เปิดคำอภิปรายนอกสภา กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท “หัวเกรียนเป็นผลพวงรัฐประหาร”

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2563 เวลา 19.00 น. กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้เปิดอภิปรายนอกสภาทางเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “#หัวกู ได้เวลา, ทวงสิทธิ์บนหัวของเราคืนมา” โดยเป็นการพูดถึงกฎระเบียบทรงผมในแง่มุ่มต่างๆ โดยมีสมาชิกผู้ร่วมอภิปราย 5 คน ประกอบด้วย  ปาริชาต เลิศอัคระรัตน์,  ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, เบญจมาภรณ์ นิวาส, ศิรินภา พูลศรี แม้ทุกคนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายจากต่างชั้นปีและต่างโรงเรียน แต่ก็ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ถูกละเมิดสิทธิต่อเนื้อตัวร่างกายในประเด็นทรงผมทั้งสิ้น  (รับชมคลิปการอภิปราย)

กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท คือกลุ่มนักเรียนที่มุ่งเน้นผลักดันให้เกิดระบบการศึกษาที่ให้เสรีภาพและเคารพสิทธิมนุษยชนของนักเรียน เป็นเวลากว่าหลายปีที่กลุ่มนักเรียนดังกล่าวเคลื่อนไหวจากรุ่นสู่รุ่น คอยเปิดเผยเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรั้วสถานศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่ง “สร้างคน สร้างชาติ”

การอภิปรายครั้งนี้เป็นการส่งเสียงดังๆ อีกครั้งจากเด็กๆ ไปถึงผู้มีอำนาจว่าพวกเขาต้องการที่จะเห็นความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นการบอกว่า กฎระเบียบปฏิบัติที่ละเมิด ลิดรอนสิทธิควรถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเร็ววัน เพื่อไม่ให้มีเด็กคนใดต้องบอบช้ำจากระบบเช่นนี้อีก

หัวเกรียนเป็นผลพวงรัฐประหาร

ปาริชาต เลิศอัคระรัตน์ ผู้อภิปรายคนแรก เล่าถึงจุดเริ่มต้นของทรงผมนักเรียนกับประวัติศาสตร์การเมืองว่า แรกเริ่มเดิมทีกฎเรื่องทรงผมนักเรียนตราขึ้นในยุคจอมพลถนอม กิติขจร เมื่อปีพ.ศ. 2515 ปรากฎใน “กฎกระทรวงฉบับที่ 1” ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 เดิมเป็นกระดาษเพียง 5 แผ่น
.
“เมื่อคนที่ออกกฎเป็นทหาร รสนิยมจะถูกนำมาใช้กับประชาชนที่เป็นพลเรือนก็ไม่แปลก” ปาริชาตกล่าว

ในกฎกระทรวงฉบับนี้ระบุว่า “นักเรียนชายไว้ผมด้านหน้าและกลางศีรษะได้ไม่เกิน 5 เซนติเมตร รอบศีรษะต้องตัดเกรียนชิดผิวหนัง ส่วนนักเรียนหญิงห้ามดัดผมและห้ามไว้ผมยาวเลยต้นคอ เว้นแต่สถานศึกษาจะอนุญาต” รัฐบังคับใช้กฎกระทรวงนี้มากว่า 3 ปี กระทั่งเข้าสู่ยุครัฐบาลพลเรือน นำโดย ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ จึงยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 1 และออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2518 โดยส่วนหนึ่งระบุว่า “นักเรียนชายไว้ผมยาวได้ไม่เกินตีนผม และนักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ แต่ให้มัดรวบเอาไว้” ซึ่งเป็นการคลี่คลายไปสู่การมีเสรีภาพเรื่องทรงผมมากขึ้น

แต่ด้วยการเมืองที่ผันผวน ผ่านไปเพียง 1 ปี การบังคับให้นักเรียนชายกลับมาตัดผมเกรียนและนักเรียนหญิงตัดผมสั้นอีกครั้ง ได้หวนมาในสมัยพลเอกสงัด ชลออยู่ ซึ่งรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ.2519 โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาสมัยนั้นได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายและทรงผม บังคับให้เด็กตัดผมเกรียน ไม่ให้ไว้ผมยาวหรือรองทรงเช่นที่ผ่านมา

