จำคุก 4 ปีลดเหลือ 2 ปี คดี 112 “เจ๊จวง” แม่ค้าบะหมี่ เหตุปราศรัยถึงปัญหาขบวนเสด็จฯ ก่อนให้รอลงอาญา

วันที่ 18 มี.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสืบพยานโจทก์คดีของ “เจ๊จวง” (สงวนชื่อนามสกุล) แม่ค้าบะหมี่หมูกรอบ วัย 54 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุปราศรัยถึงงบประมาณของขบวนเสด็จ ในกิจกรรมเรียกร้องการประกันตัวบุ้ง-ใบปอ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565  

ก่อนสืบพยาน จำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงมีคำพิพากษาในทันที ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงโทษจำคุก 2 ปี ก่อนให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวต่อคุมประพฤติ 4 ครั้งภายในกำหนด 1 ปี 

.

สำหรับคดีนี้มี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 เจ๊จวงได้รับหมายเรียกจาก สน.ยานนาวา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ‘ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต’ ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ก่อนตำรวจเปรียบเทียบปรับจำนวน 200 บาท 

จนกระทั่งวันที่ 20 ก.พ. 2567 เจ๊จวงเดินทางไป สน.ยานนาวา อีกครั้งเพื่อเข้าพบ พ.ต.ท.ฐิติวัชร์ พรศิวัฒน์ รองผู้กำกับการ (หัวหน้างานสอบสวน) พนักงานสอบสวนในคดีนี้ หลังถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า จากการสอบสวนเพิ่มเติม พบพยานหลักฐานในคดีที่สนับสนุนการกระทำผิดในข้อหาตามมาตรา 112  สาเหตุของการปราศรัยส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่ “ใบปอ” และ “บุ้ง” ถูกถอนประกันตัวจากเหตุทำโพล “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ซึ่งในวันเกิดเหตุ เจ๊จวงปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนเสด็จ และปราศรัยอ้างถึง “ใบปอ” และ “บุ้ง” โดยมีการหยิบยกนำเอาบริบทของคำว่า “ขบวนเสด็จ” ของทั้งสองคนมาขยายความ ในประเด็นการจัดสรรและการใช้งบประมาณในการเสด็จ 

ทั้งนี้คำปราศรัยดังกล่าวมิได้เอ่ยนามถึงบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 มีเพียงกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณเป็นเนื้อหาหลัก และยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุเผยแพร่กิจกรรมดังกล่าว ผ่านทางยูทูปด้วย 

ต่อมาวันที่ 5 ก.ค. 2567 ชลเกียรติ แก้วนวล พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีกรุงเทพใต้ 2 สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาล โดยสรุปกล่าวหาว่า วันที่ 19 ก.ค. 2565 จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวบริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ และข้อความที่ปราศรัยมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านทางช่องยูทูปชื่อว่า “ศักดินาเสื้อแดง” และ “ขุนแผนแสนสะท้าน” โดยอัยการบรรยายว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำ ผู้ให้บริการ และเป็นผู้ดูแล

ถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยกล่าวถึงถึงปัญหาของขบวนเสด็จ และงบประมาณมหาศาล ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ก่อนจะพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจดูแลงบประมาณบริหาร แต่กลับใช้อำนาจดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อประชาชน

อัยการระบุคำปราศรัยดังกล่าวเป็นความเท็จและใส่ความสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่อบุคคลที่สามได้ฟัง และทราบข้อความคำพูดและคำกล่าวปราศรัยของจำเลย ทำให้เข้าใจได้ว่าขบวนเสด็จซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 พระราชินี และรัชทายาท ทรงใช้งบประมาณการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นภาษีของประชาชน เสด็จแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ไม่เป็นธรรมและตรวจสอบไม่ได้ อันเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามด้วยความเท็จหรือข้อความที่บิดเบือน โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง 

ทั้งนี้ ช่องยูทูปสองช่องดังกล่าวตามฟ้องนั้น เจ๊จวงก็ไม่ใช่ผู้จัดทำแต่อย่างใด  ต่อมาศาลได้กำหนดนัดสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 18-21 มี.ค. 2568

.

วันนี้ (18 มี.ค. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 เจ๊จวงเดินทางมาศาลตามนัดสืบพยาน โดยมีครอบครัวและประชาชนประมาณ 9 คน ร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี 

เวลา 9.35 น. วีระ พรหมอยู่ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และ อัคภาร์ กุลกาญจนาธร ผู้พิพากษาองค์คณะ ออกนั่งพิจารณาคดี 

ก่อนการสืบพยาน พนักงานอัยการได้แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากพยานโจทก์ที่จะนำเข้าสืบในตอนเช้าไม่ได้รับหมายเรียกพยาน จึงไม่ได้เดินทางมาศาล แต่โจทก์จะนำพยานโจทก์ในช่วงบ่ายเข้าสืบในตอนเช้า โดยขณะนี้พยานกำลังเดินทางมาศาล 

ในระหว่างรอพยานโจทก์ มีการพูดคุยกันระหว่างผู้พิพากษา จำเลย และประชาชนที่เดินทางมาฟังการพิจารณา โดยประชาชนหลายคนพยายามแถลงศาลเพื่อแสดงความคิดเห็น ศาลจึงได้เชิญให้ประชาชนทั้งหมดออกไปจากห้องพิจารณาคดีเพื่อให้ฝ่ายจำเลยได้ปรึกษากันเกี่ยวกับแนวทางคดีอีกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นจึงอนุญาตให้ประชาชนกลับเข้ามาในห้องพิจารณาคดี

เจ๊จวงได้ปรึกษาหารือกับทนายความและครอบครัว ก่อนตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ผู้พิพากษาแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาทันที

ก่อนพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทํากรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ให้ลงโทษจําคุก 4 ปี จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจําคุก 2 ปี 

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เป็นการแสดงความคิดเห็นในช่วงที่ประชาชนส่วนมากมีความสนใจสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง ลักษณะความผิดเกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อีกทั้งจําเลยมีอายุมากแล้ว และไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน การจําคุกจำเลยไม่น่ามีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เห็นควรให้โอกาสจําเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี

โทษจําคุกจึงให้รอการลงโทษมีกําหนด 2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติจําเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกําหนด 1 ปี รายงานตัวครั้งแรกนับแต่มีคําพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

.

นอกจากคดีนี้ เจ๊จวงยังถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ร่วมกับ “เจ๊เทียม” (สงวนชื่อสกุล) พี่สาววัย 57 ปี ในอีกคดีหนึ่ง เหตุจากถูกกล่าวหาว่าติดป้ายบริเวณหน้าร้านบะหมี่ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112, งบประมาณแผ่นดิน และเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” จำนวน 2 ป้าย ในระหว่างวันที่ 17 – 18 ม.ค. 2566 โดยคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

X