หลังจากเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 ‘แดง ชินจัง’ หรือ ยงยุทธ อดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดง ต้องถูกคุมขังในคดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2557 อีกครั้ง เนื่องจากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวใน 4 คดีใหม่ที่เขาเพิ่งถูกสั่งฟ้อง ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มากว่า 1 เดือนเศษแล้ว
ย้อนกลับไปในวันดังกล่าว ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวเนื่องกับการยิงระเบิด M79 ใส่เวทีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อช่วงปี 2557 หลังการตรวจพยานฯ และกำหนดวันนัดเสร็จสิ้น ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเข้ามารออายัดตัวตามหมายจับของศาลอาญา ในคดีที่ถูกอัยการสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้อีกรวม 4 คดี ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดในช่วงการชุมนุม กปปส. เช่นกัน ทำให้เขามีคดีอยู่ที่ศาลอาญาขณะนี้รวม 5 คดี
หลังการยื่นประกันตัว ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทุกคดี ระบุ “พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง หากอนุญาตให้ประกันตัว เกรงจะหลบหนี” โดยก่อนหน้านั้น เขามาตามนัดอัยการ รวมทั้งนัดตรวจพยานหลักฐานของศาลในคดีแรกที่ถูกสั่งฟ้องไปก่อนแล้ว
แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวในทั้ง 4 คดี ใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 แต่ศาลยังคงยกคำร้อง โดยเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม แต่เขายังหวังจะยื่นประกันตัวใหม่อีกครั้ง
“แดง ชินจัง” เป็นคนเสื้อแดง ที่มีคดีพัวพันต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 เขาเคยถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหาร เคยร้องเรียนเรื่องการถูกซ้อมทรมาน เคยถูกคุมขังในเรือนจำหลายแห่ง และในคดีที่เขาเคยถูกกันเป็นพยานฝ่ายโจทก์ ขณะนี้กลายเป็นว่าถูกนำมากล่าวหาต่อเขาในฐานะจำเลยใหม่ทั้งหมด ชวนทำความรู้จักข้อมูลของยงยุทธและลำดับเรื่องราวในเบื้องต้นเท่าที่พอประมวลได้
.
รู้จัก “แดง ชินจัง”
“แดง ชินจัง” ปัจจุบันอายุ 36 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้างและแสดงละครเป็นตัวประกอบ โดยเขาเพิ่งจะมาประกอบอาชีพเกี่ยวกับการแสดงหลังจากพ้นโทษเมื่อปี 2562 เขามีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตต่ำและเลือดจาง ที่เน้นทานยารักษาตามอาการ มักจะมีอาการวูบ หมดสติอยู่บ่อยครั้ง เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
ก่อนจะเข้าเรือนจำครั้งนี้ ยงยุทธเป็นเสาหลักของครอบครัวเพราะต้องดูแลแม่และภรรยา โดยมีภาระค่าใช้จ่ายทางบ้านที่ต้องรับผิดชอบหลัก ๆ คือ ส่งค่างวดรถยนต์และค่าเช่าบ้าน
การมีคดีที่ถูกทยอยฟ้องอยู่เรื่อย ๆ เป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาชีพการแสดงของเขากำลังไปได้ดี แต่เมื่อต้องกลับมาถูกจำคุก ไม่ได้รับการประกันตัว คงทำให้ไม่สามารถกลับไปแสดงละครได้อีก และทางครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเกินกำลัง
สำนักข่าวประชาไท เคยรายงานประวัติส่วนตัวของยงยุทธไว้ว่า เป็นชาวร้อยเอ็ด เข้ากรุงเทพฯ มาทำงานก่อสร้าง สนใจการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 ต่อมามักไปชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2553 มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักของผู้ชุมนุมเนื่องจากมักจะใส่เสื้อกล้ามสีแดง กางเกงสีแดง และใส่วิกผมหยิกฟูสีแดง ต่อมายงยุทธได้รับจ้างทำงานก่อสร้างให้กับคนเสื้อแดงที่เขารู้จัก
ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมยงยุทธหลังถูกจองจำ โดยในช่วงแรกยังอยู่ในระหว่างกักโรคของทางเรือนจำ เขาบอกว่าในด้านสุขภาพกายและใจยังปกติ ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้พอรับรู้และรับมือกับสภาพในเรือนจำได้มาก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้อยากอยู่ในนี้นาน อยากออกไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวเหมือนเดิม
ต่อมาหลังการกักโรค เขาถูกย้ายจากแดน 2 ไปคุมขังอยู่ในแดน 4 ทำให้ได้เจอเพื่อนผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองหลายคนแล้ว พอช่วยให้การอยู่ในเรือนจำเป็นความหดหู่น้อยลงด้วย
ยงยุทธระบุถึงความรู้สึกของเขาต่อคดี ว่ารู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมา ก็ไปรายงานตัวตามนัดอัยการมาตลอด ทำตามกระบวนการทุกอย่าง แต่อยู่ ๆ ก็สั่งฟ้องคดีโดยไม่บอกล่วงหน้า แล้วกลายเป็นว่าถูกสั่งไม่ให้ประกันตัว เพราะจะหลบหนีคดี ทั้งที่ไม่ได้หลบหนีเลย
“ถ้าเราทำผิด ไม่มาตามนัด แล้วเอาเราเข้าคุก จะไม่มาคิดมากแบบนี้เลย แต่นี่มันไม่ใช่” ยงยุทธระบาย
.