กฎกระทรวงยังคงไว้เช่นนั้นต่อมาถึง 37 ปี จนมาถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2556 เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่งหนังสือแจ้งเวียนเรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนไปตามสถานศึกษาต่างๆ ระบุให้นักเรียนชายไม่ต้องตัดผมสั้นเกรียนอีกต่อไป โดยให้ยึดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 สมัยรัฐบาลสัญญา ที่ให้อิสระทางทรงผมแก่นักเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่

“ทุกๆ ท่านลองมองไปรอบๆ ตัวนะคะ ว่าพบเห็นนักเรียนที่ตัดผมเกรียน ตัดผมขาวสามด้านอยู่หรือเปล่า ถ้าเห็นนักเรียนที่ตัดผมเกรียน ขอให้พึงระลึกไว้เถอะค่ะว่าเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจโดยมิชอบที่ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน ให้พวกเราพบเห็นและจะคงอยู่คู่สังคมไปอีกยาวนานหากเราไม่รื้อมรดกเผด็จการชิ้นนี้ทิ้งไป” ปาริชาตเอ่ยถึงอีกมุมของทรงผมนักเรียน นั่นคือการกำเนิดจากระบอบเผด็จการ

หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็น ยังคงมีช่องโหว่ที่อาจทำให้นักเรียนถูกกำหนดทรงผมต่อไปสองจุดหลัก กล่าวโดยย่นย่อคือ ระเบียบข้อ 4 ซึ่งบัญญัติว่านักเรียนหญิงและชายจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่ “ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย” และ ข้อ 7 ซึ่งบัญญัติว่า ภายใต้ข้อบังคับของกฎข้อ 4 ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

จากระเบียบข้างต้น ปาริชาตเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจในสถานศึกษาใช้วิจารณญาณตีความคำว่า “เหมาะสมเรียบร้อย” ได้อย่างไม่มีขอบเขต เพราะสถานศึกษาอาจตีกรอบกฎทรงผมได้เช่นเดิม โดยอ้างความ “เหมาะสมเรียบร้อย” ซึ่งในทัศนะของปาริชาตนี่เป็นการย่ำอยู่กับที่ไม่ต่างจาก 48 ปี ที่ผ่านมา

หัวเกรียนและผมติ่ง เหตุรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับใช้ในรั้วโรงเรียน

ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์ ผู้อภิปรายคนที่สอง กล่าวถึงกฎกระทรวงและระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนซึ่งในความคิดเห็นของเขามีความขัดแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ภาณุพงศ์ชี้ว่าหากระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนและกฎกระทรวง คำนึงถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ย่อมไม่มีการออกระเบียบปฏิบัติเรื่องการตัดผมสั้นเกรียนของนักเรียนเป็นแน่
.
แม้กฎกระทรวงในปัจจุบันระบุว่า “นักเรียนชายให้ตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวไม่เลยตีนผม และนักเรียนหญิงให้ตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้น ก็ให้รวบให้เรียบร้อย” แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนหลายแห่งมิได้อนุญาตให้เด็กไว้ผมได้อย่างที่เขียนไว้ในกฎกระทรวง โดยยังคงตัดผมนักเรียนชายจนสั้นเกรียนและเด็กนักเรียนหญิงยังคงต้องไว้ผมยาวถึงติ่งหู ซึ่งทำให้ระเบียบของโรงเรียนนั้นขัดแย้งกับกฎกระทรวง

“โรงเรียน เป็นสถานที่อันเป็นที่บ่มเพาะเยาวชน ให้โตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตกลับทำในสิ่งที่ขัดต่อกฏหมายอย่างชัดเจน เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปได้หรือครับ” ภาณุพงค์ตั้งคำถาม

