ศาลยังยกคำร้องขอประกันตัว ‘ขนุน’ สิรภพ – ‘แดง ชินจัง’ อีกครั้ง ทั้งสองคนถูกขังยาวเกือบปีแล้ว 

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ที่ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 และ “แดง ชินจัง” ยงยุทธ ที่ถูกคุมขังหลังถูกฟ้องใน 4 คดีที่มีข้อหาเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด หลังทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวและยื่นขอประกันตัวไปเมื่อวันที่ 3 และ 5 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมาตามลำดับ

กรณีของสิรภพ ศาลฎีการะบุคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 2 ปี ประกอบกับศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง หากอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง” ทำให้สิรภพถูกคุมขังเข้าเป็นวันที่ 321 แล้ว

ส่วนกรณีของแดง ชินจัง ศาลอาญาระบุคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง” ทำให้ชินจังถูกขังเข้าเป็นวันที่ 248 แล้ว

.

ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันคดี 112 “ขนุน” สิรภพ – ศาลยังคงยกคำร้องระบุเกรงจำเลยหลบหนี เดือนหน้าถูกขังครบ 1 ปีโดยไร้สิทธิประกันตัว

กรณีของ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นั้นถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดี ม.112 กรณีปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อปี 2563

ระหว่างที่สิรภพถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ทนายความและตัวสิรภพเอง ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลมาแล้วถึง 13 ครั้ง ซึ่งศาลก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวตลอดมา จนเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2568 ทนายความและนายประกันได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัวฉบับที่ยื่นประกันไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2568

โดยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวครั้งนี้ มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากจำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งคดีของจำเลยมีประเด็นต่อสู้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องเป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงหรือไม่ แต่มิใช่เหตุที่ศาลอุทธรณ์ต้องนำมาพิจารณาในการสั่งให้หรือไม่ให้ประกัน

อีกทั้งจำเลยยังอยู่ในวัยศึกษา ตลอดเวลาที่ผ่านมาจำเลยถูกคุมขัง ทำให้เสียโอกาสด้านการศึกษาและเวลาแห่งการเจริญงอกงามขององค์ความรู้ จำเลยมุ่งมั่นในการศึกษาตามที่ได้กล่าวสาบานด้วยวาจาครั้งที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เพื่อให้โอกาสกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี จำเลยก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างมุ่งมั่นจนจบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี 2566

การที่จำเลยถูกคุมขังเป็นเวลารวม 294 วัน (นับจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง) ทำให้จำเลยตระหนักถึงคุณค่าของคำว่าอิสรภาพนั้นเป็นสิ่งล้ำค้ามากเพียงไร มากไปกว่านั้นคงเป็นการไม่ได้ตอบแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดามารดา อาจารย์ และโอกาสในการใช้ชีวิตที่สูญเสียไปพร้อมกับเวลาในแต่ละวัน ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด การหลบหนีไม่มีประโยชน์อันดีอย่างไรต่อจำเลย เนื่องจากจำเลยมีบิดามารดาที่ต้องดูแล มีอนาคตที่ต้องดำเนินต่อ และกลับไปศึกษาในระดับปริญญาโทต่อ นอกจากนั้นจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถติดตามได้ง่าย และขอศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยยึดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม จำเลยยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวที่ศาลกำหนด

อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้น ศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 2 ปี ประกอบกับศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง หากอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงยังทำให้สิรภพถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อไป ซึ่งจนถึงปัจจุบันเขาถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 321 วัน (25 มี.ค. 2567 – 8 ก.พ. 2568) และในวันที่ 25 มี.ค. ที่จะถึงนี้ สิรภพจะถูกคุมขังครบ 1 ปี ซึ่งหมายความว่าก็จะเป็นหนึ่งปีที่สิรภพขาดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเช่นกัน

อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุดของสิรภพ: เสียงจากบัณฑิตมหาวิทยาลัยพิเศษกรุงเทพฯ: “ขนุน” ยังหวังสิทธิประกันตัวเพื่อไปเรียนต่อ ป.โท

.

ยื่นขอประกัน “แดง ชินจัง” 4 คดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดเมื่อปี 57 ศาลไม่ให้ประกัน ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

“แดง ชินจัง” หรือ ยงยุทธ อดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดงอายุ 36 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้างและแสดงละครเป็นตัวประกอบ เขาเคยถูกคุมขังในเรือนจำหลายแห่ง และในคดีที่เขาเคยถูกกันเป็นพยานฝ่ายโจทก์ ขณะนี้กลายเป็นว่าถูกนำมากล่าวหาเขาในฐานะจำเลยใหม่ทั้งหมด 5 คดี ต่อมาในเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 เขาถูกคุมขังอีกครั้งในคดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2557 เนื่องจากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวใน 4 คดีใหม่ที่เพิ่งถูกสั่งฟ้อง และไม่ได้รับการประกันตัวเรื่อยมา

ต่อมาในวันที่ 5 ก.พ. 2568 ทนายความได้ยื่นประกันตัวชินจังใน 4 คดีที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา ต่อศาลอาญาเป็นครั้งที่ 4 

คำร้องขอประกันตัวทั้งสี่ฉบับมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า พฤติการณ์แห่งคดีทั้งสี่ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามคำพิพากษาอันเป็นที่สุด เนื่องจากจำเลยเพียงแต่ถูกกล่าวหาเท่านั้น ซึ่งจำเลยมีเจตนาในการต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ไม่หลบหนี ไม่ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น นอกจากนั้นแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีทั้งสี่มีลักษณะเดียวกันกับอีกคดีหนึ่งที่จำเลยถูกกล่าวหาในคดี อ.1003/2567 ของศาลอาญาเช่นกัน ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีดังกล่าว

ภายหลังการตรวจพยานหลักฐานในคดีทั้งสี่แล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องยังมีข้อพิรุธหลายประการ เช่น ไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าจำเลยกระทำการดังที่โจทก์ฟ้อง อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพรับจ้างแสดงละครหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งการคุมขังจำเลยไว้ย่อมส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ และจำเลยยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขปล่อยชั่วคราวของศาลอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยินยอมให้ติดกำไล EM

ในวันเดียวกัน ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสี่คดี โดยระบุเหมือนกันว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

คำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้ชินจังยังคงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป จนถึงวันนี้เขาถูกคุมขังมาแล้ว 248 วัน (9 ก.ย. 2567 – 8 ก.พ. 2568) โดยในวันที่ 8-9 ก.ค. 2568 ที่จะถึงนี้ ศาลอาญามีนัดสืบพยานในคดีแรกจากทั้งหมดที่เขาถูกกล่าวหา 5 คดี

อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุดของชินจัง: “ผมคิดจะหลบหนีคดีจริง ผมหนีไปตั้งแต่ปี 57 แล้ว”: แดง ชินจัง” ยังคงไม่ได้ประกันตัว และถูกเซนเซอร์การส่งจดหมาย

X