“ความฝันของผมมันไม่สามารถจบได้เพียงแค่ที่ตนเอง แต่ผมอยากเห็นภาพที่กว้างกว่านั้น ผมเลยแบ่งความฝันเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ฝันของตัวเอง และฝันที่ผมอยากเห็น นับแต่ผมตื่นตัวและได้เรียนต่อในภาควิชารัฐศาสตร์ ความฝันผมมีเพียงอยากเป็น “อาจารย์” ซึ่งเป็นอาชีพที่มีเงื่อนไขในการไปให้ถึงจุดหมายที่ค่อนข้างที่จะเยอะ เพราะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญศาสตร์นั้นๆ อย่างถึงแก่นวิชา
“และในส่วนต่อมาผมอยากเห็นประเทศที่พร้อมจะให้ลูกให้หลานเติบโตในสังคมที่ดี กินอิ่ม นอนหลับ ปลอดภัยภายใต้กระบวนการทางกฎหมายที่ยุติธรรม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้เมื่อประเทศสามารถกระจายทรัพยากรได้ทั่วถึงคนทุกกลุ่มในสังคม การศึกษา ขนส่งมวลชน สิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างไฟฟ้าและน้ำ มันคงเป็นสิ่งพื้นฐาน แต่รากฐานพวกนี้คือสิ่งที่จะต่อยอดไปยังเศรษฐกิจที่ดี อนาคตที่ดีได้”
นั่นคือบางส่วนของถ้อยคำในจดหมายลายมือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ที่ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ส่งถึง “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ดูจะสะท้อนถึงความฝันในสองด้านของคนรุ่นใหม่คนหนึ่งได้อย่างคมชัด
ขนุนมักย้ำเสมอทั้งกับทนายความที่เข้าเยี่ยมในเรือนจำและในทางจดหมายที่ถูกส่งออกมาภายนอก ว่าเขายังหวังว่าจะได้ออกไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท เพื่อพยายามไปสู่ความฝันที่เขาค้นพบว่า คือการได้เป็นอาจารย์ ซึ่งได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ได้ค้นคว้าศึกษาในประเด็นที่ตนเองสนใจ และได้มีส่วนสร้างประเทศนี้ให้ดีขึ้น แต่จนถึงวันนี้เขายังไม่อาจทำมันได้
นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเขาในข้อหาตามมาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ปี 2563 โดยลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ขนุนได้สูญเสียอิสรภาพไป เมื่อทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเขาเรื่อยมา แม้จะมีการยื่นประกันไปไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง รวมทั้งตัวขนุนที่ทำคำร้องยื่นประกันตัวเองส่งออกมาจากภายในเรือนจำ
แม้คดีนี้จะเป็นคดีมาตรา 112 คดีเดียวที่เขาถูกกล่าวหา ส่วนที่เหลือเป็นคดีจากการร่วมชุมนุมที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น แต่ก็กำลังกลายเป็นคดีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไป และอาจส่งผลถึงอนาคตข้างหน้า
ขนุนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เขาเป็นคนหนึ่งที่สนอกสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก และพยายามออกไปเรียนรู้ในโลกนอกคณะ นอกมหาวิทยาลัยของตัวเอง กระทั่งออกไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองนอกมหาวิทยาลัย ทำให้รู้จักนักวิชาการหลายคนที่แม้ไม่เคยสอนเขาในห้องเรียน แต่ก็ให้ความเคารพนับถือกัน
ในห้วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในวัยเติบโต ลองผิดลองถูก กำลังค้นพบเส้นทางชีวิตของตนเอง หากต้องถูกจองจำและสูญเสียโอกาสเช่นนี้ ชวนฟังถ้อยคำของอาจารย์มหาวิทยาลัย 3 ท่าน ที่รู้จักคุ้นเคยกับขนุน บอกเล่าถึงเรื่องราวและมุมมองต่อลูกศิษย์คนนี้ โดยบางส่วนเป็นเนื้อหาที่กล่าวในงานเสวนา “ขอฝันถึงวันใหม่” เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2567 เพื่อให้กำลังใจขนุนก่อนวันฟังคำพิพากษา โดยไม่มีใครคาดคิดว่าวันนั้นจะเป็นวันสุดท้ายที่ขนุนมีอิสรภาพ และเขาต้องสูญเสียมันไปนานกว่า 5 เดือนแล้ว
.
