เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นใหม่ 2 คดี เป็นคดีที่เกิดขึ้นในภาคใต้ทั้งหมด ได้แก่ คดีมาตรา 112 ของ วัชรพงษ์ ซินโซ กรณีแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง” และคดีมาตรา 116 ของอับดุลอาฟิร เซ็ง นักข่าวอาสา ‘Wartani’ ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารตามกฎอัยการศึก ก่อนถูกกล่าวหากรณีการโพสต์ข้อความจากสถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้
สำหรับสถานการณ์การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในเดือนที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวไปแล้วอย่างน้อย 31 ครั้ง พบว่ามีผู้ที่ได้รับการประกันตัวเพียง 3 คน ได้แก่ “ธีรพงศ์” และ ภัทรพล (ถูกขังระหว่างรอคำสั่งประกันชั้นฎีกา) วัชรพงษ์ (ถูกนำตัวไปฝากขังชั้นสอบสวน) อย่างไรก็ตามหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัวผู้ต้องขังรายอื่น เป็นเหตุให้ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ตัดสินใจประท้วงอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2568
ในขณะเดียวกัน ยังมีคดีที่ศาลชั้นต่าง ๆ ทยอยมีคำพิพากษาออกมา โดยในคดีมาตรา 112 มีคำพิพากษาจำนวน 4 คดี พบว่ามีเพียงหนึ่งคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง นอกจากนั้นศาลพิพากษาว่ามีความผิดทั้งหมด แต่มีแนวโน้มการให้รอการลงโทษและไม่รอการลงโทษแตกต่างกันออกไป และในคดีมาตรา 116 ก็มีคำพิพากษาออกมาอีก 1 คดี ซึ่งพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าคดีตามข้อหามาตรา 112 และ 116 ที่มีคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นในภูมิภาค รวมถึงศาลอุทธรณ์ในภาคต่าง ๆ และไม่รอลงอาญา ศาลชั้นต้นจะเป็นผู้สั่งอนุญาตให้ประกันตัวด้วยตนเอง โดยที่ไม่ส่งให้ศาลสูงพิจารณา ทำให้หลายคนยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา
ด้านคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลมีคำพิพากษาออกมา 3 คดี พบว่ามีทั้งส่วนที่ยกฟ้องและส่วนที่ลงโทษจำเลย และยังมีคดีดูหมิ่นศาลที่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยออกมาอีก 1 คดี ส่วนคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด มีคำพิพากษาออกมา 1 คดี
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2568 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,962 คน ในจำนวน 1,315 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนมกราคม 2568 แล้ว มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 2 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,027 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 278 คน ในจำนวน 310 คดี (จำนวนนี้อย่างน้อย 164 คดี ถูกดำเนินคดีเนื่องจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษ)
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 155 คน ในจำนวน 54 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 674 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 182 คน ในจำนวน 100 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 210 คน ในจำนวน 233 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 44 คน ใน 26 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 37 คน ใน 11 คดี
จากจำนวนคดี 1,315 คดีดังกล่าว มีจำนวน 676 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว)

.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญดังต่อไปนี้
คดีภาคใต้เพิ่มต่อเนื่อง: ประชาชนถูกจับคดี ม.112 จากปทุมธานีไปดำเนินคดีที่พัทลุง ส่วนนักข่าวอาสา Wartani ถูกจับเข้าค่ายทหารก่อนดำเนินคดี ม.116
เดือนที่ผ่านมามีคดีเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 2 คดี เป็นคดีที่เกิดขึ้นในภาคใต้ทั้งหมด กรณีแรกพบว่ายังมีการดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 กับประชาชน โดยการออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหาไปดำเนินคดีทางไกลอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2568 วัชรพงษ์ ซินโซ ประชาชนวัย 30 ปี ถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดปทุมธานี ตามหมายจับของศาลจังหวัดพัทลุงในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุไปแสดงความคิดเห็นใต้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง” เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 เขาถูกควบคุมตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.เมืองปทุมธานี ก่อนส่งตัวไป สภ.เมืองพัทลุง สถานีตำรวจท้องที่ผู้รับผิดชอบคดี ก่อนมีการสอบสวนโดยไม่มีทนายความ ต่อมาถูกฝากขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำกลางพัทลุงและได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา
จากการติดตามทราบรายละเอียดว่าคดีนี้มี ‘ทรงชัย เนียมหอม’ ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งการดำเนินคดีระยะไกล ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการต่อสู้คดี
จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 – 116 ในระยะไกล โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 33 คดีแล้ว ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกิดจากการเข้าแจ้งความของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เพื่อให้ดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโซเชียลมีเดีย เฉพาะกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ มีการดำเนินคดีแล้วไม่น้อยกว่า 15 คดี

.
