เมื่อวันที่ 22 และ 28 ก.ย. 2567 เป็นเวลาครบ 1 ปีที่ “บุ๊ค” ธนายุทธ ศิลปิน Eleven Finger วัย 23 ปี และ “อารีฟ” วีรภาพ ประชาชนวัย 22 ปี ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
กรณีของวีรภาพถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 จากการพ่นสีสเปรย์ข้อความเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมา ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์
ส่วนกรณีของบุ๊คถูกคุมขังในคดีครอบครองวัตถุระเบิด กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบประทัดลูกบอล, ไข่ก็อง, พลุควัน และระเบิดควัน ที่บ้านพัก หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีสิ้นสุดลง
.
อารีฟ วีรภาพ ยังรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทั้งยังยืนยันต่อสู้ทางการเมืองต่อไป
ชีวิตในเรือนจำของวีรภาพ เขาเปิดเผยว่า ยังคงต่อสู้และทำกิจกรรมประท้วงอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเมื่อวันที่18 มี.ค. 2567 เวลาประมาณ 18.00 น. ขณะเรือนจำเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี วีรภาพได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการไม่ลุกขึ้นยืนอย่างเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา แต่จู่ ๆ ผู้ต้องขังร่วมห้องเข้าทำร้ายร่างกายวีรภาพด้วยการพยายาม ‘เตะใส่’ ที่บริเวณใบหน้า แต่วีรภาพขยับหลบจึงทำให้ถูกเตะใส่ที่บริเวณ ‘ต้นคอ’ แทน
ผู้ต้องขังคนดังกล่าวอ้างว่า ตนเองเคยเป็น ‘ทหารรักษาพระองค์’ และทำร้ายร่างกายวีรภาพเพราะ ‘ต้องการปกป้องในหลวง’ วีรภาพไม่ได้ตอบโต้กลับแต่อย่างใด ก่อนเจ้าหน้าที่ของเรือนจำได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ พร้อมกับกล่าวตักเตือนผู้ต้องขังที่ก่อเหตุ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวีรภาพไม่ได้ติดใจเอาความและไม่มีความประสงค์จะร้องเรียนผู้ต้องขังคนดังกล่าวต่อเรือนจำอีก วีรภาพบอกเหตุผลว่า เพราะผู้ต้องขังคนดังกล่าวใกล้จะพ้นโทษในเร็ววันนี้แล้ว รวมถึงผู้ก่อเหตุได้รับการตักเตือนจากเจ้าหน้าที่ของเรือนจำแล้ว
ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในปี 2566 วีรภาพได้ยื่นประกันมาแล้วรวม 7 ครั้ง โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องทุกครั้ง ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หลังวีรภาพยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อเดือน ม.ค. 2567
สำหรับวีรภาพเป็นชาวกรุงเทพฯ เคยประกอบอาชีพขายเสื้อผ้ามือสอง แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนต้องปิดร้าน ทำให้เริ่มเกิดความสนใจทางการเมือง และเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-64
ก่อนเข้าเรือนจำวีรภาพมีภรรยาและลูกวัย 1 ขวบกว่า ที่ต้องเลี้ยงดู ทำให้แม้จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เขาก็ยังยืนยันที่จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป เพราะอยากให้ลูกชายที่เกิดมาเติบโตในสภาพบ้านเมืองที่เป็นปกติและอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
.
บุ๊ค ธนายุทธ ถูกขังครบ 1 ปี เข้าเกณฑ์ได้ลดโทษ เหลือ 2 ปี
สำหรับชีวิตในเรือนจำของบุ๊ค พบว่าเคยมีเหตุการณ์ถูกคุกคามเช่นเดียวกับวีรภาพ โดยเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2566 บุ๊คได้แสดงออกด้วยการนั่งลงระหว่างการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้ง ทำให้เพื่อนผู้ต้องขังร่วมห้องรวบรวมรายชื่อส่งให้เรือนจำเพื่อให้ย้ายบุ๊คไปห้องขังอื่น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 บุ๊คได้เปิดเผยกับทนายความที่เข้าเยี่ยมว่า ชีวิตในเรือนจำของเขาเริ่มวนเวียน กิจวัตรเป็นแบบเดิมในทุก ๆ วัน โดยสุขภาพของเขายังคงแข็งแรงดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังล่าสุดคือ คือกฎระเบียบใหม่ของเรือนจำเกี่ยวกับการส่งจดหมายจากเรือนจำผ่านระบบ Domi Mail ที่สามารถส่งออกได้ 1 ฉบับ และรับเข้าได้อีกวันละ 1 ฉบับเท่านั้น ซึ่งคนที่จะส่งเข้าออกได้ มีแค่เฉพาะคนมีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิเยี่ยมผู้ต้องขังคนดังกล่าวเพียง 10 คนเท่านั้น จากเดิมที่ส่งกี่ฉบับต่อวันและส่งให้ใครก็ได้
บุ๊คเล่าว่าการทำแบบนี้ของเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังติดต่อโลกภายนอกยากขึ้น และยิ่งกับผู้ต้องขังที่ต้องการติดต่อพูดคุยเรื่องคดี คนที่มีญาติอยู่ไกลก็ทำให้การสื่อสารลำบากมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกฎแปลก ๆ ที่เกิดขึ้น โดยบุ๊คเล่าว่า ปัจจุบันเรือนจำห้ามรับประทานอาหารเย็น และห้ามนำอาหารขึ้นไปบนเรือนนอน หลังกินข้าวมื้อสุดท้ายในเวลา 13.00 น. แล้ว ผู้ต้องขังจะก็ไม่สามารถทานอะไรได้อีกไปจนเช้า รวมถึงมีเรื่องของการไม่นำเอาปากกาเข้ามาขาย โดยให้เหตุผลเพียงแค่ว่า ขอระงับการขายชั่วคราว เนื่องจากผู้ต้องขังสามารถเอาไปจุดไฟได้ สร้างความสงสัยให้กับเขาว่า สิ่งของอื่น ๆ ถ้าจะจุดไฟก็สามารถทำได้ทั้งหมด ทำไมถึงใช้เหตุผลนี้เฉพาะกับปากกาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังผู้ต้องขังยื่นอุทธรณ์คำสั่งของเรือนจำเรื่องการส่ง-รับจดหมาย Domi Mail ไปแล้ว เรือนจำยอมเปลี่ยนแปลงกฎให้ผู้ต้องขังสามารถส่งออกจดหมายได้แบบเดิม โดยไม่จำกัดเฉพาะ 10 รายชื่อแล้ว
หลังถูกพิพากษาให้จำคุกเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 บุ๊คได้ยื่นประกันระหว่างอุทธรณ์ถึง 5 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันเรื่อยมา แม้บุ๊คจะได้ระบุเหตุผลว่า ขอออกไปดูแลย่าที่สูงวัยและทุพพลภาพ ซึ่งล้มป่วย ขาสองข้างอ่อนแรง ขาดคนดูแล
ปัจจุบันคดีของบุ๊คสิ้นสุดลงแล้ว โดยบุ๊คต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และได้รับอภัยโทษลดโทษลงบ้างจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2567 คาดว่าบุ๊คจะได้ลดโทษเหลือ 2 ปี โดยจะถูกขังครบโทษและได้รับการปล่อยตัวเดือน ก.ย. 2568
จนถึงวันที่ 28 ก.ย. 2567 บุ๊คถูกคุมขังมาเกิน 1 ปีแล้ว เรื่องราวของศิลปินเพลงแร็ปชาวชุมชนคลองเตยรายนี้ เคยถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สารคดี “School Town King-แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน”