22 ส.ค. 2567 “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักกิจกรรมวัย 23 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้วกว่า 5 เดือน ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ได้เขียนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ด้วยลายมือตนเอง เพื่อยื่นต่อศาลฎีกา ระบุเหตุผลสำคัญเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาในระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้ความสามารถมาใช้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและต่อสังคมในอนาคต รวมถึงเหตุผลที่ตนไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งยินดีวางหลักทรัพย์และปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันตามที่ศาลเห็นสมควร
อย่างไรก็ตาม แม่ของขนุนและทนายได้รับแจ้งว่า คำร้องของขนุนซึ่งต้องผ่านขั้นตอนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อน จะถูกส่งจากเรือนจำไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันนี้ (27 ส.ค. 2567) ซึ่งเมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วจะต้องดำเนินการส่งไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป โดยอาจจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน กว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่ง และคำสั่งดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ขนุนที่อยู่ในเรือนจำรับทราบ
ก่อนหน้านี้ ทนายความและนายประกัน รวมทั้งตัวขนุนเองได้ยื่นประกันระหว่างอุทธรณ์ไปแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง เคยเสนอหลักประกันสูงถึง 500,000 บาท และยินยอมให้ติด EM ทุกครั้งศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา แม้ว่าคดีนี้อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ประกันเองได้ โดยไม่จําเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง เนื่องจากมีโทษจำคุกเพียง 2 ปี ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันขนุนมาโดยตลอด อ้างเหตุว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
ในครั้งล่าสุดที่ขนุนยื่นประกันตัวเองจากเรือนจำ ได้ขอให้ศาลไต่สวนประกอบการพิจารณาคำร้อง โดยอ้างอิงถึงบุคคล 3 คน ที่พร้อมให้การรับรอง และเข้าไต่สวนหากศาลสั่ง ได้แก่ แม่ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงยกคำร้อง โดยไม่มีการเรียกไต่สวนตามที่ขนุนขอแต่อย่างใด
.
คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งขนุนส่งทางโดมิเมล (Domi Mail) มาให้แม่มีเนื้อหาดังนี้
1. คดีนี้กระผมได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ปัจจุบันกระผมถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วเป็นเวลา 5 เดือน ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัยว่า คดีของผมมีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
2. กระผมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลอุทธรณ์จึงได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
2.1 กระผมอยู่ในวัยกำลังศึกษา โดยกำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท ซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้าเรียนและค้นคว้าในห้องสมุด รวมทั้งสื่อที่มีความเหมาะสมอันมีแหล่งควรรู้อื่น ๆ โดยก่อนหน้านี้ในระดับปริญญาตรี กระผมสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาปริญญาโทในคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกำลังจะโอนย้ายไปเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระหว่างนี้กระผมได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยวิจัยกับอาจารย์หลายท่าน เช่น อาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ อันเป็นงานที่กระผมรักและทำได้ดี
ทั้งนี้ ในคำร้องของกระผมที่ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธ ได้ขอให้ศาลไต่สวนอาจารย์ข้างต้นแล้ว หากแต่ศาลอุทธรณ์ยังเห็นควรยกคำร้องเสีย ซึ่งทำให้กระผมในวัยกำลังศึกษาพลาดโอกาสในการศึกษา และต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำในขณะนี้ กระผมจึงขอให้ศาลฎีกาได้เมตตากระผมในความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเล่าเรียน เพื่อนำความรู้ความสามารถมาใช้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและต่อสังคมในอนาคตด้วย
2.2 กระผมไม่มีพฤติการณ์หลบหนี การใช้ชีวิตนอกจากจะช่วยเหลือครู-อาจารย์ ในการทำวิจัยแล้ว ก็จะขลุกตัวเองอยู่กับตำราในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ในการต่อสู้คดีกระผมก็ให้ความร่วมมือต่อการสอบสวนและต่อการพิจารณาคดีของศาลมาโดยตลอด และเดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
ปัจจุบันกระผมอาศัยอยู่กับบิดามารดา ซึ่งเป็นผู้ดูแลและปกครอง หากศาลฎีกาประสงค์จะให้ทั้งสองมาไต่สวนประกอบก็เป็นการสะดวกที่จะเดินทางมาศาลได้ทุกเมื่อ โดยกระผมและผู้ดูแลปกครองทั้งสองอาศัยตามที่อยู่ที่แน่นอนมั่นคงตามทะเบียนราษฎร ซึ่งหากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวย่อมสามารถส่งหมายเรียกหรือเอกสารอื่นได้โดยสะดวก กระผมขอให้คำมั่นว่าจะเดินทางมาศาลและปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
2.3 กระผมยินดีจะให้ศาลออกข้อกำหนด มาตรการ หรือเงื่อนไขประกอบการปล่อยชั่วคราวโดยติด EM และขอให้คำมั่นว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 รวมทั้งไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการอื่นใดอันอาจกระทบต่อกระบวนการพิจารณาของศาล และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้ กระผมยินดีวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดตามจำนวนที่ศาลกำหนด และขอสาบานว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ขอศาลฎีกาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ด้วย
.
อ่านฐานข้อมูลคดีนี้:
คดี 112 ชูเกียรติ-สิรภพ #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: