ONTHISDAY
วันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (18 พ.ย. 2565) กลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC 2022” นัดหมายชุมนุมเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2022 (APEC 2022) ที่ปราศจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2565
อย่างไรก็ตาม หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาได้ถึงบริเวณต้นถนนดินสอ ยังไม่ทันถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังและรถยนต์ปิดกั้นเส้นทาง ก่อนใช้กำลังเข้าสลายและจับกุมผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง พบว่ามีผู้ชุมนุม ผู้ที่ถูกจับกุม และสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยบางรายอาการสาหัสและต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลทันที ทั้งยังมีรายงานอีกว่าผู้ชุมนุมอย่างน้อยสองคนได้สูญเสียทรัพย์สินไประหว่างการสลายการชุมนุม
หนึ่งในนั้นคือกรณีของ “พายุ ดาวดิน” หรือ พายุ บุญโสภณ หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยิงใส่ตาข้างขวาจนเลือดออกจำนวนมาก หลังเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลตำรวจ พบว่าดวงตาข้างขวาแตกละเอียด เสียหายทั้งลูก ทั้งวุ้นตา เลนส์ตา และจอตา จนสุดท้าย พายุต้องสูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง
นอกจากนั้นยังมีชุมนุมคนอื่นที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างเช่น กรณีถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายด้วยไม้กระบอง และถูกกระสุนยางยิงที่บริเวณต้นแขนขวา มีอาการเจ็บศีรษะ มีแผลถลอกฟกช้ำตามร่างกาย แก้มซ้ายบวม จมูกบวม เจ็บที่ปาก ฟันหัก มีแผลฉีกที่ริมฝีปากบน เจ็บที่ชายโครงด้านขวา และเจ็บหน้าอก บางรายได้รับบาดเจ็บ คิ้วข้างซ้ายแตก
“สื่อมวลชน” ที่เข้าไปทำหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. นำโล่ทึบมาปิดกั้นทำให้สื่อมวลชนไม่ให้สามารถถ่ายภาพหรือวิดีโอเพื่อรายงานสถานการณ์ได้ และสื่อหลายรายได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่น ช่างภาพหญิงจากสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับบาดเจ็บที่ด้านในเปลือกตา บริเวณเยื่อบุตา เนื่องจากถูกของแข็งที่ลอยมาจากบริเวณใกล้แนวของ คฝ., นักข่าวจาก The Isaan Record ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายจนหัวแตกและฟกช้ำตามตัว ขณะรายงานสถานการณ์ชุมนุม (Live) แม้ว่าจะตะโกนบอกว่าเป็นสื่อแล้ว หรือแม้กระทั่งช่างภาพของ Matter และ Spacebar ถูก คฝ. ตีบริเวณแขน
ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม >> คฝ.กวาดจับ #ราษฎรหยุดAPEC2022 รวม 26 ราย แจ้ง 3 ข้อหา ก่อนได้ประกัน ใช้เงิน 5 แสน พบผู้ถูกจับกุมบาดเจ็บ 13 ราย ด้าน “พายุ ดาวดิน” ยังต้องเฝ้าระวังอาการ
ถึงแม้ว่าในวันดังกล่าวจะมีประชาชนถูกทำร้ายร่างกาย และได้รับบาดเจ็บจนบางรายต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที แต่จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าผู้ชุมนุมยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวใน 2 คดี เป็นจำนวน 30 คน ต่อมาประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในข้อหาร่วมกันละเมิดเสรีภาพการชุมนุมและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 12 ล้านบาท
ภาพจาก The Standard
ประชาชนถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดี 25 คน ในสามข้อหา แม้บางรายถูกตำรวจจับกุมด้วยความรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัส
คดีนี้มี พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้กล่าวหา หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทยอยจับกุมผู้ชุมนุมทั้งสิ้น 26 คน บริเวณถนนดินสอตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงช่วงเย็นของวันที่ 18 พ.ย. 2565 ต่อมาในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ประชาชน 25 คนที่ถูกจับกุม (ยกเว้นพายุ เนื่องจากถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล) ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง รวม 3 ข้อหา
- ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)
- ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)
- ร่วมกันฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะประกาศกำหนด (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ)
ผู้ต้องหาทั้ง 25 รายได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยบางรายได้ให้การเพิ่มเติมว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ทั้งหมดไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม โดยเขียนบันทึกไว้ว่า ผู้ต้องหาไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ต่อมาตำรวจให้ประกันตัวระหว่างสอบสวนทั้ง 25 คน และถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 คดีสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้วในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 พร้อมศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 นี้
.