ในความเห็นของภาณุพงศ์ ระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนนอกจากไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงแล้ว กฎกระทรวงเองก็ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เขากล่าวว่าหากดูตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตรา 25 ซึ่งกล่าวว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้าม หรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ ที่จะทําการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ”

หรือในมาตรา 26 ที่ระบุว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ จํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย” รวมถึงมาตรา 27 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”

ภาณุพงศ์กล่าวว่าปัญหาสำคัญอีกประการที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทพบ คือการลงโทษนักเรียนเรื่องทรงผมอย่างขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพ เช่นการกล้อนผม ไถผม หรือเล็มผม โดยการลงโทษลักษณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามวิธีการลงโทษ 4 รูปแบบที่ถูกระบุไว้ในกฎกระทรวง ได้แก่ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ในทัศนะของภาณุพงศ์การกำหนดรูปแบบของทรงผมนักเรียนรวมไปถึงบทลงโทษของโรงเรียนจึงขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและแสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของสถานศึกษา

แม้ไทยลงนามในสนธิสัญญานานาชาติ แต่เด็ก(ยัง)ไม่อาจมีสิทธิในทรงผม

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบ และเป็นผู้อภิปรายคนที่สาม กล่าวถึงความไม่สอดคล้องของกฎกระทรวง หลักปฏิบัติหรือระเบียบของโรงเรียนและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยลภนพัฒน์ยกตัวอย่างเอกสารประกอบสองฉบับคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยให้การรับรองเมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535

นักเรียนผู้ศึกษานอกระบบและมีเสรีภาพในการไว้ผมอย่างเต็มที่ เกริ่นนำถึงหลักการเบื้องต้นของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งระบุว่ารัฐที่เข้าร่วมเป็นภาคีต้องรับรองว่าเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีสิทธิและเสรีภาพ และไม่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองอิสรภาพของเด็กที่จะได้เติบโตอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งควรเป็น

ทั้งนี้ลภนพัฒน์เห็นว่าในทางปฏิบัติมีอนุสัญญาหลายข้อที่ไทยมิได้แปลงเป็นกฎหมายมาใช้บังคับจริง เช่นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 28 ข้อย่อยที่ 2 ซึ่งระบุไว้ว่า “รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า ระเบียบวินัยของโรงเรียน ได้กำหนดขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็ก และสอดคล้องกับอนุสัญญานี้” แต่ระเบียบวินัยของโรงเรียนซึ่งใช้บังคับปฏิบัติกันอยู่ไม่ได้ส่งเสริมอนุสัญญานี้ ลภนพัฒน์เสนอว่ารัฐไทยควรให้พื้นที่กับความแตกต่างของรสนิยมเพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างเด็กๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องมีทรงผม สีผิว หรือรูปร่างเหมือนกัน ไม่ใช่การออกกฎบังคับให้ทุกคนให้ตัดผมทรงเดียวกัน ซึ่งเป็นทรงที่รัฐบาลมองว่าสุภาพ เรียบร้อย และเหมาะสม เช่นนี้จึงจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมที่แท้จริง

“รัฐธรรมนูญคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราไว้ใน ม. 26 แต่กฎกระทรวงกลับจำกัดสิทธิและเสรีภาพ นักเรียนอย่างเราเป็นประชาชนคนทั่วไปเหมือนคุณ ไม่มีความจำเป็นที่จะมาจำกัดสิทธิกัน ส่วนมาตรา 27 ระบุไว้ถึงความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ควรมีกฎหมายใดที่บังคับใช้กับเพศนั้นๆ โดยเฉพาะเจาะจงแต่กฎกระทรวงกลับกำหนดทรงผมให้กับเพศชายและหญิงต่างกัน”

การมีข้อกำหนดเรื่องทรงผมยังนำไปสู่การสร้างบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎ ซึ่งบทลงโทษในโรงเรียนของประเทศไทย มักจะเป็น การกล้อนผม ไถผม เพื่อทำให้เด็กเกิดความอับอาย นอกจากนี้ยังมีการด่าทอ การตี หรือประจานนักเรียน ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป ลภนพัฒน์กล่าวว่าการลงโทษข้างต้น ขัดแย้งกับข้อที่ 37 ข้อย่อย ก ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งระบุว่า “รัฐภาคีจะประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมานหรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้า จะไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ที่ไม่มีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัว สำหรับความผิดที่กระทำ โดยบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี”