นอกจากนั้นมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2568 “อับดุลอาฟิร เซ็ง” นักข่าวอาสา ‘Wartani’ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวไปจากบ้านพักใน จ.ปัตตานี ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งยังประกาศใช้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในวันเดียวกัน เพจกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ได้โพสต์ชี้แจงเรื่องการควบคุมตัวอับลุดอาฟิรไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยระบุเหตุผลเพียงว่าเพื่อนำตัวไปให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ประกอบเรื่องที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
หลังจากควบคุมตัวครบกำหนด 7 วัน ตามกฎอัยการศึก ในวันที่ 18 ก.พ. 2568 เขาถูกส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยพฤติการณ์ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับโพสต์ข้อความในเหตุการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งในภาคใต้ ก่อนถูกนำตัวไปฝากขัง และศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
สถานการณ์การควบคุมตัวประชาชนโดยอ้างกฎอัยการศึก และการใช้มาตรา 116 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีแนวโน้มคดีมากขึ้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป
.
ศาลพิพากษาคดี 112 อีกสี่คดี โดยมีเพียงหนึ่งคดีที่ศาลยกฟ้อง ส่วนอีกสามคดีพิพากษาว่ามีความผิด
ส่วนสถานการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาคดี 112 ตลอดเดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 4 คดี แยกเป็นคดีในศาลชั้นต้น 1 คดี ศาลอุทธรณ์ 2 คดี และศาลฎีกา 1 คดี โดยพบว่ามีเพียงหนึ่งคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง นอกจากนั้นศาลพิพากษาว่ามีความผิดทั้งหมด แต่มีแนวโน้มการให้รอการลงโทษและไม่รอการลงโทษแตกต่างกันออกไป
ในจำนวนดังกล่าว แยกเป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 1 คดี ได้แก่ “ฟ้า” พรหมศร (คดีเดียวกันกับ “ปูน” ธนพัฒน์ ซึ่งปูนให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี) กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกรวม 7 ปี ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี
.
ส่วนคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี มีทั้งสิ้น 4 คดี ได้แก่ คดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ (คดีเดียวกันกับ “ฟ้า” พรหมศร ซึ่งฟ้าให้การรับสารภาพ) ศาลเห็นตามพยานโจทก์ ว่าข้อความปราศรัยของปูนทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสียหาย เอาทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติไปเป็นของตนเอง ดำรงตนอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ พิพากษาให้จำคุกรวม 7 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี
ถัดมาเป็นคดีของ “ฟลุค” กิตติพล กรณีถือป้ายข้อความ “ไมมีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนยกฟ้อง เห็นว่าข้อความยังไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นการแสดงออกและเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่พบเห็นว่า จำเลยไม่มีจะกินในช่วงเกิดเหตุ ไม่ได้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองของรัชกาลที่ 10 ทำให้ประชาชนอดอยากไม่มีจะกิน
ส่วนคดีของ ณัฐชนน ไพโรจน์ กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ผลิต “หนังสือปกแดง” รวมคำปราศรัยจากการชุมนุม หลังจากที่ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษายกฟ้องไป เดือนที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับคำพิพากษา เห็นว่าจำเลยย่อมรับรู้ว่าหนังสือดังกล่าวข้อความดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ก่อนอยู่แล้ว ต่อมาจำเลยนั่งหน้ารถบรรทุกหนังสือเพื่อที่จะนำไปแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุม เพื่อให้ผู้ชุมนุมรู้ข้อความคำปราศรัยอีกรอบ เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมให้มีการดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ พิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ต่อมาในวันเดียวกันเขาได้รับประกันตัวระหว่างฎีกา โดยมีศาลจังหวัดธัญบุรีเป็นผู้สั่งด้วยตนเอง
สุดท้าย คดีที่มีคำพิพากษาในเดือนที่ผ่านมา คือคดีของ “กัลยา” (นามสมมติ) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความ (กล่าวหาเป็น 2 กระทง) หลังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่ามีความผิดให้จำคุก กระทงละ 3 ปี รวมสองกระทงเป็นจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมา จนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนราธิวาสเบิกตัวกัลยาไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยที่จำเลยไม่ทราบนัดล่วงหน้าและไม่ได้ส่งหมายนัดมายังทนายจำเลย
ต่อมาทราบว่าศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้เธอกลายเป็นผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว และหากถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษนี้ เธอจะมีกำหนดพ้นโทษในเดือนตุลาคม 2572
.