ประชาชน 5 คน รวมถึง “พายุ” ที่โดนตำรวจยิงดวงตา ถูกเรียกแจ้งข้อหาภายหลังชุมนุมเกือบ 4 เดือน
หลังจากการชุมนุมผ่านไปแล้วเกือบ 4 เดือน นักกิจกรรมทางการเมือง 4 คน ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, พายุ บุญโสภณ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, กรชนก แสนประเสริฐ ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ ตามหมายเรียกเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 จากกรณีชุมนุมในวันดังกล่าวในสามข้อหาเช่นเดียวกันกับชุด 25 คนที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 1 คนถูกออกหมายเรียกเช่นเดียวกัน ซึ่งทราบว่าเป็นพระสงฆ์ ภายหลังถูกออกหมายจับและรับทราบข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566
คดีนี้ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 และมีนัดสืบพยานในเดือน ม.ค. และ ก.พ. 2568 ที่จะถึงนี้
ภาพจากไข่แมวชีส
.
ประชาชนผู้เสียหายจากการสลายชุมนุม ยื่นฟ้อง สตช. และ ผบ.ตร. ต่อศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 12 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 พายุ บุญโสภณ และกลุ่มผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวรวม 19 คน พร้อมทนายความ เดินทางไปยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1, ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6, ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน และผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาร่วมกันละเมิดเสรีภาพการชุมนุมและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม โดยเห็นว่าการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และขัดต่อหลักการและแนวทางปฏิบัติตามหลักการสากลของสหประชาชาติ รวมถึงแผนและคู่มือแนวทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนเป็นเหตุให้ถูกละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และได้รับอันตรายความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ
พร้อมขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายต่อเสรีภาพการชุมนุม ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน ค่าขาดรายได้ ค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียชื่อเสียงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 คน รวม 12,499,891 บาท และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับบัญชาตำรวจที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลไม่ให้มีการปิดกั้นขัดขวางและหรือใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะที่รุนแรงเกินจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และเกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการปฏิบัติสากล
รวมถึงให้มีการเปิดเผยรายงานการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุม รายละเอียดการใช้กำลัง รายชื่อตำรวจเกี่ยวข้อง และรายชื่อตำรวจที่ใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ชุมนุมให้สาธารณะหรือประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบได้ด้วย เพื่อเป็นการชดเชยเยียวยาความเสียหายและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน
คดีนี้ยังต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองต่อไป
.
ทั้งนี้ ยังมีการชุมนุมของนักกิจกรรมและประชาชนที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับประชุม APEC2022 ระหว่างวันที่ 15-19 พ.ย. 2565 และพบว่าคดีความเกิดขึ้นจากกิจกรรมชุมนุมทุกวัน
เริ่มจากวันที่ 15 พ.ย. 2565 มีการจัดกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” เดินถือป้ายประท้วงนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลจีน และต่อต้านบรรดาผู้นำเผด็จการที่เข้าร่วมประชุม ต่อมา “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และพวกรวม 12 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ต่อมาศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ลงโทษปรับในข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ
ในวันที่ 16 พ.ย. 2565 กลุ่มนักกิจกรรมแต่งชุดหมีพู-ชูป้ายประท้วงการประชุม #APEC2022 หน้าโรงแรมเคมปินสกี้ จนเกิดเหตุชุลมุนกับเจ้าหน้าที่ ต่อมา “ตะวัน” และ “สายน้ำ” เดินทางเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหาต่อสู้ขัดขวาง ทำร้าย และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน
วันที่ 17 พ.ย. 2565 มีการชุมนุม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปงาน APEC2022 ยื่นจดหมายบอกให้ผู้นำโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในไทย เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 8 คน ในจำนวน 4 คดี โดยหนึ่งในนั้นมี “เก็ท” โสภณ และ “ใบปอ” ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 จากการอ่านแถลงการณ์
และในวันที่ 19 พ.ย. 2565 มีการชุมนุมเดินประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมช่วงประชุม APEC2022 จากบีทีเอสสยามเข้าไปในห้างสยามพารากอน ทำให้ทางห้างแจ้งความ วรวรรณ แซ่อั้ง และพวก รวม 9 คน ฐานบุกรุกฯ และทำให้เสียทรัพย์ คดียังอยู่ในชั้นสอบสวนเช่นกัน
รวมทั้งวันที่ 23 พ.ย. 2565 กลุ่มนักกิจกรรมยังทำการเดินขบวนเรียกร้องตาที่หายไปของ “พายุ ดาวดิน” และตามหาความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐกรณีสลายการชุมนุม APEC2022 ที่บริเวณลานวงเวียน โอเดี้ยน เยาวราช ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาจำนวน 8 คน คดีนี้ศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ลงโทษปรับจำเลย 4 รายข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