วันที่ 19 มี.ค. 2568 ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล และ “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ ศิลปินราษฎร จากกรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ (Carmob) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในข้อหา “ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 133 นํารถเข้าขบวนแห่ต่าง ๆ ไปตามทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานจราจร”
กิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าว มี “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นแกนนำจัดกิจกรรมและเชิญชวนให้คนมาเข้าร่วมการชุมนุม โดยพนักงานอัยการแขวงดุสิตยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุม มั่วสุม หรือจัดทํากิจกรรม “CAR MOB (คาร์ม็อบ)” โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมและทํากิจกรรมดังกล่าว จํานวน 100 คน มีการตั้งขบวนขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ จํานวนประมาณ 100 คัน อันเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 20 คน ที่บริเวณหน้าร้านแม็คโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในลักษณะกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองขับไล่นายกรัฐมนตรี
อัยการกล่าวหาว่า โชคดีได้ทํากิจกรรมชื่อว่า “ยืนยัน ดันเพดาน พูดด้วยหัวใจ ด้วยเสียงเพลง” โดยการแสดงดนตรีร้องเพลง ที่บริเวณริมทางเท้าข้างร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน ส่วนวีรวิชญ์ได้นํารถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลเข้าร่วมขบวนแห่ โดยมีการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ติดตามกันไปเป็นขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร บีบแตรรถส่งเสียงดัง มุ่งไปจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จนสิ้นสุดที่สี่แยกราชประสงค์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร
ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โชคดีและวีรวิชญ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี ในระหว่างพิจารณาคดีศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ต่อมาในวันที่ 13 มี.ค. 2566 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 30,000 บาท และวีรวิชญ์ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 133 ฐานนํารถเข้าขบวนแห่ไปตามทางโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ลงโทษปรับ 500 บาท รวมปรับวีรวิชญ์ 30,500 บาท และปรับโชคดี 30,000 บาท
ต่อมา ทนายความจำเลยทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ศาลแขวงดุสิตจึงนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ (19 มี.ค. 2568) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
.
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ชี้จำเลยที่ 2 ร่วมชุมนุมแออัดผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – หากละเมิดต่อกฏหมายจะอ้างเสรีภาพชุมนุมตาม รธน. ไม่ได้ – ไม่มีกฎหมายให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการในคดีอื่น
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 501 โชคดีและวีรวิชญ์เดินทางมาตามนัดศาลพร้อมทนายความและนายประกัน ต่อมา ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยย่อ สามารถสรุปประเด็นได้ ดังนี้
ประเด็นแรก จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรมกับผู้ชุมนุมในลักษณะแออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรคตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค
เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยก่อนที่ขบวนคาร์ม็อบจะเคลื่อนที่ไป จำเลยที่ 2 ได้ร้องเพลงอยู่ที่ฟุตบาทบริเวณสี่แยกคอกวัว มีผู้ร่วมชุมนุมนั่งฟังประมาณ 50 คน หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ร่วมขึ้นรถยนต์ไปกับขบวนคาร์ม็อบ เจือสมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ยอมรับว่า ร่วมชุมนุมจริง พยานโจทก์ทั้งสามไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่มีเหตุปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง
ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าร่วมการชุมนุมที่มีจำนวนเกินกว่า 20 คน โดยไม่ได้ขออนุญาต จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ( ฉบับที่ 25) ข้อ 4 (4)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การทำกิจกรรมของจำเลยที่ 2 เป็นการทำกิจกรรมที่มีความแออัดหรือไม่ จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า แม้การทำกิจกรรมชุมนุมในลักษณะที่เป็นคาร์ม็อบจะมีระยะห่างกัน ไม่มีลักษณะของการแออัด แต่จากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนที่ไปมีการทำกิจกรรมร่วมกันไม่ต่างกับเหตุการณ์ชุมนุมทั่วไป
เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า แออัด ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ประกอบกับพยานเอกสารของโจทก์ เห็นได้ว่า ผู้ร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมมีจำนวนมากถึง 150 คน ก่อนรถเคลื่อนที่ผู้ชุมนุมมีการเดินไปมา มีระยะห่างไม่เกิน 1 – 2 เมตร บางคนสวมหน้ากากอนามัยและบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แม้ว่าบริเวณที่ชุมนุมและทำกิจกรรมจะเป็นบริเวณที่เปิดโล่ง แต่การที่ผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมมาอยู่ร่วมกันในระยะใกล้ชิดจำนวนมากถือว่าเป็นการทำกิจกรรมหรือชุมนุมในลักษณะที่แออัดแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ประเด็นที่สอง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธหรือความรุนแรง ซึ่งสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44
เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุจะบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่มิได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยปราศจากขอบเขตหรือไปละเมิดสิทธิของประชาชนผู้อื่นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวถึงขั้นเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง
ดังนั้น หากมีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฏหมายก็จะอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยถือเป็นการชุมนุมโดยสงบหาได้ไม่
นอกจากนี้ พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เวลาประมาณ 12.30 น. มีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาร่วมประมาณ 100 คัน สภาพการจราจรติดขัด ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. สมบัติได้ตั้งขบวนเพื่อเริ่มคาร์ม็อบเดินทางจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปสี่แยกอรุณอัมรินทร์ โดยในการตั้งขบวนรถทุกคันจะหยุดและปิดการจราจรไป ซึ่งทำให้รถยนต์ของผู้อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนคาร์ม็อบไม่สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวสัญจรได้ โดยขบวนคาร์ม็อบใช้ช่องทางจราจรรวม 6 ช่องทาง และมีผู้ร่วมเดินเท้าอีกประมาณ 150 คน มีการทำกิจกรรมร้องเพลง เปิดเพลง และเต้นรำ มีการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและการทำงานของนายกรัฐมนตรี
การที่จำเลยที่ 2 ร่วมไปกับรถยนต์ในกลุ่มคาร์ม็อบ ซึ่งเป็นการชุมนุมและเข้าขบวนแห่โดยไม่มีการขออนุญาต จึงถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นการกีดขวางและอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือยานพาหนะที่สัญจรไปมา จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่มีเจตนากีดขวางรถมิให้เดินต่อไปหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลจากการกระทำของตนว่าการตั้งสิ่งของเหล่านั้นกีดขวางอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและยานพาหนะที่สัญจรไปมาบนถนนได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างว่าตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้
ประเด็นที่สาม จำเลยที่ 2 อ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้
เห็นว่า จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ส่วนโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและภาพถ่ายเป็นหลักฐาน ทั้งเบิกความสอดคล้องต้องกัน ไม่มีพิรุธ พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้
ประเด็นที่สี่ จำเลยที่ 2 อ้างคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการและคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องในคดีอื่น
เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ถือว่าคำพิพากษาในคดีอื่นหรือคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องให้คดีนี้ต้องถือตาม ดังนั้น คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการและคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องในคดีอื่นย่อมไม่ผูกพันในคดีนี้แต่อย่างใด
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษาได้แก่ ภัทรศักดิ์ ศิริสินธร์, สมศักดิ์ อุไรวิชัยกุล และ สิทธิพงศ์ ตัญญพงศ์ปรัชญ์
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเพื่อแสดงออกทางการเมือง ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมลักษณะนี้ ไม่น้อยกว่า 269 ราย ใน 109 คดี (บางรายถูกกล่าวหาในหลายคดี)
จากสถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง ที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามเก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 6 มี.ค. 2568 พบว่ามีคดีคาร์ม็อบที่ศาลยกฟ้องหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องรวม 42 คดี ในขณะที่มีคดีคาร์ม็อบที่จำเลยต่อสู้คดีและศาลพิพากษาว่ามีความผิดเพียง 18 คดี