ยังอยู่ในบรรยากาศเฉลิมฉลองบัณฑิตจบใหม่ของสถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่ง ในขณะที่ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ในวัย 24 ปี ผู้มีความฝันอยากเรียนต่อเพื่อจะจบมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ยังคงติดอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 หลังถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีมาตรา 112
แม้ในปีที่แล้วทนายความและนายประกัน รวมทั้งตัวขนุนพยายามยื่นประกันตัวอยู่หลายครั้ง พร้อมเหตุผลสำคัญ คือความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาในระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้ความสามารถมาใช้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและต่อสังคมในอนาคต รวมถึงไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งยินดีวางหลักทรัพย์และปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันตามที่ศาลเห็นสมควร แต่สุดท้ายศาลก็ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา แม้เขาจะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อ
วันที่ 27 ม.ค. 2568 นับเป็นวันที่ 309 ของการถูกคุมขังใน “มหาวิทยาลัยพิเศษกรุงเทพ” นามเรียกขานที่ขนุนใช้กล่าวถึงสถานการณ์ของเขาอย่างตลกร้าย ภายใต้โลกสี่เหลี่ยมอันไร้อิสรภาพ การพบกับทนายความครั้งนี้ บัณฑิตรัฐศาสตร์ได้สะท้อนถึงภาพชีวิตการศึกษาที่ถูกจำกัดด้วยกำแพงสูง และยังมีความหวังที่เขาจะได้รับสิทธิประกันตัว เพื่อออกไปเรียนต่อตามความตั้งใจ
________________________
หากไม่ติดคุมขัง ช่วงเวลานี้ขนุนคงได้ไปร่วมถ่ายภาพ ร่วมโต๊ะอาหาร และแบ่งปันความฝันกับเพื่อน ๆ ในฐานะคนที่เรียนจบปริญญาตรีก่อน ขนุนเคยเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน ๆ และ น้อง ๆ ต่างคณะ ทั้งด้านภาษาญี่ปุ่น วิทยาศาสตร์ประกันภัย และอาร์ตดีไซน์
“พวกเขามาขอคำแนะนำเรื่องเส้นทางชีวิต อาจเพราะผมเรียนรัฐศาสตร์ ที่มักถูกมองว่าเข้าใจเรื่องราวรอบด้านของสังคม” ขนุนกล่าวถึงเพื่อน ๆ
วันที่ 309 ของการเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยพิเศษกรุงเทพ ขนุนได้เรียนรู้ว่าบัณฑิตไม่ได้หมายถึงแค่ผู้สำเร็จการศึกษา หรือผู้รอบรู้ในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่คือผลรวมของประสบการณ์ที่หล่อหลอมชีวิต เหมือนวงแหวนที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ทั้งการเรียน ความรู้ และความเป็นบัณฑิต นั้นหมุนเวียนบรรจบอยู่ในที่เดียวกัน
ขนุนให้ทัศนะอีกว่า เราเรียนเพื่อหาความรู้ ผลตอบแทนคือกระดาษใบหนึ่ง ที่บอกสถานะว่าเราคือบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา แต่ไม่จบแค่นั้นเพราะการศึกษาไม่เคยหยุด มีแต่จะไปข้างหน้า
“สุดท้ายคุณเป็นบัณฑิต คุณก็ต้องเรียนต่อ ศึกษาความรู้ บางทีการศึกษาอาจไม่ได้ใบอะไรเลยก็ได้ แต่มันคือสิ่งไม่มีที่วันสิ้นสุด
“ที่นี่ทำให้ผมนึกถึง ‘มหาวิทยาลัยลาดยาว’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ แม้คุกจะเป็นสถานที่พรากอิสรภาพและความฝัน แต่ก็เป็นโรงเรียนที่สอนให้เห็นความเหลื่อมล้ำอย่างแจ่มชัด”
เรือนจำเป็นโลกที่บัณฑิตทั่วไปยากจะเข้าถึง สำหรับขนุนหากได้ออกไป คงได้วุฒิบัณฑิตอีกแบบหนึ่ง เป็นบัณฑิตที่เข้ามาเรียนรู้โลกที่แตกต่าง ทั้งเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาอื่น ๆ ในแบบประสบการณ์ตรง
ในระหว่างรอสิทธิประกันตัว นอกจากหนังสืออีกหลาย ๆ เล่ม ขนุนได้อ่าน “Common Ground” อัตชีวประวัติของจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่เขียนด้วยตัวเอง หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่รวมบทสัมภาษณ์เหมือนหนังสือนักการเมืองไทยทั่วไป ขนุนเล่าว่า “ทรูโดไม่เคยมองพรรคฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู แต่มองเป็นเพื่อนบ้านที่ทำงานเพื่อชาติ”
ก่อนบอกเล่าต่อถึงความฝันอันชัดเจนมาสักพักแล้วของเขา นั่นคือการศึกษาต่อปริญญาโทในสาขาการปกครอง ขนุนอยากศึกษาเรื่อง “ชนชั้นเสี่ยง” (Precarious Class) กับ Guy Standing นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน จาก University of London หรือกับอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่คณะรัฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกับคนในชนชั้นเสี่ยงนี้ที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทย เช่น กลุ่มไรเดอร์
แต่เท่าที่ขนุนสังเกตเห็น การศึกษาขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ข้างในเรือนจำถือว่าพอใช้ได้ มีหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ไม่มีสาขารัฐศาสตร์ แต่ในสถานะของคนที่ต้องการการศึกษา ในระดับที่สูงขึ้นไป เป็นไปไม่ได้เลยที่จะศึกษาในที่แห่งนี้ในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ที่สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ
ขนุนฉายภาพว่า ไม่มีวันที่เขาจะสามารถหาหนังสือและบทความเป็น 1,000 ฉบับ มาอ่านในที่แห่งนี้ได้ ทั้งการที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตและเอาเอกสารวิจัยเข้ามาอ่านได้ ไม่สามารถเขียนหรืออ่านเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองได้
“ผมเรียนการเมือง แล้วพูดการเมืองไม่ได้ เท่ากับไม่ให้ผมเรียนนั่นแหละ” ขนุนระบายความรู้สึก
ก่อนทิ้งท้ายบทสนทนาว่า “ทุกคำตอบคงเป็นความในใจที่ระบายออกมา ว่าการศึกษามันสำคัญกับผมอย่างไร หวังว่าจะได้รับสิทธิไปศึกษาต่อในสถานที่ที่สมควรแก่การศึกษา สำคัญที่สุดคือสิทธิการประกันตัว เพื่อผมจะได้กลับไปเรียนต่อ”
ถึงขณะนี้ (31 ม.ค. 2568) ขนุนถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์มาแล้ว 313 วัน โดยจะถูกคุมขังครบ 1 ปี หรือครบครึ่งหนึ่งของโทษจากศาลชั้นต้น ในวันที่ 25 มี.ค. 2568
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
“ผมต้องการเรียนต่อ”: เสียงจาก “ขนุน สิรภพ” หลังกรงขัง
รู้ว่ายาก แต่อยากเคียงข้าง “ขนุน”: เมื่อ ม.112 ทำคนชิดใกล้ ให้ไกลห่าง