(แก้ไขข้อมูลวันที่ 25 ก.ค. 2567)
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทนายความยื่นคำร้องขอประกัน อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน วัย 39 ปี และ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญาโท วัย 23 ปี ต่อศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังทั้งสองคนถูกศาลพิพากษาให้มีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หลังทนายความยื่นขอประกัน วันที่ 11 ก.ค. 2567 ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องขอประกันอานนท์ทั้ง 2 คดี ได้แก่ คดีจากการปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 และคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ
ส่วนคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ในวันที่ 13 ก.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันระหว่างอุทธรณ์ในคดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ของสิรภพ และคดีจากการปราศรัยใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 ของอานนท์ เช่นกัน
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้อานนท์และสิรภพยังคงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งจนถึงวันนี้ (17 ก.ค.) อานนท์ถูกคุมขังมาแล้ว 296 วัน ส่วนสิรภพถูกคุมขังมาแล้ว 115 วัน
ยื่นประกัน “อานนท์” เป็นครั้งที่ 14 หลังถูกคุมขังใน 3 คดี มาแล้วเกือบ 10 เดือน
ในส่วนของอานนท์นั้น ปัจจุบันถูกคุมขังด้วยโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 รวม 10 ปี 20 วัน หลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว 3 คดี ได้แก่ คดีปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี จึงเป็นผลให้อานนท์ถูกคุมขังตั้งแต่นั้นเรื่อยมา, คดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุกอีก 4 ปี และคดีปราศรัยใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 29เม.ย. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาให้จำคุกอีก 2 ปี 20 วัน
ในระหว่างถูกคุมขังหลังศาลมีคำพิพากษานี้ทนายความได้ยื่นประกันระหว่างอุทธรณ์ในทั้งสามคดีมาแล้วรวม 13 ครั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งทั้งหมด และศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องทุกครั้งเช่นกัน
ในครั้งนี้ ทนายความได้ยื่นขอประกันอานนท์ในทั้งสามคดีที่กล่าวมาข้างต้น โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวนคดีละ 500,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลโดยสรุปว่า ภรรยาของจำเลยต้องรับภาระหนักในการดูแลบุตร 2 คน เพียงคนเดียว และเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567 บุตรคนเล็กวัย 1 ปีเศษ ประสบอุบัติเหตุจากเตารีด อันเป็นผลมาจากจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว หากได้รับการประกันตัว จำเลยตั้งใจจะไปดูแลบุตรทั้งสองคนร่วมกันกับภรรยา
นอกจากนั้นจำเลยยังประกอบอาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิและเสรีภาพจากการแสดงออกทางการเมืองหลายคดีในหลายศาล การที่จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวจึงส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ทนายความของจำเลยและเกิดความเสียหายของลูกความเป็นอย่างยิ่ง
คดีของจำเลยยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด จำเลยจึงยังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากจำเลยมีประเด็นต่อสู้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
อีกทั้งศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยในระหว่างสอบสวนและระหว่างการพิจารณาคดี โดยจำเลยไม่เคยทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และไม่เคยถูกถอนประกันจากทั้งสามคดีนี้เลยซักครั้ง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือจะหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ยังเคยอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไปร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และจำเลยก็เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลตามนัด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันและรับรองว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
ยื่นประกัน “ขนุน” สิรภพ เป็นครั้งที่ 6 หลังถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 4 เดือน
ในส่วนของสิรภพ เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ซึ่งภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันสิรภพในชั้นอุทธรณ์ แต่คำร้องดังกล่าวถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง ทำให้สิรภพถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าทนายความจะยื่นคำร้องขอประกันตัวไปถึง 5 ครั้งแล้ว
ในครั้งนี้ ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวสิรภพอีกเป็นครั้งที่ 6 ระบุในคำร้องโดยสรุปว่า ขอวางหลักประกันจํานวน 500,000 บาท และยินยอมให้ติด EM อันเป็นหลักประกันที่สูงและน่าเชื่อถือได้ว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้วจะไม่หลบหนี ไม่หลีกเลี่ยงมาศาลตามหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนดขึ้น
คำร้องระบุอีกว่า คดีของจำเลยยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด จำเลยจึงยังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากจำเลยมีประเด็นต่อสู้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
นอกจากนั้น จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งจำเลยเคยได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี ระหว่างนั้นจำเลยให้ความร่วมมือต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และเข้ารับฟังการพิจารณาตามสิทธิของจำเลยในคดีอาญาโดยตลอด ไม่เคยทำผิดเงื่อนไข และไม่เคยถูกเพิกถอนการประกันตัวในคดีนี้
อีกทั้งจำเลยอาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัว บิดามารดาล่วงเข้าสู่วัยชราต้องมีจำเลยซึ่งเป็นลูกชายคนโตคอยดูแลช่วยเหลือ เป็นธุระจัดการงานหลายส่วนในบ้าน จึงไม่มีเหตุอันใดหากศาลให้โอกาสจำเลยกลับไปช่วยเหลือแบ่งเบาภาระหน้าที่แก่บิดามารดา แล้วจำเลยจะหลบหนีไป
.
หลังทนายความยื่นขอประกันตัว คำร้องบางส่วนศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณา และบางส่วนถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง
โดยในวันเดียวกันนั้นศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องขอประกันอานนท์ทั้ง 2 คดี ได้แก่ คดีจากการปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 และ คดีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ ระบุว่า “พิเคราะห์ตามคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และคำร้องนี้แล้วเห็นว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ การลงลายมือชื่อในคำร้องประกอบการปล่อยชั่วคราวไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำรับรองลายมือชื่อ ทั้งในคำร้องนี้ก็มีชื่อเฉพาะของผู้ขอประกันโดยไม่มีชื่อของจำเลย นอกจากนี้ผู้ขอประกันลงชื่อในคำร้องเป็นผู้เรียงโดยไม่ปรากฏว่าเป็นทนายความ ซึ่งศาลได้ให้เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกผู้ขอประกันแล้วตามรายงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีการมาติดต่อหรือแสดงตนเพื่อให้ศาลสอบถามเกี่ยวกับลายมือชื่อตามข้อกล่าวข้างต้น จึงไม่รับคำร้อง”
ต่อมา ในวันที่ 13 ก.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันในคดีการปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ของสิรภพ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
และยกคำร้องการประกันตัวคดีจากการปราศรัยใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 ของอานนท์ เช่นกัน โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี 20 วัน โดยให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอื่น หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้อานนท์และสิรภพยังคงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งจนถึงวันนี้ (17 ก.ค.) อานนท์ถูกคุมขังมาแล้ว 296 วัน ส่วนสิรภพถูกคุมขังมาแล้ว 115 วัน
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
รู้ว่ายาก แต่อยากเคียงข้าง “ขนุน”: เมื่อ ม.112 ทำคนชิดใกล้ ให้ไกลห่าง