พ่อ นร.ที่ถูกหยิกเผย ลูกถูกกระทำ แต่ถูกกล่าวหาว่าหลอกลวง ขณะ ร.ร.ยังไม่ติดต่อมา

กรณีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 แฟนเพจเฟซบุ๊ก “สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกโพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า มีนักเรียนที่ผูกโบว์สีขาวถูกครูหยิกแขนจนช้ำ เหตุเกิดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมา มีสื่อหลายสำนักรายงานข่าวว่า ครูให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้หยิกแขนหรือแก้มของนักเรียนตามที่ถูกกล่าวหา หรือนักเรียนคนดังกล่าวยืนยันว่า ครูหยิกจริงแต่ไม่ได้เขียวช้ำอย่างที่เป็นข่าว รวมถึงมีการระบุว่า เป็นเรื่องการผิดระเบียบโรงเรียน ไม่เกี่ยวกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นั้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และติดต่อนักเรียนคนดังกล่าวพร้อมทั้งครอบครัวได้ในเวลาต่อมา โดย พิม (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.3 เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 ว่า ตนได้ผูกผมด้วยโบว์สีขาวไปโรงเรียน ปกติโรงเรียนมีระเบียบให้ผูกโบว์สีดำอย่างเดียว แต่ก่อนหน้านี้ก็มีคนผูกโบว์ขาวไปโรงเรียนหลายคน

ประมาณ 09.00 น. ขณะที่พิมและเพื่อนเดินเข้าหอประชุมเพื่อไปร่วมกิจกรรม ก็ถูกครูท่านหนึ่งซึ่งยืนอยู่ระหว่างทางเรียก ซึ่งครูคนดังกล่าวไม่ใช่ครูที่พิมเรียนด้วย พิมพอจะทราบว่าถูกเรียกเพราะเรื่องโบว์ขาว จึงเดินไปหาครูพร้อมกับแกะโบว์ออกจากผม และได้ดึงแขนเพื่อนซึ่งไม่มีใครผูกโบว์ขาวให้ไปด้วยกัน แต่ครูไล่ให้เพื่อนกลับไปหอประชุม จากนั้นครูก็หยิกที่แขนซ้ายของพิมพร้อมกับบิด จนเธอเจ็บมาก ครูยังบอกให้พิมถอดแมสค์ออก เมื่อพบว่า พิมแต่งหน้า ครูก็ถ่ายรูปไว้ก่อนที่จะหยิกที่แก้มอีก แล้วจึงปล่อยกลับไปหอประชุม ระหว่างทางพิมได้เอาโบว์ขาวไปทิ้งขยะ โดยมีเพื่อนผู้ชายเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ก็ไม่มีใครถ่ายรูปหรือคลิปไว้ 

พิมยังเล่าต่อว่า จากนั้นระหว่างที่เธอพักทานข้าวอยู่ที่โรงอาหาร ได้มีสื่อมาขอสัมภาษณ์ โดยมีครูคนอื่นยืนอยู่และให้สัมภาษณ์ด้วย ทำให้เธอไม่กล้าพูดอะไรมาก ในช่วงบ่ายก็มีครูปกครองเข้ามาสอบถามว่าเธออยู่ห้องไหน และพูดเหมือนข่มขู่ แต่พิมจำไม่ได้ว่าครูพูดอะไรบ้าง เพราะตอนนั้นเธอตกใจมาก นอกจากนี้ พิมยังทราบจากครูประจำชั้นว่า มีครูบางคนพูดในที่ประชุมว่า รูปที่มีคนเอาไปโพสต์โดยเห็นรอยช้ำที่แขนนั้น เธอเป็นคนเอาสีมาทาที่แขนเอง 

จากการสอบถามเหตุผลในการผูกโบว์สีขาวไปโรงเรียน พิมเล่าว่า เธอตั้งใจแสดงออกว่าไม่ชอบรัฐบาลนี้ รวมทั้งสนับสนุนคนที่ออกมาชุมนุมในช่วงนี้ ส่วนสาเหตุที่แต่งหน้าไปโรงเรียนในวันนั้น พิมชี้แจงว่า ในวันนั้นที่โรงเรียนมีกิจกรรมประกวดชุดรีไซเคิล ซึ่งเพื่อนนำเครื่องสำอางมาแต่งหน้า เธอก็เลยหยิบมาแต่งตามเพื่อนด้วย 

ต่อเหตุการณ์ที่เธอถูกทำโทษนี้ พิมกล่าวว่า เธอต้องการให้ครูคนที่ทำโทษพูดความจริง โดยยอมรับว่าครูได้หยิกเธอจริงๆ 

นอกจากพิมที่ถูกครูทำโทษแล้ว พิมเล่าว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (20 ส.ค. 2563) ซึ่งมีเพื่อนในห้องผูกโบว์ขาวไปหลายคน เพื่อนก็ถูกครูเรียกไปถาม โดยเพื่อนได้เอาหนังสือของกระทรวงศึกษาที่มีการเผยแพร่ให้ครูดู แต่เธอไม่ทราบว่าครูว่ายังไง เพราะตอนนั้นเธอไม่ได้อยู่กับเพื่อน แต่วันต่อมาเพื่อนในห้องก็ไม่มีใครผูกโบว์ขาวไปอีก มีเธอคนเดียว ส่วนชั้นอื่นก็มีคนผูกไปอยู่ ซึ่งเธอรู้มาว่า พวกเขาก็ถูกครูเรียกไปคุยว่าผิดระเบียบ แต่ไม่มีใครถูกหยิก

ทางด้านพ่อของพิมให้ข้อมูลว่า เขามาทราบภายหลังว่าลูกผูกโบว์สีขาวไปโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา และพอทราบว่า ลูกถูกหยิกก็โมโห แต่ตอนแรกคิดว่า จะให้ลูกทำเฉยๆ ไปโรงเรียนตามปกติ และรอฟังว่า ทางโรงเรียนจะไกล่เกลี่ยหรือเรียกไปคุย แต่ก็ยังไม่เห็นทางโรงเรียนติดต่อมา ไปๆ มาๆ ได้ยินข่าวว่า มีการตำหนิหรือกล่าวหาว่า ลูกไม่ได้ถูกหยิกจนเป็นรอยช้ำจริง จากการเป็นคนถูกกระทำกลายเป็นคนหลอกลวง เขาจึงตัดสินใจว่า จะดำเนินการร้องเรียนกับทางโรงเรียนต่อไป 

ทั้งนี้ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 กำหนดวิธีการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ ของสถานศึกษาไว้ 4 สถาน คือ ว่ากล่าวตักเตือน, ทำทัณฑ์บน, ตัดคะแนนความประพฤติ หรือทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษ

ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 18 ส.ค. 2563 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ขอให้ดำเนินการให้โรงเรียนในสังกัดเปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และความปลอดภัยของนักเรียน 

เห็นได้ว่า แม้โรงเรียนหรือครูเห็นว่า นักเรียนทำผิดระเบียบของโรงเรียน ก็ไม่อาจลงโทษโดยการหยิกได้ และหากนักเรียนยืนยันที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วยการผูกโบว์สีขาว ครูก็อาจให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ที่นักเรียนจะยังแสดงออกได้โดยไม่ขัดต่อระเบียบโรงเรียน ไม่ใช่การห้ามหรือทำโทษที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน

 

X