.
ในปัจจุบัน (5 มี.ค. 2568) จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ายังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 45 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 27 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 18 คน)
สำหรับสถานการณ์การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในเดือนที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวไปแล้วอย่างน้อย 31 ครั้ง โดยมีการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังชุดใหญ่ 16 คน ในช่วงวันวาเลนไทน์ แต่ก็ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งยกคำร้องในทุกคดี ระบุคำสั่งไปในทิศทางเดียวกันว่า “เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
เช่นเดียวกันกับกรณีการยื่นประกันตัวอานนท์ นำภา ซึ่งศาลยกคำร้องในทุกคดี ถึงแม้ว่าจะยื่นประกันตัวพร้อมกับแนบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติเรื่อง “ประเทศไทยต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทันที” ซึ่งเป็นความเห็นต่อการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และการควบคุมตัวโดยพลการ
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าในเดือนที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับการประกันตัว 3 คน ได้แก่ “ธีรพงศ์” (นามสมมติ) และภัทรพล ซึ่งถูกขังระหว่างรอคำสั่งประกันชั้นฎีกา ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมขว้างปาระเบิดใส่ป้อมตำรวจบริเวณแยกอโศกมนตรี ใน #ม็อบ11ตุลา64 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือน 15 วัน ต่อมาศาลฎีกาอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน (ทำให้ทั้งคู่ถูกคุมขังทั้งสิ้น 3 วัน) แต่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว “พีรพงศ์” (นามสมมติ) จำเลยอีกคนหนึ่งในคดีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านั้น เขาไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา
ส่วนอีกคนหนึ่งคือ วัชรพงษ์ ซินโซ ได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 หลังถูกจับกุมไปแจ้งข้อหาและฝากขังที่เรือนจำกลางพัทลุง วันต่อมาญาติได้ยื่นขอประกันตัว ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ทำให้วัชรพงษ์ถูกขังอยู่เรือนจำทั้งสิ้น 1 คืน
อย่างไรก็ตามในเดือนที่ผ่านมา หลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัว เป็นเหตุให้ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่มีการยื่นประกันตัวครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ตัดสินใจประท้วงอดอาหารตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. เรียกร้อง 1. สร้างอิสรภาพที่ถาวรแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองโดยไร้เงื่อนไข 2. ยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ในทางการเมือง ซึ่งจนถึงวันนี้ขนุนอดอาหารประท้วงมา 13 วันแล้ว และถูกนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา
.
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเดือนที่ผ่านมายังมีคำพิพากษาในคดีอื่น ๆ ที่มีเหตุจากการชุมนุมของประชาชนอีกอย่างน้อย 6 คดี
ในคดีข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 มีคดีของ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากการเข้าร่วมกิจกรรม “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” ที่ขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 เพื่อให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา และย้ำข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 4 ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ในวันเดียวกันศาลจังหวัดขอนแก่นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
ส่วนในคดีข้อหาดูหมิ่นศาลฯ เดือนที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้เบิกตัว “มานี” เงินตา คำแสน และ “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง จากทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อมาฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ กรณีปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 โดยไม่มีหมายนัดแจ้งทนายมาก่อน ต่อมาทราบว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกทั้งสองคนละ 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
.

