วันที่ 30 ก.ค. 63 ที่ศาลปกครองกลาง กรุงเทพมหานคร ตัวแทนนักเรียน “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนกฎระเบียบเกี่ยวกับการไว้ผมทรงผมของนักเรียน
ในการยื่นฟ้องมีนักเรียนจำนวน 23 คน ร่วมกันเป็นผู้ถูกฟ้องคดี และมีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยขอให้ศาลปกครองพิจารณารับฟ้องและมีคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2518 และขอให้เพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 คำฟ้องมีเนื้อหาและประเด็นสำคัญในคดีโดยสรุป ดังนี้
.
ความสัมพันธ์ระหว่างนร.กับกระทรวง ควรจำกัดเฉพาะเรื่องการเรียน นอกนั้นเป็นพรมแดนส่วนบุคคล
คำฟ้องบรรยายไว้ว่า ผู้ฟ้อง (นักเรียน) เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่อาจอาศัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาเป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎที่จำกัดสิทธิในร่างกาย ตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ฟ้องคดี (นักเรียน) กับกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1) ความสัมพันธ์ในทางการงาน กับ 2) ความสัมพันธ์พื้นฐานหรือในทางส่วนตัว
1. ความสัมพันธ์ในทางการงานของนักเรียนกับกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการเรียนการศึกษา ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่หลักของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เท่านั้น
ภายใต้ความสัมพันธ์เช่นนี้ นักเรียนจะอยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา โดยกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ย่อมมีอำนาจสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียนตามรัฐธรรมนูญมากเป็นพิเศษได้ ตัวอย่างเช่น การออกกฎควบคุมความประพฤติอย่างหนึ่งอย่างใดกับนักเรียน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่อยู่ในชั้นเรียนหรือระหว่างการบรรยายของครู เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการระหว่างครูและนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
สำหรับคำสั่งหรือการวางกฎระเบียบที่อยู่ภายใต้ขอบเขตความสัมพันธ์ทางการงาน จะมีลักษณะเป็นเพียงระเบียบคำสั่งภายในราชการเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องอาศัยฐานอำนาจทางกฎหมายที่ให้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นอำนาจทั่วไปของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้บังคับบัญชา
แต่อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้ามแล้วความสัมพันธ์ในทางการงานเช่นนี้ กระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่อาจตีความให้ขยายออกไปกว้างขวาง ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่นอกเหนือจากการเรียนการศึกษาอย่างไร้ขอบเขต จนกระทั้งทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของนักเรียน และทำให้นักเรียนกลายเป็นแต่เพียงวัตถุที่ตกอยู่ภายใต้คำสั่งของกระทรวงและรัฐมนตรีในทุกเรื่อง ตั้งแต่ความคิด การแสดงออกต่างๆ หรือการควบคุมร่างกาย การแต่งกาย และใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาหรือการสร้างบุคลากรของโลกยุคใหม่
2. ความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว หากนอกเหนือจากความสัมพันธ์ในทางการงานดังกล่าวข้างต้น จะต้องถือว่าทุกเรื่องเป็นพรมแดนเสรีภาพส่วนบุคคลของนักเรียน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงและรัฐมนตรี กับนักเรียน ย่อมมีสถานะเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนทั่วไปทั้งหมด กระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะออกกฎหมายมาจำกัดหรือกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียน อย่างในกรณีนี้ คือสิทธิในการร่างกายที่จะกำหนดความสั้น ความยาว หรือรูปแบบ และสีสันของทรงผมและหนวดของบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น โดยระเบียบหรือคำสั่งต่างๆ ที่ออกมา ย่อมมีสถานะเป็นกฎและคำสั่งทางปกครองที่นักเรียนสามารถโต้แย้งต่อศาลได้ต่อไป
