วันที่ 26 มี.ค. ของเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ คือ พ.ศ. 2563 นับเป็นวันที่เริ่มมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนั้น จากนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขยายระยะเวลาต่อเนื่องไปนับปี จนกระทั่งมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565
ช่วงเวลาดังกล่าว นับเป็นช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งประเทศยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน กับอีก 6 วัน ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าว ก็นับเป็นช่วงที่สังคมไทยมีการชุมนุมทางการเมืองอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ
5 ปี ผ่านไป คดีความของนักกิจกรรมและประชาชนจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงดังกล่าว ไม่ได้สิ้นสุดลงไปด้วย แต่ยังพัวพันเป็นชนักและภาระสำหรับหลาย ๆ คนให้ต้องไปต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่อง แม้สถานการณ์โรคระบาดจะผ่านไปแล้ว และเกิดคำถามเรื่อยมาว่าการฟ้องคดีเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ หากอัยการก็ยังดำเนินการสั่งฟ้องอยู่เรื่อยมา
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1,466 คน ในจำนวน 675 คดี (หลายคนถูกดำเนินคดีในหลายคดี) ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 242 คน ใน 161 คดี
จนถึงวันที่ 26 มี.ค. 2568 พบว่ามีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วทั้งคดีอย่างน้อย 285 คดี ทำให้ยังคงเหลือคดีอีกไม่น้อยกว่า 390 คดี ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินในชั้นต่าง ๆ (มีคดีบางส่วนที่มีผู้ต้องหาหลายคน ผู้ต้องหาบางคนคดีสิ้นสุดไปแล้ว แต่บางคนยังไม่สิ้นสุด)
ในส่วนคดีที่ยังดำเนินอยู่และยังไม่สิ้นสุดนั้น พบว่าอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ ดังนี้
- คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน อย่างน้อย 277 คดี
- คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น อย่างน้อย 24 คดี
- คดีที่อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ อย่างน้อย 65 คดี
- คดีที่อยู่ระหว่างชั้นฎีกา หรือรอว่าจะมีการฎีกาคดีหรือไม่ อย่างน้อย 24 คดี
ในจำนวนคดีที่สิ้นสุด มีคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี จำนวนอย่างน้อย 70 คดี
ขณะที่คดีจำนวนมากที่ขึ้นสู่ชั้นศาลในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งส่วนคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ไม่ได้ต่อสู้คดี เนื่องจากหลายคนอยากให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็ว ไม่กลายเป็นภาระในชีวิต ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ หรือหากลงโทษจำคุก ก็ให้รอการกำหนดโทษไว้ แต่หากจำเลยต่อสู้คดี พบว่าผลของคดี ศาลมีแนวโน้มมีคำพิพากษายกฟ้องในสัดส่วนมากกว่า
- ศาลพิพากษายกฟ้องอย่างน้อย 105 คดี
- ศาลพิพากษาเห็นว่ามีความผิดอย่างน้อย 76 คดี
หากเทียบสัดส่วนคดีที่ต่อสู้คดีทั้งหมดแล้วศาลยกฟ้อง จะได้เท่ากับร้อยละ 58 ส่วนอีกร้อยละ 42 ต่อสู้คดีแล้วศาลพิพากษาเห็นว่ามีความผิด คิดเป็นสัดส่วนได้ราว 3 ต่อ 2
หากรวมคดีที่ศาลยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง เท่ากับมีอย่างน้อย 175 คดีแล้ว ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด
กรณีหากศาลเห็นว่ามีความผิด แนวโน้มส่วนใหญ่จะลงโทษปรับมากกว่าครึ่งหนึ่ง (จำนวน 42 คดี) หากกำหนดโทษจำคุกก็ให้รอลงอาญา (จำนวน 21 คดี) แต่มีอย่างน้อย 8 คดี ที่พิพากษาไม่ให้รอลงอาญา โดยมากเป็นคดีที่พ่วงกับข้อหาที่หนักกว่า เช่น ข้อหามาตรา 112
.
ภายใต้สถานการณ์คดีดังกล่าว และระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 5 ปี แต่อัยการยังคงทยอยสั่งฟ้องคดีที่ค้างอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางให้เห็นเกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และอัยการในคดีที่เตรียมมีคำสั่งฟ้อง ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาประเด็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม แต่ก็ไม่ได้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าว นอกจากสร้างภาระให้นักศึกษาและประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอย่างยาวนานแล้ว บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเอง ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ก็ต้องใช้ต้นทุน ทั้งเวลา ค่าใช้จ่ายซึ่งมาจากภาษีประชาชน มันสมอง เรี่ยวแรง หรือจิตใจ ไปกับคดีลักษณะเหล่านี้ และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงทั้งหมดเมื่อใด
.
ย้อนอ่าน
ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือโควิด-19
9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม
ดูตารางคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี
.