Back to School: อัพเดตความเคลื่อนไหวคดีนักเรียนฟ้อง ศธ.ทวงสิทธิบน #หัวกู ในวันที่ครูยังกล้อนผมนักเรียนเหมือนเดิม

ตั้งแต่วันจันทร์ 14 มิ.ย. 64 นักเรียนทั่วประเทศกลับเข้าสู่บรรยากาศของการเปิดเทอมอีกครั้ง หลังโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดเป็นระลอกที่ 3 ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน โดยเป็นการเรียนลักษณะออนไลน์ผสานกับการเดินทางไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ในการเรียนออนไลน์โรงเรียนยังตามควบคุมเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนเช่นเดิม บางโรงเรียนมีมาตรการให้นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบ หรือต้องยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ เช่นเดียวกับการไปโรงเรียน เพจนักเรียนเลวรายงานการร้องเรียนในสัปดาห์แรกของการเปิดเรียน เป็นกรณีทรงผมถึง 28 กรณี รวมทั้งมีข่าวการกล้อนผมนักเรียนในวันเปิดเทอม

ขณะเดียวกันระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มนักเรียนได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิในการกำหนดชีวิตของตนเอง อาทิ กลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย จัดกิจกรรมเผาสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ได้แก่ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563, ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งจัดกิจกรรมแสดงพลังแห่งตัวตน แสดงจุดยืนที่มีความหลากหลายทางเพศ ติดแฮชแท็ก #กูจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของกู กิจกรรมทั้งสองแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนักเรียนหลากหลายกลุ่มที่ยังคงเกาะติดประเด็นเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรมและแสดงความยืนยันจะต่อสู้เรียกร้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของพวกเขาเอง

นอกจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่จัดรับการเปิดเทอมปีการศึกษา 2564 และมีมาตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาแล้ว นักเรียนกลุ่มหนึ่งยังเดินหน้าผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 63 ตัวแทนนักเรียน “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลปกครองพิจารณารับฟ้องและมีคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2518 และเพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เนื่องจากละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ   

ทั้งนี้นักเรียนจำนวน 23 คน ได้ร่วมกันเป็นผู้ฟ้องคดี และมีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

>>> เปิดคำฟ้องนร.ยื่นศาลปกครอง ร้องเพิกถอนกฎระเบียบทรงผม ชี้ละเมิดศักดิ์ศรี-ขัดต่อ รธน.

ภาพตัวแทนกลุ่ม “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อ 30 ก.ค. 63

อย่างไรก็ดี ศาลปกครองกลางรับคําฟ้องของนักเรียนทั้ง 23 ไว้พิจารณา 1 เรื่อง คือ การขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ส่วนการขอเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายจึงอยู่ในอํานาจของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 11(2) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองชั้นต้นจึงไม่อาจรับคําฟ้องในประเด็นนี้ไว้พิจารณาได้

ในประเด็นขอให้ศาลเพิกถอนระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 6 ยื่นคำให้การปฏิเสธคำฟ้อง และนักเรียนผู้ฟ้องคดีมอบอำนาจทนายความยื่นคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องแล้ว ขั้นตอนต่อไป ต้องรอว่าพนักงานอัยการจะให้การเพิ่มเติมหรือไม่ และศาลปกครองจะเรียกผู้ฟ้อง และผู้ถูกฟ้องมาไต่สวนหรือไม่ หรือศาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงจากเอกสารเท่านั้น

เพื่อต้อนรับบรรยากาศของการเปิดเทอมของเหล่านักเรียนที่เป็นอนาคตของสังคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนดูเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิเหนือร่างกายของนักเรียน ซึ่งเรียกได้ว่าผ่านมาถึงครึ่งทางแล้ว และข้อต่อสู้ในการเพิกถอนระเบียบกระทรวงการศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 อันเป็นการจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ขัดกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะทำให้นักเรียนเปรียบเสมือนวัตถุที่ปราศจากอำนาจในการตัดสินใจ พร้อมทั้งจับตามองการต่อสู้ในครึ่งทางที่เหลือ

Timeline ความคืบหน้าการยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนกฎระเบียบเรื่องทรงผม 

