‘อานนท์’ เตรียมยื่นหนังสือ ก.ต. ให้สอบสวนรองอธิบดีศาลอาญาที่อาจก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดี ม.112 จนตุลาการขาดความเป็นอิสระ

ในวันที่ 31 ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา อานนท์ นำภา และคณะ เตรียมจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอธิบดีศาลอาญา ขอให้สอบสวนและดำเนินการทางวินัยต่อ นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีศาลอาญา ที่อาจมีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีอาญาของตุลาการเจ้าของสำนวน ในคดีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฏรสาส์น ถึงรัชกาลที่ 10 ที่อานนท์ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  

.

.

การยื่นหนังสือนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ในวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในคดีดังกล่าว โจทก์และจำเลยได้แถลงแนวทางการต่อสู้คดีต่อผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะที่นั่งพิจารณาคดี และผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์จำนวน 1 นัด และนัดสืบพยานจำเลยจำนวน 6 นัด ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลได้จัดทำรายงานการพิจารณาให้แก่พนักงานอัยการโจทก์ และจำเลย ทราบถึงรายละเอียดจำนวนพยานและจำนวนวันนัดสืบพยานของแต่ละฝ่ายเรียบร้อยแล้ว 

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 นายอรรถการ ฟูเจริญ ในฐานะรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกคำสั่งท้ายรายงานเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว ให้ทำการตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะกรณียังมีการกำหนดให้สืบพยานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดประเด็นพิพาทในคดีและพยานความเห็น 

จนต่อมาวันที่ 4 ส.ค. 2565 ศาลอาญาได้มีหมายแจ้งคำสั่งมายังจำเลยว่า ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้นัดตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมในวันที่ 5 ก.ย. 2565 โดยมีนายอรรถการ ฟูเจริญ ในฐานะผู้พิพากษาลงชื่อในหมายแจ้ง 

.

อานนท์ในฐานะจำเลยเห็นว่าตนได้รับความเสียหาย เพราะอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี โดยคดีนี้ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้พิจารณาแนวทางการต่อสู้คดีและมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลนั้น ย่อมต้องถือว่าผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้ใช้ดุลพินิจมีคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นอำนาจตามกฎหมายที่เป็นอิสระของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี 

ดังนั้น นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งไม่ได้เป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีในคดีหมายเลขดำที่ อ.1395/2565 จึงไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้มีการตรวจพยานเพิ่มเติมได้ ถือเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

.

การกระทำดังกล่าวของนายอรรถการ ฟูเจริญ ข้าราชการตุลาการดำรงตำแหน่งในระดับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร อาจจะเข้าข่ายเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม 

ทำให้อานนท์ได้รับความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของตน เพราะอาจจะทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดีเกิดความหวั่นไหวในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคดี เพราะรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งเป็นระดับผู้บริหารของศาลได้ออกคำสั่งเป็นอย่างอื่นให้ตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ออกคำสั่งพิจารณาการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว อันอาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีอย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

อีกทั้ง นายอรรถการ ฟูเจริญ ยังมีตำแหน่งสูงระดับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อให้การสอบสวนกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสเป็นธรรม จึงขอให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งโอนย้ายนายอรรถการไปช่วยทำงานชั่วคราวในศาลอื่นและตำแหน่งอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสอบสวนดังกล่าวด้วย  

.

ในวันและเวลาดังกล่าวจึงขอเชิญสื่อมวลชนและสาธารณชน ร่วมกันติดตามรายงานการยื่นหนังสือและการแถลงข่าวหน้าศาลอาญา

.

สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 188 ได้รับรองหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาว่า ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 66 ที่กล่าวว่าข้าราชการตุลาการต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น เป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม

.

ข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลยุติธรรม ระบุว่า ก.ต. เป็นหนึ่งในสามองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของศาลยุติธรรม ซึ่ง ก.ต. มีบทบาทและภารกิจในการวางแผนกำลังคนฝ่ายตุลาการ เช่น การบรรจุแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากร การควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พิพากษามีหลักประกันว่าจะได้รับการสนับสนุนและการคุ้มครองให้มีความอิสระอย่างแท้จริง 

X