วันที่ 5 มี.ค. 2568 ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ตัวแทนนักเรียน “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” รวม 13 ราย ยื่นฟ้องต่อศาล ตั้งแต่เมื่อปี 2563 เพื่อขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงเกี่ยวกับการไว้ผมทรงผมของนักเรียนตั้งแต่เมื่อปี 2518 ที่ออกตามความในประกาศของคณะรัฐประหารยุคจอมพลถนอม กิตติขจร
ศาลพิพากษาให้เพิกถอนกฎระเบียบเกี่ยวกับการไว้ผมทรงผม เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ปี 2515 ออกโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาการของบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย และความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล จึงมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นกฎที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (โหลดคำพิพากษาฉบับเต็มด้านล่าง)
.
กฎหมายอายุกว่า 50 ปี ที่นักเรียนปัจจุบัน มองว่าล้าหลังและขัดต่อสิทธิเสรีภาพ นำมาสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานบนเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนไทย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ตัวแทนนักเรียน “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอให้ศาลปกครอมีคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 ละขอให้เพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563
กฎกระทรวงดังกล่าวมีเนื้อหากำหนดให้นักเรียนชายห้ามไว้ผมยาวเกินตีนผม หรือไว้หนวดเครา ส่วนนักเรียนหญิงห้ามไว้ผมยาวเกินต้นคอ และห้ามใช้เครื่องสำอาง
ต่อมา วันที่ 28 ส.ค. 2563 ศาลปกครองกลางรับคําฟ้องไว้พิจารณา 1 เรื่อง คือ การขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ส่วนการขอเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ศาลปกครองกลางไม่อาจรับคําฟ้องในประเด็นนี้ไว้พิจารณาได้
เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายจึงอยู่ในอํานาจของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 11 (2) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงนำมาสู่การฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว
ต่อมา วันที่ 8 ต.ค. 2563 กลุ่มตัวแทนนักเรียนจำนวน 13 คน จึงได้ยื่นฟ้องคดีใหม่ต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว โดยใช้คำฟ้องฉบับเดิมที่เคยยื่นต่อศาลปกครองกลาง
ในเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุด ได้รับคำฟ้องไว้พิจารณา และได้มีคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีในวันที่ 14 พ.ย. 2567 โดยสรุปใจความได้ว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยดังนี้
- ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจศาลและเงื่อนไขการฟ้องคดี
คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสาม ฟ้องว่ากฎกระทรวงที่พิพาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกฎกระทรวง ซึ่งเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง แต่เนื่องจากกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามมีสถานภาพเป็นนักเรียนในสังกัดสถานศึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากกฎกระทรวงที่พิพาท คำขอที่ขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1)
กรณีนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหาย ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามจึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แม้การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามนำคดีมาฟ้องต่อศาลพ้นกำหนดระยะเวลาฟ้องตามมาตรา 49 แต่เห็นว่าคดีนี้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลจึงมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาตามมาตรา 52
- ประเด็นที่เป็นเนื้อหาของคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 49
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กฎกระทรวงที่พิพาทมีผลบังคับใช้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือตั้งแต่อายุ 7 – 16 ปี
ดังนั้นผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จึงเป็นกรณีนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้และควรรู้ ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่กฎดังกล่าวมีผลใช้กับนักเรียนทุกคนเป็นการทั่วไป ถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองจึงรับคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า กฎกระทรวงที่พิพาทขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ได้วางหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการแต่งกายและความประพฤติที่ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพนักเรียน กฎกระทรวงทั้งสองฉบับใช้บังคับต้องแต่ปี พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2518 ซึ่งล่วงเลยมาจนถึงปี พ.ศ. 2542 เป็นเวลา 24 ปี ได้มีการตรา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ แต่ให้คงใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว จนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.นี้ จึงเป็นเหตุให้กฎกระทรวงที่พิพาทยังมีผลบังคับใช้อยู่
หากนับจนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามนำคดีมาฟ้อง นับได้ว่าเป็นเวลา 45 ปี ซึ่งสมัยนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ยังไม่มีการแก้ไขการไว้ผมของนักเรียนให้เหมาะสมกับวัยและสภาพนักเรียน ดังนั้นกฎกระทรวงที่พิพาทย่อมไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อพิจารณาความในมาตรา 28 แห่งรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เห็นว่ากฎกระทรวงที่พิพาท เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมขัดต่อหลักความเสมอภาค อีกทั้งกับไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กฎกระทรวงที่พิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยสรุป เห็นว่าควรเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ
ต่อมาวันที่ 28 ม.ค. 2568 ในนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก หลังเสร็จสิ้นการพิจารณา ศาลได้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้ (5 มี.ค. 2568)
.

