จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง 42 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 24 คน
ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีมีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 จำนวน 17 คน และยังมีเยาวชน 1 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาลเยาวชนฯ และยังมีในส่วนคดีเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด – วางเพลิงรถตำรวจ รวม 9 คน
ในปี 2567 นี้ พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคมมีการยื่นประกันตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองถี่มาก และสูงที่สุดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 60 ครั้ง โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพียง 3 คน ได้แก่ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร จากกรณีที่ถูกคุมขังตามมาตรา 116 สืบเนื่องมาจากการที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าขัดขวางขบวนเสด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 และ “ถนอม” ชายไร้บ้าน จากกรณีถูกฝากขังในคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 บริเวณแยกคอกวัว
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์คดีมาตรา 112 รวมถึงคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดในเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา พบว่าแนวโน้มของการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดมีเพิ่มมากขึ้น
22 พ.ค. – ยื่นประกันตัวชุดใหญ่ ภายใต้ห้วงเวลาครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร และการไว้ทุกข์จากการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง เนติพร’
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ซึ่งอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีจำนวน 16 ราย ได้แก่ อานนท์, ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, ไพฑูรย์, สุขสันต์, อุกฤษฏ์, วีรภาพ, จิรวัฒน์, ณัฐนนท์, ทานตะวัน, อัฐสิษฎ และสิรภพ
การยื่นประกันตัวครั้งดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีของการทำรัฐประหาร ที่นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บรรดาองค์กรทางกฎหมายได้นิรโทษกรรมให้กับคณะผู้ทำรัฐประหารที่ทำลายระบบนิติรัฐของประเทศ
ในโอกาสนี้ ผู้ต้องขังจำนวน 16 ราย จึงประสงค์ที่จะยื่นประกันตัว เพื่อตอกย้ำว่ายังมีคนที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวขั้นพื้นฐาน และในสถานการณ์ที่ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกเริ่มริบหรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันของศาลในลักษณะเช่นเดิมว่า ‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ และเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเพื่อนผู้ต้องขังที่เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างไม่มีวันกลับอย่าง ‘บุ้ง เนติพร’ กลายเป็นแรงผลักดันให้หลายคนต้องการยืนยันสิทธิของตัวเอง และขอให้ศาลพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวอย่างเป็นธรรม โดยหวังว่าจะไม่มีชีวิตใดต้องถูกกระบวนการยุติธรรมพรากไปอีก
ต่อมาในระหว่างวันที่ 22 – 24 พ.ค. ศาลได้ทยอยมีผลคำสั่งการยื่นประกันตัวของผู้ต้องขังทั้งหมด
ในส่วนของ “ธี” ถิรนัย และ “มาย” ชัยพร สองนักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอิสระ วัย 22 และ 23 ปี พวกเขาถูกคุมขังยาวนานที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวหาในคดีครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกค้นพบก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 โดยศาลไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมาจากการยื่นประกันตัวรวม 8 ครั้ง หลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวถิรนัยและชัยพร โดยระบุในคำสั่งว่าเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
ส่วน “บาส” ประวิตร (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 21 ปี ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและมีลูกเล็กวัย 7 เดือน เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเกินครึ่งปีแล้ว หลังจากศาลพิพากษาให้จำคุก 6 ปี 4 เดือน กรณีร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลังการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา64 โดยก่อนหน้านั้นมีการยื่นขอประกันตัวมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง แต่เขาก็ยังไม่เคยได้รับสิทธิในการประกันตัว
และ “คเชนทร์” และ “ขจรศักดิ์” (สงวนนามสกุล) วัย 21 และ 20 ปี สองสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซถูกคุมขังหลังจากศาลอาญาพิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน และ 11 ปี 6 เดือน ตามลำดับ หลังจากถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 โดยเมื่อปีที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 3 ครั้ง
ทั้งในส่วนของ “ไพฑูรย์-สุขสันต์” จำเลยคดีระเบิดที่ถูกพิพากษาจำคุกมากที่สุด ศาลยังไม่ให้ประกันระบุอัตราโทษสูง เกรงหลบหนี
“ทูน” ไพฑูรย์ อายุ 24 ปี และ “ดั๊ก” สุขสันต์ อายุ 23 ปี ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ศาลอาญาพิพากษาว่าไพฑูรย์มีความผิดในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ตัดสินจำคุก 33 ปี 12 เดือน ส่วนสุขสันต์มีความผิดฐานสนับสนุนการฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน
ส่วนข้อหาร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดนนทบุรีตัดสินจำคุกไพฑูรย์ 6 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 3 ปี แต่ยกฟ้องสุขสันต์ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด สุขสันต์จึงไม่ได้รับโทษในคดีนี้ ส่วนไพฑูรย์เมื่อรวมโทษจำคุกนี้กับคดีที่ศาลอาญา ไพฑูรย์จะต้องรับโทษจำคุก รวม 36 ปี 12 เดือน หรือราว 37 ปี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำร้องของทานตะวัน ที่ได้ทนายความได้ยื่นไปทั้งหมด 2 คดี โดยในคดี ม.112 จากกรณีไลฟ์สดหน้า UN ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ประกันตัวลงมาในวันเดียวกัน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท ระบุคำสั่งว่า