.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ขนุนเป็นนักกิจกรรมที่ไม่เพียงแต่ร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ยังสนใจงานวิชาการ”
บัณฑิต เริ่มเล่าว่าเหตุที่ขนุนสนใจจะเป็นอาจารย์ เนื่องจากขนุนค่อย ๆ พัฒนาความสนใจทางวิชาการในระหว่างเรียนปริญญาตรีที่ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยเขาค่อย ๆ ไปร่วมงานเสวนาวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ได้อยู่แต่กับมหาวิทยาลัยตนเอง
บัณฑิตค่อย ๆ ได้พบกับขนุนตามวงเสวนาเหล่านั้น เนื่องจากเห็นหน้าค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ก็มักพบขนุนเข้าไปฟัง โดยขนุนมักมานั่งฟังอย่างตั้งใจ สอบถามบ้างเป็นบางครั้ง และเข้าไปพูดคุยกับวิทยากรต่าง ๆ ในภายหลัง
จนเมื่อช่วงปี 2566 บัณฑิตจึงได้ร่วมงานกับขนุน โดยในตอนนั้น อาจารย์ได้รับเป็นเจ้าภาพให้กับมูลนิธิ May18 (The May 18 Memorial Foundation มูลนิธิที่ทำงานด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศเกาหลีใต้ อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองกวางจู เมื่อปี 1980) ซึ่งมีโครงการพานักกิจกรรมเกาหลีใต้มาศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเทศไทย โดยขอให้นักวิชาการไทยร่วมออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ด้วย
ระหว่างเตรียมงาน ทีมงานที่ร่วมเป็นสตาฟ ได้เสนอชื่อขนุน ซี่งขณะนั้นเพิ่งเรียนจบจาก มศว. มาร่วมเป็นสตาฟอีกคน เพราะเห็นว่าขนุนสนใจด้านการเมืองไทย และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเคลื่อนไหวในประเทศไทยได้ ซึ่งขนุนก็ได้ตอบรับมาร่วม
“เขาเป็นคนที่มีจิตใจสาธารณะ เป็นคนไม่เกี่ยงงาน ช่วยอะไรได้ก็เข้าช่วย บางครั้งไม่ได้ขอ เขาก็อาสาเอง มีความรับผิดชอบสูง และเขาไม่หยุดนิ่ง พยายามเรียนรู้ตลอดเวลา”
บัณฑิตเล่าว่าระหว่างได้ร่วมงานกัน ก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยขนุนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่กลัวที่จะถาม แต่เป็นคนแบบที่คอยมาสอบถามความรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา จึงเห็นว่าขนุนเป็นคนที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านการเป็นนักกิจกรรม แต่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนไปควบคู่กันได้
อาจารย์เห็นว่าปัญหาหนึ่งของนักกิจกรรม คือมักจะไม่สามารถจัดการการเรียนได้ จนต้องเลิกเรียน หรืออาจพบว่าไม่เหมาะกับการเรียนในระบบแล้ว ก็เลยออกมา แต่ขนุนยังมีความตั้งใจในการเรียน จนกระทั่งเกิดความฝันจะเป็นนักวิชาการต่อมาด้วย
บัณฑิตจึงเห็นว่าขนุนมีคุณสมบัติสองด้าน ได้แก่ ทักษะในการทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมจากการทำกิจกรรม และความรู้ทางวิชาการและทางทฤษฎีต่าง ๆ ขนุนมีศักยภาพในการบูรณาการโลกทั้งสองด้านนี้ ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้
