนี้มี “พายุ” บุญโสภณ เป็นจำเลยและในเหตุชุมนุมดังกล่าว สูญเสียดวงตาข้างขวาจากการยิงกระสุนยางในสลายการชุมนุมของตำรวจ
อย่างไรก็ตามพายุและกลุ่มผู้เสียหายจากเหตุการณ์รวม 19 คน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องหลายนาย ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาร่วมกันละเมิดเสรีภาพการชุมนุมและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
ถึงแม้ว่าคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาบังคับใช้ในช่วงที่มีการระบาดโควิด – 19 และนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดควบคุมเสรีภาพในการชุมนุมของรัฐบาลมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 675 คดี ซึ่งพบว่ามีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไม่น้อยกว่า 70 คดี และเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล หากจำเลยต่อสู้คดี พบว่ามีแนวโน้มคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในสัดส่วนมากกว่า คืออย่างน้อย 105 คดี
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังพบว่าอัยการมีการสั่งฟ้องคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 4 คดี ได้แก่ กรณีกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป” บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 คดีนี้อัยการได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 4 คน ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ
คดีจากเหตุชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยมีจำเลยเป็นนักกิจกรรม 8 คนต่อศาลแขวงปทุมวัน ถึงแม้ว่าในเหตุชุมนุมดังกล่าว “มายด์” ภัสราวลี จะถูกแยกฟ้องอีกศาลหนึ่ง และศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วก็ตาม
สุดท้าย อัยการยังมีคำสั่งฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวันในอีกสองคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เหตุจากการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน มีผู้ถูกสั่งฟ้องทั้งหมด 5 คน และคดีชุมนุม #ม็อบ17ตุลา ที่สามย่านมิตรทาวน์ ผู้ถูกสั่งฟ้องทั้งหมด 2 คน
.
.
ศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนกฎกระทรวงว่าด้วย ‘ทรงผมนักเรียน’ เห็นว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพร่างกาย โดยไม่ได้คำนึงถึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ในเดือนที่แล้ว ยังมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีทรงผมนักเรียน ที่ตัวแทนนักเรียน “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” รวม 13 ราย ยื่นฟ้องต่อศาล ตั้งแต่เมื่อปี 2563 เพื่อขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงเกี่ยวกับการไว้ผมทรงผมของนักเรียนตั้งแต่เมื่อปี 2518 ที่ออกตามความในประกาศของคณะรัฐประหารยุคจอมพลถนอม กิตติขจร
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนกฎระเบียบเกี่ยวกับการไว้ผมทรงผม เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ปี 2515 ออกโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาการของบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย และความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล จึงมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นกฎที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
.