ไม่ว่าจะเรื่องการกำหนดรูปแบบทรงผมหรือเรื่องการลงโทษ ล้วนขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในข้อที่ 3 ระบุไว้ว่า “ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต มีเสรีภาพ และมีความมั่นคงส่วนบุคคล” ลภนพัฒน์เห็นว่า การบังคับให้นักเรียนตัดผมในทรงที่นักเรียนไม่ต้องการ และต้องฝืนใจที่จะตัดมัน ย่อมเป็นการกระทบอธิปไตยเหนือร่างกายตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอับอายในเวทีโลกและประเทศไทยควรปรับปรุงกฎระเบียบเช่นนี้เสียที โดยหากผู้ใหญ่ไม่ยอมแก้ไข เด็กก็ต้องลุกขึ้นมาแก้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน

ต้องเรียนเอกชนเท่านั้นใช่ไหมถึงไว้ผมอย่างมีเสรีภาพได้

เบญจมาภรณ์ นิวาส ผู้อภิปรายคนที่สี่ ได้อภิปรายเนื้อหาเกี่ยวกับกฎกระทรวงศึกษาธิการที่ยังคงมีช่องโหว่ซึ่งทำให้โรงเรียนนำไปออกกฎของตนเองโดยการตีความอย่างแคบซึ่งนำไปสู่การลิดรอนสิทธิของเด็กในเรื่องทรงผม นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการรายงานตัวเลขของเด็กนักเรียนถูกละเมิดสิทธิซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริงที่เธอได้พบ

เบญจมาภรณ์ อ้างอิงถึงหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาระเบียบการแต่งกายและการลงโทษนักเรียนของสถานศึกษา ซึ่งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทส่งคำร้องไปยังคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเวลานั้นมีการเชิญรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย มาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบทรงผม ในเนื้อหาเอกสารเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสองยืนยันต่อคณะกรรมาธิการว่า

“ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกาย การไว้ทรงผม และการควบคุมความประพฤติของนักเรียน ที่ผ่านมาจะออกระเบียบในลักษณะกว้างๆ เพื่อให้โรงเรียนไปออกแนวปฏิบัติของแต่ละโรงเรียนซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไป แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับระเบียบกลาง” อย่างไรก็ตามทั้งสองกล่าวว่าปัจจุบันระเบียบกลางได้ถูกยกเลิกไปแล้วเพราะไม่เหมาะสม โดยโรงเรียนสามารถออกระเบียบเรื่องนี้ได้เอง

เบญจมาภรณ์ มองว่าการที่โรงเรียนมีอำนาจบังคับใช้ระเบียบของตนเองโดยที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้กำกับดูแลอย่างจริงจังทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กอย่างกว้างขวาง ประการแรกทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนค่าเทอมแพง ซึ่งมักผ่อนปรนกฎระเบียบเรื่องทรงผมและการแต่งกาย จนเสมือนว่าเด็กที่อยากได้ความเท่าเทียมต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิเหล่านั้น

“เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน ส่วนใหญ่โรงเรียนที่ให้อิสระทางทรงผม มักเป็นโรงเรียนที่ค่าเทอมแพง หรือโรงเรียนเอกชน นักเรียนธรรมดาเข้าไม่ถึง สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชน ที่ควรเป็นของเราตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว”

นอกจากความเหลื่อมล้ำ ผลกระทบจากการมีทรงผมนักเรียนที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทพบคือ การได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กนักเรียน ซึ่งถูกครูลงโทษอย่างรุนแรงเพราะประเด็นทรงผมอยู่เสมอ