บัณฑิตทราบว่าความสนใจหลักของขนุน ยังเป็นเรื่องการเมืองไทย แต่ค่อย ๆ เพิ่มสนใจเรื่องอื่น เช่น ในช่วงที่พานักกิจกรรมเกาหลีใต้ลงพื้นที่ ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ซึ่งได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ทำให้ขนุนเกิดความสนใจในประด็นเรื่องการเมืองเมียนมา รวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านนี้เพิ่มขึ้นด้วย
บัณฑิตบอกว่าเขายังเสียดายที่ขนุนยังไม่ได้ร่วมเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีจัดงารำลึกเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนในทุก ๆ ปี ที่อาจทำให้ขนุนเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานของเขาได้ในอีกหลายแง่มุม
“ผมคงไม่พูดถึงรายละเอียดเรื่องคดี แต่ในภาพกว้าง ผมเห็นว่าสังคมไทยเสียโอกาสไปมาก ที่นำคนหนุ่มสาวแบบนี้ไปอยู่ในเรือนจำ เขาควรได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่อ เขาอายุยังน้อย มีโอกาสในชีวิตต่าง ๆ อีกเยอะ ผมอ่านจดหมายที่เขาส่งออกมา ก็เห็นว่าเขาอยากออกมาเรียน แต่เสียโอกาสต่าง ๆ ไป เพราะต้องถูกคุมขังแบบนี้ ผมไม่อยากให้เขาถูกพรากอะไรไปมากกว่านี้ สังคมควรจะโอบรับเขามากกว่านี้” บัณฑิตพูดถึงสถานการณ์การคุมขังขนุนที่เกิดขึ้น
บัณฑิตบอกว่าเขาร่วมเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ทำหนังสือรับรองในการขอประกันตัวให้กับขนุนเพื่อยื่นต่อศาล เขาเห็นว่าขนุนไม่ได้หลบหนีไปไหน และควรจะได้รับโอกาสในชีวิต แต่ก็น่าผิดหวัง ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีเรื่อยมา
บัณฑิตพูดย้ำหลายครั้งถึง “โอกาส” ที่เสียไปของคนหนุ่มสาวแบบขนุน รวมทั้งสังคมไทยเองที่ต้องเสียโอกาสจากการมีพลเมืองที่มีศักยภาพแบบนี้
บัณฑิตยังฝากแนะนำหนังสือสำหรับขนุน หรือผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่น ๆ ในช่วงเวลาของการถูกจองจำเช่นนี้ อาจจะลองอ่านนวนิยายที่เป็นแรงบันดาลใจ และรักษาความหวังไว้ เช่น เรื่อง “ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน” หรือนวนิยายของจอห์น สไตน์เบ็ค อย่าง “เพื่อนยาก” และ “เฒ่าทะเล”
“ถ้าบอกขนุน ผมก็อยากให้ขนุนอดทน ช่วงเวลาแบบนี้มันยากลำบาก ก็ต้องให้กำลังใจกัน มีหลายคนที่ห่วงใยขนุน และอยากให้เขาได้รับโอกาสในการเรียนต่อ และเขาไม่ควรเสียโอกาสไปแบบนี้ อยากให้เขามีความเข้มแข็ง ให้ต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้น และผ่านมันไปได้” บัณฑิตทิ้งท้ายถึงนักศึกษาของเขา
.
.
อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[กล่าวในงานเสวนา “ขอฝันถึงวันใหม่” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ณ ร้านประชาธิปไตยกินได้ เพื่อให้กำลังใจขนุนก่อนฟังคำพิพากษา]
อนุสรณ์เท้าความถึงก่อนจะมาเป็น “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง” (คนส.) ว่าในช่วง คสช. ที่มีการจับกุมคุมขังนักศึกษาที่ชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2558 กลุ่มนักวิชาการที่มีเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและไปเยี่ยมนักศึกษาที่เรือนจำ มีการตั้งชื่อว่า “เครือข่ายนักวิชาการผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง” ก่อนจะมีการปรับตัวมาเป็น คนส.
