ในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี กรณีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563
คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ของอานนท์คดีที่ 5 ที่ศาลจะมีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี และคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี 2 เดือน 20 วันแล้ว โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ หากศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า อานนท์มีความผิดและลงโทษจำคุก จะทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมเกินกว่า 15 ปี และทำให้เขาจะต้องถูกย้ายไปขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษเกินกว่า 15 ปี
.
#ราษฎรสาส์น จดหมายจากประชาชนส่งถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ตอกย้ำข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 กลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุม #ราษฎรสาส์น เชิญชวนประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวังเพื่อส่งจดหมาย นักกิจกรรมหลายคนจึงได้ร่วมเขียนจดหมายยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โพสต์ในเฟซบุ๊ก
รวมถึงอานนท์ซึ่งได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์จดหมาย มีใจความหลักคือ วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ที่ละเมิดต่อหลักประชาธิปไตย และขอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวให้ธำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ไป กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามายังอานนท์ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยมีผู้กล่าวหาคือ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ไทยภักดี” ต่อมา วันที่ 14 ธ.ค. 2563 อานนท์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนได้รับปล่อยตัว ไม่ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวน
นอกจากอานนท์แล้ว ยังมีนักกิจกรรมอีก 4 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากกิจกรรมเขียนจดหมายถึงกษัตริย์เช่นเดียวกัน ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ทั้งหมดมาจากการเข้าแจ้งความของประชาชนกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง
ต่อมา วันที่ 14 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นฟ้องอานนท์ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
เมขลา อัจฉราวงศ์ชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูล รูปภาพ ข้อความและตัวอักษร ด้วยการโพสต์รูปภาพพร้อมด้วยตัวหนังสือ เป็นข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีข้อความภาษาไทยตอนหนึ่งว่า
“…นับแต่ท่านได้ขึ้นครองราชย์ ท่านได้ก้าวล่วงและละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขในหลายประการ เช่น การสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว การแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนของท่าน การรับเอาเงินภาษีของพวกเราไปใช้อย่างเกินความจําเป็น รวมทั้งความเคลือบแคลงต่อการละเมิดสิทธิของราษฎรในหลายกรณี ซึ่งการกระทําเช่นนี้นับว่าร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการขยายอํานาจจนเกินกว่าที่ระบอบอนุญาตให้ท่านทําได้
พวกเราเหล่าราษฎรเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้มานานจนกระทั่งความไม่พอใจ ความคับแค้นใจได้ประทุขึ้นในห้วงเวลานี้ ดังที่ท่านคงทราบดี พวกเราเหล่าราษฎรได้ร่วมกันชุมนุมหลายคราว เพื่อสื่อสารและส่งสาส์นไปยังท่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหวังให้ท่านปรับปรุงตน และกลับมาเป็นกษัตริย์ของพวกเราทุกคนตามที่ระบอบกําหนดไว้ แต่ท่านก็ไม่มีท่าทีที่จะปรับตนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามแสดงออกถึงความไม่พอใจในความเคลื่อนไหวครั้งนี้ รวมทั้งพยายามแสดงออกให้พวกเรากลายเป็น “ราษฎรอื่น” ในสายตาท่านไปเสีย”
อัยการบรรยายว่า จำเลยได้โพสต์ข้อความดังกล่าวผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก “อานนท์ นําภา” ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และสั่งให้แก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน อันเป็นการล่วงละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย และเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้อย่างเกินความจําเป็น และกระทําการละเมิดสิทธิของราษฎร
อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่เป็นความจริง และเป็นการใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย ทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ทั้งนี้ อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกอานนท์ในคดีนี้ ต่อจากโทษจำคุกในอีก 17 คดี
อย่างไรก็ตาม หลังศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวอานนท์ ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมให้ติด EM จำกัดเวลาออกนอกเคหะสถาน ห้ามทำกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์และศาล และห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 11 มิ.ย. 2567 และนัดสืบพยานจําเลยในวันที่ 12-14, 18-20 มิ.ย. 2567 แต่ต่อมาวันที่ 21 ก.ค. 2565 อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกคำสั่งให้ตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้เพิ่มเติม อ้างเหตุว่ายังมีการกำหนดให้สืบพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นพิพาทในคดีและพยานความเห็น
วันที่ 4 ส.ค. 2565 ศาลอาญาได้มีหมายแจ้งคำสั่งมายังอานนท์ นัดตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยมีอรรถการ ฟูเจริญ ลงชื่อในหมายด้วยตนเอง
ในวันที่ 31 ส.ค. 2565 อานนท์ และทนายความจึงได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขอให้สอบสวนและดำเนินการทางวินัยต่ออรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่อาจมีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีอาญาของตุลาการเจ้าของสำนวน
ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 2 ปีหลังอานนท์ยื่นหนังสือร้องเรียน ยังคงไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนดังกล่าว
นอกจากนั้น อานนท์ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกนัดตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากไม่มีความจําเป็น แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า ศาลมีอํานาจที่จะตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมคดีนี้ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 และในนัดตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมอานนท์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารตามที่เคยยื่นบัญชีระบุพยานไว้ หากได้เอกสารดังกล่าวมาอาจไม่จำเป็นต้องสืบพยานบางปาก โดยจะอ้างส่งเอกสารแทน พยานปากที่ว่า อาทิ กงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน, เลขาธิการพระราชวัง, เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจําประเทศไทย, เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์
ซึ่งศาลได้ขอเวลาไปปรึกษาผู้บริหารในการออกหมายเรียกเอกสารก่อน อานนท์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลไม่ต้องไปปรึกษาอรรถการ ฟูเจริญ ที่มีข้อพิพาทกันและอยู่ระหว่างสอบสวน จากนั้นศาลได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จะได้พิจารณาออกหมายเรียกพยานให้ตามที่จําเลยขอมา และลดวันสืบพยานจำเลยลง จาก 6 วัน เหลือ 4 วัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมในฐานข้อมูลคดี: คดี 112 “อานนท์” โพสต์ “ราษฎรสาส์น” ถึง ร.10 วิจารณ์การขยายพระราชอำนาจ ถูกไทยภักดีแจ้งความ
.
ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยยืนยันเจตนาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ของศาลอาญา รัชดาฯ มีการสืบพยานในคดีนี้ทั้งสิ้น 5 นัด โดยใช้วิธีบันทึกคำเบิกความพยานเป็นวีดิโอ อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 4 ปาก ระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย. และ 10 ก.ย. 2567 ได้แก่ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ผู้กล่าวหา, คมสัน โพธิ์คง พยานความเห็นทางวิชาการ และพนักงานสอบสวนอีก 2 ปาก
ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 3 ปาก ในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ได้แก่ อานนท์ นำภา และพยานความเห็นทางวิชาการ 2 ปาก คือ สมชาย ปรีชาศิลปกุล และยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ถึงแม้ว่าการสืบพยานตลอด 5 นัด อานนท์ผู้เป็นจำเลยในคดีถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 คดีอื่น และต้องเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลเพื่อร่วมพิจารณาคดี แต่ในทุกนัดจะมีประชาชนมาร่วมฟังการสืบพยานและให้กำลังใจเขาอย่างต่อเนื่อง โดยอานนท์เป็นผู้ถามค้านพยานโจทก์ส่วนใหญ่ในคดีนี้ด้วยตนเอง
การนำสืบของโจทก์ พยายามกล่าวหาว่า เนื้อหาในโพสต์ของจำเลยทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด เกิดความแตกแยก กระทบต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดหรือกล่าวหาในทางใด ๆ ไม่ได้
ด้านอานนท์ซึ่งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา มีข้อต่อสู้ในคดีว่า จําเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องโจทก์ในเฟซบุ๊กจริง แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และในการสืบพยานฝ่ายจำเลยก็ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของจำเลยในการโพสต์คือต้องการให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการพูดถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและเป็นข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ การพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควบคู่กันไป มิอาจใช้หลักการตามมาตรา 6 มาทำลายหลักเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสมอกัน นั่นคือ การแสดงความเห็นติติงเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่สามารถกระทำได้ ถ้าไม่เป็นการมุ่งทำร้าย
ก่อนฟังคำพิพากษาในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 นี้ ชวนอ่านใจความสำคัญของคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยที่มาให้การต่อศาลในคดีนี้
.
.