“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ภายหลังจำเลยไม่ประสงค์ที่จะขอให้ปล่อยชั่วคราวเอง แล้วถูกควบคุมตัวอยู่ทันฑสถานหญิงกลางมาจนถูกย้ายไปควบคุมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จนกระทั่ง ผอ. โรงพยาบาลดังกล่าว ขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย เนื่องจากจำเลยอาจจะเสียชีวิตระหว่างพิจารณาได้ ศาลได้ปล่อยชั่วคราวไปแล้วจำเลยไม่มารายงานตัว แต่จำเลยมาศาลตลอดในช่วงที่มีการสืบพยาน พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยหลบหนีในคดีนี้ ดังนั้นหากจำเลยสมัครใจที่จะติดกำไล EM และผู้ประกันวางเงินประกันตามเสนอ ให้เบิกตัวจำเลยมาทำสัญญาประกันตัวต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ในคดีตาม ม.116 ของทานตะวันและแฟรงค์ที่ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวไปในวันเดียวกันนั้น ศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุสั้น ๆ ว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
มีข้อน่าสังเกตว่า การยื่นประกันตัวในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น โดยเฉพาะในกรณีของคดี ม.112 จากการไลฟ์สดหน้า UN ศาลได้ระบุคำสั่งที่น่าสนใจว่า พฤติการณ์ของทานตะวันได้ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยหลบหนี ซึ่งในคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีโทษสูงกว่า ม.116 ที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และการระบุคำสั่งว่าจำเลยได้มาตามนัดหมายทางคดีทุกนัด และไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีในคดีที่มีโทษสูงกว่านั้น ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาการมาต่อสู้คดีของจำเลย ดังนั้น เหตุผลของการออกคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในคดี ม.116 โดยระบุคำสั่งเพียงว่า ‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ จึงเป็นความลักลั่นของการใช้ดุลยพินิจในการออกคำสั่งประกันตัวที่ไม่อาจสามารถหาคำตอบได้
ภายหลังในวันที่ 27 พ.ค. 2567 ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทานตะวันในคดี ม.112 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทานตะวันในคดี ม.116 อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการยื่นประกันตัวในคดีดังกล่าวครั้งที่ 10 แล้วของตะวัน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
ในส่วนของแฟรงค์ ทนายความได้เข้ายื่นขอประกันตัวเขาทันทีในวันถัดมา (28 พ.ค.2567) ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตะวัน ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งอนุญาตเช่นเดียวกัน ระบุคำสั่งโดยสรุปว่า จำเลยถูกขังมาเป็นระยะเวลาหนึ่งพอสมควรแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุเปลี่ยนแปลงไป อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินเท่ากันกับของทานตะวัน ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้
31 พ.ค. – ยื่นประกันตัวอีก 4 ราย ศาลสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพียงคนเดียวในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เมื่อวันที่ 30 – 31 พ.ค. 2567 ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาในคดี ม.112 เป็นจำนวน 3 คน อีกครั้ง ได้แก่ จิรวัฒน์, อานนท์ นำภา และ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์
ทั้งได้ยื่นคำขอประกันตัว “ถนอม” (สงวนนามสกุล) ชายไร้บ้าน ซึ่งถูกจับกุมและเพิ่งทราบว่าถูกคุมขังมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ในคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 บริเวณแยกคอกวัว
ก่อนในวันที่ 31 พ.ค. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวถนอม โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 35,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
อย่างไรก็ตาม ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 ยังคงไร้วี่แววที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แม้ในคำร้องของทั้ง 3 คน โดยเฉพาะในคดีของอานนท์ นำภา ซึ่งได้ยื่นขอประกันตัวไปใน 3 คดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ได้แก่ คดีปราศรัยวันที่ 14 ต.ค. 2564 , คดีโพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบัน 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงปี 2564 และคดีปราศรัยในชุมนุม #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 ซึ่งโทษจำคุกโดยรวมของเขาปัจจุบันมีโทษรวมในทุกคดีเกินกว่า 10 ปีแล้ว และศาลยังคงคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา แม้อานนท์จะเดินทางไปร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลในทุกสัปดาห์
ส่วนในกรณีของ “สิรภพ” นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปีกรณีการปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 แม้ในคำร้องขอประกันตัวของขนุนจะระบุชัดเจนว่า ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และจำเลยมีแผนที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในประเทศไทย แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงคำสั่งเดิมเรื่อยมาเช่นเดียวกัน
และในกรณีของ “จิรวัฒน์” พ่อค้าเสื้อผ้าออนไลน์ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา โดยเขาถูกคุมขังมานานข้ามปีตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2566 และยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ โดยคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวล่าสุด (2 มิ.ย. 2567) ในสองคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งโดยตัดเรื่องพฤติการณ์หลบหนีออกไป แต่ยังคงอ้างเหตุลักษณะการกระทำผิดตามมาตรา 112 การกระทำก่อให้เกิดความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อหามีอัตราโทษสูง มาเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่เหตุผลดังกล่าวไม่ใช่เหตุอันควรเชื่อในการสั่งไม่ให้ประกันตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 แต่อย่างใด
สรุปแล้วในกรณีของผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 และคดีครอบครองระเบิด ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วและถูกศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่งไม่ให้ประกันตัวในตอนแรก พบว่าตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. – 31 พ.ค. แม้จะมีการส่งพิจารณาคำสั่งประกันไปที่ศาลอุทธรณ์หลายคดี รวมถึงสถานการณ์การเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” ที่ตึงเครียดสำหรับผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ แต่กลับไม่มีใครได้รับการประกันตัวเพิ่มจากนี้แม้แต่คนเดียว