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์สองส่วนและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะพบว่ามาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อ้างเป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 นั้น มีลักษณะเป็นกฎหมายที่กำหนดสถานะให้รัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ และให้มีอำนาจทั่วไปในการออกระเบียบและคำสั่งภายในราชการ เพื่อสั่งการข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการงาน และเพื่อให้ดำเนินการงานภายในกระทรวงสอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาเท่านั้น ไม่ใช่ฐานทางกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกระเบียบภายในราชการมาสั่งการนักเรียน ซึ่งมิใช่ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ และไม่ใช่ฐานทางกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมนตรีออกกฎมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย
การอ้างกฎหมายดังกล่าวมาเป็นฐานอำนาจในการออกกฎ ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงส่งผลให้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 มีสถานะเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กฎ/ระเบียบ ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ
คำฟ้องของนักเรียน ยังระบุว่ากฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 เป็นกฎที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 4 และมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ ย่อมเท่ากับยอมรับว่านักเรียนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มีพรมแดนสิทธิและเสรีภาพส่วนตัวที่จะกระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย รวมถึงการกระทำต่อผม ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายตนเองได้ อย่างการตัดสินใจหรือเลือกไว้ทรงผม การเลือกสีสันของเส้นผม การไว้หนวดเคราได้อย่างอิสระ เพื่อให้สอดคล้องกับบุคลิกภาพและเพศสภาพที่ผู้ฟ้องคดีตัดสินใจเลือกได้
เนื่องจากถือว่าความเป็นมนุษย์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ มนุษย์ต้องสามารถคิดเกี่ยวกับตัวตนของตนเอง และสามารถแสดงออกซึ่งตัวตนโดยอาศัยพรมแดนสิทธิเสรีภาพส่วนตัว ที่ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลและการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญรับรองดังกล่าว เพื่อพัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพของตนได้อย่างสัมบูรณ์ โดยที่รัฐไม่อาจเข้ามาแทรกแซงเจตจำนงเสรีดังกล่าวของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
การที่กฎทั้งสองฉบับข้างต้นได้เข้ามาควบคุมและจำกัด รวมถึงมอบอำนาจให้สถานศึกษาควบคุมและจำกัดการไว้ทรงผม สีสันของเส้นผม หนวดเครา ซึ่งถือว่าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกาย จึงทำให้กฎทั้งสองฉบับมีเนื้อหาซึ่งละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ฟ้องคดี เพราะได้ทำลายอิสระในการเลือกและควบคุมเนื้อตัวร่างกายตัวเองของผู้ฟ้องคดีลง แล้วลดทอนร่างกายของผู้ฟ้องคดี เป็นแต่เพียงวัตถุที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอย่างเบ็ดเสร็จ โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจควบคุมให้นักเรียนจัดการกับร่างกายและอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวเองเช่นไรก็ได้ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเห็นควรว่าถูกต้องตามศีลธรรมอันดีของตน
ดังนั้น กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 มีสถานะเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 และมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ
กฎ/ระเบียบ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นต่อมา ผู้ฟ้องเห็นว่ากฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เป็นกฎที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและขัดกับหลักความเสมอภาคตามมาตรา 4 และมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎดังกล่าวข้างต้นมีลักษณะกีดกันบุคคลที่มีเพศวิถีไม่ตรงกับเพศสภาพตามกำเนิด (LGBT+) และบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม (intersex) กฎดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจรัฐแบ่งบุคคลออกเป็นประเภท แล้วปฏิบัติต่อบุคคลแต่ละประเภทต่างกันโดยปราศจากเหตุผลอันควรค่าแก่การรับฟัง
กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังส่งผลร้ายต่อปัจเจกชนและกีดกันเพศวิถี (sexual orientation) ของมนุษย์ เนื่องจากนักเรียนชายที่มีเพศวิถีไม่ตรงกับเพศสภาพตามกำเนิดตัวเอง และกลุ่มบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม (intersex) หรือกลุ่มบุคคลที่มีเกิดมาโดยมีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิง ต่างต้องถูกจำกัดเสรีภาพในการเลือกทรงผมอันเป็นเนื้อตัวร่างกายของตน ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่มีเพศสภาพโดยกำเนิดเป็นชาย แต่มีเพศวิถีเป็นหญิง และต้องการพัฒนาบุคลิกภาพรวมถึงพัฒนาร่างกายของตนไปในวิถีทางของเพศหญิงโดยการไว้ผมยาว ย่อมถูกจำกัดเสรีภาพในการกำหนดอัตลักษณ์ของร่างกายตนเองจากการถูกบังคับให้ไว้ผมสั้น การถูกกดดันในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองตั้งแต่วัยรุ่นนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาภาวะความเครียดและปัญหาในด้านสุขภาพจิตตามมา
