ฟ้องแล้ว! คดี ‘112’ ‘เจ๊จวง’ แม่ค้าบะหมี่ เหตุปราศรัยถึงปัญหาขบวนเสด็จฯ อัยการระบุทำคนเข้าใจ ร.10 ใช้งบแผ่นดินจำนวนมาก-ตรวจสอบไม่ได้

วันที่ 5 ก.ค. 2567 เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการอาญากรุงเทพใต้ 2 มีคำสั่งฟ้อง  ‘เจ๊จวง’ (สงวนชื่อนามสกุล) แม่ค้าบะหมี่หมูกรอบ วัย 53 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุปราศรัยถึงงบประมาณของขบวนเสด็จ ในกิจกรรมเรียกร้องการประกันตัวบุ้ง-ใบปอ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565  ก่อนศาลให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 200,000 บาท 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 เจ๊จวงเคยได้รับหมายเรียกจาก สน.ยานนาวา ก่อนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ‘ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต’ ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จากหมายเรียกระบุ “ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์” สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความ ก่อนตำรวจเปรียบเทียบปรับจำนวน 200 บาท 

กระทั่งวันที่ 20 ก.พ. 2567 เจ๊จวงเดินทางไป สน.ยานนาวา อีกครั้งหลังถูกออกหมายเรียกใหม่ในข้อหาตามมาตรา 112 ในช่วงต้นเดือน โดยระบุมี “ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์” คนเดิมเป็นผู้กล่าวหา

ภาพจาก เพจกรุงเทพฯ วันนี้

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวระบุ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม พบพยานหลักฐานในคดีที่สนับสนุนการกระทำผิดในข้อหาตามมาตรา 112  สาเหตุของการปราศรัยส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่ “ใบปอ” และ “บุ้ง” ถูกถอนประกันตัวจากเหตุทำโพล “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ซึ่งในวันเกิดเหตุ เจ๊จวงปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนเสด็จ และปราศรัยอ้างถึง “ใบปอ” และ “บุ้ง” โดยมีการหยิบยกนำเอาบริบทของคำว่า “ขบวนเสด็จ” ของทั้งสองคนมาขยายความ ในประเด็นการจัดสรรและการใช้งบประมาณในการเสด็จ

ก่อนที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานสนับสนุนการกระทำความผิด และเพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

เจ๊จวงได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และต่อมาตำรวจได้นัดหมายส่งสำนวนคดีให้อัยการไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 กระทั่งใช้เวลาสองเดือน อัยการจึงมีคำสั่งฟ้องในครั้งนี้

.

จำเลยแค่ปราศรัยถึงขบวนเสด็จฯ แต่คำฟ้องขยายถึงการปลุกปั่นปชช.ให้ต่อสู้เพื่อจำกัดอำนาจกษัตริย์ฯ

ชลเกียรติ แก้วนวล พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีกรุงเทพใต้ 2 เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยสรุปกล่าวหาว่า วันที่ 19 ก.ค. 2565 จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวบริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ และข้อความที่ปราศรัยมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านทางช่องยูทูปชื่อว่า “ศักดินาเสื้อแดง” และ “ขุนแผนแสนสะท้าน” โดยอัยการบรรยายว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำ ผู้ให้บริการ และเป็นผู้ดูแล

ถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยกล่าวถึงถึงปัญหาของขบวนเสด็จ และงบประมาณมหาศาล ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ก่อนจะพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจดูแลงบประมาณบริหาร แต่กลับใช้อำนาจดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อประชาชน

อัยการระบุคำปราศรัยดังกล่าวเป็นความเท็จและใส่ความสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่อบุคคลที่สามได้ฟัง และทราบข้อความคำพูดและคำกล่าวปราศรัยของจำเลย ทำให้เข้าใจได้ว่าขบวนเสด็จซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 พระราชินี และรัชทายาท ทรงใช้งบประมาณการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นภาษีของประชาชน เสด็จแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ไม่เป็นธรรมและตรวจสอบไม่ได้ อันเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามด้วยความเท็จหรือข้อความที่บิดเบือน โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง 

อีกทั้งการกล่าวปราศรัยของจำเลย แสดงสัญลักษณ์ ยุยง ปลุกปั่น ปลุกเร้าให้ประชาชนอื่นทั่วไปเมื่อได้ยินได้ฟังเกิดความเกลียดชัง เข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อองค์พระมหากษัตริย์ ชักจูงให้ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย เกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้ฟังที่มีจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่เห็นด้วยเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนที่ได้ฟังฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินอันบัญญัติไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ และพูดชักชวนหรือโน้มน้าวให้ประชาชนร่วมกันเรียกร้อง ต่อสู้ให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในด้านต่าง ๆ 

ก่อนระบุด้วยว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือการติชมโดยสุจริต การปราศรัยของจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า บรรยายฟ้องของอัยการมีลักษณะบรรยายถึงองค์ประกอบข้อหามาตรา 116 ด้วย ทั้งที่ไม่ได้ฟ้องข้อหานี้แต่อย่างใด

อัยการยังระบุท้ายฟ้องว่า จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวนและถูกแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ทั้งที่วันดังกล่าวจำเลยถูกเปรียบเทียบปรับข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อย่างใด  ส่วนในเรื่องการประกันตัวนั้น อัยการขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ภายหลังศาลรับฟ้อง นายประกันยื่นขอประกันตัวเจ๊จวง   กระทั่งราว 12.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์  ศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 26 ส.ค. 2567

นอกจากคดีนี้เจ๊จวง ยังถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ร่วมกับ “เจ๊เทียม” (สงวนชื่อสกุล) พี่สาววัย 57 ปี ในอีกคดีหนึ่ง เหตุจากถูกกล่าวหาว่าติดป้ายบริเวณหน้าร้านบะหมี่ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112, งบประมาณแผ่นดิน และเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” จำนวน 2 ป้าย ในระหว่างวันที่ 17 – 18 ม.ค. 2566 คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

X