เป็นเวลา 88 วันแล้ว ที่ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญาโท วัย 23 ปี ต้องปราศจากอิสรภาพ หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาในคดีมาตรา 112 จำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีปราศรัยชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563
นับตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน ขนุนต้องใช้ชีวิตหลังกำแพงสูงที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมา โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี แม้คำร้องขอประกัน จะชี้แจงว่า เขาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีแผนเรียนต่อระดับปริญญาโท และต้องดูแลพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยชรา
จากคนที่ชอบศึกษาเรื่องราวทางการเมือง และวัฒนธรรม ผ่านตัวหนังสือ และการเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง การที่ขนุน ผู้มีบุคลิกร่าเริงของเพื่อน ๆ ต้องถูกจองจำจากการแสดงออกการเมือง ก็ทำให้คนคุ้นเคยต่างเสียดายโอกาสชีวิตของขนุน ที่ควรได้ทำสิ่งที่อยากทำมากกว่านี้ ได้ใช้ชีวิตที่เลือกเองได้
ความห่วงหาจากคนใกล้ชิด ที่ต่างคนต่างรอจะได้พบขนุนอีก ถ้อยคำแห่งความปรารถนาดี จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทุกคนคิดตรงกันว่า “เพื่อน” ผู้ใช้ชีวิตข้างในนั้น ควรจะได้รับรู้ ในวันที่ต้องห่างกัน เพราะคดีมาตรา 112
.
“แฟรงค์” เนติวิทย์: “รอวันเขียนหนังสือออกมา ยินดีตีพิมพ์”
“แฟรงค์” เนติวิทย์ รู้จักกับขนุน ตั้งแต่ขนุนอยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะที่เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ “ผมและเพื่อน ๆ อยากให้มีกลุ่มนักเรียน ที่เคลื่อนไหวด้านสังคม ก็พยายามเชิญชวนน้อง ๆ หลาย ๆ คน ก็เจอขนุนในตอนนั้น”
แฟรงค์ เล่าว่า แรกพบขนุนเป็นคนร่าเริงแจ่มใส และช่างคิดช่างถาม ตั้งแต่ตอนนั้นก็รู้จักกันเรื่อยมา แต่ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมาก เพราะช่วงอายุที่ห่างกันพอสมควร และแฟรงค์ก็ไม่ประสงค์เข้าไปแทรกแซงกิจกรรมของกลุ่มนักเรียน กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ขนุนก็มาขอคำปรึกษา อยากจะทำสภานิสิตนักศึกษาที่ มศว.
จากวันที่เจอสมัยมัธยมฯ แฟรงค์เห็นความรับผิดชอบที่ขนุนมีสูงขึ้น และแสวงหาความรู้อย่างจริงจังมากขึ้น อยากเขียนหนังสือ พูดถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ในมหาวิทยาลัย สนใจการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเมืองเมียนมา ดังที่เขาไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเตรียมย้ายมาที่จุฬาฯ ด้วย “เห็นได้ถึงความจริงจังในด้านการศึกษา สปิริตตรงนี้เขาชัดเจนมาก”