คำให้การของกระทรวงศึกษาฯ และ รมว.ศึกษาฯ ผู้ถูกฟ้องคดี

10 ก.พ. 64 อธิไกร สุวรรณคีรี พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 6 ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ถูกฟ้อง ได้ยื่นคำให้การของผู้ถูกฟ้องปฏิเสธคำฟ้อง และให้การทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยได้มีการชี้แจงสถานภาพของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและความเป็นมาก่อนมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งโต้แย้งคำฟ้องใน  4 ประเด็น ดังนี้ 

ประเด็นที่ 1: ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน กล่าวอ้างว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563  เป็นระเบียบที่ขัดกับหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (ในที่นี้ คือนักเรียน) 

ผู้ถูกฟ้องคดีขอให้การว่า ระเบียบดังกล่าวมีสถานะเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง โดยกําหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสถานศึกษาในสังกัดหรือในกํากับดูแล เพื่อกําหนดมาตรการเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น ในการวางระเบียบในเรื่องดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวินัย และเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียน อันเป็นความมุ่งหมายประการหนึ่งของการจัดการศึกษาตามอํานาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

เมื่อพิจารณาตามหลักความได้สัดส่วนแล้ว เห็นว่า มาตรการที่กําหนดในระเบียบดังกล่าว เป็นมาตรการที่มีความจําเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของนักเรียน และทําให้สถานศึกษาได้ปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อนักเรียนน้อยที่สุด ยึดหลักการมีส่วนร่วมของนักเรียน อีกทั้งสาธารณะ ได้รับประโยชน์จากการที่สถานศึกษาไม่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน 

หากมิได้กําหนดแนวทางหรือมาตรฐานกลาง การปฏิบัติของสถานศึกษาย่อมมีความแตกต่างกันและอาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนยิ่งกว่า ดังนั้น มาตรการที่กําหนดในระเบียบดังกล่าวจึงเหมาะสมและได้สัดส่วนแล้ว

ระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ได้จําแนกนักเรียนออกเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียนชายและนักเรียนหญิง เนื่องจากในสังคมไทยสภาพสังคมวิทยาของนักเรียนชายและหญิงมีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจว่า นักเรียนหญิงควรไว้ผมยาวเลยตีนผมมากน้อยเพียงใดจึงจะเหมาะสมกับสถานภาพการเป็นนักเรียน ส่วนนักเรียนชายควรไว้ผมไม่เลยตีนผมจึงจะความเหมาะสม เมื่อพิจารณาถึงสาระสําคัญซึ่งมีความแตกต่างกันดังกล่าว การปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ย่อมสามารถเลือกปฏิบัติที่มีความเป็นธรรมและแตกต่างกันได้ 

นอกจากนี้ หากนักเรียนบางรายอยู่ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ก็สามารถที่จะกําหนดทรงผมให้เหมาะสมได้ โดยการหารือร่วมกันระหว่างสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ดังนั้น ระเบียบกระทรวงศึกษาฯ จึงเป็นการกําหนดและปฏิบัติตามสภาพของเพศ และตามความเหมาะสมของนักเรียน มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือโดยไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2: ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน กล่าวอ้างว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ออกใช้บังคับโดยขัดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 และมาตรา 7 

ผู้ถูกฟ้องคดีขอให้การว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ เป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ อันเป็นการจัดทําบริการสาธารณะด้านการศึกษา มิได้กําหนดเรื่องเกี่ยวกับการแต่งกาย การไว้ทรงผมของนักเรียนแต่อย่างใด สําหรับระเบียบฯ เรื่องทรงผมนักเรียน เป็นมาตรการภายในฝ่ายปกครอง เพื่อกําหนดมาตรฐานกลางในการไว้ทรงผมของนักเรียน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดําเนินการของสถานศึกษา อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของนักเรียน มิให้สถานศึกษาปฏิบัตินอกเหนือจากที่กําหนดไว้ ดังนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงไม่มีสาระสําคัญที่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ เพราะมีเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายที่แตกต่างกัน ประกอบกับการออกระเบียบดังกล่าวก็มิได้อ้างอิงบทบัญญัติจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ มาเป็นฐานอํานาจในการวางระเบียบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ มาตรา 6 และมาตรา 7 แต่อย่างใด กล่าวคือ การปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวก็จะเป็นการปลูกฝังจิตสํานึกที่ถูกต้องของนักเรียนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และคุณธรรมที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย อันจะเป็นการพัฒนานักเรียนให้สามารถดํารงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ประเด็นที่ 3: ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน กล่าวอ้างว่า การใช้ดุลยพินิจในการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการออกโดยอาศัยฐานทางกฎหมาย ที่ผิดพลาด

ผู้ถูกฟ้องคดีขอให้การว่า กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติในปี 2555 ให้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงและแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียนที่ใช้บังคับอยู่ให้สอดคล้องกับมิติด้านสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 และพันธะกรณีระหว่างประเทศให้การคุ้มครองและรับรองไว้ และตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรใช้อํานาจตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 เป็นฐานอํานาจในการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน โดยมีเจตนารมณ์ให้ระเบียบดังกล่าวมีสถานะเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง

การออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน โดยใช้อํานาจตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว จึงเป็นการใช้อํานาจบริหารราชการภายในกระทรวงศึกษาธิการ อันเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง เพื่อผลสัมฤทธิ์ของงานในหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการตามนัยมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543  ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว มิได้เป็นการออกระเบียบโดยอาศัยฐานทางกฎหมายที่ผิดพลาดแต่ประการใด

ประเด็นที่ 4: ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน กล่าวอ้างว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ผู้ถูกฟ้องคดีขอให้การว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี ซึ่งกําหนดสาระสําคัญถึงการคุ้มครองร่างกาย ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพของเด็ก สําหรับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครองที่กําหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสถานศึกษาในสังกัดหรือในกํากับดูแล เพื่อกําหนดแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของทุกสถานศึกษาเพื่อให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย แต่ละระดับการศึกษา และเพื่อให้การปฏิบัติของนักเรียนเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวมทั้งเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่พิพาทมิได้มีการกําหนดบทลงโทษ หรือมีลักษณะที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก จึงไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิด้านต่างๆ ของเด็กตามที่กําหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และไม่เป็นการละเมิดต่อหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในสาระสําคัญ 

ท้ายคำให้การของผู้ฟ้องคดีระบุว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทําการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษายกฟ้องคดีนี้

.

คำคัดค้านของนักเรียนผู้ฟ้องคดี 

ภายหลังอัยการผู้รับมอบอำนาจจากจากกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผู้ถูกฟ้อง เข้ายื่นคำให้การ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนักเรียนผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน ได้ทำคัดค้านคำให้การดังกล่าว ให้เหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโต้แย้งผู้ถูกฟ้อง และขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 คำคัดค้านของนักเรียนผู้ฟ้องคดีมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

1. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 เป็นการกระทำทางปกครอง เนื่องจากมีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน ซึ่งไม่ใช่คนในบังคับบัญชาของกระทรวงการศึกษาธิการ

ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมฯ เป็นมาตรการภายในฝ่ายปกครองนั้น ผู้ฟ้องคดีขอคัดค้านว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการกระทำทางปกครองแล้ว เนื่องจากมีผลทางกฎหมายออกไปภายนอกฝ่ายปกครอง กล่าวคือมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน และจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนในการพัฒนาบุคลิกภาพตนเอง ซึ่งถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 25 และมาตรา 28 

ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายปกครอง มาตรการภายในของฝ่ายปกครองต้องมีขึ้นเพื่อจัดระบบการทำงานภายในฝ่ายปกครองและมีผลใช้บังคับเฉพาะกับฝ่ายปกครองเท่านั้น แต่ระเบียบดังกล่าวมีผลไปถึงนิติบุคคลอื่นๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย เช่น บรรดาโรงเรียนเอกชนต่างๆ และปัจเจกชนซึ่งถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญซึ่งก็คือบรรดานักเรียนทั้งหลาย 

หากมาตรการดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้เป็นมาตรการภายในฝ่ายปกครองเหตุใดจึงไม่ทำเป็นหนังสือเวียนเพื่อแจ้งแนวการปฏิบัติแก่องคาพยพภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ แทนการออกเป็นระเบียบดังกล่าว

2. ระเบียบฯ เรื่องทรงผมของนักเรียน ขัด พ.ร.บ.การศึกษาชาติ เพราะฝ่ายปกครองต้องเคารพกฎเกณฑ์ในระบบกฎหมายที่สูงกว่า แม้ไม่ได้อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การศึกษาชาติ ในการออกระเบียบฯ อีกทั้งการปฏิบัติตามระเบียบฯ เป็นการทำลายจิตสำนึกนักเรียนเรื่องเสรีภาพที่ พ.ร.บ.การศึกษาชาติมุ่งปลูกฝัง

ตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ฝ่ายปกครองย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย (l’obligation de conformité) หลักการนี้ได้บังคับให้การกระทำทั้งหลายของฝ่ายปกครองจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎเกณฑ์ที่อยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่าในระบบกฎหมายทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติ แม้ว่ากฎเกณฑ์ในระดับที่อยู่สูงกว่าจะไม่ได้เป็นฐานในการตรากฎหรือเป็นคนละเรื่องกับกฎหมายลำดับรองก็ตาม ฝ่ายปกครองย่อมมีหน้าที่ต้องเคารพต่อลำดับชั้นทางกฎหมาย 

ดังนั้น ข้อต่อสู้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 มิได้ขัดกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากมิใช่กฎหมายที่อาศัยเป็นฐานในการวางระเบียบดังกล่าว และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกันในการตรากฎหมาย จึงเป็นข้อต่อสู้ที่ฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้ หลักการใน พ.ร.บ.การศึกษาชาติ มาตรา 6 และมาตรา 7 ได้บัญญัติให้การจัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาจะต้องส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวย่อมเป็นการจำกัดตัดรอนจิตสำนึกที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทุกเรื่อง เป็นการทำลายเสรีภาพในการตัดสินใจกำหนดร่างกายตนเองในเรื่องที่พื้นฐานที่สุดนั่นคือ ทรงผม อีกทั้งการปฏิบัติตามระเบียบเรื่องทรงผมไม่มีความเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับความเคารพกฎหมายหรือการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุขแต่อย่างใด พิจารณาได้จากโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกทรงผมของตน เช่น โรงเรียนอมาตยกุล ซึ่งจากข้อเท็จจริงนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนดังกล่าวก็ไม่ได้มีมโนสำนึกที่ผิดแปลกไปจากหลักการในมาตรา 6 และมาตรา 7 แต่อย่างใด

3. ระเบียบฯ เรื่องทรงผมของนักเรียน ขัดหลักความได้สัดส่วน และขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการออกระเบียบไม่ชอบธรรม กำหนดมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยกว่านี้ได้ โดยห้าม ร.ร.กำหนดระเบียบทรงผม

ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างเป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบเรื่องทรงผมนั้น มุ่งหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกกฎเกณฑ์เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบบริหารงานภายในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการออกระเบียบเรื่องทรงผมที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวว่า เพื่อสร้างมาตรฐานกลางแก่โรงเรียนต่างๆ ในการจัดการเรื่องทรงผมของนักเรียนนั้น จึงเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย และไม่ชอบธรรมตามหลักความได้สัดส่วน ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อหลักความเหมาะสม อันเป็นหลักการย่อยในหลักความได้สัดส่วนหรือหลักความพอสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุด ผู้ฟ้องคดีขอคัดค้านว่า ในการกำหนดมาตรฐานกลางเรื่องทรงผมนักเรียน ฝ่ายปกครองหรือกระทรวงศึกษาธิการอาจกำหนดในลักษณะที่จำกัดสิทธิน้อยกว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้บรรดาโรงเรียนทั้งหลายห้ามกำหนดระเบียบเรื่องทรงผมนักเรียนโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าระเบียบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากยังมีวิถีทางที่กระทบสิทธิน้อยที่สุดดำรงอยู่ ดังนั้น ระเบียบฯ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 จึงไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

4. ระเบียบฯ เรื่องทรงผมของนักเรียน ขัดหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 เพราะกำหนดให้ชาย-หญิงต้องไว้ผมแตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญของความเป็นนักเรียน

