20 ก.พ. 2568 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกัน อานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชนวัย 40 ปี หลังทนายความยื่นคำร้องขอประกันในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 ทั้ง 6 คดีที่อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ได้แก่ คดีจากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 1, ปราศรัยในม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 2, ปราศรัยในม็อบ14ตุลา63, เขียนและโพสต์ #ราษฎรสาส์น, กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ และกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ
การยื่นคำร้องในครั้งนี้ ได้แนบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติเรื่อง “ประเทศไทยต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทันที” ซึ่งเป็นความเห็นที่มีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการควบคุมตัวโดยพลการ เพื่อให้ศาลพิจารณาสิทธิในการได้รับการประกันตัว
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งลงวันที่ 20 ก.พ. 2568 ให้ยกคำร้องในทุกคดี ซึ่งคำสั่งโดยสรุปเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
คำสั่งดังกล่าว เป็นผลให้อานนท์ถูกขังในเรือนจำต่อไป จนถึงวันนี้ (26 ก.พ. 2568) เขาถูกขังในเรือนจำถึง 1 ปี 5 เดือนเต็ม (หรือ 520 วัน) แล้ว
.
‘อานนท์ นำภา’ ถูกขังมาแล้ว 1 ปี 5 เดือน ไร้วี่แววได้สิทธิประกันตัว
อานนท์ นำภา ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมา
ปัจจุบัน อานนท์ถูกคุมขังหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกรวมทั้งสิ้น 6 คดีแล้ว โดยมีโทษในคดีทั้งหกรวม 18 ปี 10 เดือน 20 วัน ตลอดเวลาที่อานนท์ถูกคุมขังมาตั้งแต่ปี 2566 – 2567 เขายืนยันต่อสู้คดีที่ตนเองถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 จนถึงที่สุด ซึ่งทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ยังไม่มีคดีใดสิ้นสุด และในทุกคดีความ เขาได้พยายามยื่นขอประกันตัวออกมาเพื่อต่อสู้คดี และถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา (2567) อานนท์จะเป็นผู้ต้องขังที่มีสถิติการยื่นประกันตัวสูงที่สุดถึง 41 ครั้ง ใน 6 คดี แต่ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องทุกครั้ง
คดีมาตรา 112 ของอานนท์ที่ศาลพิพากษาจำคุกมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- คดีที่ 1 – ปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี 63 ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา
- คดีที่ 2 – โพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ วิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีแรก
- คดีที่ 3 – ปราศรัยในการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อปี 64 ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น
- คดีที่ 4 – โพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น
- คดีที่ 5 – เขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น
- คดีที่ 6 – ปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี 63 ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน
ยื่นประกัน ขอศาลนำความเห็นผู้เชี่ยวชาญ UN เรื่อง ‘ประเทศไทยต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทันที’ พิจารณาสิทธิประกันตัว ศาลยังคงยกคำร้อง
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 ทนายความยื่นคำร้องขอประกันอานนท์ในทั้ง 6 คดีดังกล่าวอีกครั้ง สาระสำคัญในคำร้องครั้งนี้ได้ระบุถึง กรณีที่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เผยแพร่ความเห็นในหัวข้อ “ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติระบุประเทศไทยต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทันที” เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ซึ่งมีเนื้อหาระบุโดยสรุปว่า การที่ประเทศไทยได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อควบคุมตัวและจำคุกนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างร้ายแรง และเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งยกเลิกหรือปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาของไทย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ทั้งยังระบุอีกว่า กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยทั้งรุนแรงและกำกวม เป็นการให้ดุลพินิจมหาศาลแก่หน่วยงานรัฐและศาลในการนิยามฐานความผิดดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีบุคคลถูกดำเนินคดีและลงโทษไปแล้วกว่า 270 คน ตั้งแต่ปี 2563
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงอานนท์ นำภา เกี่ยวกับการพิพากษาว่า คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ได้ออกความเห็นว่า การคุมขังตัวอานนท์นั้นเป็นการคุมขังโดยพลการและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติอีกหลายคนได้แสดงความกังวลต่อกรณีการดำเนินคดีอาญากับอานนท์และบุคคลอื่นในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ตอนท้าย คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติระบุอีกว่า “รัฐบาลไทยต้องปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน” และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและโทษจำคุกภายใต้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศไทยในทันทีอีกด้วย
จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติดังกล่าวที่มีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการควบคุมตัวโดยพลการ อานนท์จึงขอให้ศาลพิจารณาประกอบเพื่อพิจารณาให้สิทธิประกันตัวกับเขาด้วย
คำร้องขอประกันอานนท์ที่ยื่นต่อศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
วันเดียวกัน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอประกันทุกฉบับ ซึ่งคำสั่งมีเนื้อหาโดยสรุปเช่นเดียวกันว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก และนับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ทั้งนี้ อานนท์ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ทั้งสิ้น 14 คดี ซึ่งในวันที่ 27 มี.ค. 2568 นี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีนัดฟังคำพิพากษาอีกคดีเป็นคดีที่ 7 กรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองในเดือน ก.พ. 2568 นี้ นอกจากอานนท์แล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองชุดใหญ่รวม 16 คน ซึ่งศาลอุทธรณ์และฎีกามีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับเช่นกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อานนท์ นำภา: ทนายและจำเลยที่คิดถึง
คณะทำงาน ฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “อานนท์ นำภา” ชี้การคุมขังภายใต้ม. 112 เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ
อานนท์ นำภา ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ หลังออกแถลงให้ยกเลิก ม.112