แฟรงค์ เล่าอีกว่า ตอนที่เปิดร้านอาหาร “ประชาธิปไตยกินได้” ขนุนมาอุดหนุนอยู่เป็นประจำ ทั้งให้คำแนะนำว่าควรจะปรุงยังไง อย่าง “ซาโมซา” ขนมแป้งทอดรูปทรงสามเหลี่ยม ที่มีทั้งในวัฒนธรรมอินเดีย และพม่า ขนุนก็เคยแนะนำว่า นอกจากสิ่งนี้ยังมีอาหารพม่าหลายแบบ
ขนุนแนะนำจากประสบการณ์การกินอาหารพม่าที่เคยได้ไปกินมาหลายแห่ง พร้อมกรรมวิธีที่จะช่วยให้อาหารอร่อยขึ้น สำหรับเจ้าของร้านนั้นเป็นคำแนะนำที่ดีมาก สำหรับการปรับปรุงของร้าน “นอกจากนี้ก็มาพูดคุยกันในเรื่องที่ว่า จะทำยังไงให้ร้านมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งขนุนก็คงรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับที่นี่พอสมควร เพราะวันก่อนที่เขาจะถูกตัดสินขนุนก็มาใช้พื้นที่ของที่นี่จัดกิจกรรม”
“เขาเป็นคนมีเสน่ห์ สุภาพเรียบร้อย ผู้หลักผู้ใหญ่คงชื่นชอบ เป็นคนไม่ได้อวดอ้างความรู้ว่าตนเองมีความรู้อะไร คุยกับใครก็เข้าได้หมดเลย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีอุดมการณ์ที่หนักแน่น ในเรื่องของการต่อสู้คือไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย” แฟรงค์กล่าว ก่อนเล่าถึงเหตุที่ขนุนถูกจำคุกมาตรา 112 แล้วไม่ได้ประกันตัว
“ตอนแรกผมคิดว่า ขนุนคงไม่โดนอะไรรุนแรงขนาดนี้ เพราะเขาเพิ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโทด้วย ในระยะหลังก็มามุ่งมั่นทางวิชาการมาก ไม่ได้จะไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง และยังสื่อสารไปยังเด็กรุ่นหลัง ๆ ว่า ให้ระมัดระวังตัวในการเคลื่อนไหว”
แฟรงค์ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่ขนุนต้องเสียเวลาเพิ่ม ต้องมาวุ่นวายกับการโดนคดี และความรู้สึกแย่ที่กระทบกระเทือนจิตใจไปอีกพอสมควร “เขาก็ไม่ควรได้เจออะไรแบบนี้ ซึ่งทำให้โอกาสในชีวิตเขาน้อยลงจากการต้องไปอยู่ข้างในเรือนจำหลายเดือน หรืออาจจะหลายปี”
มากกว่านั้นแฟรงค์ห่วงสภาพจิตใจขนุน ว่าจะทนได้หรือไม่ จะมีชีวิต หรือมีพลังที่จะทำอะไรได้บ้างไหม “กลัวว่าเข้าไปแล้ว ถ้ามันแย่มาก เขาก็อาจจะไม่มีกะจิตกะใจอะไรเลย ก็หวังว่าเขาจะมีจิตใจที่ยังเข้มแข็งอยู่ และรักษาลักษณะบุคลิกของเขา ที่เป็นคนอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน เป็นคนรู้จักพูดคุยกับคน ก็หวังว่าจะมีคนดี ๆ อยู่ข้างในที่คุยกับเขา เป็นเพื่อนกับเขา ทำให้เขายังเป็นคนที่มีสุขภาพจิตที่ดี และลักษณะบุคลิกที่พึงเป็นของเขาอยู่ต่อไปได้”
สิ่งที่แฟรงค์หวัง คือ อยากให้ขนุนรักษาจิตใจของตัวเองไว้ อย่าทำให้การถูกจองจำครั้งนี้ ทำให้เราสูญเสียสิ่งดี ๆ ของตัวเอง ซึ่งความพยายามลดทอนความเป็นมนุษย์ของเรานั้น ถ้าเราไม่ยอมให้มันทำสำเร็จ มันก็ย่อมพ่ายแพ้เรา “ผมเชื่อว่าในระยะยาวเราก็ต้องชนะ ในสิ่งที่เราทำ ในสิ่งที่เรายังยืนหยัดหลักการอยู่ได้”