เบญมาภรณ์หยิบเอกสารชี้แจงต่อการถูกตั้งคำถามถึงสถิติการลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งส่งถึงคณะกรรมาธิการการศึกษามาอภิปราย โส่วนหนึ่งในคำชี้แจงระบุว่าในปีงบประมาณ 2561 จนถึงปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนกรณีครูที่กระทำผิดละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนักเรียนในกรณีที่ลงโทษนักเรียนที่มีทรงผมไม่ถูกระเบียบของโรงเรียน จำนวน 3 เรื่อง ซึ่งเธอกล่าวว่า “เป็นตัวเลขที่ไม่เป็นจริงและถึงแม้ตัวเลขในคำชี้แจงจะมีเพียง 3 กรณี แต่จนถึงปัจจุบัน ทุกกรณียังคงอยู่ในการสืบสวนและพิจารณาทั้งสิ้น”

ทั้งช่องโหว่ของการบังคับใช้ที่ลักลั่นระหว่างกฎกระทรวงกับระเบียบโรงเรียนและตัวเลขการละเมิดสิทธิที่ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ล้วนแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาของผู้มีอำนาจ ซึ่งเบญจมาภรณ์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขโดยเร็ว

ความอับอายและแปลกแยก : ผลลัพธ์จากระเบียบที่ละเมิดสิทธิและการเพิกเฉยของผู้มีอำนาจ

ผู้อภิปรายคนสุดท้าย ศิรินภา พูลศรี เป็นตัวแทนผู้ออกมาเล่าประสบการณ์เรื่องทรงผมของตน นอกจากนั้นยังแชร์ประสบการณ์ของเพื่อนๆ คนอื่นที่เธอได้รับรู้มาอีกด้วย ศิรินภาตั้งคำถามกับการลงโทษเกินกว่าเหตุในสถานศึกษาว่า สิ่งเหล่านี้จะดำเนินไปอีกนานแค่ไหนและการลงโทษมีประโยชน์อะไรนอกจากการสร้างความอับอายและลดความมั่นใจในตัวเองของเด็กนักเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ศิรินภาเล่าย้อนไปถึงตอนเธอยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง กิจกรรมตรวจผมเป็นกิจกรรมยอดนิยมของโรงเรียน ไม่ต่างจากกิจกรรมตัดผมเด็กต่อหน้าเพื่อนๆ ประสบการณ์ถูกตัดผมต่อหน้าเพื่อนๆ ทั้งห้องจนโดนล้อเลียนเรื่องผมแหว่ง เป็นสิ่งที่ทำให้เธอฝังใจและรู้สึกอับอาย อย่างไรก็ดีภายหลังจากย้ายโรงเรียนเพื่อเลื่อนชั้นสู่มัธยมปลาย ศิรินภายังคงวนเวียนอยู่กับการถูกตักเตือนเรื่องทรงผมที่ยาวถึงระดับ “มุมปาก” ของเธอ โดยเธอถูกเตือนให้รวบผมแม้ว่าผมของเธอจะไม่สามารถรวบได้ในความเป็นจริงก็ตาม ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเธอเริ่มไว้ผมหน้าม้า ครูฝ่ายปกครองของโรงเรียนมาคอยสอดส่องให้เธอเก็บผมหน้าม้าอยู่ตลอดเวลา หนักข้อเข้าครูได้ลงไม้ลงมือและใช้ถ้อยคำเสียดสีเธอ

นอกจากประสบการณ์ของตัวเองแล้ว ศิรินภายังได้ยกกรณีตัวอย่างจากเพื่อนนักเรียนสองคนซึ่งแบ่งปันประสบการณ์กับเธอ ได้แก่นางสาวเอและนางสาวบี เรื่องของเอเป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงซึ่งชอบตัดผมซอยสั้นซึ่งทำให้เธอดูมีบุคลิกภาพคล้ายทอมบอย ศิรินภาเล่าเรื่องเอว่า

