เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ก่อนถึงวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งถือเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลและวันรัฐธรรมนูญของไทย ทนายความได้ยื่นประกันและยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 15 คน ใน 19 คดี โดยเป็นผู้ต้องขังในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 จำนวน 8 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา,“มานี” เงินตา คำแสน, “ขุนแผน” เชน ขีวอบัญชา, “ขนุน“ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล), อัฐสิษฎ (สงวนนามสกุล), “อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน และ ทิวากร วิถีตน
นอกจากนี้ยังมีการยื่นประกัน “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ระหว่างฎีกา หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี 7 เดือน ในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยใน #ม็อบ13กุมภา64 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ที่เหลืออีก 6 คน เป็นผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด ได้แก่ “แดง ชินจัง” ยงยุทธ, ประวิตร, ไพฑูรย์, สุขสันต์, คเชนทร์ และ ขจรศักดิ์ (สงวนนามสกุล)
สำหรับอานนท์มีการยื่นประกันในคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น 5 คดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์คดี ส่วนชินจังมีการยื่นประกันรวม 4 คดี เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งหมด ผู้ต้องขังอีก 12 คน มีการยื่นประกันคนละ 1 คดี ที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจิรวัฒน์เพียงคนเดียว ขณะที่ทั้งศาลชั้นต้น (ศาลอาญา รัชดาฯ), ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันอีก 14 คน ทำให้พวกเขาทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำข้ามปี โดยหลายคนอย่างอานนท์, วีรภาพ, ประวิตร, คเชนทร์ ไม่มีอิสรภาพนอกเรือนจำเลยตลอดปี 2567
.
ยื่นคำร้องขอประกัน – อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน 9 จำเลย ม.112 ศาลอนุญาตให้ประกันเพียงคนเดียว
ทนายความยื่นประกันผู้ต้องขังในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 จำนวน 8 คน ได้แก่ อานนท์, มานี, ขุนแผน, ขนุน, อัฐสิษฎ, อารีฟ และทิวากร รวมทั้งแอมป์ที่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุกในวันดังกล่าวด้วย กับยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันจิรวัฒน์ต่อศาลฎีกา หลังทนายยื่นประกันเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกัน ทั้งหมดนี้มีเพียงจิรวัฒน์เพียงคนเดียวที่ศาลฎีกาอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์
ในกรณีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง วัย 40 ปี มีการยื่นคำร้องขอประกันทั้งสิ้น 5 คดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ได้แก่ คดีจากการปราศรัย #ม็อบ14ตุลา63, คดีโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ, คดีปราศรัย #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2, คดีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ และคดีโพสต์ #ราษฎรสาส์น ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นส่งคำร้องทั้งหมดให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องทั้ง 5 คดี
การยื่นประกันอานนท์ในคดีจากการปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 เป็นการยื่นประกันระหว่างอุทธรณ์ครั้งที่ 16 แล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้องเช่นเคย ระบุโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
คดีโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ วิจารณ์การใช้ ม.112 และปัญหาของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการยื่นขอประกันระหว่างอุทธรณ์ครั้งที่ 11 ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุโดยสรุปว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
คดีปราศรัยใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 เป็นการยื่นขอประกันระหว่างอุทธรณ์ครั้งที่ 7 ซึ่งในครั้งนี้ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุคำสั่งโดยสรุป ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ส่วนในคดีจากการโพสต์ 2 ข้อความในเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 เป็นการยื่นขอประกันครั้งที่ 7 แล้ว ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุโดยสรุปว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
และสุดท้ายในคดี #ราษฎรสาส์น โพสต์จดหมายข้อความถึงกษัตริย์ เป็นการยื่นขอประกันครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกในคดีนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุโดยสรุปว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง การกระทำที่ี่จำเลยถูกฟ้องสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี และให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ผลของคำสั่งไม่ให้ประกันในทั้ง 5 คดี ทำให้อานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป หลังถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 รวมเวลากว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว

.
“อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน จำเลยในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 112 ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566 กรณีถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ #ไอ้ษัตริย์” บริเวณแยกดินแดง ซึ่งการยื่นประกันในครั้งนี้เป็นการยื่นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เชาถูกคุมขังมา
ภายหลังการยื่นประกัน ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา ระบุเหตุผลลักษณะเดิมว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทำให้เขายังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป

.
อัฐสิษฎ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2567 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำเพจเผยแพร่ภาพวาดแนวเสียดสีสังคมจำนวน 2 ภาพ ซึ่งในการยื่นประกันตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เขาถูกคุมขัง
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นเคย ซึ่งระบุเหตุผลโดยสรุปว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง
จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทำให้เขายังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป

.
“ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ จำเลยในคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี กรณีปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ในครั้งนี้เป็นการยื่นประกันครั้งที่ 12 นับแต่ขนุนถูกคุมขังมาตลอด 8 เดือนเศษ
ภายหลังการยื่นประกัน ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องมีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ผลของคำสั่งดังกล่าวจึงทำให้สิรภพยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป

.
ในกรณีของ มานี – ขุนแผน จำเลยในคดีข้อหาหลักมาตรา 112 ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2567 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน จากกรณีทำกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” และร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
ภายหลังการยื่นประกันทั้งสองคนเป็นครั้งที่ 3 โดยอ้างถึงความเจ็บป่วยของทั้งมานีและขุนแผน ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงทำให้ทั้งสองคนยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป

.
ทิวากร วิถีตน ถูกขังระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำคุก 6 ปี กรณีโพสต์รูปสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎรในปี 2564
ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 4 สำหรับการยื่นประกันทิวากร แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งยกคำร้อง “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่อ้างตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา มิใช่เหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง” ผลของคำสั่งนี้ทำให้ทิวากรยังคงถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นต่อไป

จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีมาตรา 112 ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2566 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกรวม 6 ปี กรณีแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ
ในกรณีของจิรวัฒน์ มีการยื่นประกันไปก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น 10 ครั้ง ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันเช่นเคย ในครั้งนี้ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันต่อศาลฎีกา
ต่อมา ศาลฎีกามีคำสั่งลงวันที่ 10 ธ.ค. 2567 อนุญาตให้ประกันจิรวัฒน์ในระหว่างอุทธรณ์ โดยระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ความหนักเบาแห่งข้อหา และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง 6 ปี ประกอบกับจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ตีราคา 250,000 บาท ร่วมกับใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของจำเลย ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ และห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น”
จิรวัฒน์จึงได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 ธ.ค. 2567 หลังถูกเบิกตัวไปติด EM ที่ศาล และวางหลักทรัพย์ประกันที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังยาวนานถึง 1 ปี 7 วัน

.
ส่วนในกรณีของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยใน #ม็อบ13กุมภา64 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 1 ปี 7 เดือน
หลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นประกันแอมป์ระหว่างฎีกาในทันที ก่อนศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา และแอมป์ถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันนั้นทันที ต่อมา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 7 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา”

ยื่นประกัน 6 จำเลยที่ถูกขังก่อนมีคำพิพากษา – ระหว่างอุทธรณ์ในคดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด ศาลอาญา-ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันทั้งหมด
“แดง ชินจัง” ยงยุทธ ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2567 หลังถูกฟ้องต่อศาลในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2557 รวมทั้งสิ้น 4 คดี
ครั้งนี้ทนายความยื่นขอประกันยงยุทธในทั้ง 4 คดี เป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ถูกคุมขังมา อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมด ระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย” ทำให้ยงยุทธยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

.
ด้านประวิตร (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2566 หลังศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี 4 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าเผาป้อมตำรวจจราจร ใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลัง #ม็อบ10สิงหา64
หลังทนายความยื่นประกันครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 8 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุ ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

.
กรณีของคเชนทร์ และ ขจรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน และ 11 ปี 6 เดือน ตามลำดับ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท
ในการยื่นประกันตัวครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่พวกเขาถูกคุมขังมา ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้องเช่นเคย ระบุคำสั่งโดยสรุปว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เป็นเหตุให้พวกเขาถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป แม้ว่าถูกขังมากว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว

และในกรณีของ ไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังในระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 33 ปี 12 เดือน ในคดีถูกกล่าวหาว่าใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่ ได้รับบาดเจ็บใน #ม็อบ11กันยา64 และต่อมาถูกพิพากษาจำคุกอีก 3 ปี ในคดีตรวจพบวัตถุระเบิดในครอบครอง
ส่วนในกรณีของ สุขสันต์ (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังในระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ในคดีถูกกล่าวหาว่าใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่ คดีเดียวกับไพฑูรย์
ทนายความได้ยื่นประกันทั้งสองคนระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 5 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทำให้ทั้งสองคนยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมต่อไป

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง