ประชาชนกรุงเทพฯ ถูกจับกุมคดี ม.112 กรณีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ กล่าวหาไว้ที่พัทลุง หลังหมายจับออกมาปีกว่า และเคยไปพบตำรวจตามนัดมาก่อนแล้ว

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 เวลาประมาณ 16.24 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณี “จิรดี” (นามสมมติ) ประชาชนในกรุงเทพฯ อายุ 35 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามเข้าจับกุมจากสถานที่ทำงาน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยพบว่าเป็นคดีของ สภ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาไว้ ทำให้เธอถูกนำตัวลงใต้ไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจเจ้าของคดี ก่อนถูกส่งขอฝากขังที่ศาล และศาลให้ประกันตัวในเวลาต่อมา

การจับกุมดังกล่าว ตำรวจได้อ้างหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 28 ส.ค. 2566 โดยมี พ.ต.ท.แสนชัย เกษรินทร์ พนักงานสอบสวน สภ.ควนขนุน เป็นผู้ร้องขอออกหมายจับ และมี เดชชยันต์ จึงนิจนิรันดร์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพัทลุง เป็นผู้อนุญาตให้ออกหมายจับ

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จิรดีเคยได้รับหมายเรียกของ สภ.ควนขนุน ออกโดย พ.ต.ท.ฉลอง ขุนภักดี ในคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2566 เธอได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และในครั้งนั้นตำรวจได้สอบสวนไว้ในฐานะพยาน หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีหมายเรียกหรือการติดต่อจากทางตำรวจมาอีก และคิดว่าเรื่องดังกล่าวจบสิ้นไปแล้ว โดยไม่ทราบว่ามีการไปขอออกหมายจับจากศาล และตำรวจเพิ่งมีการเข้าจับกุมหลังหมายจับออกมาแล้วกว่าปีเศษ ทั้งที่ตัวเธอก็ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

หลังถูกจับกุม ตำรวจได้พาตัวจิรดีไปยังกองปราบปรามเพื่อทำบันทึกจับกุม โดยชุดจับกุมนำโดยตำรวจจากกองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม และตำรวจจากฝ่ายสืบสวนของภูธรจังหวัดพัทลุง อ้างในบันทึกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมหลังได้รับแจ้งจากสายลับ ว่าผู้ถูกออกหมายจับ ทำงานอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ชุดจับกุมจึงรายงานผู้บังคับบัญชา และเดินทางไปตรวจสอบก่อนเข้าจับกุม

จากนั้นตำรวจได้นำตัวเธอไปยังสถานีรถไฟบางซื่อ เพื่อเตรียมเดินทางไปยังจังหวัดพัทลุง โดยในตอนแรกไม่ยินยอมให้ญาติติดตามไป แต่หลังจากพูดคุย ได้ให้ญาติเดินทางไปที่สถานีรถไฟได้ แต่ไม่อนุญาตให้เดินทางไปด้วย

.

ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ตำรวจได้นำตัวจิรดีมาถึง สภ.ควนขนุน โดยมีทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามไป โดยกว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ต้องหา ก็เป็นในช่วงค่ำแล้ว เนื่องจากรอพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และรอคิวการสอบสวนในคดีอื่นด้วย

พ.ต.ต.วิชัย อำพันธ์ พนักงานสอบสวน สภ.ควนขนุน ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจิรดี ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. ทรงชัย เนียมหอม หัวหน้าและผู้ก่อตั้งกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ได้ขับขี่รถยนต์จากจังหวัดกระบี่ มุ่งหน้าตัวเมืองพัทลุง เมื่อมาถึงสี่แยกสัญญาณไฟจราจรโพธิ์ทองที่เกิดเหตุ รถติดสัญญาณไฟแดง จึงได้เข้าไปอ่านข้อความต่าง ๆ ในทวิตเตอร์ของโทรศัพท์มือถือ และได้พบว่ามีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ โพสต์เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ทวีตข้อความโต้ตอบกัน ในประเด็นเรื่องมุมมองเกี่ยวกับคนดีและคนไม่ดี โดยมีการกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าบัญชีที่โพสต์โต้ตอบบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีทวิตเตอร์ของผู้ถูกกล่าวหา จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี

ในชั้นสอบสวน จิรดีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในตอนแรกทางพนักงานสอบสวนจะให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 225,000 บาท แต่ต่อมาเมื่อเสนอเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชา ทางตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยจะต้องนำตัวไปขอฝากขังต่อศาล ทำให้เธอต้องถูกควบคุมตัวไว้อยู่ที่ สภ.ควนขนุนอีก 1 คืน

ก่อนเช้าวันที่ 29 มี.ค. 2568 พนักงานสอบสวนได้นำตัวจิรดีไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าแม้ไม่มีพยานต้องสอบสวนแล้ว แต่ยังต้องรอผลการตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขออำนาจศาลฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน และยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำขอ แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยหากผิดสัญญาประกัน ศาลให้ปรับ 200,000 บาท จากนั้นจิรดีจึงได้รับการปล่อยตัว

.

ในส่วนของแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันดังกล่าว พบว่าได้ดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 จำนวนมากไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยใช้วิธีการกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจ เบื้องต้นพบว่ามีผู้ถูกแจ้งข้อหาแล้วไม่น้อยกว่า 15 คดี อาทิที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง, สภ.เมืองพัทลุง, สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง, สภ.เขาชัยสน จ.พัทลุง, สภ.คอหงส์ จ.สงขลา, สภ.เมืองกระบี่ และ สน.บางนา ในกรุงเทพฯ ด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกแจ้งความ ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี 

รวมทั้งยังมีแจ้งความในคดีมาตรา 116 อีกหลายคดี อาทิคดีของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน ถูกกล่าวหาไว้ที่ สภ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง และล่าสุดกรณีของ “ปูน ธนพัฒน์” ที่ถูกจับกุมตามมาตรา 116 ในวันเดียวกับคดีจิรดี ก็มีผู้กล่าวหาคนเดียวกันนี้ไปกล่าวหาไว้ที่ สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง อีกด้วย

.

X