แฟรงค์ ระบุทิ้งท้ายว่า หากขนุนจะยินดีมาที่ร้าน หลังออกจากเรือนจำแล้ว “ผมก็พร้อมแนะนำว่า เขาเขียนหนังสือออกมาได้นะ ในเรื่องราว และประสบการณ์จากเรื่องนี้ ยินดีตีพิมพ์ หรือระหว่างนี้อยากได้หนังสืออะไรก็บอกได้เลย เดี๋ยวช่วยส่งเข้าไปให้”
“หอย” ธนชัย: “รอให้ได้ออกมาเรียนด้วยกัน”
หอยเริ่มบทสนทนาว่า เขารู้จักขนุนครั้งแรกช่วงต้นปี 2563 หอยเป็นคนทำแฟลตม็อบที่ ม.รามคำแหง ส่วนขนุนอยู่ มศว. เวลามีชุมนุมที่ไหน หอยจะไปสังเกตการณ์ แล้วจะเจอกันบ่อย แต่รู้จักกับขนุนจริง ๆ ช่วงต้นเดือนมีนาคม ที่มีการรวมตัวกันของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยเชิญตัวแทนของแต่ละที่มาคุยกันว่าจะทำกิจกรรมในอนาคตอย่างไร เริ่มมีการจัดตั้งทีมกัน เลยคุ้นเคยกับขนุนตั้งแต่ตอนนั้น กิจกรรมแรกรวมตัวที่รัฐสภา มีแถลงการณ์ในจุดยืนว่าจะจัดกิจกรรมเรียกร้องขับไล่รัฐบาลกันต่อไป ก่อนจะห่างไปช่วงล็อคดาวน์หลายเดือนถึงช่วงกลางปี ที่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง
หลากหลายเหตุการณ์ที่ทั้งคู่เผชิญร่วมกัน หอยประทับใจ “ม็อบกระดาษเปล่าบนสกายวอล์ค” วันนั้นขนุนนำกระดาษแผ่นใหญ่ที่ไม่ได้เขียนข้อความอะไรไปกางบนสกายวอล์ค แล้วตำรวจก็รีบวิ่งมาจับ “เขาก็ถามจับผมทำไม ? ผมไม่ได้ชูอะไรที่กฎหมายห้าม ตำรวจคลี่ดูก็เจอเพียงกระดาษเปล่า”
อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งช่วงนั้นเจ้าหน้าที่รัฐไม่อยากให้จัดชุมนุม ขนุนก็ถือโทรโข่งไปตะโกน “สวนสวยจริง ๆ” ทำให้มีคนตามมาดูเรื่อย ๆ “ตอนแรกน้องว่าจะไปคนเดียว แต่กลายเป็นว่ามีคนมาทำข่าว ตามกันมาเรื่อย ๆ”
พ้นไปจากการชุมนุม ขนุนมักจะชวนเพื่อน ๆ รอบตัวที่อยากหาความรู้เรื่องการเมืองเพิ่มเติมไปนั่งเรียนในชั่วโมงเรียน เช่น ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น หรือพาไปเจออาจารย์และนักวิชาการ ไปนั่งกินข้าว ถกความคิดเห็นกัน บางทีก็ชวนกันไปหาหนังสืออ่านเพิ่ม บางทีก็ไปห้องสมุดปรีดี ที่ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพราะขนุนได้สิทธิ์จากสัญญาที่ทางมหาวิทยาลัยที่ให้เข้าใช้ห้องสมุดร่วมกันได้
เท่าที่สัมผัสขนุน หอยพบว่าเขาสนใจเรื่องการเมืองต่างประเทศ ระบอบการปกครองต่างประเทศ โดยเฉพาะการเมืองเมียนมา ในห้วงรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา พยายามค้นหาว่าเมียนมาเป็นอย่างไร อุปนิสัยคนเป็นยังไง จนไปตามหาร้านอาหารพม่าในประเทศไทยมีตรงไหนบ้าง แล้วก็ชวนกันไปกิน
นอกจากสนใจเมียนมาแล้ว ขนุนยังสนใจอินเดีย “เขาชอบชวนไปเดินพาหุรัดเพื่อไปสังเกตว่าคนอินเดียเขาเป็นยังไง ไปกินอาหารอินเดีย ซึ่งช่วยให้เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน หรือกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีชุมชนอยู่ตรงนั้น อยู่ตรงนี้ มีอาหารร้านนี้น่าลอง จากฝีมือต้นตำรับ”