สาระสำคัญของการเป็นนักเรียนคือการศึกษาเล่าเรียนและใช้เสรีภาพอันเป็นความหมายของชีวิตมนุษย์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ไม่ว่านักเรียนจะมีเพศสภาพหรือเพศวิถีใดก็ตาม คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่อ้างอิงถึงลักษณะของสังคมไทยหรือความรับรู้ของวิญญูชนว่า ย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีว่า นักเรียนหญิงหรือนักเรียนชายควรไว้ผมยาวเพียงใด  มาเป็นเหตุผลว่า ระเบียบเรื่องทรงผมนักเรียนไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค เนื่องจากเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันนั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ใช่เหตุผลอันหนักแน่นควรค่าแก่การรับฟัง เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงสาระสำคัญของความเป็นนักเรียน ตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.142/2547 เมื่อสาระสำคัญของการเป็นนักเรียนคือเรื่องการศึกษา การกำหนดให้ชายและหญิงต้องไว้ผมในลักษณะที่แตกต่างกัน ย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าระเบียบฯ ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับประกาศเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีเนื้อความอนุญาตให้เฉพาะสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษนั่งกระทงในงานวันลอยกระทง เป็นการกีดกันประชาชนซึ่งเป็น LGBTQ+ ออกไป ศาลปกครองเชียงใหม่เคยวินิจฉัยว่า ประกาศดังกล่าวขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ แม้จะคำนึงถึงสังคมและประเพณีแห่งท้องถิ่นก็ตาม (คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่คดีหมายเลขแดงที่ 211/2554) 

ในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวว่า ระเบียบเรื่องทรงผมนักเรียนไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค เนื่องจากได้เปิดให้แต่ละโรงเรียนใช้ดุลยพินิจยกเว้นกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ โดยการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน และสถานศึกษา ผู้ฟ้องคดีขอคัดค้านว่า การที่ระเบียบดังกล่าวมีเนื้อความหลักคือการกำหนดทรงผมของนักเรียน ซึ่งบังคับใช้เป็นการทั่วไป ย่อมเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว แม้จะมีการจะเปิดโอกาสให้มีข้อยกเว้นในบางกรณี แต่ข้อยกเว้นไม่ได้ใช้บังคับเป็นการทั่วไปเช่นเดียวกับเนื้อความหลักในระเบียบดังกล่าว ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ยกเว้นในบางกรณีไม่อาจเป็นเหตุผลอันสมควรที่จะทำให้กฎเกณฑ์อันมีลักษณะที่เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรงดังกล่าว เป็นกฎเกณฑ์ที่ชอบด้วยหลักความเสมอภาคอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปได้

5. ระเบียบฯ เรื่องทรงผมของนักเรียน ขัดกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะทำให้นักเรียนเปรียบเสมือนวัตถุที่ปราศจากอำนาจในการตัดสินใจ

แม้ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การออกระเบียบฯ เป็นไปตามความเห็นของฝ่ายปกครองต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าบรรดาความเห็นต่างๆ เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ซึ่งล้วนแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจทางสังคมที่ว่า นักเรียนจะต้องไว้ทรงผมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดทวินิยมในเรื่องเพศที่มีเพียงชายกับหญิงเท่านั้น (Gender binary) โดยปราศจากความเข้าใจและปราศจากการกล่าวถึงเสรีภาพในการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง อันเป็นเสรีภาพทั่วไปซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 บัญญัติรับรองไว้ จึงไม่อาจรับฟังได้อย่างเป็นที่สุดว่า ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ระเบียบฯ ยังคงขัดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้นักเรียนปราศจากอำนาจในการตัดสินใจเรื่องที่พื้นฐานที่สุดนั่นคือทรงผมตนเอง ทำให้คนเปรียบเสมือนวัตถุ อันเป็นการขัดกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นการจำกัดเสรีภาพทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และจำกัดสิทธิในชีวิตร่างกายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28

6. การอ้างอำนาจตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาฯ ออกระเบียบทรงผม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะที่ พ.ร.บ.มุ่งหมาย ทั้งฝ่าฝืนหลัก “ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ”

ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การออกระเบียบฯ อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากเป็นการตราขึ้นเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงานในหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการตามนัยมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543 แต่ผู้ฟ้องคดีขอคัดค้านเนื่องจากเห็นว่า มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาฯ ให้อำนาจฝ่ายปกครองในการจัดระบบการทำงานภายใน และมีผลใช้บังคับเฉพาะกับฝ่ายปกครองเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจในการตรากฎเกณฑ์ที่มีผลออกไปภายนอกฝ่ายปกครอง ยกตัวอย่างเช่น การตราระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการให้ข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาต่อและอบรมภายในประเทศ เป็นต้น 