อนุสรณ์จำได้ว่าขนุนเริ่มเข้ามาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ก่อนปี 2563 โดยเห็นอยู่กับกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และเริ่มรู้จักขนุนจากตรงนั้น โดยตอนแรกเข้าใจไปว่าขนุนเป็นนิสิตจากเกษตรศาสตร์ ตอนหลังก็นึกไปว่าอยู่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์หรือเปล่า ไม่มีภาพของความเป็นนักศึกษา มศว. เลย
“แต่สิ่งที่ทำให้จำขนุนได้แม่นเลย คือตอนที่เราเริ่มทำวิจัย ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ขนุนเป็นนักศึกษาคนแรก ๆ ที่ผมไปสัมภาษณ์ เพื่อเก็บข้อมูลการวิจัย เพราะรู้จักคุ้นเคยกับขนุนมานาน แล้วขนุนเป็นคนที่สามารถให้ภาพรวมของการเคลื่อนไหวได้ ผมจำได้ว่าขนุนทำเป็นชาร์ทเลย มี 3 4 5 เวฟ ขึ้นลงขึ้นลง ขนุนเป็นนักศึกษาที่นอกจากไปร่วมเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีการจัดทำบันทึก เหมือนกับเป็นข้อมูล ที่ทำให้เราสามารถอ้างอิงได้ แล้วเอามาให้ผมดู ผมก็เลยจำได้แม่น
อนุสรณ์ยังกล่าวถึงประเด็นความเคลื่อนไหวภายใน มศว. พอทราบว่าขนุนอยู่ที่ มศว. ทำให้จำได้ว่าที่แรก ๆ ในการชุมนุมของนักศึกษาเมื่อปี 2563 ที่พบว่ามีการพูดถึงประเด็นปัญหาบทบาทสถาบันกษัตริย์ คือที่ มศว.ประสานมิตร ในช่วงที่มีแฟลชม็อบเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ก็พบว่ามีป้ายข้อความในประเด็นนี้ ที่น่าจะเป็นที่แรก ๆ ที่เราเห็นการปรากฏตัวในการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ในที่สาธารณะ แม้จะยังไม่ตรงไปตรงมา ทำให้เป็นจุดจดจำเกี่ยวกับ มศว.
“ล่าสุดก็คือเมื่อเทอมที่แล้ว ขนุนได้ไปซิทอิน (เข้าเรียนโดยไม่ได้ลงทะเบียนวิชานั้น) ในฐานะนักศึกษาปริญญาโท ในวิชาที่ผมสอน คือมานุษวิทยาการเมือง ที่สอน ป.โท ป.เอก ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เลยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและพูดคุยกับขนุนเยอะขึ้นในรายวิชานั้น เลยค่อนข้างสนิทกันมากขึ้น”
อนุสรณ์กล่าวถึงประสบการณ์ก่อนหน้านี้ ที่กลุ่มนักวิชาการเคยไปติดตามกรณีของโรม-ลูกเกด ที่ถูกจับกุมช่วง คสช. ก็มีแต่นักศึกษากลุ่มเล็ก ๆ ก็นึกเปรียบเทียบว่าตอนนี้ก็เหมือนกับยังมีนักศึกษากลุ่มเล็ก ๆ ที่พยายามเกาะกลุ่มกันอยู่ และให้กำลังใจขนุนในการต่อสู้คดี และต้องไปฟังคำพิพากษา
“หนึ่ง ขอให้ขนุนภาคภูมิใจว่าอย่างน้อย เรายังมีเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษา ที่มีความบริสุทธิ์ ในความหมายว่ามันไม่มี Agenda อื่น ไม่มีว่าคุณจะได้อะไรไป แต่เป็นความห่วงใยที่เพื่อนมีให้กัน แล้วผมเอง ก็รู้จักขนุนมานาน เห็นขนุนมีความเติบโตทางความคิด รวมไปถึงอารมณ์ด้วย อันนี้สำคัญ บางคนอาจจะอยู่ในภาวะประหวั่นพรั่นพรึง ทำอะไรไม่ถูก แต่เราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้จากขนุน
“เลยอยากจะให้รักษาสภาพแบบนี้ไว้ เนื่องจากสมรภูมินี้มันค่อนข้างจะยาวนาน เลยอยากให้เก็บรักษาความรู้สึกเป็นเพื่อนและห่วงใยกัน เก็บรักษาความรู้สึกหนักแน่นมั่นคง แล้วก็มีความหวัง หรือยิ้มได้กับอันตรายที่อยู่ข้างหน้า เราก็ยิ้มและฝ่ามันไป ผมก็อยากจะให้กำลังใจ”
.
.