นั่นจึงทำให้เพื่อนร่วมเดินทาง เสียดายอนาคตของขนุน “เพราะกำลังเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ เหมือนต้องทิ้งตรงนี้ไปเลย จริง ๆ ก็มีนักกิจกรรมหลาย ๆ คนที่กำลังเรียนอยู่แล้วได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ก็เป็นห่วงเรื่องนี้เหมือนกันว่า แล้วเขาจะใช้ชีวิตยังไงต่อ เพราะมันเหมือนเสียอนาคตตรงนี้ไปเลย”
หอยเล่าต่อว่า ขนุนเคยคุยว่าจะย้ายมาเรียนปริญญาโทที่ จุฬาฯ แทน “ผมก็เตรียมไปสมัคร ก็นัดแนะกันเสร็จ สรุปน้องไม่ได้ประกันตัว ผมจึงยังไม่ได้สมัครเลย เพราะผมก็เพิ่งจบไล่ ๆ กับตอนที่เขาจบปริญญาตรี”
หอยระบุว่า โทษที่ขนุนได้เผชิญนั้นเลวร้ายเกินไป “เพราะว่าน้องก็ขาดโอกาสทางการศึกษาไป ทั้งที่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง มีการเรียน มีสถานะอะไรที่โอเคอยู่แล้ว แต่ศาลไม่ให้ประกันเพราะกลัวจะหลบหนี ก็น่าเสียดายโอกาสตรงนี้” กับความฝันที่เคยได้เปรยไว้ “เขาคงฝันจะทำงานด้านวิชาการมากกว่า ส่วนตัวผมคิดว่าเขาน่าจะทำเกี่ยวกับพวกวิจัย เกี่ยวกับพวกการเมืองต่างประเทศ”
หอย ยังเป็นห่วงความเป็นอยู่ข้างใน ที่ไม่ได้สบายแบบข้างนอก เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ชุมนุมปี 2563 ที่โดนแก๊สน้ำตารุนแรง ขนุนก็เข้าโรงพยาบาลไป 1-2 วันเลย
ก่อนสุดท้ายฝากถึงขนุน และคนที่ถูกจำคุกจากคดีการเมืองว่า “ขอเป็นกำลังใจ ขอให้ทุกคนได้รับอิสรภาพโดยเร็ววันและรอขนุนให้ได้ออกมาเรียนด้วยกัน”
.
“น้ำหวาน”: “ ยังรอคอยเสมอ ไม่ว่าจะนานเท่าไรก็ตาม”
ในฐานะเพื่อนสมัยโรงเรียน น้ำหวานพูดถึงบรรยากาศสถานศึกษาแห่งหนึ่งย่านปริมณฑล แบ่งนักเรียนเป็นห้อง ๆ ลดหลั่นลงมาตามเกรดเฉลี่ย ขนุนอยู่ห้องกลาง ๆ ซึ่งก็พอคาดการณ์จากตัวเลขห้องได้ว่า ไม่ได้เรียนเก่งถึงขั้นดีเลิศ แต่สิ่งที่เห็นและจดจำขนุนได้คือ ขนุนเป็นคนตลก และเข้าสังคมง่าย “อีกที รู้จักอีกทีก็พบว่ามานั่งกินขนมกินอะไรร่วมกันเป็นกลุ่ม”
เราน่าจะรู้จักขนุนผ่านเพื่อนของเพื่อน เป็นทอด ๆ ไป
จนกระทั่งชั้น ม.ปลาย น้ำหวานและขนุนได้มาอยู่ศิลป์ภาษาญี่ปุ่นห้องเดียวกัน ความรู้สึกของเพื่อนตอนนั้นขนุนก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป มีติดเกม ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร “เราในตอนนั้นก็จะเป็นแนวเด็กหน้าห้อง ขนุนก็จะชอบมาวนเวียน ด้วยความเฟรนด์ลี่ ก็มาขอเข้าร่วมเวลาต้องทำงานกลุ่มบ้าง”
ทว่าจุดพลิกผันที่น้ำหวานรู้สึกว่า ขนุนนั้นเป็นขนุนในปัจจุบันมากขึ้น เป็นช่วง ม.5 จากเหตุการณ์รับสมัครสภานักเรียน “ขนุนและเราก็ลงสมัคร แต่ลงคนละพรรค ปรากฏว่าพรรคของขนุนก็ชนะ หลังจากนั้นเรามีโอกาสได้ไปสนับสนุนพรรคที่ขนุนอยู่ ขนุนก็เริ่มฉายแววในด้านนี้จากการเริ่มทำกิจกรรม”