อีกทั้งในการจัดบริการสาธารณะทางการศึกษาอันเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายปกครองนั้น องค์กรฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องยอมรับในความหลากหลายทางเพศ และไม่เลือกปฏิบัติโดยปราศจากเหตุผลที่ควรค่าแก่การรับฟังตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และมาตรา 27
ดังนั้น กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
(ภาพจากเพจกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท)
กฎ/ระเบียบที่ ขัดต่อหลักความเหมาะสมและหลักความได้สัดส่วน
อีกประเด็นหนึ่ง ผู้ฟ้องเห็นว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการออกกฎเพื่อดำเนินการให้บรรลุความมุ่งหมายของกฎหมายที่ให้อำนาจ การใช้อำนาจออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่น เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะอื่นนอกเหนือจากประโยชน์สาธารณะด้านที่อยู่ในเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตามหลักความเหมาะสมอันเป็นหลักการย่อยในหลักความได้สัดส่วน
มาตรการที่ฝ่ายปกครองเลือกนํามาใช้จะต้องเป็นมาตรการที่ทําให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกําหนดไว้ แต่หากมาตรการนั้นไม่อาจทําให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกําหนดไว้ได้อย่างแน่แท้ หรือการจะให้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นไปด้วยความยากลําบาก ย่อมถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมและต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าฝ่ายปกครองมีความมุ่งหมายภายในใจที่จะใช้มาตรการนั้นเป็นเครื่องมือดําเนินการให้เกิดผลเป็นอย่างอื่น นอกเหนือไปจากผลที่กฎหมายฉบับที่ให้อํานาจประสงค์จะให้เกิดขึ้นและเข้าข่ายเป็นการใช้อํานาจโดยมิชอบ (Abuse of Power)
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาศัยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบและขัดกับหลักความเหมาะสม เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มีความมุ่งหมายในการจัดระเบียบอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและประโยชน์สาธารณะที่กำหนดไว้คือประโยชน์สาธารณะในด้านการบริหารราชการภายในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น
ในขณะที่การกำหนดทรงผมของนักเรียน มีวัตถุประสงค์คือการสร้างความมีระเบียบวินัยให้กับนักเรียน โดยตามที่กฎบัญญัติไว้คือ “เพื่อให้การปฏิบัติตนของนักเรียนเป็นไปด้วยความถูกต้อง” ประโยชน์สาธารณะและวัตถุประสงค์ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ดังนั้นการกระทำทางปกครองดังกล่าวจึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ใช้ดุลพินิจผิดพลาด โดยกฎดังกล่าวมีวัตถุประสงค์และประโยชน์สาธารณะผิดไปจากวัตถุประสงค์และประโยชน์สาธารณะของกฎหมายที่บัญญัติไว้
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ และขัดกับหลักความเหมาะสมอันเป็นหลักการย่อยของหลักความได้สัดส่วน
(ภาพจากเพจกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท)
ข้อเท็จจริงจากการบังคับใช้กฎ/ระเบียบ โดยกลุ่มนักเรียน
ผู้ฟ้องยังบรรยายถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดทรงผมนักเรียนนั้น ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมา เกิดการลงโทษซึ่งเป็นการทำให้มนุษย์เปรียบเสมือนวัตถุ โดยการไถผมนักเรียนให้แหว่ง เกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิในร่างกายเนื่องจากมีบางกรณีที่ครูลงโทษนักเรียนโดยการตัดผมแล้วพลาด ทำให้ร่างกายนักเรียนบาดเจ็บ สร้างภาระทางเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องจ่ายค่าตัดผม และสร้างผลกระทบต่อสิทธิในการศึกษาตามมา
จากข้อมูลของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ปรากฏข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ครูลงโทษนักเรียนโดยการตัดผมให้แหว่ง นักเรียนบางรายไม่สามารถแก้ไขทรงผมได้จึงจำใจต้องโกนผมทิ้งทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีผมที่แหว่งอยู่บนศีรษะ บางกรณีเกิดขึ้นในขณะทำการสอบ
ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนกว่า 20 คน ได้ถูกไล่ให้ไปตัดผมระหว่างทำการสอบไปแล้วประมาณ 10 นาที จนทำให้นักเรียนทั้งหมดขาดสอบวิชาแรก บางรายก็ขาดสอบถึงวิชาที่ 2 นักเรียนหญิงบางรายถูกครูตัดผมลงโทษด้วยความประมาท ทำให้กรรไกรเฉี่ยวโดนบริเวณติ่งหูจนเกิดบาดแผล มีอาการปวดบวมอักเสบและน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นระยะ
อีกกรณีหนึ่งนักเรียนชายคนหนึ่งต้องการไว้ผมยาว เนื่องจากบ้านยากจนมากและไม่มีเงินไปตัดผม กฎเกณฑ์เรื่องทรงผมได้ก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นแก่เด็กนักเรียนผู้อยู่ใต้บังคับ
กฎ/ระเบียบ ขัดกับกฎหมายที่กำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษา เพื่อความเป็นมนุษยที่สมบูรณ์
ประเด็นประการสุดท้ายในคำฟ้อง ระบุถึงการจัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาอันเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักการในกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 บัญญัติว่า “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ….” และมาตรา 7 บัญญัติว่า “ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์…” รวมไปถึงการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
กฎเกณฑ์เรื่องทรงผมที่กำหนดให้นักเรียนต้องอยู่ในกรอบของการพัฒนาบุคลิกภาพตัวเองตามที่รัฐกำหนดนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่นอกจากจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและเนื้อตัวร่างกาย และเสรีภาพในการแสดงออกบุคลิกภาพอย่างที่ตนต้องการแล้ว ยังเป็นการจำกัดการตัดสินใจ (self-determination) ควบคุมความคิดของนักเรียน ให้อยู่ในกรอบของความดีงามตามคติที่รัฐเห็นสมควร หลักการตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 6 และมาตรา 7 ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีจิตสำนึกที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และหลักการต่างๆ ข้างต้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากนักเรียนถูกจำกัดความคิดในเรื่องพื้นฐานที่สุด เช่นเรื่องการกำหนดทรงผมของตนเอง โดยในประเทศที่ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนในระบบการศึกษา เช่น สหรัฐอเมริกา ศาลได้เคยวินิจฉัยในคดีเกี่ยวกับกฎเกณฑ์เรื่องทรงผมนักเรียนในคดี Breen v. Kahl ว่า “หากรัฐจำกัดเสรีภาพนี้ (เสรีภาพในการนำเสนอรูปร่างหน้าตาของตนตามที่ปรารถนา) โดยปราศจากเหตุผลอันจำเป็นอย่างยิ่งยวด รัฐย่อมละเมิดข้อความคิดที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นการละเมิดบุคลิกภาพและความเป็นปัจเจกชน ย่อมเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของบุคคลและเป็นการล่วงล้ำความเป็นมนุษย์” ท้ายที่สุดในคดีนี้ศาลได้วินิจฉัยให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรงผมขัดต่อรัฐธรรมนูญและใช้บังคับไม่ได้
ในการจัดบริการสาธารณะทางการศึกษาอันเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายปกครองนั้น องค์กรฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องผูกพันกับกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นสูงกว่าคือพระราชบัญญัติ การกำหนดกฎเกณฑ์บังคับเรื่องทรงผมกับนักเรียน เป็นการกระทำปกครองที่ขัดกับหลักการในการบริการสาธารณะ ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 6 และมาตรา 7
ดังนั้น กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการขัดกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 และ มาตรา 7 ซึ่งกำหนดหลักการในการจัดบริการสาธารณะทางการศึกษาไว้
ทั้งนี้ ในส่วนท้ายของคำฟ้องที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาล จากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักทางวิชาการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ฟ้องได้ขอให้ศาลมีคำสั่งรับคดีไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในโรงเรียนให้กับนักเรียน โดยการเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 และเพิกถอนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ซึ่งต้องติดตามการพิจารณาของศาลปกครองกลางต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ยื่นร้องเรียนกฎเรื่องทรงผม ก่อนเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง
เปิดคำอภิปรายนอกสภา กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท “หัวเกรียนเป็นผลพวงรัฐประหาร”