ย้อนทบทวนการถูกจับกุมซ้ำไปมาของ “แดง ชินจัง”
ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 มีชื่อของยงยุทธในคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบก แต่เขาไม่ได้เดินทางไปตามคำสั่ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2557 ขณะทำงานรับจ้างก่อสร้างอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 40-50 นาย ไปติดตามจับกุม ก่อนถูกควบคุมตัวมายังกองพันทหารสารวัตรที่ 11 ในกรุงเทพฯ และถูกสอบสวนอยู่ในค่ายทหารหลายวัน
ยงยุทธให้ข้อเท็จจริงในภายหลังว่าระหว่างถูกควบคุมตัวและสอบปากคำในค่ายทหารในกรุงเทพฯ นั้น เขาถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย มีทั้งการตบตี และการใช้ไฟฟ้าช็อต ประกอบกับข่มขู่ว่าจะทำร้ายคนในครอบครัว ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้มีการนำเอกสารต่าง ๆ มาให้เซ็น ซึ่งเขาก็ได้ยินยอมลงชื่อไปโดยขัดขืนมิได้
วันที่ 1 ส.ค. 2557 ทหารนำตัวยงยุทธไปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการแถลงข่าวการจับกุมที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ว่าเขาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใช้เครื่องยิงระเบิด M79 ไปก่อเหตุในที่ต่าง ๆ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีหมายจับยงยุทธของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 299/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 ข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายเเก่ทรัพย์ของผู้อื่น มีเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ต่อมาพบว่าเป็นคดีเกี่ยวกับเหตุเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2557 ยงยุทธถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันกับพวกรวม 4 คน ยิงระเบิด M79 จำนวน 3 นัด ใส่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานกองสลาก แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ มีเพียงทรัพย์สินเสียหาย
ภายหลังการแถลงข่าว ญาติไม่ทราบข่าวคราวของยงยุทธอีก ต่อมาแม้ญาติพยายามเดินทางไปตามหาเขาที่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือกองปราบปราม ก็ไม่พบ ตำรวจเพียงบอกว่าทหารนำตัวยงยุทธไปอีกหลังการแถลงข่าว แต่ไม่ทราบว่านำไปที่ใด
ต่อมาหลังองค์กรสิทธิมนุษยชนพยายามติดตามตัว และออกแถลงการณ์ ว่ากรณีของยงยุทธเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นการถูกบังคับให้สูญหาย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารได้แสดงเอกสาร อ้างว่ายงยุทธลงนามว่าสมัครใจอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่เอง แม้เกินจากอำนาจควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกในช่วงดังกล่าวก็ตาม
จนวันที่ 10 ส.ค. 2557 ปรากฏข่าวว่าตำรวจนำตัวยงยุทธไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ในคดียิง M79 ใส่อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2557 และถูกนำตัวไปขอฝากขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำจังหวัดนนทบุรี
หลังถูกฝากขังจนครบ 84 วัน คดียังไม่มีการสั่งฟ้องคดี ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัว ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 แต่ได้มีเจ้าหน้าที่เข้าอายัดตัวเขาไป ก่อนถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีในอีกคดีหนึ่ง
ในระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 ยังปรากฏรายงานข่าวว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำทำร้ายร่างกาย โดยการเตะที่บริเวณต้นขาและลำตัวหลายครั้ง และยังได้เตะบริเวณปลายคาง จนทำให้ฟันหน้าด้านล่างของยงยุทธหักไปครึ่งซีกพร้อมกับมีบาดแผลที่ริมฝีปาก โดยเขาคิดว่าอาจจะมาจากการแสดงออกของเขา ทำให้ผู้คุมเข้าใจผิดว่าเป็นการโห่ร้องล้อเลียนผู้คุม จึงเกิดความโกรธเคือง
จนหลังจากแม่ของยงยุทธยื่นจดหมายร้องเรียนถึงทางเรือนจำ เจ้าหน้าที่เรือนจำที่อ้างว่ารับผิดชอบต่อกรณีนี้ ติดต่อมาหาแม่ ระบุว่าได้ให้ยงยุทธและเจ้าหน้าที่ที่ทำร้าย มาพูดคุยปรับความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากความเครียดของเจ้าหน้าที่ และได้แจ้งว่าทางเรือนจำได้ให้อิสรภาพกับยงยุทธมากขึ้น โดยให้ย้ายมาอยู่แดนนอก ไม่ถูกจำกัดบริเวณ
ต่อมาทราบว่าระหว่างปี 2559 – 2561 ยงยุทธระบุว่าถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางระยองในอีกคดีหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2557 โดยทราบว่าเป็นการคุมขังระหว่างพิจารณา จนศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงได้รับการปล่อยตัว
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2562 เขายังถูกตำรวจจับกุมจากที่ทำงานที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ไปในอีกคดีหนึ่ง แต่ได้รับการประกันตัว ในวันที่ 30 ธ.ค. 2562
.
จากพยานผู้ถูกซ้อมทรมาน กลับกลายเป็นจำเลย
จากคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุอยู่หลายกรณีและบางคดีจบลงไปแล้ว มีทั้งคดีที่เขาถูกพิพากษาจำคุก และพ้นโทษมา และมีคดีที่ศาลยกฟ้องด้วยเช่นกัน เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ก็ยังมีคดีใหม่ที่เขาถูกกล่าวหาเพิ่มเติมอีกในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คดีที่ทยอยนำมาฟ้องต่อเขาใหม่ในขณะนี้ พบว่าหลายคดีเป็นคดีที่ยงยุทธเคยถูกกันไว้เป็นพยานเพื่อใช้ปรักปรำจำเลยในคดีอื่น เช่น กรณีเหตุยิงระเบิด M79 ใส่เวทีชุมนุม กปปส. แจ้งวัฒนะ 2 คดี และกรณีที่หน้าตึกชินวัตร 3 โดยจำเลยในคดีเหล่านี้เป็นกลุ่มจำเลย 4-5 คน ถูกดำเนินคดีซ้ำ ๆ หลายเหตุการณ์
คดีที่ยงยุทธเป็นพยานนี้ มีทั้งกรณีที่ศาลยกฟ้องจำเลยในคดีไปทั้งหมดแล้ว คือ เหตุยิงระเบิดที่แจ้งวัฒนะ 2 คดี เพราะศาลรับฟังประเด็นการจับกุมและสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ทหารในยุครัฐบาลทหาร อีกทั้งการกันยงยุทธไว้เป็นพยานในคดียังเกิดขึ้นจากการถูกต่อรอง ว่าถ้าเป็นพยานปรักปรำบุคคลอื่น ตัวเขาเองจะไม่ถูกดำเนินคดี
ยงยุทธ ยังเบิกความในคดีดังกล่าวว่า ระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามอำนาจของกฎอัยการศึก เขาถูกทำร้ายและบังคับให้สารภาพว่าร่วมก่อเหตุทั้ง 3 ครั้ง และยงยุทธยังได้รับคำมั่นจากเจ้าหน้าที่ว่า หากให้การเช่นนั้นจะกันเป็นพยานไม่ดำเนินคดี อีกทั้งไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจอยู่ในการสอบสวนด้วย
นอกจากนั้นบันทึกคำให้การของยงยุทธในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ใช้พยานหลักฐานของชั้นเจ้าหน้าที่ทหารโดยคัดลอกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสามครั้งมา ทำให้ศาลไม่รับฟังคำให้การดังกล่าวในที่สุด
แต่ในคดีที่เขาถูกกันเป็นพยานดังกล่าว ปัจจุบันได้พลิกผัน กลับมาทำให้เขากลายเป็นจำเลย และผู้ต้องขัง ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์ในคดีและการประกันตัวต่อไป โดยในคดีต่าง ๆ ที่เขาถูกสั่งฟ้องใหม่นั้น ศาลอาญาทยอยนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมกราคม 2568 นี้
.