บันทึกการสืบพยานฝ่ายโจทก์
สมาชิกกลุ่มไทยภักดีผู้กล่าวหาระบุ ทำหน้าที่ตาม รธน.ม.50 เข้าแจ้งความดำเนินคดีอานนท์ แม้จดหมายที่เขียนสื่อสารถึง ร.10 อย่างเปิดเผย สุภาพ แต่เห็นว่ากษัตริย์ไม่อยู่ในฐานะที่เราจะต้องวิพากษ์วิจารณ์
ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบอาชีพทนายความมา 26 ปี
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ช่วงเช้า ผู้กล่าวหาตื่นมาแล้วเปิดโทรศัพท์มือถือเห็นข้อความในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ อานนท์ นําภา เนื้อหาหลัก ๆ กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่เบื้องหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติแล้ว และสั่งการให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยับยั้งมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ในลักษณะว่าพระองค์ไม่เป็นธรรม การโพสต์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
นอกจากนั้นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่บอกว่า พระองค์ท่านได้ใช้ภาษีของประชาชนไปเกินความจําเป็น ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด น่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116
ในโพสต์ดังกล่าวมีคนเข้าไปคอมเมนต์โต้ตอบกันไปมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วเกิดความแตกแยก กระทบต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดหรือกล่าวหาในทางใด ๆ ไม่ได้ และมาตรา 50 กำหนดไว้ว่า คนไทยมีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พยานจึงทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยด้วยการไปแจ้งความที่ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับอานนท์ นำภา เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว
พยานติดตามความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กดังกล่าวมาตลอด จึงเชื่อว่าเป็นเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา
หลังพยานเบิกความตอบอัยการเสร็จ ศาลถามอานนท์ว่า จำเลยจะถามค้านพยานด้วยตนเองใช่มั้ย อานนท์ตอบว่า จริง ๆ จะให้ทนายถาม แต่เดี๋ยวจะไม่มีโอกาสได้ถามความ เพราะมีคนไปร้องเพิกถอนใบอนุญาต ก็น่าจะเป็นการขอทำหน้าที่ครั้งท้าย ๆ แล้ว ศาลกล่าวว่า เป็นสิทธิของจำเลย
จากนั้นผู้กล่าวหาได้ตอบจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับจำเลย แต่ได้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยและคนอื่นในฝ่ายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด
วันเกิดเหตุพยานจำไม่ได้ว่าตั้งใจเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยโดยเฉพาะหรือไม่ อาจจะเป็นลักษณะมีคนอื่นแชร์มาแล้วพยานเห็น จึงได้แคปภาพหน้าจอไว้ ภาพโพสต์ดังกล่าวมีรูปโปรไฟล์เป็นรูปจำเลย ซึ่งพยานไม่ทราบว่า ความจริงแล้วเป็นรูปจิตร ภูมิศักดิ์ อานนท์ให้พยานชี้ว่า รูปใดที่พยานเห็นว่าเป็นรูปอานนท์ พยานตอบว่า ไม่มี
พยานเป็นทนายมา 26 ปี แล้ว เข้าใจว่ามาตรา 112 และ 116 อย่างไร
ในการไปแจ้งความครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 พยานร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น ภายหลังพยานพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ด้วย จึงไปแจ้งความเพิ่มเติม
พยานอยู่กลุ่มไทยภักดี ซึ่งนำโดยหมอวรงค์ เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีข้อเรียกร้องชู 3 นิ้ว และเข้าแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนหลายคน พยานเองก็เคยไปแจ้งความกรณีประชาชน ใส่เสื้อครอปท็อป แต่หลังจากหมอวรงค์ตั้งพรรคการเมือง พยานก็ไม่ได้เข้าไปร่วม
พรรคการเมืองของหมอวรงค์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยมีจุดยืนหลักคือปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่มีผู้สมัคร สส. ได้รับการเลือกตั้งเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ส่วนพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายเห็นด้วยกับแนวทางของคนรุ่นใหม่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ได้ 150 ที่นั่ง
ที่พยานไปแจ้งความมาตรา 112 กรณีที่มีคนใส่เสื้อครอปท็อป เพราะพยานเห็นว่าคนรุ่นใหม่ไปแต่งตัวล้อเลียนในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งไม่เหมาะสม แต่ตอนไปแจ้งความจำเลยพยานแจ้งเฉพาะมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนข้อหาตามมาตรา 112 พยานไปแจ้งความเพิ่มเติมภายหลัง
พยานแจ้งความเกี่ยวกับข้อความที่มีการโพสต์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เนื่องจากพยานอ่านข้อความภาษาไทยแล้วเชื่อว่าเป็นความผิด และเข้าใจว่าภาษาอังกฤษที่โพสต์ เป็นการแปลข้อความภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ อานนท์ถามพยานว่า คําว่า “gathered massively” ซึ่งอยู่ในย่อหน้าที่ 3 ของโพสต์ในส่วนที่เป็นข้อความภาษาอังกฤษ แปลว่าอะไร พยานตอบว่า ไม่ทราบ
จดหมายของจำเลยเป็นการเขียนเพื่อสื่อสารถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรง เป็นการแสดงออกโดยเปิดเผย ถ้อยคำในจดหมายเป็นถ้อยคำสุภาพ ไม่มีคำด่าทอ
ก่อนเกิดเหตุมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมและพูดถึงรัชกาลที่ 10 แบบอ้อม ๆ เช่นว่า ภาษีเราอร่อยมั้ย บินไปบินมาทำไม อยู่เยอรมันหนาวมั้ย มีทั้งการเขียนป้ายและร้องเพลงด้วย เนื่องจากไม่มีใครกล้าท้วงติงตรง ๆ แต่ก็ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคน อายุต่ำกว่า 14 ปีก็มี
พยานรับว่า หลังจากเยาวชนพูดถึงรัชกาลที่ 10 แบบอ้อม ๆ หรือแซะ แล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่ถูกดำเนินคดี จำเลยจึงแต่งชุดแฮรี่พอตเตอร์ปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ปรากฏว่า รัชกาลที่ 10 ตอบรับกับข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะออกมาโต้ตอบ
พยานทราบอีกว่า หลังแฮร์รี่พอตเตอร์มีการชุมนุมใหญ่อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ วันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง และวันที่ 14 ต.ค. 2563 เดินขบวนไปทำเนียบ มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับจากในหลวงรัชกาลที่ 10 อีก กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงจัดการชุมนุมชื่อ ราษฎรสาส์น มีกิจกรรมส่งจดหมายถึงกษัตริย์ มีคนเข้าร่วมการชุมนุมทั้งที่กรุงเทพฯ และโพสต์จดหมายทางเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นการสื่อสารโดยตรงจากราษฎรถึงในหลวงรัชกาลที่ 10
พยานรับว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 กำหนดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนไทยรวมถึงสถาบันกษัตริย์มีหน้าที่ในการปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่มาตรา 50 ก็บัญญัติว่า ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
อานนท์ถามว่า พระมหากษัตริย์มีหน้าที่เช่นไรต่อประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พยานตอบว่า ท่านก็มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในฐานะพสกนิกรของพระองค์ท่าน
(ศาลติงว่า จําเลยคิดว่าคําถามที่ถามความคิดเห็นของพยานมีผลต่อคดีมั้ย เขาคิดอย่างไรศาลอาจจะไม่ได้ฟังเลยก็ได้นะ ทุกคนมีสิทธิคิด แต่ศาลเป็นผู้พิจารณา ศาลฟังพยาน ฟังข้อเท็จจริงจากพยาน แต่ศาลมีสิทธิใช้ความเห็นของศาล)
พยานไม่เห็นด้วยกับการที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ชุมนุมเรียกร้องให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 อย่าไปอยู่เยอรมันในช่วงที่ประเทศมีวิกฤตโควิด พยานเห็นว่า แม้พระองค์มีหน้าที่ดูแลประชาชน ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ประเทศไทยตลอดเวลา พระองค์จะไปไหนก็ได้
อานนท์ถามว่า การเสด็จไปอยู่ต่างประเทศของกษัตริย์ส่งผลหลายประการ ประการแรกคือไม่มีกษัตริย์ประทับอยู่ในประเทศโดยไม่มีผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ พยานเห็นด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เห็นด้วย
หากมีภาพกษัตริย์ออกข่าวในเชิงลบ พยานก็ไม่ได้มองว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย อานนท์ถามถึงข่าวในหลวงไปปั่นจักรยานที่เยอรมันแล้วถูกเด็กยิงใส่ขบวนเสด็จ พยานตอบว่าไม่ทราบข่าว ส่วนข่าวในหลวงแต่งครอบท็อปหรือไปกินไอติมในห้างแล้วมีรอยสักกระทบภาพลักษณ์ของประเทศไทยหรือไม่ พยานไม่ให้ความเห็น ถ้าหากมีคนที่เห็นว่ากระทบภาพลักษณ์แล้วออกมาท้วงติง พยานก็เห็นว่า ทำไม่ได้ ผิดต่อกฎหมาย เพราะพระองค์ไม่อยู่ในฐานะที่เราจะต้องวิพากษ์วิจารณ์
พยานไม่ทราบว่า ค่าใช้จ่ายในการไปอยู่ที่เยอรมันของรัชกาลที่ 10 ทั้งค่าน้ํามัน, ค่าเช่าโรงแรม เป็นเงินเท่าไหร่ และเป็นเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้หรือไม่ หรือมีองค์รักษ์ไปด้วยกี่คน แต่พยานทราบว่า ในทุกปีสภาจะจัดสรรงบประมาณที่มาจากงินภาษีของประชาชนให้กับสถาบันกษัตริย์ หากประชาชนต้องการท้วงติงการใช้เงินของสถาบันกษัตริย์ก็ต้องท้วงติงที่สภา ไม่สามารถท้วงติงในหลวงได้ แต่หากเป็นการติชมด้วยความสุจริตใจก็ทําได้
พยานไม่เคยได้ยินใครวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในหลวงทำผิดหลักการ จำเลยเป็นคนแรกที่ท้วงติงแบบนี้ตรง ๆ
