1 ปีที่ไร้อิสรภาพ: ย้อนดูการยื่นประกันตัว – ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคดี ม.112 ‘ขนุน สิรภพ’ รวม 23 ครั้ง ศาลไม่เคยเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

วันนี้ (25 มี.ค. 2568) ครบระยเวลา 1 ปี ที่ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างอุทธรณ์คดีมาตรา 112  โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี กรณีปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อปี 2563

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ถูกคุมขัง “ขนุน” สิรภพ มีความพยายามในการยื่นขอประกันตัวต่อศาล ทั้งคำร้องที่ทนายความเป็นผู้ยื่น และคำร้องที่ขนุนเขียนด้วยตนเองจากในเรือนจำ รวมแล้วได้ยื่นขอประกันตัวทั้งหมด 16 ครั้ง ซึ่งคำร้องดังกล่าวถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งทุกครั้ง ไม่เคยสั่งประกันตัวด้วยตนเอง และยังได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลฎีกาไปอีกจำนวน 7 ครั้ง

เมื่อเดือน ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ภายหลังขนุนทราบว่าศาลมีคำสั่งยกคำร้องประกันตัวเขาอีกครั้ง เขาได้ตัดสินใจอดอาหารประท้วงในเรือนจำเรียกร้องสิทธิประกันตัว โดยเสนอสองข้อเรียกร้อง คือ 1. สร้างอิสรภาพที่ถาวรแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองโดยไร้เงื่อนไข และ 2. ยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ในทางการเมือง 

หลังเขาอดอาหารไปเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ศาลก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว การอดอาหารเริ่มส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกาย เป็นผลให้ขนุนตัดสินใจเข้ารับกระบวนการรักษา Refeeding เพื่อรักษาสภาวะขาดสารอาหาร รวมแล้วขนุนอดอาหารทั้งสิ้น 24 วัน (21 ก.พ. – 16 มี.ค.​ 2568)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนย้อนดูภาพรวมการยื่นประกันตัว และการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาในคดีนี้ของสิรภพ

.

การยื่นขอประกันตัว หรือการปล่อยชั่วคราว คือ การอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานศาล ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี 

การยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล คือ ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ โดยคำสั่งของศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ และคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา (อ้างอิงจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ 20)

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ระบุไว้ว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ได้ระบุถึงการสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง คือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดีในศาล

ในข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ข้อที่ 24 ระบุไว้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา หรือใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง 

และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ในข้อ 14 (1) ระบุว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” 

อีกทั้งยังมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 11 (1) ระบุว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จําเป็นทั้งปวงสําหรับการต่อสู้คดี” 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ “ขนุน” สิรภพ เขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และต่อสู้คดีเรื่อยมา แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี เนื่องจากเห็นว่าให้การเป็นประโยชน์  หากพิจารณาตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นสามารถสั่งอนุญาตให้ประกันตัวได้ด้วยตนเอง รวมถึงในคดีนี้ยังไม่พบเหตุและพฤติการณ์ของจำเลยที่จะเข้าเงื่อนไขที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 

ในการยื่นขอประกันตัวครั้งแรกหลังมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง และในการขอประกันตัวในครั้งถัด ๆ ไป คำร้องก็จะถูกส่งไปให้ศาลสูงพิจารณาเช่นเดิม ถึงแม้ว่าไม่พบเหตุที่จะเข้าเงื่อนไขให้ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวก็ตาม พบว่าศาลก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้องตลอดมา ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

หากพิจารณาคดีมาตรา 112 อีกหลายคดี ก็พบว่าแม้ศาลชั้นต้นจะลงโทษจำคุก แต่ก็สามารถให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้เกิดคำถามต่อมาตรฐานการสั่งประกันตัว ว่ามีการพิจารณา “เลือกสั่ง” ในแต่ละคดีเช่นไร 

ภายหลังสิรภพไม่ได้ประกันตัว  ทนายความ นายประกัน และตัวของสิรภพเองได้พยายามยื่นขอประกันตัวเรื่อยมาตลอดหนึ่งปี โดยเสนอหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ทั้งจำนวน 300,000 บาท และ 500,000 บาท พร้อมทั้งคำร้องทั้งหมดได้พยายามบรรยายเหตุและพฤติการณ์ของสิรภพเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อให้ศาลพิจารณาสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประการ ได้แก่

ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี – ตั้งแต่ปี 2563 ที่สิรภพอยู่ในกระบวนยุติธรรม ได้ให้ความร่วมมือต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ เข้ารับฟังการพิจารณาคดีของศาลโดยตลอด ไม่เคยทำผิดเงื่อนไข และไม่เคยถูกเพิกถอนประกันตัวในคดีนี้ อีกทั้งยังมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง โดยอาศัยอยู่กับครอบครัว 

อีกทั้งยังมีบางคำร้องที่ระบุถึง “รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสิรภพเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีและคุมขังตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นฐานความผิดที่เข้าข่ายอาจได้รับการพิจารณานิรโทษกรรมตามรายงานฉบับดังกล่าว สิรภพจึงไม่มีสาเหตุที่จะหลบหนี และยืนยันที่จะต่อสู้คดีถึงที่สุด

อยู่ในวัยศึกษา กำลังจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท – การที่สิรภพถูกคุมขัง ทำให้เสียโอกาสด้านการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เนื่องจากไม่สามารถออกไปสมัครเรียนและสอบเข้าศึกษาต่อได้ และหน่วยกิตที่สะสมไว้จำนวน 12 หน่วยกิต อาจไม่สามารถใช้เทียบโอนเพื่อศึกษาต่อได้ เพราะระเบียบมหาวิทยาลัยสามารถรักษาหน่วยกิตไว้ได้เพียงสองปี โดยก่อนหน้านี้สิรภพมุ่งมั่นในการศึกษาตามที่ได้กล่าวสาบานด้วยวาจาครั้งที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกันตัว เพื่อให้โอกาสกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีจนจบการศึกษาเมื่อปี 2566

มีภาระต้องดูแลครอบครัว – ครอบครัวของสิรภพเป็นเพียงครอบครัวเล็ก ๆ บิดาและมารดาของสิรภพได้ล่วงเข้าสู่วัยชราที่ต้องคอยมีสิรภพคอยดูแลช่วยเหลือเป็นธุระจัดการงานหลายส่วนภายในบ้าน และสิรภพยังมีความพยายามหารายได้เลี้ยงชีพตนเองโดยไม่รบกวนครอบครัว ด้วยการทำงานเป็นผู้ช่วยทนายความเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ

ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา คดีอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ – สิรภพได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปัจจุบันศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของสิรภพไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งคดีของจำเลยมีประเด็นต่อสู้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ และที่สำคัญคือคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จำเลยจึงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

นอกจากเหตุผลสำคัญพื้นฐานข้างต้นแล้ว ในหลายครั้งของการยื่นประกันตัวสิรภพ ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีกหลายประการเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ประกันตัว อาทิ ให้คำมั่นว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 รวมทั้งไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบหรือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หรือการอื่นใดที่อาจกระทบต่อกระบวนการพิจารณาของศาล, เสนอให้มารายงานตัวตามกำหนด, เสนอให้กำหนดเวลาอยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง, เสนอให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแล ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย, เสนอให้ศาลไต่สวนบิดา มารดา และอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี, เสนอให้สั่งติดกำไล EM หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร เป็นต้น  

รวมทั้งยังเสนอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอประกันตัวเพิ่มเติม หากเห็นว่าจำเป็น เพื่อให้ศาลใช้พิจารณาประกอบการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

หรือแม้กระทั่งในช่วงที่สิรภพอดอาหารเองก็ตาม ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวให้สิรภพได้ออกมาดูแลสุขภาพร่างกาย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตอย่างในกรณี “บุ้ง” เนติพร อีกครั้ง เหตุและพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าไม่ได้เข้าเงื่อนไขที่จะทำให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว แต่ทว่าศาลก็ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันตัวตลอดมา

คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหลายครั้ง ระบุถึงเหตุผลหลักคือ “ข้อหามีอัตราโทษสูง” , “มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี” , “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” และนอกจากนั้นยังมีคำสั่งศาลอีกหลายครั้งที่ระบุถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่านำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันกษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน แต่ทั้งนี้ 

ทั้งนี้ นอกจากเหตุผลเรื่องเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี เหตุผลเรื่องอัตราโทษและการกระทำนั้น ไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมายที่จะสั่งไม่ให้ประกันตัวแต่อย่างใด ทั้งการอ้างเหตุเกี่ยวกอัตราโทษและคดีมาตรา 112 ก็ดำเนินไปโดยไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันในทุกคดี แม้คดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสูงกว่าคดีของสิรภพมาก ศาลก็มีคำสั่งให้ประกันตัวได้เช่นกัน อาทิ คดีของ “พอร์ท ไฟเย็น” ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 6 ปี แต่ศาลฎีกาอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นฎีกา
ขณะในช่วงที่สิรภพอดอาหารประท้วง ทนายความก็ได้ยื่นขอประกันตัวให้เขาออกมาดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้

.

X