ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 1 ปี 7 เดือน “ณวรรษ” คดี 112 ปราศรัย #ม็อบ13กุมภา64 – เข้าเรือนจำทันทีรอศาลฎีกาสั่งคำร้องขอประกัน เพิ่มผู้ต้องขังทางการเมืองเป็น 34 ราย

วันที่ 9 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 7 เดือน ปรับ 1,500 บาท และจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ

โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ลงโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่แก้โทษปรับเหลือ 1,200 บาท ก่อนศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันณวรรษระหว่างฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณา ทำให้ในวันนี้ณวรรษต้องถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่งศาลฎีกาว่าจะให้ประกันหรือไม่

ย้อนไปวันเกิดเหตุ (13 ก.พ. 2564) “คณะราษฎร 2563” ได้จัดการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันดังกล่าวมีการทำกิจกรรมเขียนความเห็นลงบนป้ายผ้าสีแดง ก่อนเข้ารื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก และนำผ้าแดงที่มีข้อความแสดงความเห็นของผู้ชุมนุมไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งยังมีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และประเด็น 3 ข้อเรียกร้อง โดยณวรรษได้ปราศรัยเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทวงถามเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชน

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการยื่นฟ้องณวรรษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

การชุมนุมในวันดังกล่าวนอกจากณวรรษแล้ว ยังมีแกนนำนักกิจกรรมอีกจำนวน 8 ราย ถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงดุสิตในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ลงโทษ “รุ้ง” ปนัสยา กับ “ไมค์” ภาณุพงศ์ ฐานทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากมีคำปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้และทำให้ต้นไม้เสียหาย จำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครซึ่งก็คือกระถางดอกไม้ จำนวน 50,000 บาท 

สำหรับณวรรษ ในวันแรกของนัดสืบพยาน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 ณวรรษได้ตัดสินใจถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา วันที่ 26 เม.ย. 2566 ศาลชั้นต้นจึงมีพิพากษาว่า ณวรรษมีความผิดตามฟ้อง ในข้อหาตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 2 เดือน ส่วนในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 2,000 บาท และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 1,000 บาท (โดยที่กฎหมายกำหนดโทษปรับข้อหานี้ไว้ ไม่เกิน 200 บาท เท่านั้น)

ศาลเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,500 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันหลายคดี จึงไม่รอการลงโทษจำคุก

ในวันดังกล่าว ศาลได้อนุญาตให้ประกันณวรรษในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ณวรรษได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษารอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษ ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ (9 ธ.ค. 2567)

.

วันนี้ (9 ธ.ค. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 608 นอกจากณวรรษ มีประชาชน สื่ออิสระ และเพื่อนของณวรรษเดินทางมาให้กำลังใจและร่วมสังเกตการณ์คดี ต่อมาศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สามารถสรุปได้ดังนี้

เห็นว่า ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของสุจริตชนที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง

ลำพังจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเจ็บป่วย เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว ไม่มีเหตุผลที่จะให้โอกาสปรับตัวโดยรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพความผิดและยังไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เดิมศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 1,000 บาท เป็นการลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เป็นความผิดพินัย ให้ปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ 200 บาท

นอกจากนี้ โจทก์ขอให้ริบของกลางเป็นผ้าสีแดงยาว 30 เมตร ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งว่าริบหรือไม่ เรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จึงให้ริบผ้าสีแดงยาว 30 เมตร ซึ่งเป็นของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

กล่าวโดยสรุปคือ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดตามมาตรา 112, ทำให้เสียทรัพย์, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,000 บาท ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ พิพากษาแก้เป็นปรับพินัย 200 บาท รวมจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,200 บาท ริบผ้าสีแดงของกลาง

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษาอุทธรณ์ ได้แก่ ทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร, ณเรศ ทรงประกอบ และ วิรัตน์ กาญจนเลขา

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ศาลได้เข้ามาควบคุมตัวจำเลยไปไว้ยังห้องขังใต้ถุนศาล ขณะทนายความยื่นคำร้องขอประกันระหว่างฎีกา 

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันให้ศาลฎีกาพิจารณา ทำให้ณวรรษถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่งศาลฎีกาว่าจะให้ประกันหรือไม่ 

และทำให้ผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 34 คน โดยเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 23 คน ในจำนวน 34 คน ยังเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ถึง 25 คน

ทั้งนี้ ณวรรษถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 6  คดี โดยปัจจุบันคดีนี้เป็นคดีแรกและคดีเดียวที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว

.

(อัปเดตวันที่ 12 ธ.ค. 2567) ต่อมาในวันที่ 12 ธ.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวณวรรษในระหว่างฎีกา ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 7 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง

.

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของณวรรษ >>> “ผมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นผู้ติดเชื้อ HIV” 

X