ศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์สั่งประกันคดี 112 ของ “ขนุน สิรภพ” หลังยืนยันไม่มีพฤติการณ์หลบหนี-มีแผนเรียนต่อ

วันที่ 17 เม.ย. 2567 เวลา 13.45 น. ทนายความได้ยื่นประกันตัว “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ อายุ 23 ปี เป็นครั้งที่ 2 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีการปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 

ต่อมาเวลา 17.55 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีพิพากษาในคดีนี้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

ต่อมาในวันที่ 27 มี.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

ทำให้ตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาจนถึงปัจจุบัน (17 เม.ย. 2567) สิรภพถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า 23 วันแล้ว 

.

คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ ระบุขอวางหลักประกันจํานวน 300,000 บาท อันเป็นจํานวนเงินที่สูงและเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ และเสนอมารดาของจำเลยเป็นผู้กำกับดูแลในการควบคุมติดตามและกำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาลและมาตามนัดหมายของศาลโดยตลอด 

นอกจากนี้ หากศาลเห็นว่ามีความจําเป็นต้องกําหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวใด ๆ ตามกฎหมาย จําเลยยินดีปฏิบัติตามคําสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด และคำร้องดังกล่าวยังอ้างเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สามารถสรุปได้ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ 

ประการแรก คดีนี้จําเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา จําเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาของศาลชั้นต้นและมีความประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาดังกล่าวเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพราะจำเลยเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อมั่นว่าศาลจะอํานวยความยุติธรรมให้กับคู่ความทุกฝ่ายในคดีรวมทั้งจําเลย 

ประการที่สอง ศาลนี้เคยมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา จําเลยไม่เคยกระทําผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกําหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ 

ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากจําเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์จําเลยจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นหรือจะหลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของจําเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ผู้ร้องจึงขอศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคําร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดและจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจําเลย

ประการที่สาม ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ.2565 ข้อ 24 กําหนดว่า “กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจําเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา หรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จําเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่งในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา หากจําเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราว ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ แม้จำเลยยังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลที่มีอํานาจอาจมีคําสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้เงื่อนไขหรือมาตรการอย่างเดียวกับศาลล่างหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้” 

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี โดยจําเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอดและไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี จึงขอให้ศาลได้โปรดมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อยืนยันและคุ้มครองสิทธิของจําเลยในการที่จะมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม โดยไม่จำต้องส่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวจําเลยไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งคําร้อง 

ประการที่สี่ จําเลยเป็นผู้มีภูมิลําเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน อีกทั้งหากมีความจำเป็นก็สามารถติดตามจำเลยได้โดยง่าย การคุมขังตัวจําเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์เป็นการกระทําเกินสมควรแก่เหตุและเกินความจําเป็นแก่กรณี หากต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับยกฟ้องจำเลยก็มิอาจ เยียวยาหรือบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นแก่จำเลยได้ 

ทั้งนี้ จำเลยเป็นผู้มีความประพฤติดี ใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับดีและเหมาะสมต่อการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับการศึกษามหาบัณฑิต 

จำเลยจึงได้สมัครเข้าศึกษาที่สถาบันพัฒนาภาษาอังกฤษ AUA language center ตั้งแต่ มี.ค. 2565 มาจนถึงปัจจุบัน และจำเลยมีแผนที่จะสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิตต่อไป 

ประการที่ห้า จําเลยอาศัยอยู่ในบ้านร่วมกับมารดา อายุ 52 ปี, บิดา อายุ 62 ปี และน้องชายอายุ 20 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งครอบครัวจำเลยเป็นเพียงครอบครัวเล็ก ๆ ที่ต้องคอยดูแลกันและกัน ประกอบกับบิดาและมารดาของจำเลยได้ล่วงเข้าสู่วัยชราที่ต้องคอยมีลูกชายคนโตคอยดูแลช่วยเหลือเป็นธุระจัดการงานหลายส่วนภายในบ้าน 

นอกจากนี้ จําเลยยังมีความพยายามในการหาเลี้ยงดูตนเอง ด้วยการทำงานผู้ช่วยทนายความเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพ ทั้งเป็นการสร้างรายได้หาเลี้ยงชีพตนเองไม่ให้รบกวนบิดามารดาอีกด้วย หากจําเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ย่อมส่งผลกระทบต่อบิดามารดาและอนาคตในการประกอบอาชีพโดยสุจริตของจําเลยเป็นอย่างยิ่ง

(อัปเดตวันที่ 19 เม.ย. 2567) วันที่ 19 เม.ย. 2567 เวลา 14.02 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวสิรภพ โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน กรณีถือว่าร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนี ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวสิรภพ ได้แก่ บัลลังก์ จิระบุญศรี

X