.
ส่วนคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีคำพิพากษาออกมา 3 คดี ซึ่งมีคำพิพากษาแตกต่างจากกันออกไป ได้แก่ ในคดี #ม็อบมุ้งมิ้ง ที่มีนักกิจกรรม 5 รายเป็นจำเลยในคดี ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ศาลเห็นว่าการที่จำเลยทั้งห้าเข้าร่วมชุมนุมในสถานที่เกิดเหตุเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้สถานที่จะเปิดโล่ง ก็ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดแล้ว โดยคดีนี้ศาลลงโทษปรับคนละ 15,150 บาท
กรณีชุมนุม #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อปี 2564 ซึ่งมีประชาชน 7 คนเป็นจำเลยในคดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งหมดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ให้รอลงอาญา 3 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เห็นว่าเฉพาะ “ป้าเป้า” (จำเลยที่ 1) มีความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง สมควรแก้ไขให้เหมาะสม ให้ปรับ 1,000 บาท ส่วนจำเลยอีก 6 ราย เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เวลาใด พฤติการณ์ที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นอย่างไร ทั้งไม่ได้ความว่าเป็นแกนนำในการชุมนุม จึงยกฟ้องทุกข้อหา
และกรณีชุมนุม #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2564 มีวรัณยา แซ่ง้อ และ สี่ทัพ (นามสมมติ) เป็นจำเลย ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องสี่ทัพ เนื่องจากเห็นว่าพยานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยร่วมขว้างปาถุงสี จะถือว่ากระทำรายบุคคลเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมทุกคนไม่ได้ ยังไม่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดร่วมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ลงโทษวรัณยาในฐานความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี เนื่องจากมีพยานโจทก์ยืนยันพบเห็นจำเลยขว้างปาวัตถุบางอย่างใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนคดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด เดือนที่ผ่านมามีคำพิพากษาออกมา 1 คดี ได้แก่คดีของ “ธีรพงศ์”, “พีรพงศ์” และ “ภัทรพล” กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันขว้างระเบิดปิงปองเข้าใส่ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริเวณแยกอโศกมนตรี เมื่อปี 2564 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลยทั้งสาม เป็นจำคุกธีรพงศ์และพีรพงศ์คนละ 2 ปี 4 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 666.66 บาท และจำคุกภัทรพล 3 ปี 6 เดือน 15 วัน ปรับ 1,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งต่อมามีเพียงภัทรพลที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างฎีกา ทำให้ปัจจุบันเขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
.
อัยการเดินหน้าสั่งฟ้องคดี 112 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกสองคดี
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังพบว่ามีการสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อศาลอาญาอีก 1 คดี เป็นคดีของ “ปุ้ย” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 41 ปี จากกรณีคอมเมนต์ข้อความใต้โพสต์เฟซบุ๊กในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ที่มีเนื้อหาเชิญชวนคนไปรับเสด็จ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา
ส่วนในคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มีการสั่งฟ้องอีก 1 คดี โดยพนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรม 5 คน ต่อศาลแขวงดุสิต ซึ่งได้แก่ “สายน้ำ” นภสินธุ์, “ออย” สิทธิชัย, “แก๊ป” จิรภาส, “บังเอิญ” และสมชาย คำนะ ในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง จากกรณีขี่รถจักรยานยนต์พร้อมโบกธง ให้ยกเลิกมาตรา 112, #saveหยก, ปล่อยเพื่อนเรา เเละตราสัญลักษณ์อนาคิสต์ บริเวณรอบวัดพระแก้ว และถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566
สถานการณ์เรื่องการฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ซึ่งอัยการยังนำมาฟ้องอยู่เป็นระยะ แม้ในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วงโควิด ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป