*ข้อมูลจนถึงวันที่ 21 ก.พ. 2568
18 ก.พ. 2568 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ หลังทนายความยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองรวมทั้งสิ้น 16 คน เนื่องในโอกาสวันแห่งความรัก หวังศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังได้กลับบ้านไปอยู่กับคนรักและครอบครัวอย่างพร้อมหน้า และให้โอกาสพวกเขาได้เตรียมตัวต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
การยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองครั้งนี้แบ่งออกเป็นผู้ต้องขังในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวม 10 คน ได้แก่ วีรภาพ วงษ์สมาน, “มานี” เงินตา คำแสน, “ขุนแผน” เชน ชีวอบัญชา, อัฐสิษฎ (สงวนนามสกุล), “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน, สถาพร (สงวนนามสกุล), “ก้อง” อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล, ทิวากร วิถีตน และ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
และผู้ต้องขังในคดีข้อหาอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากเหตุชุมนุม รวมทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ “บาส” ประวิตร (สงวนนามสกุล), ไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล), สุขสันต์ (สงวนนามสกุล), คเชนทร์ (สงวนนามสกุล), ขจรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และ จักรี (สงวนนามสกุล)
คำสั่ง “ยกคำร้อง” ในทุกคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมาคือ เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
เป็นที่สังเกตได้ว่า การได้รับประกันตัวในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก โดยศาลสูง (ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา) มีแนวโน้มที่จะไม่อนุญาตให้ประกันจำเลยคดีมาตรา 112 หรือคดีอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากการชุมนุม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก ทั้งที่พวกเขายังอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี และก่อนหน้านี้มาศาลตามนัด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งยังมีเหตุผลจำเป็นอย่างยิ่งในการขอประกันตัว อาทิ การศึกษา อาการเจ็บป่วยของตน การดูแลหรือหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว
นอกจากนี้กว่าครึ่งของผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมดที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นต้องอนุญาตให้ประกันหลังมีคำพิพากษาในทันที ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ข้อที่ 24 ซึ่งระบุไว้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา หรือใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง
แต่จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายฯ พบว่า ศาลชั้นต้นมักจะส่งให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกัน และการขอประกันตัวในครั้งถัด ๆ ไป ศาลชั้นต้นผู้รับคำร้องก็จะส่งไปให้ศาลสูงพิจารณาเช่นเดิม
แม้ว่า มีบ้างที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน เช่น กรณี “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “บูม” จิรวัฒน์ หรือล่าสุด “พอร์ท” ปริญญา ชีวินกุลปฐม แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก ขณะที่คดีที่พฤติการณ์คดีรวมทั้งพฤติการณ์ของจำเลยคล้ายคลึงกัน มีโทษจำคุกเท่ากันหรือน้อยกว่า กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ประกัน
กล่าวโดยสรุป สิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างต่อสู้คดียังคงเป็นปัญหา ทั้งการที่ศาลไม่ได้นำหลักการ ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’ มาใช้เป็นหลักในคดีทางการเมือง และการใช้ดุลยพินิจของศาลก็มีความลักลั่นไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนว่ามีมาตรฐานเช่นใด ใช้ปัจจัยใดบ้างประกอบการพิจารณามีคำสั่งให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน หรือกระทั่งในการพิจารณาส่งคำร้องให้ศาลสูงเป็นผู้สั่ง
.
.
ศาลยังคงยกคำร้อง ‘อุกฤษฏ์’ – ‘สิรภพ’ หลังขอยื่นประกันคดี 112 เพื่อกลับไปเรียน
“ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วัย 26 ปี ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 5 ปี 30 เดือน ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีถูกกล่าวหาโพสต์ 5 ข้อความ ซึ่งการยื่นขอประกันอุกฤษฏ์ในครั้งนี้ ทนายระบุเหตุผลสำคัญในเรื่องการศึกษาและการสอบไล่เพื่อทำเรื่องขอจบการศึกษา
ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุ “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาตลอดมา เหตุที่ผู้ขอประกันอ้างตามคำร้องไม่ใช่เหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
อย่างไรก็ตาม อุกฤษฏ์ถูกขังระหว่างฎีกามาแล้ว 375 วัน (ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2567) หรือ 1 ปีกว่าแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าเขาขาดโอกาสในการศึกษามากว่า 1 ปีแล้วเช่นกัน และมีโอกาสที่เขาจะไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลังจากที่มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้สอบในเรือนจำ ในขณะเดียวกันที่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันเพื่อให้เขาได้ออกไปสอบที่มหาวิทยาลัย
อ่านบทสัมภาษณ์กรณีการสอบของก้อง ขัง ‘ก้อง อุกฤษฏ์’ ครบ 1 ปี กับการต่อสู้ของ ‘เพื่อนราม’ เพื่อให้ก้องต้องได้สอบ
.
“ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ถูกขังหลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อปี 2563 ก่อนหน้านี้เคยยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์พร้อมเหตุผลสำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาในระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้ความสามารถมาใช้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและต่อสังคมในอนาคต รวมถึงไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี แต่สุดท้ายศาลก็ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา
การยื่นประกันครั้งที่ 14 นี้ ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้องอีกครั้ง โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
สิรภพถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 334 วัน (ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2567) ซึ่งในเดือนหน้าก็จะครบ 1 ปีเต็มที่สิรภพถูกคุมขังในเรือนจำแล้ว
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด เสียงจากบัณฑิตมหาวิทยาลัยพิเศษกรุงเทพฯ: “ขนุน” ยังหวังสิทธิประกันตัวเพื่อไปเรียนต่อ ป.โท
.
ยกคำร้องประกัน “วีรภาพ” – “กันต์ฤทัย” – “ณวรรษ” แม้คำร้องระบุขอออกไปดูแลส่งเสียครอบครัว
“อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหามาตรา 112 กรณีพ่นสีข้อความใต้ทางด่วนดินแดง การยื่นประกันในครั้งนี้ ทนายความระบุเหตุผลถึงความจำเป็นในการออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วยมารดา ภรรยา และลูกวัย 2 ขวบเศษ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง
โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ปัจจุบันวีรภาพถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 513 วัน (ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566) หรือกว่า 1 ปี 4 เดือน
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด ครบรอบ 1 ปี การคุมขัง “บุ๊ค – อารีฟ” ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
.
ส่วน “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 8 ปี 48 เดือน (หรือประมาณ 12 ปี) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ ทำให้เธอถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่นั้นเรื่อยมา และการยื่นประกันครั้งนี้ระบุเหตุผลสำคัญในการออกไปดูแลบุตรชายวัย 12 ปี และรักษาโรคซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง แต่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องอีกครั้ง ระบุว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 48 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่ผู้ขอประกันอ้างว่าจำเลยเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
อายถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 179 วัน แต่คำสั่งดังกล่าวทำให้เธอยังคงไม่สามารถกลับไปอยู่กับลูกและรักษาตัวเองจากโรคซึมเศร้าที่เป็นต่อเนื่องมา 6 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้อายเคยบอกลูกไว้ว่า “แม่อาจจะไม่ได้อยู่กับลูกจริง ๆ นะ” แล้วลูกชายก็พิมพ์ข้อความมา “เชื่อว่ายังไงแม่ก็ไม่ติด ขอให้แม่ไม่ติด และขอให้เราได้อยู่ด้วยกันเหมือนเดิม”
อ่านบทสัมภาษณ์อาย “สุดท้ายต้องบอกลูก จะมาหายไปดื้อ ๆ ไม่ได้”คุยกับ “อาย กันต์ฤทัย” ก่อนเข้าเรือนจำ: ความในใจของ ‘แม่’ คนหนึ่งที่ต้องโทษ ‘112’
.
“แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน หรือ #ม็อบ13กุมภา64 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยถูกขังหลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี 7 เดือน และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา
การยื่นประกันในครั้งนี้ของณวรรษ ศาลฎีกาก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของผู้ขอประกันแล้ว กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง” ถึงแม้ว่าคำร้องขอประกันจะระบุเหตุผลความจำเป็นในการออกไปดูแลพ่อและแม่ของเขาที่กำลังเจ็บป่วยและอยู่ระหว่างพักฟื้นก็ตาม
จนถึงปัจจุบันแอมป์ถูกขังระหว่างฎีกามาแล้ว 75 วัน (ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2567) คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกของณวรรษที่มีคำพิพากษา ยังเหลืออีก 5 คดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด ห้วงฝันในห้วงขัง “60” วันที่ผ่านไปของ “แอมป์ ณวรรษ”
.
ยกคำร้องประกัน “มานี” – “ขุนแผน” แม้จำเลยมีเหตุเจ็บป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้
“มานี” เงินตา คำแสน และ “ขุนแผน” เชน ชีวอบัญชา ถูกขังหลังศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน จากกรณีทำกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” และร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องหลังทนายยื่นประกันมาแล้ว 3 ครั้ง แม้ว่าได้ระบุถึงอาการเจ็บป่วยของทั้งสองคน โดยขุนแผนป่วยเป็นวัณโรคปอดและภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ ส่วนมานีนั้นต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า
การยื่นประกันในครั้งนี้ยกเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของทั้งสอง ซึ่งกรณีของขุนแผนนั้นอาจส่งผลให้เป็นอัมพาต หรือถึงแก่ชีวิตได้ แต่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องอีก โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” ทำให้ปัจจุบันทั้งคู่ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 219 วัน (ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2567)
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” เมื่อ “ขุนแผน” ต้องเผชิญทั้งวัณโรคปอดและ PM 2.5 ในเรือนจำ, “มานี”: ความเปราะบางของชีวิตในเรือนจำ กับ ‘ความหวัง’ ที่ยังคงมีอยู่
.
ยกคำร้องประกัน “อัฐสิษฏ” – “สถาพร” แม้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ได้รับการประกันตัวมาตลอดการพิจารณาคดี
สถาพร (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 เนื่องจากไม่ได้รับประกันตัวหลังถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน กรณีแสดงออกต่อขบวนเสด็จเมื่อปี 2565 ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับประกันตัวมาตลอดในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีก็ตาม
การยื่นประกันในครั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
สถาพรถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 38 วัน (ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2568)
อ่านบทสัมภาษณ์สถาพร ขอความยุติธรรมจงสถิต “สถาพร” : การต่อสู้บนพื้นที่ชุมนุมของสื่อพลเมืองชาวอุดรฯ ก่อนตกเป็นจำเลยคดี 112
.
อัฐสิษฎ (สงวนนามสกุล) ถูกขังหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำเพจ BackArt วาดงานศิลปะจำนวน 2 ภาพ หลังการยื่นขอประกันในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี อีกทั้งศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ปัจจุบันอัฐสิษฎถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 360 วัน หรือเกือบ 1 ปีเต็มแล้ว (ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2567) แม้ว่าในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดีเขาเคยได้รับการประกันตัวมาตลอด โดยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่เคยถูกถอนการประกัน
อ่านบทสัมภาษณ์อัฐสิษฎ “ผมให้อิสระตัวเองในการวาดภาพ แต่ประเทศนี้ไม่ได้ให้อิสระกับผม” ชวนรู้จักศิลปินวาดภาพ “อัฐสิษฎ” ที่ถูกคุมขังคดี ม.112 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน
.
ทิวากรยืนยันต่อสู้คดีต่อ แม้ยื่นฎีกาคำพิพากษาแล้ว ศาลยังคงสั่งไม่ให้ประกัน
ทิวากร วิถีตน ถูกขังหลังศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำคุก 6 ปี กรณีโพสต์รูปสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อยแกนนำราษฎร หลังทนายความยื่นฎีกาในคดีนี้แล้วเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา วันถัดมาจึงยื่นขอประกันในระหว่างฎีกาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งศาลก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุ;jk
“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่อ้างตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา มิใช่เหตุผลอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทั้งศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกามาแล้ว ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
ปัจจุบันทิวากรถูกขังระหว่างฎีกาอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาแล้ว 192 วัน (ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 2567) หรือกว่า 6 เดือนแล้ว
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด บันทึกเยี่ยม “ทิวากร”: ยังหนักแน่นในข้อต่อสู้ แม้จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว
.
