วันที่ 19 มี.ค. 2568 ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของ 8 นักกิจกรรม ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่แยกราชประสงค์ หลังเหตุชุมนุมผ่านมาเกือบ 4 ปี และผู้ต้องหาหลายคนยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้สั่งไม่ฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งมีคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ที่ถูกแยกฟ้อง ศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว
.
คดีค้างอยู่ในชั้นอัยการเกือบ 4 ปี แม้ผู้ต้องหาพยายามยื่นหนังสือขอให้สั่งไม่ฟ้อง แต่ยังคงฟ้องในที่สุด
สำหรับการชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร จัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในช่วงการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยการชุมนุมครั้งนี้ต่อเนื่องจากเหตุสลายการชุมนุมแบบไร้แกนนำของรีเด็มเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 ที่ท้องสนามหลวง นำไปสู่การปรับรูปแบบการชุมนุมให้มีเวทีปราศรัย และมีการรักษาความปลอดภัย
ภายหลังกิจกรรมมีการดำเนินคดีต่อผู้ปราศรัยในการชุมนุม โดยมี พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้กล่าวหา ผู้ถูกดำเนินคดี 8 ราย ได้แก่ ชาติชาย แกดำ, ณัฏฐธิดา มีวังปลา, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, เบนจา อะปัญ, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ธนพร วิจันทร์ และ อรรถพล บัวพัฒน์ นอกจากนั้นยังมี “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อีกหนึ่งราย
ทั้งหมดถูกพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี แจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 ต่อมาได้สรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมส่งตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 โดยทางฝ่ายผู้ต้องหาหลายคนได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแก่อัยการ ขอให้ไม่สั่งฟ้องคดี โดยยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ ไม่มีลักษณะแออัดจนถึงกับเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-2019 เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ทั้งการฟ้องคดียังไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยได้ยื่นตัวอย่างคดีการชุมนุมที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบด้วย
หลังจากนั้นคดีได้ค้างคาอยู่ที่ชั้นอัยการเกือบ 4 ปีแล้ว ก่อนอัยการศาลแขวงปทุมวันจะมีคำสั่งให้ฟ้องคดี โดยน่าสังเกตแนวโน้มว่าก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 คดีจากการชุมนุมทางการเมืองหลายคดี อัยการศาลแขวงปทุมวันก็มีคำสั่งฟ้องคดีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้พิจารณามีการใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น คดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงที่ยังมีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเอาไว้ด้วย
.
ภาพการชุมนุม #ม็อบ24มีนา2564 ที่แยกราชประสงค์ (ภาพจาก Mob Data Thailand)
.
อัยการบรรยายฟ้องชุมนุมอาจทำให้เสี่ยงโรค โดยจำเลยทั้งแปดเป็นผู้ปราศรัย
ร.ต.ท.สิทธิชัย เกลี้ยงเกลา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นผู้เรียงฟ้องคดีนี้ บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุ บัญชีเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณแยกราชประสงค์ ในวันที่ 24 มี.ค. 2564 เวลา 17.00 น.
ครั้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 จำเลยทั้งแปดกับพวก ได้ร่วมกันเข้าร่วมการชุมนุมตามที่นัดหมาย มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนประมาณ 300 คน และมีการใช้รถยนต์กระบะมาจอดบนพื้นผิวจราจร โดยดัดแปลงเป็นเวทีให้แกนนำขึ้นปราศรัย โดยใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมเป็นเวลานาน เมื่อเจ้าพนักงานประกาศให้ยุติการชุมนุม ก็ไม่ยอมแยกย้ายกลับ และจำเลยทั้งแปดได้สลับหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย
พนักงานอัยการกล่าวหาว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยกิจกรรมไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ต่อมาหลังศาลรับฟ้องไว้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้สาบานตนว่าจะมาตามนัด ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 29 เม.ย. 2568 เวลา 9.00 น.
.
คดีของ “มายด์” จากชุมนุมครั้งเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้ การชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 นั้น ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีอีก 2 ราย รายแรก ได้แก่ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 จากการปราศรัยด้วย ทำให้ถูกแยกฟ้องไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมายด์ต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม และไม่ปรากฏว่าเป็นผู้โพสต์เชิญชวนให้ร่วมชุมนุมแต่อย่างใด จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดมาตรการป้องกันโรคโควิดในขณะนั้น ส่วนข้อหาตามมาตรา 112 ศาลให้รอลงอาญาไว้
ขณะที่ผู้ถูกดำเนินคดีอีก 1 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้ถูกแยกฟ้องไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ต่อมาเยาวชนรายนี้ได้ยินยอมเข้าสู่มาตรการพิเศษ แทนการมีคำพิพากษาของศาล ทำให้คดีสิ้นสุดลงแล้ว
ทั้งนี้คดีชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 675 คดี แนวทางการพิจารณาของอัยการยังเป็นไปอย่างแตกต่างกัน โดยมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไม่น้อยกว่า 70 คดี และเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล หากจำเลยต่อสู้คดี พบว่ามีแนวโน้มคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในสัดส่วนมากกว่า คืออย่างน้อย 105 คดี แต่อัยการก็ยังทยอยฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมอยู่เป็นระยะ
.