คณะทำงาน ฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “อานนท์ นำภา” ชี้การคุมขังภายใต้ม. 112 เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้ให้ความเห็นในกรณีการคุมขังภายใต้มาตรา 112 ของ อานนท์ นำภา สืบเนื่องมาจากคดีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และคดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 โดยคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ได้ให้ความเห็นว่าการควบคุมตัวในกรณีดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กร The Observatory ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังกลไกพิเศษ UN กรณีคำพิพากษาคดี ม. 112 ของ อานนท์ นำภา

  1. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการคุมขัง อานนท์ นำภา ภายใต้ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไปยังคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention)

ในคำร้องที่ส่งถึงผู้รายงานพิเศษ ฯ ระบุว่า การบังคับใช้และดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้งในระดับภาคประชาสังคม และตามการเฝ้าสังเกตสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกขององค์การสหประชาชาติ แต่กระนั้นเองภาครัฐของไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากการตั้งข้อหา ฟ้องร้อง และกักขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชาชนโดยทั่วไป

หลักการของคณะทำงานฯ แบ่งการควบคุมตัวโดยพลการออกเป็น 5 ประเภท

  1. ประเภทที่ 1: การควบคุมตัวขาดฐานทางกฎหมายมารองรับ (lack of legal basis)
  2. ประเภทที่ 2: การควบคุมตัวบุคคลสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
  3. ประเภทที่ 3: เกิดการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial) ที่นำไปสู่การคุมขัง
  4. ประเภทที่ 4: ผู้ขอลี้ภัย ผู้อพยพ หรือผู้ลี้ภัยถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานโดยไม่มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการตรวจสอบหรือเยียวยา
  5. ประเภทที่ 5: การควบคุมตัวสืบเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติ (discrimination) โดยมิชอบด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ความเห็นทางการเมือง ฯลฯ

คณะทำงานฯชี้ว่าการคุมขัง “อานนท์ นำภา” เป็นการควบคุมตัวโดยพลการประเภทที่ 1, 2, 3 และ 5

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ได้ออกความเห็นที่ 28/2024 ชี้ว่าการคุมขังอานนท์ นำภา ภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นการควบคุมตัวโดยพลการประเภทที่ 1, 2, 3 และ 5 โดยความเห็นของคณะทำงานฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเภทที่ 1: การควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวโดยไม่มีฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องมารองรับ

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้ให้ความเห็นว่าการควบคุมตัวอานนท์ นำภา เป็นการควบคุมตัวโดยพลการประเภทที่ 1 เนื่องจากมาตรา 112 ไม่ถือว่าเป็นฐานทางกฎหมายที่สามารถมารองรับการลิดรอนเสรีภาพของอานนท์ได้

คณะทำงานฯ อธิบายว่าหลัก principle of legality บัญญัติว่า กฎหมายต้องมีนิยามที่ชัดเจน บุคคลทั่วไปต้องสามารถเข้าถึงและเข้าใจกฎหมายได้ มิเช่นนั้นประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายได้ 

โดยหากพิจารณาถึงมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้ในการคุมขังอานนท์ นำภา คณะทำงานฯ ให้ความเห็นว่ามาตรา 112 มีความคลุมเครือและกว้างขวางเกินไป (vague and overly broad) กล่าวคือ มาตรา 112 ไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าการแสดงออกในลักษณะใดที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น การบังคับใช้มาตรา 112 จึงขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยสิ้นเชิงในการตีความว่าการกระทำใดบ้างเข้าลักษณะความผิดมาตรา 112 

ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานฯ ให้ความเห็นว่าการคุมขังอานนท์ นำภา ระหว่างพิจารณาคดีมากกว่า 200 วัน (อย่างน้อย 139 วัน จากคดีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอย่างน้อย 100 วัน จากคดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564) เป็นการคุมขังที่ไม่มีฐานทางกฎหมายมารองรับ

คณะทำงานฯ อธิบายว่า ข้อ 9(3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR วางหลักไว้ว่า มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี ถ้าหากมีความจำเป็นที่ต้องคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี การใช้มาตรการดังกล่าวต้องดำเนินการเป็นระยะสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาเป็นรายบุคคล (individualized determination) ตามความจำเป็นและความสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ทั้งหมด และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการป้องกันการหลบหนี การแทรกแซงพยานหลักฐาน และการกระทำผิดซ้ำ 

ทั้งนี้ ศาลควรพิจารณาว่ามีมาตรการอื่นใดที่สามารถบังคับใช้แทนการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เพื่อให้การคุมขังนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถูกบังคับใช้ในกรณีดังกล่าว เช่น การให้ประกันตัว หรือ เงื่อนไขประการอื่น ๆ อีกทั้ง การออกคำสั่งให้คุมขังระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรพิจารณาจากโทษที่บุคคลดังกล่าวอาจจะได้รับ แต่ควรพิจารณาบนฐานของความจำเป็น

คณะทำงานฯ เห็นว่าการสั่งคุมขังอานนท์ นำภา ระหว่างพิจารณาคดีกว่า 200 วัน ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาเป็นรายบุคคล (individualized determination) และหลักความจำเป็นหรือความสมเหตุสมผล การคุมขังดังกล่าวจึงขาดฐานทางกฎหมายมารองรับ

คณะทำงานฯ ยังได้ให้ข้อสังเกตว่า ในกรณีที่แม้ว่าอานนท์ นำภาจะได้รับการประกันตัว แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวที่เข้มงวด เช่น การใส่กำไล EM และห้ามออกจากเคหสถานระหว่าง 21.00 น. ถึง 6.00 น. ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับการคุมขังในเคหสถาน (house arrest) อานนท์ นำภาจึงถือว่าถูกลิดรอนเสรีภาพอยู่ ถึงแม้ว่าจะได้รับการประกันตัว ณ ตอนนั้นก็ตาม

ประเภทที่ 2: การควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้ให้ความเห็นว่าการควบคุมตัวอานนท์ นำภา เป็นการควบคุมตัวโดยพลการประเภทที่ 2 เนื่องจากเป็นการละเมิดข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งให้การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก กล่าวคือ เป็นการคุมขังอานนท์ นำภาอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งมีความชอบธรรม เนื่องจากเป็นการแสดงออกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการพิจารณาว่า  คำปราศรัยของอานนท์ นำภา ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากการชุมนุมในพื้นที่หรือบนพื้นที่ออนไลน์นั้นอยู่ในขอบเขตขอบเขตของการใช้สิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อ 19 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ บุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาลล้วนสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และการคัดค้านทางการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และกฎหมายไม่ควรมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นโดยที่ตั้งอยู่บนฐานของบุคคลที่อาจถูกกล่าวหาเท่านั้น

เมื่อพิจารณาหลักการตามข้อ 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกอาจมีข้อจำกัดได้ แต่ข้อจำกัดดังกล่าวจำต้อง (1) บัญญัติไว้ในกฎหมาย (2) ต้องสอดคล้องกับความชอบด้วยด้วยกฎหมาย (ในกรณีอันได้แก่ การคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน) และ (3) ข้อจำกัดดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน (necessity and proportionality)

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเคยได้โต้แย้งว่า กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกนั้น มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามคณะทำงานฯ ได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าว โดยให้ข้อสรุปว่า “มันไม่อาจฟังขึ้นว่าการกระทำของอานนท์ นำภานั้นจะเป็นการคุกคามสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย การสาธาณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน” 

ยิ่งไปกว่านั้น คณะทำงานฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยไม่ได้อธิบายเหตุผลว่า เหตุใดการจับกุม คุมขัง และดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา อันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ จึงเป็นการกระทำโดยเหมาะสมและได้สัดส่วน อีกทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การควบคุมตัวบุคคลภายใต้การดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศไทยนั้นเป็นมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปแบบ กล่าวคือ เป็นการควบคุมตัวบุคคลที่มีความเห็นต่างต่อกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ

ประเภทที่ 3: การควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 เป็นการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้ให้ความเห็นว่าการควบคุมตัวอานนท์ นำภา เป็นการควบคุมตัวโดยพลการประเภทที่ 3 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยหลักความชอบด้วยกฎหมาย (due process) อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุด กล่าวคือ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมถึง ข้อ 9 (3) และข้อ 14 (3) (c) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้วางหลักการในกรณีที่มีการจับกุมหรือคุมขังในข้อกล่าวหาอาญาไว้ว่า บุคคลย่อมจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่ล่าช้าเกินควร

จากคดีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอานนท์ นำภาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นระยะเวลากว่า 139 วัน โดยได้รับการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 916 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่ถูกดำเนินคดี และคดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งอานนท์ นำภาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นระยะเวลากว่า 100 วัน โดยได้รับการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 667 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่ถูกดำเนินคดี

ด้วยเหตุดังกล่าว คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการพิจารณาว่า การคุมขังอานนท์นำ ภา ภายใต้มาตรา 112 เป็นการละเมิด ข้อ 9 (3) และข้อ 14 (3) (c) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งยังขัดกับข้อที่ 38 ของหลักการเพื่อการคุ้มครองบุคคลที่ถูกกักขังหรือจำคุก (Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment)

ประเภทที่ 5: การควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติทางความคิดเห็นทางการเมือง และในฐานะที่อานนท์ นำภาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้พิจารณาแล้วว่าการควมคุมตัวโดยพลการของอานนท์ นำภา เป็นการควบคุมตัวอันเป็นเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการใช้การใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอื่น ๆ ซึ่งการพรากซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของบุคคล อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการพรากเสรีภาพของบุคคลที่ขัดกับหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติทางความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่น ๆ

การควบคุมตัวอานนท์ นำภาจึงขัดต่อข้อ 2 และข้อ 7 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 2 (1) และข้อ 26 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเป็การเลือกปฏิบัติที่อยู่บนฐานของความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่น ๆ และในฐานะที่อานนท์ นำภาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้นแล้วคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความคิดเห็นของอานนท์ นำภาเป็นประเด็นหลักของคดีดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังได้แสดงทัศนคติอันแสดงถึงการเลือกปฏิบัติ กล่าวคือ การเลือกปฏิบัติต่ออานนท์ นำภานั้นปรากฏได้จากการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา สืบเนื่องจากการทำกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 26 คดี โดยมี 14 คดีที่เป็นการดำเนินคดีตามมาตรา 112 การควบคุมตัวอานนท์ นำภาที่มีการดำเนินระยะเวลาอย่างยาวนาน และการสร้างเงื่อนไขการประกันตัวที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน

ข้อเรียกร้องจากคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศไทย

  1. ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของอานนท์ นำภาโดยไม่ชักช้า และทำให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบรรทัดฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  2. ปล่อยตัวอานนท์ นำภาทันที โดยให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชยและค่าชดเชยอื่นๆ ตามที่บังคับใช้ได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
  3. เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มที่และเป็นอิสระเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกักขังโดยพลการของอานนท์ นำภาและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการละเมิดสิทธิดังกล่าว
  4. ขอให้รัฐบาลนำกฎหมายโดยเฉพาะมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับคำแนะนำในความคิดเห็นฉบับนี้ และสอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  5. ขอให้รัฐบาลเผยแพร่ความคิดเห็นฉบับนี้โดยใช้ทุกช่องทางที่มีและกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อ่านความเห็นฉบับเต็มของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ได้ที่นี่

X