น้ำหวาน ระบุว่า ขนุนมักรายงานความคืบหน้าการทำกิจกรรมกับ “กลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไท” ผ่านอินสตาแกรม หลายครั้งขนุนก็เล่าให้ฟัง หนึ่งในนั้น คือ การค้นพบว่า ตนเองอยากเรียนรัฐศาสตร์ “เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเพื่อนเรามีพัฒนาการ จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็ฉายแววว่า เขาสนใจด้านนี้จริง ๆ ด้วยเป้าหมายว่า ‘อยากเป็นอาจารย์’ ”
“เราก็รู้สึกดีใจว่า เพื่อนหาตัวเองเจอ ขนุนพบเส้นทางในอนาคตที่ชัดเจนมาก ๆ วางแผนอนาคตได้ว่าจะลงกี่หน่วยกิต ปล่อยกี่หน่วยกิต สนใจอะไรก็ศึกษารายละเอียดอย่างลึกซึ้ง อย่างเช่นเรื่องพม่า ซึ่งขนุนก็จะนำสิ่งที่สนใจและผ่านการศึกษามาแล้ว มาเล่าให้ฟัง แล้วก็ชอบพาไปเปิดประสบการณ์การกินอาหารเอเชีย ลองกินอะไรที่แตกต่างออกไป เช่น อาหารพม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ อะไรทำนองนี้”
สำหรับน้ำหวาน ในช่วงที่การเมืองร้อนแรงจากฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ขนุนเป็นตัวจุดประกายที่ชวนให้ ตั้งคำถาม กับบางสิ่งที่ก่อนหน้าเราไม่กล้าแม้แต่ตั้งคำถาม ฝั่งของรัฐก็ไม่ได้ถูกต้องเสียทีเดียว
“เรื่องหนึ่งเลยคือเราไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 มันทำให้เราตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ด้วยปัจจัย สภาพแวดล้อม สังคม การเมืองในขณะนั้นด้วย ทำให้เราค่อนข้างสนใจด้านนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ รองลงมาจากแขนงวิชาเอกภาษาญี่ปุ่นที่เราสนใจเป็นหลัก”
น้ำหวานยังพูดถึงตอนที่ ขนุนโดน ม.112 ช่วงหลังม็อบปี 2563 “ช่วงปี 2565 เราหายไปอยู่ญี่ปุ่นหนึ่งปีในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยน เท่ากับว่าเราไม่ได้เจอขนุน 1 ปี พอกลับมา ก็เพิ่งได้ไปกินดื่มและเที่ยวด้วยกัน มีแพลนว่าจะใส่ชุดครุยไปถ่ายรูปด้วยกัน วางแผนกัน ล่าสุดก่อนที่ขนุนจะเข้าคุก เขาก็บ่นว่าอยากจะชวนไปหัวหินด้วยกัน มันก็เป็นแผนที่ดีนะ เราก็วางไว้ เพราะในช่วงโควิด เราไม่ได้ทำ ซึ่งเรากำลังจะมาทำหลังจากนี้ที่คนกลับมารวมกลุ่มกันได้แล้ว แต่แผนทุกอย่างก็พัง พังไปแบบรวดเร็ว”
น้ำหวาน ยังเป็นห่วงขนุนสภาพจิตใจ และตัวตนของขนุนในห้วงเวลาถูกจองจำ เธอบอกว่า มีโอกาสอ่านจดหมายที่มาจากขนุน อ่านแล้วรู้สึกแย่มาก ทุกครั้งที่กลับไปอ่านจดหมายฉบับนั้น มีความรู้สึกอยากจะร้องไห้ เพราะรู้ว่า มันแย่มาก ๆ
ก่อนเพื่อนสนิทบอกข้อความไว้ว่า เป็นห่วง คิดถึง และอยากเจอมาก ๆ ไม่อยากให้ขนุนได้อยู่ครบระยะเวลา 2 ปี อยากให้มีปาฏิหาริย์บางอย่างให้ได้กลับมาเจอกัน อยากจะไปทำทุกอย่าง กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราเคยทำร่วมกันก่อนเข้าคุก ไปเที่ยว ไปเดินเล่น ไปตระเวนกินอาหาร และไปเที่ยวหัวหิน ตามที่นัดหมายแล้วยังไม่ได้ไป ไปถ่ายรูปชุดครุย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก ๆ ยังอยากนั่งฟังขนุนบ่นเรื่องเรียนปริญญาโทเหมือนเดิม อยากให้ทุกอย่างที่ทำมาในอดีตนั้นเป็นเหมือนเดิม
.