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[บันทึกเป็นคลิปวิดีโอ และถูกนำมาเปิดครั้งแรกในงานเสวนา “ขอฝันถึงวันใหม่” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ณ ร้านประชาธิปไตยกินได้]
“เรารู้จักขนุนมาตั้งแต่เขายังใส่ชุดนักเรียนมัธยม เจอกันครั้งแรกตอนไปประชุมกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ที่จุฬาฯ ก็ประทับใจมาตั้งแต่ตอนนั้น รู้สึกว่าเป็นเด็กที่ตื่นตัวในหลากหลายประเด็น เห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจมาก” กนกรัตน์เริ่มกล่าวถึงขนุน
นับตั้งแต่วันนั้น กนกรัตน์ก็เจอขนุนในอีกหลายเหตุการณ์ ซึ่งมักจะไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา อย่างเช่น การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ มศว. ก็เจอขนุนที่เป็นนิสิตปี 1 เป็นผู้ร่วมจัดชุมนุมในวันนั้น หรือวันที่ 16 ต.ค. 2563 ที่เจ้าหน้าที่เริ่มใช้การฉีดน้ำความดันสูงใส่ผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน ทำให้ต้องกันช่วยหาสถานที่ที่ปลอดภัยให้กับนิสิตนักศึกษาหลายคน รวมทั้งขนุน
และอีกครั้งหนึ่งเจอกันที่เกียกกาย หน้ารัฐสภา เป็นการเจอกันแบบทุลักทุเล ต้องเผชิญกับแก๊สน้ำตา “เหตุการณ์ที่เราเจอกับขนุนเต็มไปด้วยความทรงจำที่หลากหลาย สีสัน ก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่าเขาเป็นมิตรสหายในสถานการณ์ร่วมรบ”
นอกจากความผูกพันที่เจอคนอย่างขนุนในเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว เส้นทางชีวิตของขนุนที่กนกรัตน์ได้เรียนรู้ ทำให้รู้สึกถึงการเติบโตทางการเมือง และเรียนรู้คนรุ่นใหม่ผ่านจาก “คนแบบขนุน” ในหลากหลายมิติ
มิติแรก ขนุนเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ มีความยุติธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ เพราะประเด็นแรก ๆ ที่ขนุนเคลื่อนไหวกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ก็เป็นประเด็นเกี่ยวกับทรงผม สิทธิในร่างกาย ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร
มิติที่สอง ความอยากเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้ ถ้าเราลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง
มิติที่สาม นอกจากมีความเชื่อแล้ว ก็ลุกขึ้นมาทำจริง ๆ ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.ปลาย ก็ลุกมาผลักดันประเด็นกับเด็ก 10-20 คน แต่สามารถทำให้เรื่องเหล่านั้นเป็นประเด็นสาธารณะได้ “มันสะท้อนว่าถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนแล้วลุกขึ้นมาทำอะไร มันเปลี่ยนได้” กนกรัตน์กล่าว
มิติที่สี่ ท่ามกลางความพยายามอยากจะเปลี่ยน แน่นอนว่ามีอุปสรรคขวากหนาม ถูกขัดขวางเซาะกร่อนบ่อนทำลายความฝัน ความเชื่อที่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันทำได้ โดยผ่านทางรัฐ ผู้มีอำนาจ กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงมันดีและควรจะเกิดขึ้น ทุกวิถีทางที่เขาจะทำได้เพื่อที่จะหยุดคนรุ่นนี้ ต้องทำให้หยุดฝันเพราะเป็นเรื่องอันตราย ต้องหยุดเชื่อเพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นไปไม่ได้ หยุดเพราะเปล่าประโยชน์ และถ้าไม่หยุดต้องเผชิญสิ่งนี้