อานนท์กล่าวว่า ผมเขียนจดหมายว่า ในหลวงได้ก้าวล่วงและละเมิดต่อหลักการ ซึ่งหลักการดังกล่าวคือหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขที่ยึดถือกันทั่วโลก เรียกว่าหลัก The King Can Do No Wrong หรือพระเจ้าแผ่นดินทําผิดไม่ได้ พยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่า ทราบ
พยานทราบว่า หลักการนั้นกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทําการทางการเมืองโดยตรงได้ การตรากฎหมายต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หากประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์ก็วิจารณ์คนที่รับสนองพระบรมราชโองการ
พยานทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เคยมีพระราชดํารัสทางการเมืองหลายครั้ง และเคยมีพระบรมราชโองการหลายครั้งที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่น แต่งตั้งองคมนตรี แต่งตั้งองครักษ์ ซึ่งพยานมองว่า ในเรื่องดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของพระองค์ท่าน แต่ในการแต่งตั้งองคมนตรีคนล่าสุดคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการแต่งตั้งนายทหารองครักษ์ที่มีนามสกุลซ้ํา ๆ กัน พยานไม่ทราบว่า มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการหรือไม่
อานนท์ถามว่า กรณีที่ในหลวงมีพระบรมราชโองการหรือการมีพระราชดํารัสทางการเมืองแบบสด ๆ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เวลาประชาชนติติงวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องติติงวิพากษ์วิจารณ์ไปที่ในหลวงเองใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ผมมองว่า เป็นการใช้สิทธิส่วนตัวของพระองค์ท่าน
พยานไม่ทราบว่า เงินเดือนองคมนตรีและนายทหารองครักษ์เป็นเงินภาษีของประชาชนหรือไม่
พยานทราบว่า มีการโอนกําลังพล 2 กรม คือ กรมทหารราบที่ 1 กับกรมทหารราบที่ 11 ไปขึ้นตรงกับในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยการที่สภาผ่าน พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการส่วนพระองค์ และทราบว่า ตามหลักทั่วไปของประเทศประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์เป็นประมุข กษัตริย์จะมีกองกําลังทหารเป็นของตัวเองไม่ได้ แต่พยานไม่มองว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ละเมิดหลักการดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นการใช้อํานาจในส่วนของท่าน
พยานไม่ทราบว่า ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการโอนกองกำลังเป็นของตัวเองหรือไม่
อานนท์ถามว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ถ้ากษัตริย์ละเมิดต่อหลักการนี้เอง ประชาชนควรปฏิบัติต่อกษัตริย์เช่นไร วิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
อานนท์ถามอีกว่า ถ้ากษัตริย์ละเมิดต่อหลักการดังกล่าว แล้วไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์จะทําให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิมหรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหา คนส่วนหนึ่งก็ไม่มีปัญหา
อานนท์ถามพยานว่า ในความเห็นของพยานในฐานะผู้กล่าว กษัตริย์ควรอยู่เหนือรัฐธรรมนูญหรืออยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือควรถวายคืนพระราชอำนาจ พยานไม่ให้ความเห็น อานนท์ถามย้ำ 4 ครั้ง พยานยืนยันตอบเช่นเดิม อานนท์จึงถามต่อว่า เหตุที่พยานไม่ให้ความเห็นก็เนื่องจากเกรงว่าความเห็นจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจำเลย หรือเพื่อไม่ให้ศาลนำความเห็นไปใช้ในการวินิจฉัยตัดสินคดี หรือพยานต้องการปรักปรำจำเลยให้ต้องได้รับโทษ หรือเพราะพยานไม่เข้าใจกระบวนการยุติธรรม พยานตอบว่า เพราะตอบแล้วจะมรผลกระทบต่อหลายอย่าง
อานนท์ถามอีกว่า พยานเคยอ่านบทความเรื่อง อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ของสมชาย ปรีชาศิลปกุล หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เคยอ่าน ไม่สนใจ อานนท์ให้พยานอ่านบทความดังกล่าวแล้วถามความเห็น แต่พยานยืนยันไม่อ่าน เนื่องจากเป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการคนเดียว
พยานไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นั้นใครเป็นผู้ยกร่าง นำมาจากรัฐธรรมนูญของประเทศใด และมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ตอนที่พยานไปให้การกับพนักงานสอบสวน พยานก็ไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับบทบัญญัติของมาตรา 6 ไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องสนใจถึงที่มา
พยานทราบว่า ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย องค์พระมหากษัตริย์ถูกเปลี่ยนสถานะมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและภายใต้หลักการประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของกฎหมาย
อานนท์ถามย้ำว่า พยานเห็นด้วยหรือไม่ว่า ในหลวงควรอยู่ในระบอบประชาธิปไตย พยานตอบว่า ไม่เห็นด้วย อานนท์จึงถามต่อว่า แล้วพยานเห็นว่าในหลวงอยู่ในระบอบใด สุดท้ายพยานตอบใหม่ว่า เห็นด้วยว่าในหลวงต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
พยานเห็นด้วยว่า หลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขต ต้องเคาระกฎหมาย อานนท์ให้พยานอ่านบทความ “อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ที่มีการขีดเน้น ข้อความว่า
ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการพิจารณาประเด็นดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกจาก ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ แล้วไม่อาจถือเอาคุณค่าใดเป็นคุณค่าสูงสุดหรือคุณค่าที่ ‘แตะต้องไม่ได้’ โดยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือการยอมรับให้มนุษย์มีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง และกลายเป็นหลักพื้นฐานในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ
หากไม่ชัดเจนว่าการแสดงความเห็นกระทบหรือทำลายคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงก็ย่อมจะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น ดังนั้น การแสดงความเห็นที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองจึงต้องเป็นการแสดงความเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เช่น การเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบของรัฐจากรัฐราชอาณาจักรสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐ, การปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยสู่สังคมนิยม เป็นต้น
อานนท์ถามว่า พยานเห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เห็นด้วย แต่เห็นด้วยว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง
อานนท์ถามต่อว่า คำว่า สาธารณรัฐ และ สังคมนิยม แปลว่าอะไร พยานขอไม่ตอบ แต่พูดเสริมว่า สังคมนิยมคือคอมมิวนิสต์ ส่วนคำว่า สาธารณรัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับคดี อานนท์จึงถามว่า จดหมายที่จำเลยโพสต์ มีส่วนไหนที่สื่อถึงคอมมิวนิสต์หรือสาธารณรัฐหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มี
พยานยืนยันตามคำให้การชั้นสอบสวนว่า จำเลยกล่าวหารัชกาลที่ 10 โดยไม่มีหลักฐาน แต่รับว่า ก่อนไปแจ้งความพยานไม่ได้หาหลักฐานหรือตรวจสอบว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นความจริงหรือไม่ เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าไม่จริง
พยานทราบว่า ช่วงปี 62-63 รัชกาลที่ 10 เดินทางไปประเทศเยอรมนี แต่จำไม่ได้ว่าแคว้นใด และไม่ทราบว่า รัฐสภาเยอรมนีได้มีการตั้งคำถามกับรัฐบาลประเด็นการประทับของรัชกาลที่ 10 ในเยอรมนี ส่วนที่อานนท์ถามว่า พยานทราบเรื่องการใช้อำนาจของรัชกาลที่ 10 ในระหว่างประทับอยู่เยอรมนีหรือไม่ พยานไม่ขอออกความเห็น
พยานทราบว่า รัฐสภาไทยจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีให้สถาบันกษัตริย์ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเสด็จพระราชดำเนินด้วย ซึ่งงบดังกล่าวมาจากภาษีของประชาชน อานนท์จึงถามว่า ประชาชนสามารถวิจารณ์จัดสรรงบประมาณดังกล่าวได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ ขัดกับมาตรา 6 วิจารณ์ได้แค่นายกรัฐมนตรี อานนท์ถามต่อว่า พยานเคยได้ยินสุภาษิต ติเพื่อก่อ หรือไม่ พยานตอบว่า เคยได้ยิน ติเพื่อก่อ คือ ติให้ดีขึ้น แต่การกระทำของจำเลยคือ ติเพื่อทำลาย อานนท์จึงถามว่า การบอกให้กษัตริย์ใช้จ่ายอย่างประหยัดเป็นการทำลายหรือ พยานตอบว่า เป็นการติเพื่อทำลาย
พยานทราบว่า ช่วงปี 62 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผ่านประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 แต่พยานไม่ทราบว่า สนช. มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร
พยานไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 สั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว และไม่ได้ตรวจสอบก่อนไปให้การกับตำรวจว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือเท็จ แต่พยานได้ให้การไว้ว่า ที่จำเลยโพสต์ว่า รัชกาลที่ 10 แก้รัฐธรรมนูญ เป็นการกล่าวหาที่ปราศจากข้อเท็จจริง
อานนท์ให้พยานดูข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า รัชกาลที่ 10 สั่งให้แก้รัฐธรรมนูญ พยานไม่ยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ และไม่เคยแจ้งความให้ดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ กรณีแอบอ้างในหลวง