“เบนจา”: “ขอให้รักษาจิตใจ- สุขภาพของตัวเองให้อยู่ได้”
“ขนุนเป็นคนกวนตีน มีมุกเฉพาะตัวของเขา อารมณ์ดีตลอดเวลา บทจริงจังเขาก็จริงจัง แต่ก็ยังมีความกวนแฝงอยู่ด้วย เรานับถือขนุนในทางที่ว่า เขาอ่านหนังสือเยอะ ชอบศึกษาหาความรู้ใส่ตัว ขณะเดียวกันก็ดูเป็นคนไม่ค่อยเครียด กับเรื่องในขบวนชุมนุม เรารู้สึกว่าเขาดูมีเรฟเฟอเรนซ์ สามารถแนะนำได้ว่าจุดนี้ควรเพิ่มยังไง จากการไปศึกษาหนังสือเล่มไหน ซึ่งมันมาจากสิ่งที่เขาไปอ่านเจอ และศึกษามา สะท้อนถึงความตั้งใจของเขาที่จะศึกษาเล่าเรียนจริง ๆ” เบนจาบอกเล่าภาพจำที่มีต่อขนุน
ก่อนเล่าสะท้อนความทรงจำถึงขนุนว่า “เสียดายที่เขาไม่ได้กลับมาเรียน เพราะเราลองมานึกถึงสภาพเรา ถ้าตั้งใจอยากจะศึกษาเล่าเรียน แล้วโดนขังไว้อย่างนั้น มันทำอะไรไม่ได้จริง ๆ พอมานึกดูดี ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่เสียใจที่สุดหรอกที่เขาไม่ได้เรียน เพราะว่าเรื่องทั้งหมดทั้งมวลมันคือ การที่เขาไม่สามารถได้ใช้ชีวิตอย่างที่เขาต้องการมากกว่า”
เบนจาเป็นอีกนักศึกษาที่เคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำ “ การเข้าไปอยู่ในนั้น คุณต้องถูกควบคุมกิจวัตรประจำวันของคุณ คุณไม่มีสิทธิ์อะไรในชีวิต มันมากกว่าเรื่องขนุนจะไม่ได้ไปเรียน ขนุนจะไม่ได้ไปเที่ยว แต่มันคือ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของชีวิต อย่างเรื่องเล็ก ๆ เช่นการ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ คุยกับเพื่อนอย่างที่ตัวเองต้องการ มันหายไปหมดเลย”
เบนจา ยังห่วง “สภาพจิตใจ” ของขนุน “อยู่ในนั้นสิ่งแรกเลยที่เราต้องไม่ให้สูญเสียไป ในสถานที่ที่เลือกไม่ได้ คืออย่าไปคาดหวังว่าจิตแพทย์จะดี ขนาดเราอยู่นอกคุกเราเจอสภาพประเทศไทยแบบนี้ เรายังหดหู่เลย นี่แบบว่าในคุก มันคือทวีคูณความหดหู่เข้าไป มันไม่มีอิสระ สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือ การรักษาจิตใจ และสุขภาพของตัวเองให้ดำรงคงอยู่ได้”
ประการที่สอง “การสูญเสียซึ่งอิสรภาพมันก็เจ็บปวดมากพอแล้ว นี่แบบเรา เราแค่แสดงความคิดเห็น แต่เราต้องมาติดคุกถ้าเราทำผิดจริง ๆ เราไปทำร้ายใครจริง ๆ แล้วเราได้รับโทษโดยการที่ต้องโดนคุมขัง เราอาจพอคุยกับตัวเองได้ว่า เพราะว่าเราไปทำอย่างนี้ แต่นี่คือ เจตนาดี สิ่งที่เรียกร้องกันมา มันไม่ได้เป็นเจตนาที่แย่ มันคือเจตนาที่เราหวังว่า จะทำให้ประเทศนี้มันดีขึ้น ทำไมการที่เราอยากจะให้ประเทศมันดีขึ้น ทำไมเขาปฏิบัติกับเราแบบนี้ มันยิ่งเจ็บปวดเข้าไปอีก เลยคิดว่าการต่อสู้กับความรู้สึกข้างในมันเป็นสิ่งสำคัญ”
บทสนทนาท้าย ๆ เบนจาวาดภาพไว้ว่า หากขนุนได้ออกมาจะชวนไปเที่ยว “ดรีมเวิลด์” : “เรารู้สึกว่ามันทำให้ อะดรีนาลีนหลั่งดี มันสนุกดี อยากพาไปคลายเครียด อยากพาไปทำอะไรที่มันหวาดเสียวน่าตื่นเต้น เพราะชีวิตที่ผ่านมา เครียดมากพอแล้ว”
.
“จิ๊บ”: “ยังอยู่ตรงนี้ ยืนข้างขนุน”
ในฐานะเพื่อนอีกคนที่พบเจอกับขนุนบ้างจากการทำกิจกรรมและพบปะในโอกาสอื่น ๆ จากชีวิตที่สหรัฐอเมริกา และในฐานะคนเคยคุ้นเคย จิ๊บบอกว่า เสียดายเวลาที่หายจากกันไป แทนที่จะได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน ไปเที่ยวกัน ก่อนจิ๊บมาที่นี่ “ก็กะว่าจะไปนั่งกินข้าวหรือไปกินเหล้าด้วยกันก่อน ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่มีโอกาสนั้นเพราะขนุนไม่ได้อยู่ข้างนอก และเสียดายที่ว่าขนุนนั้นก็เป็นคนที่ตั้งใจเรียนปริญญาโท แต่เราก็มั่นใจในตัวเพื่อนแหละ มั่นใจว่าเขาเองก็อยากจะเรียนให้จบ ก็เสียดายว่า แทนที่ว่าจะได้เรียนจนจบปริญญาโทสักที ก็กลายเป็นว่าสิ่งนี้มันต้องขยายเวลาออกไปอีก เสียดายเวลาของคน ๆ หนึ่งที่ต้องเข้าไปอยู่ในนั้นโดยไม่ได้อะไร”
กับเรื่องสุขภาพจิต จิ๊บบอกอีกว่าข้างนอกขนุนทำตัวเข้มแข็งมาก แต่ข้างในนั้นขนุนคนเดิมอาจเป็นคนถูกกัดกร่อนจากระบบในเรือนจำ และยิ่งอยู่นานขนาดนี้โดยไม่ได้เจอใครเลย “แล้วกลัวสุขภาพจิตก็แย่ลงไปทุกวัน เพราะอยู่ในนั้นมันไม่มีอะไร อยู่ในความมืดของรั้วแล้วไม่ได้สัมผัสกับอิสรภาพ กลัวมากว่าขนุนออกมาแล้วจะเป็นคนที่ร่าเริงได้เหมือนเดิมหรือเปล่า”
จิ๊บฝากข้อความทิ้งท้ายว่า “คิดถึงมาก ๆ ถ้ากลับไปแล้วได้ประกันก็หวังว่าจะได้เจอกันแล้วก็ไปร้าน ‘Moonshine’ ด้วยกัน แล้วก็อยากให้เขาดูแลตัวเองดี ๆ ข้างใน รู้ว่ามันยาก แต่ก็เป็นกำลังใจ ไม่รู้ว่าจะช่วยยังไงบ้าง แต่อยากให้ขนุนรู้ว่า เราก็ยังอยู่ตรงนี้ ยืนข้างขนุน”
.