มิติที่ห้า ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามทั้งหมด ท่ามกลางความรุนแรงเหล่านี้ คนอย่าง ‘ขนุน’ คือ ตัวแทนของคนที่บอกว่าฉันไม่ยอมจำนน กนกรัตน์เล่าว่าสิ่งที่ขนุนต้องเผชิญไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่มันเป็นครั้งแล้วครั้งเล่า กับการเผชิญปัญหาเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนที่เจอจะไม่กลัว คนอย่างขนุนก็เช่นกัน การเผชิญหน้ากับการกดทับยับยั้ง มาตรการกดขี่ ผ่านนิติสงคราม การคุกคามใด ๆ ก็ตาม มันทำให้เกิดความกลัว ความสับสน ความรู้สึกโดดเดี่ยว ความกังวล
“เรายังจำได้ วันที่เราเจอกับขนุนในวันที่ 16 ตุลาคม 2563, พูดแล้วยังอยากร้องไห้อยู่เลย คือความกลัวที่คนอายุแค่ 17-18 ต้องเจอ กับการที่ถูกรัฐคุกคาม มันโหดร้ายมากนะ
“สิ่งที่ขนุนต้องเผชิญมันเป็นตัวแทนของคนรุ่นนี้จริง ๆ ถ้าใครจำเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลา 2563 ได้ มันเป็นเหตุการณ์ที่มันกระทบกระเทือนกับความรู้สึกและจิตใจต่อคนรุ่นใหม่อย่างมากที่ทำให้เกิดความกลัว ความรู้สึกว่า ‘สิ่งฉันทำมันถูกทางมั้ยว่ะ’ ‘มันเป็นอันตรายนะ’”
มิติที่หก ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการทำร้ายคนรุ่นใหม่ได้แค่ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมันไม่สามารถจะหยุดคนที่มีความฝันและอยากจะเปลี่ยนแปลง
กนกรัตน์เล่าว่าในระยะสั้น หลังการชุมนุมผู้คนที่เธอพบ ต่างเกิดภาวะความซึมเศร้า ถอดใจ หมดหวัง โดดเดี่ยว เพราะด้วยว่าอยากจะผลักดันการเปลี่ยนแปลง ลงทุนลงแรงเคลื่อนไหวไปหลายปี เมื่อการชุมนุมจบ แต่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่ว่า “ให้มันจบในรุ่นเรา” นั้นไม่จบ ซ้ำแล้วยังถูกข่มขู่ คุกคาม ดำเนินคดี จับกุม คุมขัง กดขี่ในหลากหลายรูปแบบ
“แต่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของภาคประชาชนไทย สิ่งที่รัฐทำแบบนี้ มันไม่เคยหยุดนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว และประชาชนคนธรรมดาในระยะยาวได้เลย”
ในระยะต่อมา เมื่อจังหวะทางการเมืองเปิด เครือข่ายทางสังคมการเมืองที่พวกเขาเหล่านั้นสร้างไว้ แกนนำก็อาจกลับมาเคลื่อนไหวแบบเดิม หรือก้าวหน้าไปกว่าเดิม มีกิจกรรมสร้างสรรค์แบบใหม่ ๆ เพราะได้เรียนรู้จากปัญหาอุปสรรคที่เกิดในอดีต
ในฐานะปัจเจกบุคคล กนกรัตน์ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับชีวิตหลังการเคลื่อนไหวทางการเมือง คนจำนวนมากก็ผ่านภาวะซึมเศร้า ผิดหวังกับปัญหาต่าง ๆ แต่เมื่อผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นได้ การเคลื่อนไหวนั้นยังมีอยู่ แต่มันถูกเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบอื่น ๆ คือการเคลื่อนไหวในระดับจุลภาคในพื้นที่ใหม่ ๆ อย่างในโรงเรียน ที่ทำงาน เครือข่ายทางสังคมแบบใหม่ แล้วก็การเคลื่อนไหวในประเด็นที่น่าสนใจใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่ได้พูดถึงอย่างเป็นนัยสำคัญในการชุมนุม เป็นการทำการเมืองในประเด็นที่ไม่ใช่การเมือง เช่น สุราปลดแอก ผ้าอนามัยในสถานศึกษา หรือการคุยกันในช่วงเบรคของพนักงานออฟฟิศที่พูดถึงออฟฟิศในฝันที่อยากเห็น
“มันทำให้คนที่สนใจการเมืองในช่วงการชุมนุมได้กลับมาพูดคุยกันมากขึ้น ก็เป็นการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ที่กลับไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ทางการเมือง ทำให้เห็นการ Empowerment ในหลายรูปแบบมาก” กนกรัตน์กล่าว
“คนอย่างขนุนก็เป็นตัวอย่างอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะเรียนจบแล้ว ยังเลือกอาชีพที่ยังสามารถทำอะไรได้ ผลักดันการเปลี่ยนแปลง ช่วยเหลือเพื่อนในเครือข่ายการเคลื่อนไหวเหมือนกันได้ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทำลายได้”
