18 มี.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “วิจิตร” (นามสมมติ) ประชาชนจากจังหวัดขอนแก่นวัย 59 ปี ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) รวม 10 กรรม จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กพร้อมภาพประกอบทั้งสิ้น 10 โพสต์ ระหว่างวันที่ 24 ต.ค. 2557 – 20 มิ.ย. 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารในขณะนั้น และมีบางโพสต์พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 10 กรรม เป็นจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งประกันตัว ทำให้เย็นวันนี้วิจิตรจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่ง
.
คดีความกว่าสิบปี: โพสต์ปี 57 ก่อนถูกจับกุมในปี 66 โดยพบว่าถูกออกหมายจับไว้ 5 ปีก่อนแล้ว
สำหรับคดีนี้มี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา เป็นผู้กล่าวหา ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 วิจิตรถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดขอนแก่น ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ออกไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2561 และนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 และในวันเดียวกันเขาถูกนำตัวมายังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) ในกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ
ในวันต่อมา (20 ก.ย. 2566) พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กพร้อมภาพประกอบ จำนวน 10 โพสต์ ระหว่างวันที่ 24 ต.ค. 2557 – 20 มิ.ย. 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารในขณะนั้น และมีบางโพสต์พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ในกระบวนการนี้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย และวิจิตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
วิจิตรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ปอท. ต่ออีกหนึ่งคืน ต่อมาในวันรุ่งขึ้น (21 ก.ย. 2566) เขาถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 90,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก และห้ามทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยหลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ผ่านไปเดือนเศษ วันที่ 7 พ.ย. 2566 พนักงานอัยการ สำนักอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6) มีคำสั่งฟ้องวิจิตรในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งสิ้น 10 กรรม โดยบรรยายว่าข้อความทั้งหมดเป็นข้อมูลเท็จ ไม่ได้เป็นการแสดงความเห็นติชมโดยสุจริต เป็นการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชน โดยไม่เหมาะสม เป็นการสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และอาจทำให้เข้าใจผิดว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริง ทำให้ประชาชนไม่เคารพสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
หลังจากศาลรับฟ้องไว้ ในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ก่อนเริ่มสืบพยาน วิจิตรตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทำให้ศาลมีคำสั่งสืบเสาะและนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
.
ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 20 ปี ก่อนลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 10 ปี ไม่รอลงอาญา
วันนี้ (18 มี.ค. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 903 วิจิตรเดินทางมาฟังคำพิพากษาจากจังหวัดขอนแก่นพร้อมกับลูกจ้างของเขาหนึ่งคน นอกจากนั้นยังมีทนายความและผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge อีกทั้งยังมี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้กล่าวหาในคดีนี้เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย
ก่อนฟังคำพิพากษา วิจิตรเล่าให้ฟังว่าเขาและลูกจ้างเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่วานนี้ โดยขับรถยนต์มา ซึ่งใช้เวลาประมาณหกชั่วโมง เขาเล่าว่ามีความกังวลอยู่สองเรื่องหลัก คือเขาเป็นเสาหลักครอบครัวที่ต้องส่งเสียลูกทั้ง 3 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ทั้งหมดในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย และเขายังมีงานที่ต้องทำต่อ ในงานรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา มีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้ความชำนาญพิเศษในการก่อสร้าง หาคนมาทำแทนได้ยาก และยังมีวัดที่รอการก่อสร้างอยู่จำนวนมาก
ต่อมาเวลาประมาณ 09.28 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีอื่นก่อน จากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยอ่านเพียงสั้น ๆ ว่า จำเลยให้การรับสารภาพ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดที่จำเลยถูกฟ้องมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง
พิพากษาว่า ว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงกันไป ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 10 กรรม เป็นจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ วิจิตรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลควบคุมตัวลงไปที่ห้องเวรชี้ ระหว่างรอคำสั่งประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
ต่อมาในเวลา 15.30 น. ศาลมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันตัว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีก 2-3 วัน จึงจะทราบผลคำสั่ง ทำให้เย็นวันนี้วิจิตรจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่ง
ทำให้ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 46 คนแล้ว ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 28 คน
.
น่าสังเกตว่าคดีของ “วิจิตร” ไม่ได้มีการนำมาตรา 112 มาใช้กล่าวหา โดยหากพิจารณาวันที่ศาลออกหมายจับ คือวันที่ 11 ก.ย. 2561 พบว่าเป็นช่วงเวลาที่รัฐมีนโยบายการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบังคับใช้มาตรานี้ โดยไม่นำข้อหานี้มาใช้กล่าวหาในคดีใหม่ ๆ แต่มักนำข้อกล่าวหาอื่นมาใช้กล่าวหาต่อการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แทน เช่น ข้อหามาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น จนกระทั่งมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้กล่าวหาอีกครั้งในช่วงการชุมนุมของนักศึกษาเยาวชนปลายปี 2563 เป็นต้นมา
สำหรับข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มักถูกนำมาใช้ในคดีจากการโพสต์แสดงออกทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะมาตรา 14 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในการบังคับใช้อย่างมาก เนื่องจากใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ถูกใช้ตีความได้อย่างกว้างขวาง และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง
.
* เพิ่มเติมข้อมูลวันที่ 21 มี.ค. 2568
วันที่ 21 มี.ค. 2568 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววิจิตร ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 10 กระทงรวมจำคุก 10 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
.
ย้อนเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ย้อนมอง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: การจำกัดเสรีภาพผ่านความคลุมเครือของตัวบท
คุยกับสาวตรี สุขศรี ว่าด้วย ‘เฟกนิวส์’ และความกว้าง เทา คลุม ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