พยานทราบว่า โดยหลักการที่ยึดถือกันทั่วโลกกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีอำนาจสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว แต่ต่อให้ในหลวงทำจริง ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตย ประชาชนก็ไม่สมควรวิพากษ์วิจารณ์ เพราะละเมิดมาตรา 6
พยานเองได้ไปลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ด้วย แต่จำไม่ได้ว่า ฉบับที่ลงประชามติระบุไว้ว่า กรณีในหลวงไม่ประทับอยู่ในประเทศ จะต้องมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เสมอ หรือไม่ ทราบแต่ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขว่า กรณีที่กษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในประเทศจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และเท่าที่พยานทราบ ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงวันเกิดเหตุในคดีนี้ ไม่มีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เลย
พยานไม่ทราบว่า การที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อในหลวงไปต่างประเทศทำให้ราชกิจหลายอย่างถูกเลื่อนออกไปจนล่าช้า เช่น การลงพระปรมาภิไธยในงบประมาณแผ่นดินปี 63, 64, การถวายสัตย์ของข้าราชการ ซึ่งหากเกิดความล่าช้าดังกล่าว รวมทั้งหากกษัตริย์ใช้อำนาจอยู่นอกประเทศประชาชนก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมีรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 ตัวจำเลยที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกดำเนินคดี 112 แล้วหลายคดี
พยานทราบว่า ในปี 2563 มีทั้งประชาชนที่ออกมาท้วงติงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกษัตริย์ และคนที่ให้กำลังใจในหลวง ซึ่งในหลวงได้กล่าวชมชายที่ชูรูปในหลวงยืนขวางม็อบ 3 นิ้วของคนรุ่นใหม่ ว่า กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ อานนท์ถามว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการให้ท้ายคนที่ต่อต้านม็อบ 3 นิ้วหรือไม่ พยานไม่แสดงความเห็น
อานนท์ถามอีกว่า เป็นการแบ่งราษฎรออกเป็นฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ติติงกับฝ่ายที่ให้กำลังใจหรือไม่ และเป็นสิ่งที่กษัตริย์ไม่ควรทำใช่หรือไม่ รวมถึงการที่พระราชินีสุทิดาเขียนข้อความบนป้ายให้กำลังใจกลุ่มมินเนี่ยนที่ไปแจ้งความมาตรา 112 เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำหรือไม่ พยานไม่แสดงความเห็น
พยานทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้กฎหมายทุกมาตราเอาผิดกับผู้ชุมนุม ซึ่งรวมถึงมาตรา 112 ด้วย หลังจากที่ในหลวงและพระราชินีแสดงออกทางการเมืองทั้งสองครั้ง ทำให้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงไมค์และเพนกวิน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มาขึ้นศาล แต่ไม่ทราบว่าลี้ภัยไปต่างประเทศหรือไม่ ส่วนเหตุผลที่ลี้ภัยเพราะไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ พยานขอไม่แสดงความเห็น แต่รับว่า บุ้งเสียชีวิตในเรือนจำขณะถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 จากการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 มีการแต่งตั้งและถอดยศบุคคลหลายครั้ง รวมทั้งเจ้าคุณพระสินีนาฏ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่พยานเห็นว่า เป็นพระราชอำนาจของพระองค์ที่จะแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการในพระองค์ อานนท์ถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นขัดต่อหลักการการใช้อำนาจของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย พยานไม่แสดงความเห็น
พยานทราบว่า มีการโอนย้ายกำลังทหารราบ 1 และ ราบ 11 ไปเป็นทหารส่วนพระองค์ แต่การโอนย้ายเป็นการดำเนินการผ่านรัฐสภา ซึ่งโดยหลักการไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขประเทศใดทำเช่นนี้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 11 บัญญัติว่า การแต่งตั้งองคมนตรี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่การแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรี โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานไม่แสดงความเห็น
พยานไม่ทราบว่า มีการแก้กฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 ฉบับ ทําให้มีการโอนทรัพย์สินทั้งหมดของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีทั้งสาธารณสมบัติและทรัพย์สินของราชบัลลังก์ ไปเป็นของส่วนตัว เช่น หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ไทย เขาดิน เครื่องประดับ ซึ่งหากมีการโอนเช่นว่านั้นจริง เป็นเรื่องสมควรหรือไม่ พยานไม่แสดงความเห็น
อานนท์ถามว่า การโอนทรัพย์ของสาธารณะไปเป็นของส่วนตัว ถ้าบุคคลนั้นเป็นอะไรไป ทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกทอดไปสู่ทายาทตามกฎหมายมรดกหรือไม่ ทั้งพระบรมมหาราชวัง หุ้นในบริษัทต่าง ๆ แม้แต่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นของราชบัลลังก์ ของทุกรัชกาล พยานไม่แสดงความคิดเห็น
อานนท์ถามอีกว่า พยานเองในฐานะที่จงรักภักดี กังวลหรือไม่ว่า ทรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์จะตกทอดไปยังบุคคลอื่นนอกจากเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรี พยานตอบว่า ไม่กังวล
พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 มีทายาทโดยธรรมตามกฎหมายหลายคน (ศาลเตือนพยานว่า อย่าตอบในสิ่งที่ไม่รู้) พยานจึงตอบใหม่ว่า ทราบว่า รัชกาลที่ 10 มีบุตรธิดาหลายคน แต่ไม่ทราบว่า เป็นทายาทโดยธรรมหรือไม่ และทราบว่า มีพระราชินีชื่อสุทิดา
อานนท์ถามว่า เมื่อมีการโอนทรัพย์สินไปเป็นของส่วนตัวตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และโดยที่รัชกาลที่ 10 มีทายาทโดยธรรมหลายคน พยานทราบหรือไม่ว่า มีโอกาสที่ทรัพย์สินของราชบัลลังก์จะกระจายไป ไม่ตกทอดสู่องค์รัชทายาทคือรัชกาลที่ 11 และสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของราชบัลลังก์ พยานไม่แสดงความเห็น
อานนท์ถามต่อว่า พยานกังกวลหรือไม่ว่า รัชกาลต่อไปอาจไม่มีพระบรมมหาราชวัง พยานตอบว่า ไม่กังวลอานนท์ถามอีกว่า หากมีคนกังวลสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ พยานไม่แสดงความเห็น
พยานไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 7 เคยโอนย้ายทรัพย์สินของราชบัลลังก์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์และถูกฟ้องร้องมาแล้ว และไม่ทราบว่า ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 มีการพยายามทำลายมรดกคณะราษฎร เช่น ทำลายอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่วงเวียนบางเขน ขโมยหมุดคณะราษฎร เปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธินเป็นค่ายภูมิพลและค่ายพิบูลสงครามเป็นค่ายสิริกิติ์ รวมถึงไม่ทราบว่า การย้ายสวนสัตว์เขาดินและรัฐสภาเดิม มีเหตุมาจากในหลวงยึดที่ดินคืนหรือไม่
อานนท์ถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ในการถวายสัตย์เข้ารับตำแหน่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมปฏิญาณว่าจะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ พยานไม่แสดงความเห็น
อานนท์ถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ในปี 2563 หลังจากคนรุ่นใหม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์กันจํานวนมาก สถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายถึง กลุ่มบุคคลที่แวดล้อมกษัตริย์ด้วยก็ได้พยายามจัดให้มีการแสดงพลังโดยการเกณฑ์คนมาเข้าเฝ้าหลายครั้ง ตามภาพที่ให้ดูเป็นการเกณฑ์คนใส่เสื้อเหลืองขึ้นรถขยะ กทม. ไปเข้าเฝ้าที่สนามหลวง พยานตอบว่า กลุ่มคนดังกล่าวอาจจะมาด้วยความสมัครใจ
พยานไม่ทราบว่า มีคนตั้งคําถามต่อสถาบันกษัตริย์จำนวนมากโดยเข้าไปแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลเน็ตเวิร์คในหลายที่ เช่น เว็บไซต์ที่มีการพูดถึงพระราชกรณียกิจ จนเว็บไซต์ต้องปิดการแสดงความเห็น แต่ทราบจากสื่อว่า มีความขัดแย้งถึงขนาดที่มีคนไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง
ตามภาพแคปหน้าจอโพสต์ของจำเลย มีผู้มาแสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งมีคนที่ต้องการให้จำเลยเป็นตัวแทนสื่อสารไปยังในหลวงรัชกาลที่ 10
พยานเคยได้ยิน UN และองค์กรด้านกฎหมายทั่วโลกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งพยานคิดว่า ไม่ควรก้าวก่ายการใช้กฎหมายของประเทศไทย
พยานไม่ทราบว่า จำเลยเคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็นผู้นำผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง และได้รับรางวัลกวางจูในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
อานนท์ถามพยานอีกว่า ความจริงของสถาบันกษัตริย์ในด้านที่ไม่ดีไม่ควรถูกพูดถึงใช่หรือไม่ พยา่นไม่แสดงความเห็น อานนท์จึงถามต่อว่า การนิ่งเฉยต่อการกระทําผิดของบุคคลสาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี ก็ไม่ควรนิ่งเฉย แต่ความจริงในแง่ไม่ดีของสถาบันกษัตริย์ไม่สมควรถูกพูดถึง อานนท์ถามย้ำว่า ความจริงในแง่ไม่ดีของสถาบันกษัตริย์ ถ้าพูดในสังคมไทยก็มีความผิดตามมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พยานไม่แสดงความเห็น
.