.
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่ากฎที่พิพาท เป็นการจำกัดเสรีภาพร่างกาย โดยมิได้คำนึงถึงถึงสภาพสังคม พัฒนาการของอัตลักษณ์ บุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย และยังมีการบังคับใช้ที่สร้างความเสียหายต่อจิตใจเด็ก
วันนี้ (5 มี.ค. 2568) เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณาที่ 4 มีเพียงผู้รับมอบอำนาจช่วงของฝ่ายผู้ร้อง เจ้าหน้าที่ศาล ประมาณ 5 คน และนักศึกษาฝึกงานประมาณ 5 คน เข้าร่วมฟังคำพิพากษาในคดีนี้ ทุกคนมาพร้อมกันเวลาประมาณ 09.30 น.
เวลา 09.39 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณา และได้สอบถามว่าในวันนี้มีคู่ความฝ่ายใดบ้าง และขอให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงแสดงเอกสารยืนยันตัวตน ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้องรับทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่ได้ปรากฏตัว ศาลจึงได้เริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ว่า
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยดังนี้
1. ศาลปกครองสูงสุดสามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ หรือไม่ โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามฟ้องคดีล่วงเลยกำหนดเวลาการฟ้องตามกฎหมาย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กฎกระทรวงดังกล่าว เป็นกฎที่กระทบต่อเสรีภาพในร่างกาย ที่ใช้บังคับกับนักเรียน ซึ่งกำลังศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีพเป็นการทั่วไป กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ของกฎกระทรวงที่พิพาทซึ่งมีผลใช้บังคับกับนักเรียนทุกคน
จึงถือได้ว่า เป็นการยื่นฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 52 แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฟังไม่ขึ้น
2. กฎกระทรวงที่พิพาท เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่ากฎกระทรวงที่พิพาท ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เนื่องจากยังไม่มีการออกกฎใหม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กฎดังกล่าว มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดข้อห้าม เกี่ยวกับทรงผมและการใช้เครื่องสำอางของนักเรียน ถือได้ว่าเป็นกฎที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพร่างกายของบุคคล ผู้มีสถานะเป็นนักเรียน โดยมิได้คำนึงถึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาการของอัตลักษณ์และบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย
จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นกฎที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และยังอาจมีการบังคับใช้กฎที่พิพาทนั้นอย่างเคร่งครัด จนอาจมีผลร้ายต่อจิตใจของเด็กที่มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ และเห็นว่า ระเบียบของโรงเรียนและสถานศึกษา ย่อมหมายความรวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน
เมื่อพิจารณาเนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับที่พิพาท ซึ่งกำหนดลักษณะทรงผมของนักเรียน โดยมิได้คำนึงถึงพัฒนาการของบุคลิกภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัยและความหลากหลาย ของอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
จึงถือว่ากฎกระทรวงดังกล่าวซึ่งเป็นกฎที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
พิพากษาให้เพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
.
.
ย้อนอ่านที่มาที่ไปในคดีนี้เพิ่มเติม
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ยื่นร้องเรียนกฎเรื่องทรงผม ก่อนเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง
เปิดคำอภิปรายนอกสภา กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท “หัวเกรียนเป็นผลพวงรัฐประหาร”