มิติที่เจ็ด สิ่งที่รัฐหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำกับขนุนหรือคนรุ่นใหม่ ทำให้กิจกรรมต้องหยุดไป แต่รัฐไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ต่างทำให้คนรุ่นใหม่ไม่พอใจ ไม่มีความไว้ใจ และมองรัฐในฐานะศัตรูร่วม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเยียวยาหรือการทำงานร่วมกัน หรือการพัฒนาของรัฐในระยะยาว
มิติที่แปด ‘ขนุน’ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่สร้างพันธมิตรกับคนรุ่นใหญ่ คือทำให้คนรุ่นอื่น ๆ มาเป็นพันธมิตรกับคนรุ่นใหม่ได้
กนกรัตน์เล่าถึงท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองขณะที่มีการชุมนุม ขนุนและครอบครัวก็เผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะมีพ่อแม่อยู่ฝ่ายใด แต่การที่ลูกจะต้องไปม็อบท่ามกลางสถานการณ์รุนแรง ล้วนทำให้เกิดความขัดแย้งในทุกครอบครัว แต่หลังจากการชุมนุมจบลงก็เห็นการกลับมาสมานฉันท์กันมากขึ้น คนรุ่นก่อนก็เกิดการเรียนรู้และเข้าใจถึงข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขา ‘ต้องการเห็นสังคมที่ดีขึ้น’
นอกจากนั้นในกระบวนการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ใหญ่ยอมรับมากขึ้นว่าคนรุ่นใหม่มีความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ การผลักดันระยะยาวในเชิงกฎหมายและนโยบาย การสร้างสถาบันทางการเมืองร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของพรรคก้าวไกล หรือปีกคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนเพื่อไทย ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าคนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่เฉพาะการชุมนุมบนท้องถนนอย่างเดียว
ประเด็นสุดท้ายกนกรัตน์เห็น ก็คือชุดความสัมพันธ์แบบใหม่ของฝั่งอนุรักษ์นิยมสุดขั้วกับคนรุ่นใหม่ “แน่นอนว่ายังไงก็ตามอนุรักษ์นิยมสุดขั้วไม่ได้ยอมรับคนรุ่นใหม่แบบที่เขายอมตาม แต่มันเป็นความสัมพันธ์ชุดที่เท่าเทียมกันมากขึ้น จากเดิมที่เขาไม่เคยเชื่อเลยว่าคนรุ่นใหม่จะมีจุดยืน ความเชื่อทางการเมือง และตื่นตัวด้วยตัวเอง แต่ ณ จุดนี้ เราเชื่อว่าปีกอนุรักษ์นิยมก็ยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ก็เป็นตัวแทนทางการเมือง ดังนั้นแล้วเราจะเห็นการปรับตัวของพรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ที่หันมาทำแคมเปญเอาใจคนรุ่นใหม่ เขารู้ว่าเขาไม่สามารถที่จะชนะได้ ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่”
“ทั้งหมดที่พูดมานั้นอยากทำให้เห็นว่า ตัวขนุน สิ่งที่ขนุนเป็น มันสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นนี้เชื่อและไม่ยอมจำนน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม
“แน่นอนว่าในระยะสั้นมันบั่นทอนและหยุดได้ แต่ในระยะยาวไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับขนุน เราเชื่อว่าขนุนก็ยังจะหาวิธีการในการเปลี่ยนแปลงโลกในแบบที่ขนุนพอจะทำได้ .. เมื่อเห็นขนุนก็รู้ว่าสังคมไทยมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมแน่นอน ก็เป็นกำลังใจให้ขนุน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม” กนกรัตน์กล่าว
.
ย้อนอ่านเรื่องราวของขนุนจากมุมของเพื่อน
รู้ว่ายาก แต่อยากเคียงข้าง “ขนุน”: เมื่อ ม.112 ทำคนชิดใกล้ ให้ไกลห่าง
.