นักวิชาการอิสระชี้ วิจารณ์กษัตริย์ในทางสาธารณะไม่ได้ แม้เป็นประโยชน์สาธารณะ แต่รับว่า การติชมโดยสุจริตจําเป็นต่อระบอบประชาธิปไตย
คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการอิสระ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบัณทิต รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในหมวดพระมหากษัตริย์ระบุในมาตรา 6 ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และไม่ได้วางบทยกเว้นใด ๆ ไว้
เกี่ยวกับคดีนี้ พนังงานสอบสวน ปอท. ได้ขอให้พยานอ่านข้อความในเฟซบุ๊กของ อนนท์ นำภา ซึ่งเป็นจดหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 มีเนื้อหาเกี่ยวกับความประพฤติส่วนพระองค์ การสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ลงประชามติแล้ว และการออกกฎหมายบางเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์เอง พยานเห็นว่า เป็นการสื่อความหมายในเชิงตำหนิ แต่ไม่มีใครทราบว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างไร
การวิพากษ์วิจารณ์ กรณีบุคคลธรรมดา จะต้องมีข้อเท็จจริง และเป็นประโยชน์สาธารณะ ถ้าเป็นกรณีพระมหากษัตริย์ไม่มีบทยกเว้นความผิด พยานจึงเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย เนื่องจากการลงข้อความเช่นนี้กระทบต่อความเชื่อถือของพระมหากษัตริย์ ทำให้กระทบความมั่นคงของรัฐ แต่ยังไม่เข้าลักษณะยุยงปลุกปั่นที่จะผิดมาตรา 116
ต่อมา คมสันตอบจำเลยถามค้านว่า ช่วง 10 – 20 ปี ที่ผ่านมา มีความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย แบ่งประชาชน แม้แต่นักวิชาการ ออกเป็นฝักเป็นฝ่าย มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. พยานเองก็เคยขึ้นปราศรัยเวที กปปส.ช่วงปี 56 – 57 เคยแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หลายครั้ง เนื่องจากพยานไม่เห็นด้วย รวมทั้งเคยโพสต์คำว่า เสือก ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อด่า UN ที่แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองไทย ในช่วงที่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
อานนท์ถามว่า พยานออกตัวแรงขนาดนี้ คําเบิกความพยานยังมีความน่าเชื่อถือในศาลอยู่หรือไม่ พยานตอบว่า ขึ้นอยู่กับศาล
เกี่ยวกับโพสต์ของจำเลย พยานทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เคยเดินทางไปอยู่เยอรมันในช่วงเกิดเหตุ แต่ไม่ได้ติดตามข่าวและไม่ได้สนใจหาข้อมูล จึงไม่ทราบรายละเอียดว่า ใช้งบประมาณจากไหน จำนวนเท่าไหร่ และทราบจากข่าวว่า มีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่รวมทั้งจำเลยด้วย เรียกร้องให้ในหลวงกลับมาอยู่เมืองไทย ซึ่งพยานเห็นว่า การเรียกร้องลักษณะดังกล่าวสามารถทำได้ ไม่ผิดกฎมาย
ในส่วนการวิจารณ์เรื่องการโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของตัวเอง พยานก็เห็นว่า ทำได้ แต่ต้องใช้ข้อความที่ให้ความเคารพ ไม่กระทบต่อพระองค์มากนัก ซึ่งตามมาตรา 6 ก็ไม่ได้หมายความว่า จะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการ การติชมโดยไม่มีบุคคลที่สาม เช่น การถวายฎีกา ก็ยึดถือปฏิบัติกันมาตลอด แต่การวิพากษ์วิจารณ์แล้วไปเผยแพร่ข้อความในสื่อสาธารณะ ก่อให้เกิดการละเมิดถึงพระองค์ท่าน
พยานไม่เคยอ่านบทความของต่อพงษ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 6 กับเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้ว่า ต้องตีความอย่างเสมอกัน ไม่มีหลักการใดถูกระงับโดยอ้างอีกหลักการ เมื่ออานนท์ให้ดู พยานให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการตีความดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยในส่วนที่ว่า การแสดงความเห็นที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองต้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เช่น การเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบของรัฐ, เปลี่ยนระบอบการปกครอง เนื่องจากเห็นว่ามีอีกหลายเรื่องที่จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
พยานรับว่า การวิพากษ์วิจารณ์หรือติชมโดยสุจริตนั้นทำได้ เพราะมีประโยชน์ต่อการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจําเป็นต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการในการติชมด้วย
พยานทราบว่า เคยมีข่าวว่า ในหลวงรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์หลังลงประชามติแล้ว พยานก็เคยไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 59 ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 59 กับรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งบังคับใช้มีเนื้อหาไม่เหมือนกัน เช่น ในร่างปี 59 ซึ่งผ่านประชามติ ถ้าในหลวงไม่ประทับอยู่ในประเทศจะต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แต่รัฐธรรมนูญปี 60 แก้ส่วนนี้คือ จะตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ ทำให้ในหลวงสามารถไปประทับอยู่ที่เยอรมันได้ โดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งพยานเคยได้ยินข่าวว่า สภาเยอรมันได้อภิปรายเกี่ยวกับข้อกังขาเรื่องการใช้พระราชอํานาจของในหลวงนอกราชอาณาจักร
กรณีในหลวงแต่งครอปท็อปเดินห้างในต่างประเทศพยานไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง และเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งถ้ายังไม่รู้ว่าจริงก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ แม้เป็นเรื่องจริงก็เป็นเรื่องส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะว่าละเมิดความเป็นส่วนตัว การวิพากษ์วิจารณ์ต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
อานนท์ถามว่า แล้วถ้าบุคคลนั้นใช้งบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชน ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้หรือไม่ พยานไม่ตอบ บอกว่า ตอบไปแล้ว
การที่ในหลวงไปประทับอยู่เยอรมัน โดยไม่ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พยานไม่ทราบว่า ทำให้การถวายสัตย์ของข้าราชการตุลาการ, การลงพระปรมาภิไธยในงบประมาณแผ่นดินปี 63, 64 ล่าช้าจนเกิดผลเสียหายหรือไม่ แต่พยานเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นปัญหา เพราะปัจจุบันอยู่ที่ไหนก็ทำงานออนไลน์ได้ ส่วนคนที่เห็นว่าเป็นปัญหาก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้โดยการถวายฎีกา ไม่ใช่การเผยแพร่เป็นสาธารณะ การอภิปรายในสภาก็ไม่เหมาะ สภาสามารถทําหนังสือผ่านประธานสภา ทูลเกล้าให้ทรงวินิจฉัยได้ แต่การชูป้าย ปราศรัยทางการเมืองทำไม่ได้ เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท
พยานทราบว่า ในหลวงได้ตรัสชมชายที่ชูรูปในหลวงในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ว่า กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ พระราชินีสุทิดาก็ไปเซ็นชื่อบนป้ายให้กำลังใจกลุ่มมินเนี่ยนที่ไปแจ้งความมาตรา 112 กับคนรุ่นใหม่ อานนท์ถามว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแยกแบ่งราษฎรออกเป็นฝักเป็นฝ่ายหรือไม่ พยานตอบว่า ตอนนี้คนจํานวนมากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว
อานนท์ถามต่อว่า ตีความได้ว่า พระมหากษัตริย์กับพระราชินีสนับสนุนส่งเสริมให้มีการดําเนินคดี 112 กับประชาชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีข้อความตรงไหนที่จะตีความได้เช่นนั้น
พยานเคยได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงปี 62 ในหลวงไม่ให้ใช้มาตรา 112 แต่หลังจากคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวในปี 63 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า จะบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบ หมายถึงใช้ 112 ด้วย
ในปี 62 หลายคดีถูกชะลอการฟ้อง หลายคดีแม้จําเลยรับสารภาพศาลก็ยกฟ้องไม่บังคับใช้ 112 หรือไม่ พยานไม่ยืนยัน ส่วนในปี 63 พยานทราบว่า มีการแจ้งความดําเนินคดี 112 มากเป็นประวัติการณ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นประชาชนไปแจ้งความเพราะไม่พอใจ มีทั้งกลุ่มมินเนี่ยนที่พระราชินีเซ็นให้กําลังใจ, ไทยภักดี, ศปปส. ไม่ได้เกิดจากฝ่ายรัฐทั้งหมด พยานไปเป็นพยานในคดี 112 หลายคดีก็ยังไม่เคยเจอตํารวจแจ้งความ
พยานทราบว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา สถิติคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง พยานเองก็เคยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ตามที่มีหมายเรียกในคดีของเพนกวิน รุ้ง ไมค์ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการ แปลความว่า การกระทําจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่
หลังจากที่รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ นอกจากมีการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ยังมีการแก้กฎหมายที่สําคัญหลายฉบับ และมีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากําลังพลและงบประมาณฯ ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ทำให้กรมทหารราบที่ 1 กับกรมทหารราบที่ 11 ไปอยู่ในการดูแลของกษัตริย์ เท่าที่พยานทราบ ไม่ค่อยมีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ให้กองกําลังทหารไปขึ้นตรงกับต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงเช่นนี้
นอกจากนี้ ยังมีการตรา พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ โดยให้ทรัพย์สินที่เป็นส่วนพระมหากษัตริย์และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งหมดไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทำให้ทรัพย์สินที่เดิมเป็นของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด เช่น หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์, ปูนซีเมนต์ไทย, ที่ดิน เปลี่ยนไปเป็นชื่อในหลวงวชิราลงกรณ์ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วนทรัพย์สินซึ่งเป็นของราชบัลลังก์ เช่น พระบรมมหาราชวัง พยานเห็นว่า ยังตกเป็นของส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนผู้ดูแลจากสํานักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร ไปอยู่ในหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เอง
อานนท์ถามว่า เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดเปลี่ยนไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามมาตรา 10 ถ้าสิ้นในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็จะตกทอดทางมรดกไปสู่ทายาทโดยธรรม ตามกฎหมายลักษณะครอบครัวใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ตกทอดไปยังพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป
พยานทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 เคยถูกฟ้อง กรณีนำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัว เป็นไปตามข่าว “ในหลวงรัชกาลที่ 7 และพระราชินีเคยถูกรัฐบาลฟ้องร้องในเรื่องทรัพย์สิน ที่สุดพระองค์ก็แพ้คดี”
อานนท์ถามอีกว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ยังมีการนําเอาทรัพย์สินบางส่วนที่เป็นของราชบัลลังก์ไปเป็นของส่วนพระองค์ เช่น ลานพระรูปทรงม้า, สวนสัตว์ดุสิต, อาคารรัฐสภาเดิม มีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร, เปลี่ยนชื่อค่ายของคณะราษฎรที่จังหวัดลพบุรี จากค่ายพระยาพหล, ค่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นชื่อค่ายสิริกิติ์และค่ายภูมิพล มีการแต่งตั้งองคมนตรีและข้าราชการหญิงหลายตําแหน่ง โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีการขุดย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏในรัชสมัยนี้ด้วย ซึ่งการออกกฎหมายโอนทรัพย์สินของราชบัลลังก์ไปเป็นของส่วนตัวในสมัยรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ไม่มี พยานไม่ตอบคำถามทั้งหมด ระบุว่า ไม่เกี่ยวกับข้อหาที่อานนท์ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์
สุดท้ายอานนท์กล่าวว่า เมื่อพยานไม่ตอบคําถาม ผมก็หมดคําถามครับ
.
พนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ระบุ โพสต์ของอานนท์ครบองค์ประกอบความผิด 112 แต่รับว่า เป็นการเสนอปัญหาอย่างตรงไปตรงมา มีข้อเท็จจริง – ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ด้วยความเป็นห่วงได้
ร.ต.อ.หญิง กรฉัตร มาตรศรี พนักงานสอบสวน ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่ กก.3 บก.ปอท. ในตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีอานนท์ นำภา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พยานรับคำร้องทุกข์ รับมอบเอกสารที่เป็นโพสต์ข้อความและได้สอบปากคำไว้ ประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา ผู้กล่าวหาได้เข้าให้การเพิ่มเติมกล่าวโทษอานนท์ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากนั้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนโดยพยานเป็นหนึ่งในนั้น
พยานได้สอบปากคำ คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านกฎหมาย เป็นพยาน โดยคนสันยืนยันว่า โพสต์ดังกล่าวเข้าข่ายผิดมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการใส่ความโดยปราศจากข้อเท็จจริง แต่ไม่เข้าข่ายผิดมาตรา 116
พยานยังได้ขอให้ พ.ต.ต.นิมิตร หงษ์เวียงจันทร์ ชุดสืบสวน ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา โดย พ.ต.ต.นิมิตร รายงานผลการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของอานนท์จริง และมีรูปโปรไฟล์เป็นภาพของอานนท์ จากการรวบรวมพยานหลักฐาน คณะกรรมการมีความเห็นว่า การกระทำของอานนท์เป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พยานจึงได้ออกหมายเรียกอานนท์เข้ารับทราบข้อกล่าวหา
ต่อมา คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องอานนท์ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ไม่ได้สั่งฟ้องมาตรา 116 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิด
พยานเบิกความตอบอานนท์ถามค้านว่า จำเลยถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น จากการชุมนุมสาธารณะและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และรับว่าจากการตรวจสอบของพยาน คดีเหล่านั้นหลายคดียกฟ้อง หลายคดียังไม่ถึงที่สุด และยังไม่มีคดีที่พิพากษาจำคุก
จำเลยยังได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร TIME ให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบผู้กล่าวหาว่าอยู่กลุ่มการเมืองอะไร มีความเห็นทางการเมืองในลักษณะใด เป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้ตรวจสอบคมสัน โพธิ์คง พยานนักวิชาการ ไม่ทราบว่า คนสันเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตามหลักทั่วไป จะไม่เลือกพยานที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากจะให้การปรักปรำ ไม่น่ารับฟัง
นอกจากนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบหรือหาข้อมูลว่าสิ่งที่จำเลยโพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ เช่น กรณีในหลวงไปประทับที่เยอรมนี กรณีในหลวงสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลังผ่านประชามติแล้ว การจัดสรรงบประมาณของสภาให้สถาบันกษัตริย์ รวมทั้งพยานที่มาให้การก็ไม่ได้แสดงหลักฐานว่าเรื่องดังกล่าวเป้นเรื่องเท็จ
พยานทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้สั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสําคัญหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ กรณีเสด็จไปประทับยังต่างแดน จากเดิมซึ่งต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เสมอ แก้เป็นว่าไม่ต้องตั้งก็ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 16
พยานไม่ทราบว่า การที่ในหลวงประทับต่างประเทศมีผลกระทบต่อจิตใจคนไทยและงานราชการบางอย่างหรือไม่ และไม่แสดงความคิดเห็นว่า กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศหรือไม่ ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ให้กลับมาเหมือนเดิมหรือไม่
พยานรับว่า โพสต์ของจำเลยที่ถูกฟ้องใช้คำสุภาพ เป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมา มีข้อเท็จจริง ไม่ใช่การล้อเลียน เสียดสี จุดประสงค์คือ ต้องการให้ในหลวงปรับตัวให้กลับมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และรับว่า ไม่ได้สอบสวนพยานนักวิชาการเกี่ยวกับหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 หรือหลัก the King Can Do No Wrong กษัตริย์ทําผิดไม่ได้ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พยานไม่ทราบด้วยว่า มีการล้อมรั้วลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่น เอาเป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือมีการทุบทำลายมรดกของคณะราษฎร เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หมุดคณะราษฎร เปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธินและค่ายพิบูลสงครามที่ลพบุรี
พยานทราบว่า มีการตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ออกมาใหม่ 2 ฉบับ ให้ทรัพย์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลายเป็นทรัพย์สินทรัพย์ส่วนตัวของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่ไม่ทราบว่า หลังจากนั้นมีการโอนทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์, ปูนซีเมนต์ไทย จากเดิมเป็นชื่อของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อรัชกาลที่ 10
พยานเห็นว่า การทําให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลายมาเป็นของส่วนตัวไม่ว่าใครทําก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ส่วนผลที่ตามมาก็คือ ทรัพย์สินดังกล่าวจะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมตามกฎหมายมรดก หรืออาจทําพินัยกรรมยกให้กับคนอื่นนอกพระราชวงศ์ได้ พยานไม่ทราบว่าเป็นเรื่องน่ากังวลสําหรับคนไทยหรือไม่ ส่วนตัวพยานไม่ขอให้ความเห็น ส่วนคนที่กังวล พยานก็เห็นว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้
พยานไม่ทราบว่า เมื่อมีคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปมาถูกดําเนินคดีมาตรา 112 หลายคดี ในหลวงและพระราชินีกลับไปให้กำลังใจคนที่มาแจ้งความดําเนินคดี เช่น กลุ่มมินเนี่ยน ซึ่งพยานเห็นว่า ถ้ากฎหมายไม่ได้บอกว่าผิดก็ทําได้ ไม่ได้ไปกระทบกระเทือนใคร (อานนท์กล่าวว่า ใส่ชุดนักโทษโซ่ล่ามเท้านี่ไม่กระทบกระเทือนเนาะ ผมสะเทือนใจนะ ที่ในหลวงของพวกเราไปชื่นชมคนที่แจ้งความจับพวกเรา) รวมถึงไม่ทราบว่า กลุ่มที่เรียกว่าตัวเองรักสถาบันก็ถูกเกณฑ์มาเป็นพยานโจทก์เอาผิดกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์
ตอนท้ายของจดหมายที่อานนท์เขียนว่า ในการแสดงออกของราษฎรครั้งนี้อาจมีการล่วงเกินท่านไปบ้าง ในหลายครากระผมขอน้อมรับความผิดพลาดและโทษทัณฑ์ ถ้าอยากให้ท่านมองเห็นความหวังดีที่อยากให้บ้านเมืองเป็นอารยะ ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพทั่วกัน มุ่งหมายให้สถาบันกษัตริย์ได้ปรับตนในระบอบอย่างสง่างามในสังคมในสังคม พยานเห็นว่า เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องในฐานะที่เป็นแกนนํา
สุดท้ายอานนท์ถามว่า ถ้าด้วยข้อเท็จจริงที่ผมพูดไปทั้งหมด ศาลอาจจะลงโทษ 3 ปี 4 ปี 5 ปี พยานว่าคุ้มค่ากับการออกมาพูดมั้ย พยานไม่ขอให้ความเห็น
จากนั้นพยานตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า สาเหตุที่คณะพนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพราะครบองค์ประกอบความผิด และรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า กษัตริย์อยู่ในฐานะที่จะถูกละเมิดไม่ได้
.
