27 มี.ค. 2568 “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” วัย 22 ปี ถูกจับกุมขณะเข้าแจ้งการชุมนุมสาธารณะที่ สน.ปทุมวัน ชุดสืบสวน สน.ปทุมวัน แสดงหมายจับศาลจังหวัดตรัง ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก่อนตำรวจ สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง รับตัวไปดำเนินคดี กรณี ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน แจ้งความกล่าวหา โพสต์รูปนักเรียนถือป้าย ‘ชาติ ศาสนา ประชาชน’ เดินพาเหรด ในเพจ “ทะลุฟ้า” เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 และให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ
ประมาณ 14.30 น. วันที่ 27 มี.ค. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ขณะปูนเข้าแจ้งการชุมนุมสาธารณะที่ สน.ปทุมวัน ตำรวจชุดสืบสวน สน.ปทุมวัน ได้เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดตรัง ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก่อนควบคุมตัวปูนไว้
ต่อมา ประมาณ 17.30 น. เมื่อทนายความติดตามไปถึง สน.ปทุมวัน ชุดจับกุมได้จัดทำบันทึกการจับกุม ระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับศาลจังหวัดตรังที่ 83/2568 ลงวันที่ 7 มี.ค. 2568 โดยเป็นคดีของ สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง แต่ยังไม่แจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี
ตำรวจแจ้งว่า สภ.ห้วยยอด กำลังส่งรถตู้มารับปูนไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ คาดว่ารถตู้จะถึง สน.ปทุมวัน ราว 04.00 น. ทำให้ปูนถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังของ สน.ปทุมวัน อยู่ตลอดคืน
เช้าวันที่ 28 มี.ค. 2568 เวลา 06.00 น. ตำรวจ สภ.ห้วยยอด ควบคุมตัวปูนขึ้นรถตู้เดินทางไปจังหวัดตรัง โดยอนุญาตให้เพื่อน 1 คน นั่งรถไปกับปูนด้วย แต่ไม่ให้ทั้งปูนและเพื่อนใช้โทรศัพท์ ขณะที่นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าจำนวนหนึ่งขับรถส่วนตัวติดตามไป
รถตู้ตำรวจเดินทางถึง สภ.ห้วยยอด ในเวลาประมาณ 17.25 น. จากนั้น พ.ต.ท.ยศวริศ ทองสงโสม พนักงานสอบสวน เริ่มแจ้งพฤติการณ์คดีและแจ้งข้อกล่าวหาในเวลา 19.30 น. หลังทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายฯ เดินทางไปถึง
พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 เวลากลางวัน โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ได้จัดกิจกรรมกีฬาสีประจำปีการศึกษาที่ 2565 และได้มีกิจกรรมเดินขบวนพาเหรดของนักเรียน โดยในขบวนพาเหรดมีการถือป้ายผ้ายาวประมาณ 320 ซม. กว้างประมาณ 90 ซม. เขียนข้อความว่า ชาติ ศาสนา ประชาชน ไปตามถนนสาธารณะ และผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐานอยู่ตามเส้นทาง ต่อมา ได้มีผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ ทะลุฟ้า – Thalufah โพสต์รูปภาพขณะนักเรียนเดินถือป้ายข้อความนั้น ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปเข้าดูได้
จากนั้นเวลาประมาณ 19.00 น. ขณะที่ทรงชัย เนียมหอม ผู้กล่าวหา เดินทางจากจังหวัดกระบี่ไปยังจังหวัดพัทลุง เมื่อมาถึงบริเวณชุมชนตลาดเทศบาลตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ได้เปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวพบข้อมูลของเพจทะลุฟ้าโพสต์รูปภาพนักเรียนเดินพาเหรดถือป้ายดังกล่าว ผู้กล่าวหาเห็นว่า การที่นักเรียนทำป้ายข้อความที่เขียนคำว่า ชาติ ศาสนา ประชาชน โดยไม่ใช้คำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เดินถือป้ายไปตามเส้นทางสาธารณะ แล้วต่อมาเพจทะลุฟ้าโพสต์รูปภาพขณะนักเรียนเดินถือป้ายเพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับรู้รับทราบโดยทั่วกัน เป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้ประชาชนล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 2 โดยมีเจตนาบิดเบือนข้อความและตัดข้อความคำว่า พระมหากษัตริย์ เป็น ประชาชน อันเป็นการกระทำที่ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย
ต่อมา วันที่ 16 ม.ค. 2566 ผู้กล่าวหาได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยยอด ให้ดำเนินคดีกับ พงศ์ไท คีรีวงศ์วัฒนา ผอ.โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และผู้ใช้บัญชี ทะลุฟ้า เพื่อให้ได้รับโทษจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
พ.ต.ท.ยศวริศ จึงแจ้งข้อกล่าวหาปูนว่า “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
ปูนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน จากนั้นทนายความได้ยื่นประกันในชั้นตำรวจ โดยวางเงินประกันจำนวน 70,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกัน โดยนัดรายงานตัวในวันที่ 25 เม.ย. 2568 ทำให้ปูนได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 21.50 น. รวมเวลาถูกควบคุมตัว 2 วัน 1 คืน หรือกว่า 31 ชม.
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 เพจ ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน รายงานว่า ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เดินทางไปยัง สภ.ห้วยยอด เพื่อแจ้งความ โดย พ.ต.อ.สานิต พลเพชร ผกก.สภ.ห้วยยอด ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำและรับคดีไว้เพื่อเสนอผู้บริหารระดับสูงตามระเบียบต่อไป
.
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ พบว่า ทรงชัยได้แจ้งความคดีมาตรา 112 และ 116 ไว้ในหลายสถานีตำรวจในหลายจังหวัดทางภาคใต้และกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 17 คดี แล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกแจ้งความ ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี สำหรับคดีมาตรา 116 นอกจากคดีของปูน ก็มีคดีของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน ซึ่งทรงชัยได้แจ้งความไว้ที่ สภ.ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายฯ ยังพบว่า มีการใช้มาตรา 116 กล่าวหาผู้แสดงออกทางการเมืองดำเนินสืบเนื่องต่อมาจากยุค คสช. จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการชุมนุมเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ โดยตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งเริ่มการชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอก จนถึงปัจจุบัน (31 มี.ค. 2568) มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาตามมาตรา 116 แล้ว อย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 55 คดี
.
อ่านสรุปสถานการณ์การใช้ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ม.116 : ย้อนมองข้อหา ม.116 เครื่องมือทางการเมืองที่ยังคงถูกใช้สืบเนื่องจากยุค คสช.