เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 ทนายความเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม “อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน นักกิจกรรมและผู้ต้องขังระหว่างสู้คดีมาตรา 112 วัย 21 ปี และได้รับแจ้งจากอารีฟว่า วานนี้ได้ถูกผู้ต้องขังร่วมห้องทำร้ายร่างกายด้วยการ ‘เตะใบหน้า’ เพราะไม่พอใจที่อารีฟไม่ยืนระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 – 13 มี.ค. ที่ผ่านมา อารีฟถูกเบิกตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปศาลแขวงพระนครเหนือ ตามนัดหมายสืบพยานในคดีชุมนุมหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ซึ่งอารีฟตกเป็นจำเลย จากนั้นเมื่อกลับมาเรือนจำจึงจะต้องถูกกักกันโรคเป็นระยะเวลาหนึ่งตามนโยบายของเรือนจำ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. เป็นต้นมาอารีฟถูกย้ายตัวไปกักกันโรคที่ห้องขังห้องหนึ่งร่วมกับผู้ต้องขังอื่นที่อยู่ระหว่างการกักกันโรคเช่นกัน
ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มี.ค. เวลาประมาณ 18.00 น. เรือนจำได้เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยวีรภาพได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการไม่ลุกขึ้นยืนระหว่างที่เรือนจำเปิดเพลงอย่างเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา แต่จู่ ๆ วีรภาพถูกผู้ต้องขังร่วมห้องทำร้ายร่างกายด้วยการพยายาม ‘เตะใส่’ ที่บริเวณใบหน้า แต่วีรภาพขยับหลบจึงทำให้ถูกเตะใส่ที่บริเวณ ‘ต้นคอ’ แทน
ผู้ต้องขังคนดังกล่าวอ้างกับวีรภาพว่า ตนเองเคยเป็น ‘ทหารรักษาพระองค์’ และทำร้ายร่างกายวีรภาพไปเพราะ ‘ต้องการปกป้องในหลวง’ อย่างไรก็ตาม ภายหลังถูกทำร้ายร่างกายวีรภาพไม่ได้ตอบโต้กลับแต่อย่างใด ต่อมา เจ้าหน้าที่ของเรือนจำได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ พร้อมกับกล่าวตักเตือนผู้ต้องขังที่ก่อเหตุแล้ว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวีรภาพไม่ได้ติดใจเอาความและไม่มีความประสงค์จะร้องเรียนผู้ต้องขังคนดังกล่าวต่อเรือนจำอีก สาเหตุส่วนหนึ่งวีรภาพบอกว่า เพราะผู้ต้องขังคนดังกล่าวใกล้จะพ้นโทษในเร็ววันนี้แล้ว รวมถึงผู้ก่อเหตุได้รับการตักเตือนจากเจ้าหน้าที่ของเรือนจำแล้ว
การแสดงออกของอารีฟด้วยการไม่ลุกขึ้นยืนระหว่างการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น นับว่าเป็นการแสดงเชิง ‘สันติวิธี’ อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ต้องขังการเมืองโดยเฉพาะที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และยังคงมีการแสดงออกอยู่เรื่อย ๆ ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในเรือนจำอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ยืนหยุดขังหลังเพลงสรรเสริญ’ เป็นเวลา 112 นาที, การเขียนถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ลงบนกระดาษและชูให้กล้องวงจรปิดในห้องขัง, การเขียนสัญลักษณ์ 112 และขีดทับตามเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
เหตุการณ์ถูกคุกคามที่เกิดขึ้นกับวีรภาพ ก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เช่นกัน อย่างกรณีของ “บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา ซึ่งได้ทำการแสดงออกด้วยการนั่งลงระหว่างการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้งเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2566 ทำให้เพื่อนผู้ต้องขังร่วมห้องรวบรวมรายชื่อส่งให้เรือนจำเพื่อให้ย้ายบุ๊คไปห้องขังอื่น
ปัจจุบัน อารีฟถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษากว่า 175 วันแล้ว ในคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักเป็นมาตรา 112 กรณีถูกฟ้องว่า พ่นสีสเปรย์บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2564 ซึ่งคดีนี้ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
ย้อนอ่านคดีของอารีฟ ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี “วีรภาพ” คดี ม.112 กรณีพ่นสีเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่งประกันตัว