ศาลยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกฉบับของวันที่ 18 มิ.ย. 2567 

ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ยังยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกฉบับ รวม 13 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ขนุน สิรภพ, อารีฟ วีรภาพ, จิรวัฒน์, อัฐสิษฎ, กัลยา, ไพฑูรย์, สุขสันต์, ถิรนัย, ชัยพร, ขจรศักดิ์, คเชนทร์ และประวิตร ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม หลังจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 จำนวน 6 คน และคดีที่มีมูลสืบเนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอีก 7 ราย ที่ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดนราธิวาส

การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองในระลอกนี้ มีแนวโน้มที่ไม่แตกต่างกันกับการยื่นขอประกันตัวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. และ วันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยศาลก็ยังคงยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองกลุ่มนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีเช่มเดิม

6 ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ศาลอุทธรณ์ชี้การกระทำสร้างความเสื่อมเสีย – ทำลายระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข

วันที่ 19 มิ.ย. 2567 ศาลฎีกายกคำร้องขอประกันตัวของ “กัลยา” พนักงานจากกรุงเทพฯ วัย 28 ปี เป็นรายแรก หลังเธอถูกคุมขังระหว่างฎีกา หลังจากวันที่ 20 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 6 ปี จากการแชร์และโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความ ทนายยื่นประกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5  ศาลฎีกาไม่ให้ประกันมาเรื่อยมา

ต่อมาในวันที่ 20 มิ.ย. ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ จำเลยรวม 3 คน ได้แก่ อานนท์, จิรวัฒน์ และสิรภพ

ในกรณีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของอานนท์ นำภา ในคดี #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 ได้มีข้อความคำสั่งที่ระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 20 วัน และให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นอีกสองคดี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่าง อุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

การระบุคำสั่งดังกล่าวข้างต้น เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ เมื่อปี 2563 ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้ระบุคำสั่งในลักษณะเดียวกันนี้ว่าการกระทำของอานนท์เป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา ก่อนที่ภายหลังศาลฎีกาจะยกคำร้องและคงคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ในคดีนี้ 

ส่วนกรณีของจิรวัฒน์ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวกว่า 8 ครั้งแล้ว และล่าสุดคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของเขาก็มีลักษณะไปในทำนองเดียวกันกับของอานนท์ โดยศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้อง ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วประกอบกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นพิจารณา ข้อหามีอัตราโทษสูง การกระทำของจำเลยมีลักษณะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

ทั้งในกรณีของขนุน สิรภพ นักศึกษาวัย 23 ปี เอง ก็ได้ยื่นประกันตัว โดยมีนักวิชาการได้แก่ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอตัวเป็นผู้ขอกำกับดูแลจำเลยด้วยตนเอง แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงคำสั่งเดิม ระบุ ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเรื่อยมาเป็นระยะเวลากว่า 89 วันแล้ว

นอกจากนี้ ในวันที่ 21 มิ.ย. 2567 ในกรณีของ “อารีฟ” และ “อัฐสิษฎ” สองผู้ต้องขังคดี ม.112 เองก็ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวคือเช่นเดียวกับผู้ต้องขังคนอื่น ๆ เรื่อยมา โดยทั้งสองคนถูกควบคุมตัวระหว่างอุทธรณ์คดีอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งอารีฟถูกคุมขังมานานกว่า 268 วัน ส่วนอัฐสิษฏถูกคุมขังมานานกว่า 115 วันแล้ว

7 ผู้ต้องขังคดีเผา – ทำลาย และมีวัตถุระเบิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ถูกขังข้ามปี ไร้แววได้สิทธิประกันในศาลสูง

ในกรณีของผู้ต้องขังทางการเมืองในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้าร่วมชุมนุมอื่น ๆ ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร,ประวิตร,ขจรศักดิ์, คเชนทร์, ไพฑูรย์ และสุขสันต์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องขังทางการเมือข้ามปี 2566 และถูกคุมขังมาระยะหนึ่ง โดยไม่มีคดีใดที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุด โดยเฉพาะถิรนัย และชัยพร ซึ่งเป็นสองนักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอิสระที่ถูกคุมขังนานมานานที่สุดในระลอกนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าในทุกคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา แนวโน้มของการลงคำสั่งมักไม่ถูกพิจารณาโดยศาลชั้นต้น แต่มักจะส่งให้ศาลอุทธรณ์ – ฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง

ทั้งนี้ ใน ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ในข้อที่ 24 ได้ระบุไว้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม

หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งประกันได้ โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการประกันในระหว่างพิจารณา หรือใช้เงื่อนไขประกันที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลสูงเป็นผู้สั่งเอง

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ  แนวโน้มของการพิจารณาคำสั่งประกันตัวในคดีการเมืองหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ของจำเลยหลายคนไม่ถูกสั่งในศาลชั้นต้น แต่จะถูกส่งให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาทันทีภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว 

การใช้ดุลยพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้การขอประกันตัวจำเลยในคดีการเมืองมีแนวโน้มยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลัง ศาลสูงมีแนวโน้มจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 หรือคดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิด  แม้จำเลยจะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับเมื่อคำสั่งประกันตัวในครั้งแรกหลังมีคำพิพากษา ถูกสั่งโดยศาลที่สูงกว่าแล้ว การขอประกันตัวในครั้งถัด ๆ ไปก็จะถูกส่งไปพิจารณาโดยศาลสูงเช่นเดิม

X