“นักเรียนหญิงคนใดก็ตามมีลักษณะที่ดูมีลักษณะท่าทางคล้ายผู้ชาย จะโดนจับให้ไปเข้าแถวแยกกับเพื่อน ๆ บทลงโทษคือตักเตือนด้วยการให้ไปซื้อผมมาต่อ เพื่อถักเปียสองข้างตามกฎของโรงเรียน และเมื่อไม่ยอมทำตามจะโดนตัดคะแนนเบื้องต้น และเมื่อคะแนนความประพฤติไม่ถึงเกณฑ์จะโดนเข้าค่ายปรับพฤติกรรมในที่สุด” ในส่วนของบี ผู้ทำสีผมมักถูกเพ่งเล็งโดยครูคนหนึ่งซึ่งตามกดดันเธอไม่เลิกรา โดยมีการลงโทษทั้งตัดคะแนนและบังคับให้ย้อมผมกลับเป็นสีดำโดยใช้ข้ออ้างเรื่องความไม่เหมาะสมหากจะต้องไปฟังธรรมในกิจกรรมค่ายธรรมะของโรงเรียน นอกจากนี้ยังพยายามเปรียบเทียบเรื่องเด็กที่ทำสีผมกับผลการเรียน ถึงแม้ว่าบีจะมีคะแนนสอบอยู่ใน 10 ลำดับแรกของชั้นเรียนก็ตาม สิ่งที่บีต้องเจอทำให้เธอตั้งคำถามว่าสีผมของเธอนั้นเกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างไรและอะไรกันแน่คือสิ่งที่โรงเรียนควรให้ความสำคัญ

สิ่งที่ศิรินภาอภิปรายสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นและไม่เคารพในตัวเด็กของระบบการศึกษาไทย อนุมานได้จากการที่โรงเรียนแทบทุกแห่งอย่างน้อยในเรื่องเล่านี้ ยังคงวางตัวเป็นผู้ใช้อำนาจที่ชินชาการละเมิดในเนื้อตัวร่างกายของเด็กอย่างแข็งขันเนื่องจากมีระเบียบที่อนุญาตให้กระทำ โดยอาจหลงลืมถึงหน้าที่หลักของโรงเรียนซึ่งควรจะเป็นสถานที่สร้างเสริมความรู้และพัฒนาความก้าวหน้าทางการศึกษาให้เด็ก และหากจะมีหน้าที่ใดที่โรงเรียนควรทำนอกเหนือจากนี้ ควรเป็นเรื่องการช่วยสนับสนุนและส่งเสริมบุคลิกภาพให้นักเรียนมีความมั่นใจในการใช้ชีวิต เนื่องเพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กใช้เวลาตลอดวัยเยาว์อยู่ที่นั่น โรงเรียนจึงเป็นสถานที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อคุณภาพของภาวะความเป็นผู้ใหญ่ของพวกเขา เสรีภาพต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเด็กจึงเป็นสิ่งพื้นฐานแต่มีความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องส่งเสริมมิใช่ทำลาย

การอภิปรายในประเด็นปัญหาเกี่ยวเนื่องกับเรื่องระเบียบทรงผมและการแต่งกายของคณะเยาวชนยกเลิกทรงผมนักเรียนทั้งห้าคน สะท้อนสิ่งที่นักเรียนแทบทุกคนในระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญมาตลอด ข่าวครูลงโทษเด็กผมยาวด้วยการขลิบผม กล้อนผม ทำให้ทรงผมเดิมของเด็กผิดรูปร่างไป บางครั้งเด็กถูกลงโทษด้วยการลงไม้ลงมือ ใช้ถ้อยคำทำร้ายจิตใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการลงโทษแบบใดล้วนก่อให้เกิดความอับอายและอาจเกิดบาดแผลในใจต่อเด็กทั้งสิ้น คำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนคือ ทำไมเด็กจึงไม่สามารถมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายภายในรั้วโรงเรียนได้ เหตุใดการควบคุมเรื่องการแต่งกายและทรงผมจึงมักเป็น “เรื่องใหญ่” ของแต่ละโรงเรียนอยู่เสมอ และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เด็กจะสามารถร่วมกำหนดกฎเกณฑ์หรือออกแบบระเบียบเหล่านั้นเสียใหม่

 

X