ยกคำร้องขอประกัน 6 ผู้ต้องขังคดีอื่น ๆ บางรายถูกขังยาวเกือบ 2 ปี
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการยื่นประกันตัวในคดีอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากการชุมนุม ได้แก่ “บาส” ประวิตร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, ไพฑูรย์, สุขสันต์ และจักรี โดยคำร้องขอประกันดังกล่าวก็ถูกส่งให้ศาลสูงพิจารณา และศาลยกคำร้องเช่นเดิม คำสั่งทั้งหมดระบุเหตุผลโดยสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า “เกรงว่าจะหลบหนี ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
กรณีของ “บาส” ประวิตร ถูกขังหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 6 ปี 4 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าเผาป้อมตำรวจจราจรใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลังการชุมนุม #คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช หรือ #ม็อบ10สิงหา64 เมื่อปี 2564
ก่อนถูกคุมขัง ประวิตรประกอบอาชีพเป็นพนักงานขนสินค้าในโรงงานน้ำมันแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ อาศัยอยู่กับแม่ ภรรยา และลูกอีกสองคน วัย 3 ปี และ 4 เดือน ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานหาเงินเพียงคนเดียว มีรายได้จากการทำงานเดือนละ 10,600 บาท ส่วนภรรยาของเขาไม่ได้ทำงาน เนื่องจากต้องเลี้ยงลูกทั้ง 2 คน
ซึ่งการยื่นขอประกันตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ตั้งแต่เขาถูกคุมขังมา ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง เป็นผลให้เขาถูกขังต่อไป หลังถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 592 วัน (ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2566) นับว่าบาสเป็นผู้ต้องขังในระหว่างต่อสู้คดีที่ถูกขังยาวนานที่สุดในระลอกนี้
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด บันทึกเยี่ยม 10 ผู้ต้องขังทางการเมือง ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 2566
.
ส่วนกรณีของ คเชนทร์ และ ขจรศักดิ์ ถูกขังหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุกคเชนทร์ 10 ปี 6 เดือน และจำคุกขจรศักดิ์ 11 ปี 6 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรแยกพญาไท จากการเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64
หลังทนายความยื่นประกันตัวในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่พวกเขาถูกคุมขังมา ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง เป็นผลให้ทั้งสองคนยังคงถูกคุมขังต่อไป ปัจจุบันทั้งคู่ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 557 วัน (ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2566)
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด “เพราะความฝันและความหวังไม่เคยถูกกักขัง”: ส.ค.ส. ปีใหม่จากผู้ต้องขังการเมือง
.
ด้าน ไพฑูรย์ และ สุขสันต์ ถูกคุมขังหลังในกรณีถูกกล่าวหาว่าใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บใน #ม็อบ11กันยา64 โดยสุขสันต์ถูกพิพากษาจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน และจำคุกไพฑูรย์ 33 ปี 12 เดือน
ต่อมา ไพฑูรย์ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุกอีก 8 ปี ในคดีมีวัตถุระเบิดในครอบครอง ซึ่งปัจจุบันรวมโทษจำคุกของไพฑูรย์เป็น 41 ปี 12 เดือน (หรือประมาณ 42 ปี)
ในการยื่นประกันตัวครั้งนี้ ทนายความได้ยื่นประกันตัวไพฑูรย์ในทั้งสองคดี และยื่นประกันตัวสุขสันต์ 1 คดี ซึ่งผลคำสั่งก็คือศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้ยกคำร้องทุกฉบับเช่นเดิม ทำให้พวกเขาก็จะยังคงถูกคุมขังต่อไป ปัจจุบันทั้งสองคนถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 527 วัน (ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566) ซึ่งถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับสิทธิประกันตัวออกมาต่อสู้คดี พวกเขาจะมีโอกาสออกจากเรือนจำหลังคดีสิ้นสุดและพ้นโทษแล้ว
ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม บันทึกเยี่ยม 5 นักโทษการเมือง: ขอให้นิรโทษกรรมประชาชนผ่านไปได้ด้วยดี
.
และ จักรี (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังเมื่อเดือนที่ผ่านมา (ม.ค. 2568) หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 1 ปี กรณีมีระเบิดปิงปองไว้ในครอบครอง ขณะชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 โดยทนายความได้ยื่นประกันหลังศาลมีคำพิพากษา แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ในการยื่นประกันครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดียวกัน ทำให้จักรีถูกขังระหว่างฎีกามาแล้ว 38 วัน (ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2568)
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 44 คน เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 27 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 18 คน)
ดูรายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง