ลงโทษปรับ 24 ผู้ชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 ฐานขัดคำสั่งไม่เลิกมั่วสุม คนละ 2,500 บาท – ยกฟ้อง 1 ราย

วันที่ 19 ธ.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 25 นักกิจกรรมและประชาชน ซึ่งถูกฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, มาตรา 216 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการเข้าร่วมชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 – 20 และ ที่ 22 – 25 มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับคนละ 2,500 บาท และยกฟ้องจำเลยที่ 21

.

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2022 (APEC 2022) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2565 ในวันที่ 18 พ.ย. 2565 มีผู้ชุมนุมจากหลากหลายกลุ่มองค์กรในนาม “ราษฎรหยุดAPEC2022” ได้นัดหมายชุมนุมและเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมดังกล่าว

หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปถึงบริเวณต้นถนนดินสอ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังและรถยนต์ปิดกั้นเส้นทาง ก่อนใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุม 2 ระลอก มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 26 ราย โดยมีผู้ถูกจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย และยังมีผู้ชุมนุมบาดเจ็บอีกหลายราย โดยบางรายอาการสาหัสและต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลทันที

ต่อมาตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกจับกุม 25 ราย และได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวนในเวลาต่อมา และได้ถูกฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 และศาลให้ประกันทั้งหมดในระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

สำหรับข้อกล่าวหาที่ทั้งหมดถูกฟ้อง ได้แก่ ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายฯ, ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215,  216 และร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19 (5)

ในการสืบพยาน โจทก์พยายามกล่าวหาว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรื้อถอนป้ายการประชุมเอเปค และจะเข้ายึดพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกำหนดเงื่อนไขและออกคำสั่งห้ามเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณลานคนเมือง แต่ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม เคลื่อนขบวนผลักดันแผงรั้ว ใช้สีสเปรย์พ่นถนนและรถของเจ้าหน้าที่ ใช้ลวดสลิงผูกกับรถเจ้าหน้าที่และลากรถจนเสียหาย ขว้างปาสิ่งของ และใช้ไม้ตีเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายนาย

ด้านฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า การที่เจ้าพนักงานออกคำสั่งห้ามเคลื่อนขบวนเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งการเข้าสลายการชุมนุมเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ฝ่ายจำเลยยังพยายามนำสืบถึงที่มาของการชุมนุมว่า มีวัตถุประสงค์จากการที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและภาคประชาสังคม เพียงเพื่อผลักดันผลประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่

.

19 ธ.ค. 2567 เวลา 09.44 น. ห้องพิจารณาที่ 502 ผู้พิพากษาได้ออกนั่งพิจารณาและขานชื่อจำเลยทั้ง 25 ราย ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความได้ว่า

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 25 ราย ทำผิดตามฟ้องหรือไม่ 

ประเด็นที่ 1 สำหรับความผิดในฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 (5) แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

พยานโจทก์เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เบิกความว่า ได้รับหนังสือจากสำนักงานเขตพระนคร ว่ามีการแจ้งขอจัดการชุมนุมสาธารณะ ในวันที่ 16-18 พ.ย. 2565 และสำนักงานเขตพระนครอนุญาตให้ชุมนุมได้ที่ลานคนเมืองซึ่งเป็นสถานที่ที่รัฐจัดให้

ต่อมา วันที่ 17 พ.ย. 2565 สน.สำราญราษฎร์ได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากตัวแทนสมัชชาคนจนว่า ในวันที่ 18 พ.ย. ผู้ชุมนุมจะทำการเดินจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พยานเห็นว่า ผู้จัดการชุมนุมสามารถตั้งเงื่อนไขการชุมนุมได้ แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมและมีประกาศเรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8(5) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่ห้ามการชุมนุม เพื่อไม่ให้กีดขวางทางจราจร กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หากกลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินขบวนเพื่อคัดค้านการประชุม ย่อมถือว่ามีเจตนาที่จะก่อความเสียหายแก่การประชุม และจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะเจ้าภาพ และยังเป็นการเคลื่อนย้ายไปชุมนุมในสถานที่ที่ประกาศเป็นเขตหวงห้ามหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือใช้งานสถานที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ จึงมีคำสั่งไม่ให้เคลื่อนย้ายการชุมนุมและแจ้งให้ทราบผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ 