1 ในคณะพนักงานสอบสวนเบิกความ มีความเห็นสั่งฟ้องอานนท์ตามความเห็นนักวิชาการ แต่รับว่าประชาชนวิจารณ์กษัตริย์ได้ในขอบเขตของกฎหมาย ไม่กระทบสิทธิผู้อื่น
พ.ต.ท.หญิง สุธัญดา เอมเอก ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวนประจำ บก.ปอท. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็น 1 ในคณะพนักงานสอบสวน เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานได้ร่วมกับ ร.ต.อ.หญิง กรฉัตร สอบสวนพยานและแจ้งข้อกล่าวหาอานนท์ หลังจากนั้น ร.ต.อ.หญิง กรฉัตร ได้สรุปสำนวนเสนอให้ผู้บังคับบัญชามีความเห็น
ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้สืบสวนเพิ่มเติมว่า อานนท์มีพฤติกรรมในท้องที่อื่น ๆ หรือไม่ และบัญชีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเฟซบุ๊กของอานนท์จริงหรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ต.นิมิตร ได้ตรวจสอบไลฟ์สดที่มีการถ่ายตัวเองแล้วยืนยันว่า เป็นเฟซบุ๊กของอานนท์จริง และพยานได้ส่งหนังสือไปสอบถามกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมและตาม สน.ต่าง ๆ พบว่า อานนท์ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 29 คดี ในหลาย สน. รวมทั้งในต่างจังหวัด
จากนั้น พ.ต.ท.หญิง สุธัญดา ได้ตอบทนายจำเลยในช่วงถามค้านว่า หลังพยานสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติของจำเลย พยานได้สรุปสำนวนเสนอผู้บังคับบัญชาอีกครั้ง โดยพยานไม่ได้มีความเห็นเพิ่มเติม แต่ใช้ความเห็นเดิม เนื่องจากเป็นคณะพนักงานสอบสวนคณะเดิม
ในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้การว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง และได้ให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือว่า เหตุที่โพสต์เพราะประสงค์ที่จะเห็นการปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคงอยู่เคียงคู่กับประชาธิไตย
ตามสำนวนการสอบสวนระบุว่า คมสัน โพธิ์คง เป็นนักวิชาการ แต่ไม่ได้ระบุว่าเชี่ยวชาญด้านมาตรา 112 หรือไม่ โดยพยานไม่ได้ร่วมสอบปากคำพยานปากนี้ด้วย แต่จากการรวบรวมสำนวนเห็นว่า ไม่ได้มีการสอบคมสันในประเด็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ไว้ เนื่องจากไม่ใช่องค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติทั่วไป ไม่ได้มีโทษทางอาญา ไม่เกี่ยวกันกับเหตุในคดีที่เป็นความผิดอาญา ซึ่งต้องดูองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 เท่านั้น
สุดท้ายคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้สรุปความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามมาตรา 112 และสั่งไม่ฟ้องมาตรา 116 โดยอ้างอิงความเห็นของคมสัน
พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็น ขณะที่มาตรา 6 เป็นหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์จะล่วงละเมิดไม่ได้ ทนายจำเลยให้พยานดูบทความ “อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้อ้างอิงความเห็นของ ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ กล่าวโดยสรุปว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและหลักการพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ เป็นคุณค่าหลักตามรัฐธรรมนูญที่เท่ากัน จะต้องได้สัดส่วนกัน ดังนั้น โดยหลักการแล้วประชาชนสามารถแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า วิพากษ์วิจารณ์ได้ในขอบเขตของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ที่กำหนดขอบเขตไว้ว่า การใช้เสรีภาพต้องไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น
จำเลยโพสต์ข้อความโดยเปิดเผย เป็นการเขียนจดหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรง ช่วงเกิดเหตุมีประชาชนหลายคนเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ แต่พยานจำไม่ได้ว่า มีคนอื่นถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่
พยานเคยได้ยินข่าวว่า มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านประชามติแล้ว แต่จำไม่ได้ว่า แก้ในประเด็นไหน และไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้วแก้ไขได้หรือไม่ รวมทั้งจำไม่ได้ว่า หลังแก้ไขแล้วมีการลงประชามติใหม่หรือไม่ แต่รับว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์ว่า การสั่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว สอดคล้องกับข่าวที่ทนายจำเลยให้ดู
พยานทราบว่ามีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2 ฉบับ ในปี 2560 และ 2561 ทำให้มีการจัดการทรัพย์สินใหม่ จากเดิมทรัพย์สินที่เป็นของสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการการคลังเป็นประธาน โอนมาเป็นในพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 10 ตัวอย่างเช่น หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย, ที่ดิน
พยานไม่ทราบว่า การที่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดังกล่าวโอนมาเป็นชื่อบุคคลทำให้สามารถโอนแจกจ่ายให้บุคคลภายนอก หรือตกทอดไปให้ทายาทได้หรือไม่
ทนายจำเลยถามว่า กรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ถัดไปในการขึ้นครองราชย์ เช่น หากมีการโอนพระราชวังไปเป็นของบุคคลอื่นหรือแบ่งตามทายาทซึ่งมีหลายพระองค์ พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อไปอาจจะไม่มีพระราชวังประทับ พยานตอบว่า ไม่มีความเห็น เพราะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ขอไม่ก้าวล่วง
พยานจำเลยถามอีกว่า ดังนั้น การที่จําเลยโพสต์ว่า พระมหากษัตริย์มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของท่าน ก็มีข้อเท็จจริงรองรับใช่หรือไม่ พยานไม่ขอออกความเห็น
พยานไม่ทราบว่า มีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากําลังพลและงบประมาณฯ ทำให้ทหารและตำรวจบางหน่วยถูกโอนไปเป็นข้าราชการในพระองค์ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นหน่วยงานรัฐตามกฎหมาย และไม่ทราบว่า สมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีการโอนกำลังพลในลักษณะนี้หรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่า เงินเดือนของกำลังพลเหล่านั้นมาจากเงินภาษีของประชาชน
พยานรับว่า ตามเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจริง
พยานเห็นด้วยกับทนายจำเลยว่า กษัตริย์ควรดำรงตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามครรลองของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่การสื่อสารถึงกษัตริย์ควรมีวิธีการที่เหมาะสม
.
.
บันทึกการสืบพยานฝ่ายจำเลย
“อานนท์” ยืนยัน เหตุผลที่วิพากษ์วิจารณ์เพียงต้องการให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย
อานนท์ นำภา จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยานเบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ประกอบอาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนมาตลอด เคยทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีมาตรา 112 หลายคดี เคยได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนของประเทศเกาหลีใต้
ในช่วงต้นปี 2563 เยาวชนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงในวงกว้าง มีการชุมนุมและปราศรัยในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ในปีเดียวกันมีข่าวการอุ้มฆ่าคนไทยที่ประเทศลาว และกรณีของวันเฉลิมที่หายตัวไปในประเทศกัมพูชา ทำให้เกิดคำถามจากคนรุ่นใหม่มากขึ้นเกี่ยวกับมาตรา 112 แม้ว่าจะไม่พูดถึงโดยตรง แต่สามารถจับใจความได้จากการใช้คำเลี่ยง เช่น “ทำไมคนที่อยู่เยอรมนีไม่กลับมาไทย”
วันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรง และเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเยอรมนี จากการชุมนุมครั้งนั้นทำให้แกนนำหลายคนถูกดำเนินคดี และบางคนลี้ภัยไปต่างประเทศ
จากการชุมนุมในวันนั้นทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในหลายพื้นที่ เช่น การชุมนุมวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่มีชื่อว่า “ม็อบแฮรี่พอตเตอร์” และการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ต่อสถาบันกษัตริย์
วันที่ 19 ก.ย. 2563 มีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหารในปี 2549 โดยเดิมทีสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่หลังจากรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ ได้มีการประกาศให้เป็นเขตพระราชฐาน ทำให้สนามหลวงกลายเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์แทน
ราษฎรสาส์นเป็นกิจกรรมเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ ซึ่งจำเลยได้ร่วมเขียนจดหมายในวันที่ 8 พ.ย. 2563 ขณะเดินทางด้วยเครื่องบินไปจังหวัดเชียงใหม่ และได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กของตนเอง จดหมายดังกล่าวพูดถึงการที่สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและมีพระราชอำนาจที่ไม่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย
ข้อความที่โพสต์ว่า “ละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย” หมายความว่า หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และการกระทำใด ๆ ที่ทำโดยกษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ เป็นการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ตามหลักการของการปกครองแบบประชาธิปไตย และตามหลัก The King Can Do No Wrong
การละเมิดหลักการประชาธิปไตยที่พยานพูดถึงคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่ได้ประกาศใช้ทันทีเมื่อร่างและทำประชามติในปี 2559 เนื่องจากรัชกาลที่ 9 สวรรคตก่อนการทูลเกล้าฯ และรัชกาลที่ 10 ก็ยังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ แต่สั่งให้มีการแก้ไขก่อนในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยเพิ่มเนื้อหาที่เป็นการเพิ่มพระราชอำนาจเข้ามา ปรากฏตามข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ในเวลานั้นให้สัมภาษณ์ในเดือนมกราคม 2560 ว่า มีข้อสังเกตพระราชทานถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว
ผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในพระองค์โดยไม่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เสด็จไปประทับที่ต่างประเทศโดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การจัดสรรงบประมาณที่ล่าช้า
นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้แก้ไขจากกฎหมายฉบับเดิมให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของกษัตริย์ ทำให้มีอำนาจในการจำหน่าย จ่าย โอน ตามพระราชอัธยาศัย เช่น การโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย รวมถึงโอนที่ดินที่เคยเป็นของราชบัลลังก์ให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
ในส่วนงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ก็ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดคำถามจากคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการใช้จ่ายในการเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ เช่น ค่าเครื่องบินและค่าที่พัก
กรณีที่โพสต์ถึงความเคลือบแคลงต่อการการละเมิดสิทธิของราษฎร หมายถึง มีการทำลายมรดกของคณะราษฎรในหลายที่ และการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการปิดถนนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
อานนท์เบิกความยืนยันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ของเขารวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมในปี 2563 เพียงต้องการให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น
จากนั้นอานนท์ได้เบิกความตอบอัยการถามค้านว่า ทราบว่าสังคมต้องมีกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อย
ประชาชนมีสิทธิที่สามารถสละหรือละเว้นสิทธิได้ แต่ไม่สามารถสละหรือละเว้นหน้าที่ได้ พยานเองก็เคยถวายฎีกาเพื่อสื่อสารกับกษัตริย์ไปแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบรับ
.
