จับตา ฟังคำพิพากษาคดี 25 ผู้ชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 ฝ่ายจำเลยโต้แย้งเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายชุมนุมเกินกว่าเหตุ

ในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 25 นักกิจกรรมและประชาชน จากการเข้าร่วมชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ทั้งหมดถูกฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหา และมีการสืบพยานยืดเยื้อมาตั้งแต่กลางปี 2566 จนถึงกลางปี 2567

สำหรับการชุมนุมดังกล่าว ผู้ชุมนุมจากหลากหลายกลุ่มองค์กรในนาม “ราษฎรหยุดAPEC2022” ได้นัดหมายชุมนุมและเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมเอเปค แต่หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปถึงบริเวณต้นถนนดินสอ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังและรถยนต์ปิดกั้นเส้นทาง ก่อนใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุม 2 ระลอก มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 26 ราย โดยมีผู้ถูกจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย และยังมีผู้ชุมนุมบาดเจ็บอีกหลายราย โดยบางรายอาการสาหัสและต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลทันที

ต่อมาตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกจับกุม 25 ราย ยกเว้น “พายุ ดาวดิน” ที่ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ตาข้างขวา ทำให้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต่อมาตำรวจให้ประกันตัวระหว่างสอบสวนทั้ง 25 คน และได้ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 และศาลให้ประกันทั้งหมดโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

สำหรับข้อกล่าวหาที่ทั้งหมดถูกฟ้องคดี ได้แก่

1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)

2. ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)  

3. ร่วมกันฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะประกาศกำหนด [พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 19 (5)] 

.

.

คดีนี้ เริ่มมีการสืบพยานมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 แต่ยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้มีการนัดสืบพยานเพิ่มเติมในเดือนมีนาคม และกรกฎาคม 2567 จนเสร็จสิ้น

โจทก์พยายามกล่าวหาว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรื้อถอนป้ายการประชุมเอเปค และจะเข้ายึดพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกำหนดเงื่อนไขและออกคำสั่งห้ามเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณลานคนเมือง แต่ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม และมีการเคลื่อนขบวนผลักดันแผงรั้วออก ใช้สีสเปรย์พ่นถนนและรถของเจ้าหน้าที่ ใช้ลวดสลิงผูกกับรถเจ้าหน้าที่และลากรถจนเสียหาย ขว้างปาสิ่งของ และใช้ไม้ตีเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายนาย 

เดิมฝ่ายโจทก์ประสงค์จะนำพยานเข้าสืบจำนวน 22 ปาก ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชุดควบคุมฝูงชน และพนักงานสอบสวน แต่หลังสืบพยานไป ศาลได้ให้ตัดพยานจำนวน 14 ปาก เนื่องจากได้นำพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความแล้ว ไม่ได้มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงให้งดการสืบพยาน

ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบจำนวน 15 ปาก มีทั้งตัวแทนของจำเลย ผู้ชุมนุมที่ถูกทำร้ายร่างกาย ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์และถูกทำร้ายร่างกาย นักวิชาการที่ให้ความเห็นเรื่องเสรีภาพการชุมนุม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

.

.

ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าการที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะออกคำสั่งห้ามเคลื่อนขบวนจากลานคนเมือง ไปยังหอประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี จนเกินกว่าเหตุ 

สำหรับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดสถานที่ห้ามชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงาน อ้างตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยสิ้นเชิง เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขลักษณะการชุมนุมเพิ่มเติม เจ้าพนักงานตำรวจยังสามารถบังคับกฎหมายโดยคำนึงถึงหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน เพื่อให้การใช้เสรีภาพการชุมนุมได้รับการคุ้มครองได้ ไม่จำเป็นต้องห้ามการเคลื่อนขบวนโดยสิ้นเชิง โดยกรณีคำสั่งที่ไม่ชอบนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ฟ้องไปที่ศาลปกครอง และศาลได้รับฟ้องเอาไว้แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา

ขณะเดียวกัน ฝ่ายจำเลยยังพยายามนำสืบถึงที่มาที่ไปของการชุมนุม ไม่ใช่เพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามที่โจทก์อ้าง แต่มีวัตถุประสงค์ของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นชาวบ้านจากหลายพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในการประชุมดังกล่าว และแผนขับเคลื่อนต่าง ๆ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและภาคประชาสังคม แต่เป็นไปเพื่อผลักดันผลประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่

การชุมนุมที่เกิดขึ้น ยังอยู่ในขอบเขตของการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ เหตุการณ์สลายการชุมนุมและจับกุมบริเวณถนนดินสอเป็นไปเกินกว่าเหตุ ไม่ได้มีการเข้ามาเจรจา การประกาศแจ้งเตือน หรือแม้แต่ประกาศจะใช้กำลังสลายการชุมนุมตามขั้นตอน ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เป็นการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่มีทั้งการใช้กระสุนยางยิงโดยตรงมาที่ผู้ชุมนุม การใช้กระบองฟาด หรือการเข้าเตะและรุมกระทืบผู้ชุมนุมที่ล้มนอนอยู่ ทั้งที่ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีการรุมทำร้ายสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และจำเลยบางรายที่ถูกจับกุม ก็เพียงแต่ไปยืนสังเกตการณ์เหตุการณ์เท่านั้น ไม่ได้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

ต่อกรณีเหตุการณ์ชุมนุมนี้ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังได้ติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้จัดทำรายงานลงวันที่ 29 พ.ค. 2566 โดยสรุปเห็นว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ดังกล่าวเกินกว่าความจำเป็น ทั้งยังเป็นไปโดยไม่เหมาะสม และไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสาม (เรื่องการจับกุม) และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย จึงถือเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน ซึ่งตัวแทนของ กสม. ก็ได้เข้าเบิกความถึงรายละเอียดของรายงานการตรวจสอบดังกล่าวด้วย

.

สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 นั้น นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีของนักกิจกรรมอีก 5 คน ซึ่งรวมถึง พายุ บุญโสภณ ซึ่งถูกยิงด้วยกระสุนยางจนสูญเสียดวงตาข้างขวา และได้ถูกกล่าวหาในข้อหาลักษณะเดียวกันนี้ด้วย โดยคดีได้ถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตเช่นกัน แต่อยู่ระหว่างรอนัดสืบพยานในวันที่ 16-17, 23-24, 30-31 ม.ค., 6-7, 13-14, 20 ก.พ. 2568 นี้

.

ย้อนอ่านสรุปคดีช่วงชุมนุมเอเปค ON THIS DAY: ราษฎรหยุด APEC2022 #ม็อบ18พฤศจิกา65 ถูกดำเนินคดีถึง 30 คน แม้ถูกตำรวจสลายชุมนุมรุนแรง จน “พายุ” สูญเสียดวงตาข้างขวา

X