สำหรับเหตุการณ์ที่มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุม พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมและตำรวจที่จับกุมผู้ชุมนุม รวมถึงตำรวจควบคุมฝูงชน เบิกความตรงกันในสาระสำคัญว่า กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณพื้นผิวจราจรด้านหน้าเสาชิงช้า โดยกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พยานโจทก์ได้แจ้งแล้วว่า ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายออกจากลานคนเมือง แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม

จำเลยที่ 11 ยืนอยู่บนรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงขับขี่มาทางด้านหลังของผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมได้ฝ่าแผงเหล็กแนวกั้นจนล้มลงเดินขบวนต่อจนถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ตำรวจควบคุมฝูงชนได้แจ้งผ่านเครื่องขยายเสียงไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้น ขอให้เดินกลับลานคนเมือง ให้เลิกมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจตะโกนโห่ไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บางคนฉีดสีสเปรย์ลงบนพื้นผิวจราจรและฉีดใส่รถยนต์ของราชการ นำแผ่นกระดาษมาติดที่รถยนต์ของราชการ 

ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนผลักและดัน ตำรวจควบคุมฝูงชนจึงมีคำสั่งให้ผลักดันผู้ชุมนุมกลับไปยังที่เดิมและให้จับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง หลังจากมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชุมนุมกลับไปที่ลานคนเมือง ผู้ชุมนุมบางกลุ่มปฏิบัติตามและบางกลุ่มก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ เพื่อเป็นการยับยั้งความวุ่นวายเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ที่ก่อความวุ่นวาย ระหว่างการเข้าจับกุมมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ไม้หน้าสามทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจึงยิงกระสุนยางเพื่อป้องกันตัวและระงับภัยอันตราย

กลุ่มผู้ชุมนุมร่นถอยกลับแต่ไม่ได้กลับไปที่ลานคนเมือง ได้มีการสับเปลี่ยนขึ้นการพูดปราศรัย ผู้ชุมนุมใช้กระทะเผาพริกและนำไปวางไว้บนรถราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงฉีดน้ำใส่เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ กลุ่มผู้ชุมนุมสาดพริกและทรายใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผลจากการปะทะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนบางส่วนได้รับบาดเจ็บ 

เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุโดยตลอด เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ประกอบกับคลิปเหตุการณ์และพยานวัตถุอื่น ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 – 20 และ 22 – 25 อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม บางครั้งก็ปรากฏอยู่ในแนวหน้าบ้าง อยู่บนรถเครื่องขยายเสียงบ้าง อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของการชุมนุมบ้าง

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้แจ้งผ่านเครื่องขยายเสียงและแจ้งผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายการชุมนุม การจับกุมผู้ชุมนุมดังกล่าวได้ตามจุดเกิดเหตุเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่าจำเลยมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและต้องการเคลื่อนขบวนต่อไป

เมื่อประกาศของเจ้าพนักงานชุมนุมสาธารณะออกโดยชอบโดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุม

ประเด็นที่ 2 สำหรับความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก

พยานโจทก์ทุกปากเบิกความว่า มีผู้ชุมนุมประมาณ 200-300 คน การที่จำเลยเคลื่อนขบวนต่อไปทั้งที่มีคำสั่งห้ามจากเจ้าพนักงานของรัฐ ในการชุมนุมมีผู้พ่นสี ผลักและดันรถยนต์ที่เป็นแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ใช้ลวดสลิงลากรถยนต์กระบะแนวกั้น จุดไฟเตาเผาพริกและสาดใส่เจ้าพนักงานตำรวจ มีตำรวจควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บ เมื่อพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่าผู้ชุมนุมมีประมาณ 200-300 คน มากกว่า 10 คน เข้าลักษณะอันเป็นการกระทำมั่วสุม

การรวมตัวของจำเลยมีลักษณะเป็นการกีดขวางทางจราจรประชาชนทั่วไปด้วยการเคลื่อนขบวนซึ่งมีคนจำนวนมาก มีการทำลายทรัพย์สินราชการให้เสียหาย ความมุ่งหมายของกฎหมายในเรื่องนี้มุ่งคุ้มครองความสงบโดยรวม แม้จำเลยและผู้ชุมนุมทั้งหมดมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับผู้ใช้อำนาจ แต่ก็มีช่องทางอื่นที่สามารถโต้แย้งได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

จำเลยที่ 1 – 20 และ 22 – 25 ย่อมมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง นอกจากนั้นเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุม จำเลยไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แต่ยังคงเคลื่อนขบวนแล้วก่อความวุ่นวายขึ้นจนความผิดสำเร็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และย่อมมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้เลิกมั่วสุมตามมาตรา 216 ด้วย

ประเด็นที่ 3 พิจารณาข้ออ้างของจำเลยทั้งหมด

เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่า การเดินขบวนจะเดินไปที่หอศิลป์กรุงเทพฯ จำเลยไม่ทราบคำสั่งห้ามเดินขบวน ก็เป็นเหตุที่จำเลยอ้างขึ้นครั้งแรกในชั้นพิจารณา ส่วนที่อ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เห็นว่า รัฐได้จัดพื้นที่การชุมนุมที่ลานคนเมืองและในช่วงดังกล่าวมีการประชุมเอเปคซึ่งใช้เวลาไม่นาน และจำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมคนจำนวนมาก เพื่อไม่ให้กระทบกับการประชุมและไม่ให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทำให้นานาชาติขาดความเชื่อมั่น การป้องกันไว้ก่อนจึงชอบด้วยกฎหมาย

ในส่วนจำเลยที่ 21 พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความว่า พบจำเลยที่ใดและตามภาพถ่ายและคลิปไม่ปรากฏภาพจำเลย ที่จำเลยอ้างว่า ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม แต่มาสังเกตการณ์ในภายหลัง จึงมีความเป็นไปได้พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควร ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า วันดังกล่าวเจ้าหน้าที่สวมชุดกันสะเก็ดระเบิด สวมสนับมือสนับเข่า มีกระบองยาง ปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยาง ฝ่ายผู้ชุมนุมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าธรรมดาไม่ปรากฏอาวุธร้ายแรง จึงควรนำพฤติการณ์แห่งคดีมาพิจารณาประกอบการกำหนดโทษให้เหมาะสม

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 – 20 และ ที่ 22-25 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, มาตรา 216 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19 (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่เลิกมั่วสุม ปรับคนละ 2,500 บาท และยกฟ้องจำเลยที่ 21 สำหรับคำขอที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ เนื่องจากศาลลงโทษปรับเท่านั้น จึงไม่สามารถเพิ่มโทษและนับโทษต่อได้ ยกคำขอของโจทก์

ผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษา คือ มัณฑนา อิสสระโชติ

.

ต่อกรณีเหตุการณ์ชุมนุมนี้ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังได้ติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้จัดทำรายงานลงวันที่ 29 พ.ค. 2566 โดยสรุปเห็นว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ดังกล่าวเกินกว่าความจำเป็น ทั้งยังเป็นไปโดยไม่เหมาะสม และไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสาม (เรื่องการจับกุม) และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย จึงถือเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน ซึ่งตัวแทนของ กสม. ก็ได้เข้าเบิกความถึงรายละเอียดของรายงานการตรวจสอบดังกล่าวด้วย

นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีของนักกิจกรรมอีก 5 คน ซึ่งรวมถึง พายุ บุญโสภณ ซึ่งถูกยิงด้วยกระสุนยางจนสูญเสียดวงตาข้างขวา และได้ถูกกล่าวหาในข้อหาลักษณะเดียวกันนี้ด้วย โดยคดีได้ถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตเช่นกันและมีนัดสืบพยานในเดือน ม.ค – ก.พ. 2568

.

X