“สมชาย” ชี้ การแสดงความเห็นติติงเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่สามารถกระทำได้ ถ้าไม่เป็นการมุ่งทำร้าย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอนในสาขาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ นิติปรัชญา และประวัติศาสตร์กฎหมาย เบิกความว่า พยานมีผลงานด้านวิชาการเป็นงานวิจัยเรื่องข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ปี 2475 – 2550 มีการตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ โดยงานวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มีผลสรุปเป็นความเห็นทางวิชาการว่า ในการดำเนินการใด ๆ พระมหากษัตริย์จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ บุคคลใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ในทางแพ่งหรืออาญามิได้
ความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วางหลักไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดได้ มีการโต้เถียงว่า สถานะอันเป็นที่เคารพสักการะเป็นสถานะใด สรุปได้ว่า ประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องกล่าวหากษัตริย์ในทางแพ่งหรือทางอาญาได้ แต่ไม่รวมการแสดงความเห็นซึ่งจะสอดคล้องกับหลัก The King Can Do No Wrong กษัตริย์มิอาจกระทำความผิด เพราะไม่ได้กระทำด้วยตนเองต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ กษัตริย์ไม่ได้ทำการใด ๆ ด้วยตนเองและประชาชนฟ้องร้องไม่ได้
ส่วนเสรีภาพในการแสดงความเห็นถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 บุคคลสามารถแสดงความเห็นของตนได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นหลักการพื้นฐานและคุณค่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ โดย 2 หลักนี้เป็นคุณค่าในรัฐธรรมนูญเท่า ๆ กัน เราไม่สามารถใช้หลักการหนึ่งทำลายคุณค่าของอีกหลักการได้ ก็คือ การแสดงความเห็นหรือแสดงออกสามารถทำได้แม้จะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าไม่เป็นการมุ่งทำร้ายหรือส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง เช่น เรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุขเป็นระบอบอื่น
การฟ้องคดีกรณีการใช้สิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับกษัตริย์ ต้องมองภาพรวมไม่ใช่มองแค่เศษเสี้ยวส่วนเดียว เช่น กรณีการเผาธงชาติอเมริกา หากมองแยกส่วนเป็นการเผาธงกับเสรีภาพการแสดงออก การเผาธงจะผิดกฎหมาย แต่มีคำพิพากษาออกมายอมรับว่า การเผาธงเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองสามารถกระทำได้ ดังนั้น หากเลือกพิจารณาแค่บางส่วนของการกระทำก็จะทำให้การแสดงออกทุกอย่างผิดกฎหมาย เช่น การชุมนุมบนนถนนก็จะผิดกฎหมายจราจร โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าหลักการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เราจึงไม่สามารถตีความหลักคุณค่าใดด้อยกว่าคุณค่าอื่น
การตีความมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ กับ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นคนละเรื่องกัน ต้องตีความมาตรา 112 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นกฎหมายอาญา ส่วนมาตรา 6 ต้องตีความให้สอดคล้องกับคุณค่าตามรัฐธรรมนูญ การพูดที่จะผิดมาตรา 112 ต้องเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการพระองค์ โดยตรง โดยไม่มีบริบทอื่นประกอบ ถ้าเป็นการติติงเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ยังดำรงอยู่สามารถกระทำได้
พยานได้อ่านเนื้อหาจดหมายที่จำเลยโพสต์แล้วมีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาโดยรวม โดยเฉพาะตอนท้ายไม่มีคำหยาบคาย เป็นการติติงแสดงความเห็นเพื่อต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว การเขียนจดหมายก็เป็นการแสดงความเห็นชนิดหนึ่ง แต่ถ้าหากเป็นการแสดงความเห็นว่าไม่อยากให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่ถึงจะเกินขอบเขตการแสดงความเห็น
เนื้อหาจดหมายที่กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังมีการทำประชามตินั้น พยานในฐานะอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเองก็มีความสงสัย เพราะหลังจากการทำประชามติมีสื่อรายงานว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีความเห็นส่งมายัง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ จากนั้นมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้กษัตริย์แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติได้ เรียกว่า ข้อสังเกตพระราชทานหรือข้อคิดเห็นพระราชทาน เกิดข้อโต้แย้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังผ่านประชามติทำได้หรือไม่
เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายนั้น มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 โดยยกเลิกกฎหมายเดิม ทำให้เดิมที่มีการจำแนกทรัพย์สินเป็น 3 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นของแผ่นดิน ถูกแก้ไขเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งหมด กษัตริย์สามารถจัดการบริหารได้ตามอัธยาศัย จึงทำให้เกิดคำถาม เช่น ถ้ากษัตริย์ยกพระราชวังให้ใครได้หรือไม่ และไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง มีคำถามว่าทรัพย์สินของแผ่นดินจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้หรือไม่ ซึ่งในทางทฤษฎีอาจจะเป็นไปได้
สมชายได้ตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ตาบเท่าที่ไม่ไปกระทบความมั่นคงของรัฐและละเมิดผู้อื่น อัยการโจทก์อีกถามว่า พยานมีพ่อ แม่ พี่ น้อง ถ้าต้องการจะติเตียนจะป่าวประกาศหรือไม่ พยานตอบว่าถ้าพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นบุคคลสาธารณะก็จะป่าวประกาศ
.
“ยิ่งชีพ” ยืนยัน การใช้พระราชอำนาจตามที่อานนท์โพสต์ในราษฎรสาส์นเป็นเหตุการณ์จริงที่ติดตามมาตั้งแต่ปี 2557
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตและเนติบัณฑิต
ยิ่งชีพเบิกความว่า ไอลอว์เป็นโครงการที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านนิติบัญญัติ หลังการรัฐประหารปี 2557 มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ไอลอว์จึงมีกิจกรรมในลักษณะจับตา สนช. ว่า จะทำอะไร ออกกฎหมายอะไร และจะส่งผลอย่างไร
พยานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งร่างฉบับนั้นก็ตกไป ต่อมาปี 2559 เป็นร่างที่ประชาชนต้องทำประชามติ จึงได้นำมาศึกษา หลังผ่านประชามติแล้วก็ติดตามต่อว่าเมื่อไหร่จะมีการประกาศใช้
5 เดือนต่อมา รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติก็ยังไม่ประกาศใช้ ตอนแรกคาดเดากันว่าอาจประกาศช้าเพื่อให้มีการเลือกตั้งช้า ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 สั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะ พล.อ.ประยุทธ์แถลงยังไม่ทราบว่าจะมีการแก้ไขจริงหรือไม่ จน สนช.ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทานได้ และโหวตให้ผ่านอย่างรวดเร็ว จากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
จากการเปรียบเทียบร่างก่อนและหลังแก้ไข พบว่า มีการแก้ไขในเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ 7 ประเด็นด้วยกัน เช่น ไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรณีเสด็จไปต่างประเทศ แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญคือการบัญญัติว่ากรณีมีปัญหาและรัฐธรรมนูญหาทางออกไม่ได้ ให้แก้ไขไปตามพระราชประเพณี
นอกจากนี้ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับกษัตริย์ เช่น มีการตั้งหน่วยงานส่วนพระองค์ ตามมาตรา 15 วรรคสอง โดยออกพระราชกฤษฎีกาอธิบายโครงสร้างของส่วนราชการในพระองค์ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษ ไม่ใช่ของรัฐ ไม่ใช่หน่วยงานราชการ แต่ได้รับเงินจากงบประมาณรัฐ มีการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาสัย แต่ไม่สามารถตรวจสอบผ่าน ป.ป.ช. และ สตง.ได้
สนช. ยังมีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 แล้วออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ยกเลิกฉบับ 2560 ในปีต่อมา ทำให้มีการจัดโครงสร้างทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใหม่ จากทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ และสาธารณสมบัติ ยุบรวมไปเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเปลี่ยนจากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
ตามความเข้าใจของพยาน การที่เปลี่ยนชื่อโดยตัดคำว่า ‘ส่วน’ ออก ให้ความหมายแปลว่า เป็นทรัพย์สินของท่านโดยตรง ไม่ใช่ของกองหรือสำนักงาน เช่น วัง เมื่อก่อนคือสาธารณสมบัติ แต่ตอนนี้เป็นทรัพย์ของพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ ยังมีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนฯ กำหนดให้หน่วยงานบางหน่วยถูกโอนไปเป็นหน่วยงานในพระองค์ ได้แก่ กรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 รวมถึงตำรวจบางส่วน โดยใช้งบประมาณรายปีที่มาจากการอนุมัติของสภา ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน พยานสังเกตว่า ทั้งก่อน – หลัง มี สนช. ในช่วง 10 ปีนี้ มีการเพิ่มงบประมาณในส่วนสถาบันกษัตริย์สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้งหน่วยงานราชการในพระองค์
ตามหลัก The King Can Do No Wrong และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จากที่พยานอ่านหนังสือของ อ.หยุด แสงอุทัย และ อ.ปรีดี เข้าใจว่า กษัตริย์ไม่มีอำนาจโดยตรง ต้องใช้อำนาจผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ทุกการกระทำจะต้องทำโดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ใครที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำนั้น
ไอลอว์ยังเก็บข้อมูลการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางการเมือง โดยพบว่า ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการออกมาแสดงความเห็น ช่วงปี 2553 – 2554 เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ช่วงปี 2557 – 2560 เป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหาร ช่วงปี 2561 – 2562 ไม่มีผู้ถูกดำเนินคดียาวมาถึงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 กระทั่งวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา ทำให้เมื่อเข้าสู่ปลายเดือนพฤศจิกายนจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ก็พุ่งขึ้นสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ และปี 2564 เป็นปีที่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 พุ่งสูงที่สุด ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและนักกิจกรรม ซึ่งออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ในการเบิกความพยานยืนยันว่า ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้โดยสุภาพ ไม่ให้ร้าย
.