โดยประโยชน์สาธารณะที่มาตรา 12 มุ่งหมายคือเรื่องการจัดระบบการทำงานภายในฝ่ายปกครอง ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้อ้างมาตรา 12 เป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบว่าด้วยทรงผม ซึ่งมีผลใช้บังคับโดยทั่วไปกับนักเรียน และโรงเรียนทุกแห่งภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ย่อมเป็นการอาศัยฐานทางกฎหมายที่ผิดพลาดและใช้ดุลพินิจในการตรากฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายมุ่งหมาย 

เช่นเดียวกับประโยชน์สาธารณะอันเป็นเป้าประสงค์ของมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ คือเรื่องการจัดระเบียบบริหารราชการภายในกระทรวง ไม่ได้มุ่งให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นการทั่วไปในการตรากฎเพื่อแทรกแซงเสรีภาพของนักเรียนแต่อย่างใด

ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ฝ่าฝืนหลักการทางกฎหมายปกครองที่สำคัญ นั่นคือ หลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของหลักนิติรัฐ นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดียังใช้ดุลพินิจที่มิชอบ กล่าวคือใช้ดุลพินิจที่ไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำหนด ดังนั้น ระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียนจึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

7. ระเบียบทรงผมขัดต่ออนุสัญญาสิทธิเด็ก เนื่องจากจำกัดสิทธิเสรีภาพ และนักเรียนที่ฝ่าฝืนระเบียบย่อมต้องได้รับโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการลงโทษนักเรียน

ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียนไม่ขัดต่ออนุสัญญาสิทธิเด็ก เนื่องจากวัตถุประสงค์เป็นไปเพื่อคุ้มครองเด็กและไม่มีบทลงโทษกำหนดนั้น ผู้ฟ้องคดีขอคัดค้าน เนื่องจากถึงแม้วัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในระเบียบดังกล่าวจะเป็นเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่หากพิจารณาเนื้อความที่กำหนดกฎเกณฑ์เรื่องทรงผม อันส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและเสรีภาพในการพัฒนาของเด็ก ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่ออนุสัญญาสิทธิเด็กแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาของเด็ก

และแม้ระเบียบฯ จะไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้โดยตรง แต่การฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าวย่อมส่งผลให้นักเรียนที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎต้องได้รับโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียน 

ดังนั้น การกล่าวว่า “ระเบียบว่าด้วยทรงผมของนักเรียนไม่ขัดต่ออนุสัญญาสิทธิเด็ก” เนื่องจากไม่มีบทลงโทษจึงไม่เป็นความจริง เนื่องจากนักเรียนย่อมตกอยู่ภายใต้สภาพบังคับบางอย่างจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ฉบับนี้

ท้ายคำคัดค้านของนักเรียนผู้ฟ้องคดีระบุว่า ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ.11 / 2558 สิ่งที่ยืนยันความเป็นมนุษย์คือเสรีภาพอันมิอาจก้าวล่วงได้ และเสรีภาพในการเลือกย่อมเป็นสิ่งที่พื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น ขอศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 คุ้มครองสิทธิทางรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐให้แก่นักเรียนผู้ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมนี้ด้วย

.

ปัจจุบัน นักเรียนผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบางส่วนได้กลายเป็นจำเลยเด็กในคดีการเมือง “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส จากกลุ่มนักเรียนเลว และ “ภูมิ” (สงวนชื่อและนามสกุล) จากกลุ่มนักเรียนไท ได้ถูกอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ และได้รับผลกระทบจากการมีภาระทางคดีความในศาลเยาวชน แม้ว่าพวกเขาจะตกเป็นจำเลยและต้องสู้คดีแต่พวกเขายังคงยืนยันที่จะต่อสู้ในเรื่องสิทธิเรื่องเนื้อตัวร่างกายของนักเรียนทุกคนต่อไป 

รัฐธรรมนูญ 2560 

มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

มาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย 

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง 

มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน 

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน 

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้

มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 12 กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ โดยจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 20 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 11 ในกระทรวงหนึ่ง ให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ โดยจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้

X