วันที่ 24 มี.ค. 2568 ที่ศาลแขวงดุสิต นักกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, พายุ บุญโสภณ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, กรชนก แสนประเสริฐ พร้อมพระสงฆ์อีก 1 ราย รวมเป็น 5 คน เดินทางเข้าฟังคำพิพากษา ในคดีจากการเข้าร่วมชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 โดยศาลลงโทษปรับคนละ 2,500 บาท ฐานไม่เลิกการชุมนุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง
คดีนี้ทั้ง 5 คน ถูกสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ใน 3 ข้อหาดังต่อไปนี้
1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)
2. ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)
3. ร่วมกันฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะประกาศกำหนด [พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 19 (5)]
โจทก์สืบพยานช่วงกลางเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ไปทั้งสิ้น 8 ปาก ทางฝั่งจำเลยสืบพยานต่อเนื่องกันในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ไปทั้งหมด 7 ปาก ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษา
เวลา 09.45 น. พฤฒิพงษ์ เลิศชัยมงคล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในชั้นต้น ศาลแขวงดุสิต อ่านคำพิพากษาสรุปได้ว่า
จากพยานหลักฐานพบว่าได้มีการแจ้งและได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุมที่ลานคนเมือง ในช่วงวันที่ 16-18 พ.ย. 2565 ต่อมาผู้จัดการชุมนุมได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งความประสงค์ที่จะเดินขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้มีคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุม เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม และมีประกาศกำหนดสถานที่ห้ามการชุมนุมตามมาตรา 8(5) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมประมาณ 200-300 คน ได้รวมตัวกันบริเวณพื้นผิวจราจรด้านหน้าเสาชิงช้าและเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของเจ้าหน้าที่ ในการชุมนุมมีพฤติกรรมที่สร้างความวุ่นวาย เช่น การพ่นสี การผลักและดันรถยนต์ที่เป็นแนวกั้น การใช้ลวดสลิงลากรถยนต์กระบะแนวกั้น รวมถึงการจุดไฟเตาเผาพริกและสาดใส่เจ้าพนักงานตำรวจ จนมีตำรวจควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บ
พยานโจทก์ได้เบิกความถึงพฤติกรรมของจำเลยแต่ละราย โดยพบจำเลยที่ 1 ปราศรัยในที่ชุมนุม จำเลยที่ 2 มีพฤติกรรมใช้เท้าถีบโล่ห์ตำรวจและร่วมทำลายแนวกั้น จำเลยที่ 3 อยู่บริเวณแนวหน้าของที่ชุมนุม ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 พบว่าอยู่ในที่ชุมนุมและร่วมทำกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือ
ในการพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ซึ่งให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้น ศาลเห็นว่าแม้จะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรค 2 ด้วย จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุม
ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 (มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวาย), มาตรา 216 (ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้เลิกมั่วสุม) และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19(5) (ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ) โดยถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่เลิกมั่วสุม ซึ่งมีโทษหนักสุด
ลงโทษปรับจำเลยคนละ 2,500 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากศาลลงโทษปรับเท่านั้น จึงไม่สามารถเพิ่มโทษและนับโทษต่อได้ จึงยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้
สำหรับคดีนี้มีความเชื่อมโยงกับคดีก่อนหน้าที่มีจำเลย 25 คน ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พ.ย. 2565 โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-20 และ 22-25 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราเดียวกัน คือ มาตรา 215 และ 216 รวมถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19(5) โดยลงโทษปรับในอัตราเดียวกันคือคนละ 2,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 21 ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าเข้าร่วมชุมนุม
ทั้งสองคดีมีลักษณะการตัดสินที่สอดคล้องกัน โดยศาลพิจารณาลงโทษในฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่เลิกมั่วสุมเป็นหลัก และกำหนดบทลงโทษเป็นการปรับในอัตราเท่ากันทั้งหมด จำเลยบางส่วนในทั้งสองคดีเตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ใต้ชื่อ “ราษฎรหยุดAPEC2022” ผู้ชุมนุมจากหลากหลายกลุ่มองค์กร ได้นัดหมายเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมเอเปค หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปถึงบริเวณต้นถนนดินสอ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังและรถยนต์ปิดกั้นเส้นทาง ก่อนใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุม 2 ระลอก มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 26 ราย มีผู้ถูกจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย และยังมีผู้ชุมนุมบาดเจ็บอีกหลายราย โดยบางรายอาการสาหัสและต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลทันที
ต่อมามีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกจับกุม 25 ราย ยกเว้นพายุ ที่ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ตาข้างขวา ทำให้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 4 เดือนหลังเหตุการณ์ ตำรวจได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีนี้เพิ่มเติมอีก 5 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีแยกออกมา
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 พายุ บุญโสภณ ผู้สูญเสียดวงตาข้างขวาจากการสลายชุมนุม และกลุ่มผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมรวม 19 คน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องหลายนาย ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาร่วมกันละเมิดเสรีภาพการชุมนุมและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม
กลุ่มผู้เสียหายเห็นว่าการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และขัดต่อหลักการสากลของสหประชาชาติ รวมถึงแนวทางปฏิบัติตามคู่มือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมถูกละเมิดเสรีภาพและได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายรวม 12,499,891 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 19 คน
นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลสั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลไม่ให้มีการปิดกั้นขัดขวางหรือใช้กำลังในการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่รุนแรงเกินจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และเกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม รวมถึงให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมต่อสาธารณะ คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง