วันที่ 17 พ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ณ ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและนายประกันยื่นประกันตัว “อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน นักกิจกรรมวัย 21 ปี เป็นครั้งที่ 5 หลังจากถูกคุมขังในคดีตามมาตรา 112 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.ย. 2566
ต่อมา เวลา 16.44 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันวีรภาพระหว่างอุทธรณ์ไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ซึ่งต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 วัน จึงจะทราบคำสั่ง
.
ยื่นประกันวีรภาพรวม 5 ครั้ง ไร้แววศาลให้ประกัน แม้ให้ความร่วมมือในการพิจารณาคดีมาตลอด – ยอมติด EM – ต้องหาเลี้ยงครอบครัว
หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกวีรภาพ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ในคดีพ่นสีสเปรย์ข้อความ บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน (17 พ.ค. 2567) ทนายความและนายประกันยื่นขอประกันตัววีรภาพมาแล้วถึง 5 ครั้ง ดังนี้
- ยื่นประกันครั้งที่ 1 ในวันที่มีคำพิพากษา (28 ก.ย. 2566) ก่อนศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ต่อมาวันที่ 30 ก.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววีรภาพ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานแล้ว การกระทำของจำเลยมีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” - ยื่นประกันครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 ต.ค. 2566 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 150,000 บาท และแสดงความยินยอมให้ติด EM ก่อนศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ต่อมาวันที่ 30 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววีรภาพ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานแล้ว การกระทำของจำเลยมีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ทนายความจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา ในวันที่ 2 พ.ย. 2566
ต่อมาวันที่ 6 พ.ย. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววีรภาพ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง” - ยื่นประกันครั้งที่ 3 ในวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ก่อนศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ต่อมาวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววีรภาพ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพฤติการณ์แห่งคดีและโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีมาแล้วหลายครั้ง และตามพฤติกรรมยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์ก็สามารถดูแลจัดการได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” - ยื่นประกันครั้งที่ 4 ในวันที่ 9 ก.พ. 2567 ก่อนศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ต่อมา 12 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นพิจารณามาแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยกับพวกก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในบ้านเมือง ถือเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และตามคำร้องไม่มีเหตุใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์” - ยื่นประกันครั้งที่ 5 ต่อศาลอาญา ในวันนี้ (17 พ.ค. 2567)
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราววีรภาพระหว่างอุทธรณ์ครั้งที่ 5 นี้ ระบุว่า จำเลยมีความประสงค์ขอให้ศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 300,000 บาท และยินยอมติดอุปกรณ์ตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ซึ่งเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
จากคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว สรุปเหตุผลที่ศาลควรให้ประกันวีรภาพได้ 3 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 เนื่องจากคดีของจำเลยมีหนทางจะต่อสู้คดีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย การใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นของจำเลยย่อมถือว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดแต่ประการใด จำเลยประสงค์ที่จะได้รับสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือปฏิบัติอย่างผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว
ประการที่ 2 นับตั้งแต่การถูกดำเนินคดีในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน ตลอดจนถึงในชั้นของพนักงานอัยการ และในชั้นศาลชั้นต้น รวมระยะเวลากว่า 2 ปี จำเลยได้ให้ความร่วมมือและได้เข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมด้วยดีตลอดมา และได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอด โดยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว เดินทางมารายงานตัวต่อศาลตามกำหนดทุกครั้ง และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้เลย
ประการที่ 3 จำเลยยังมีภาระหน้าที่ในการดูแลมารดา ภรรยา และบุตรผู้เยาว์วัยเพียง 1 ปีเศษ ซึ่งก่อนถูกจำคุกในคดีนี้ จำเลยประกอบอาชีพเป็นพนักงานเสิร์ฟรายวันตามร้านอาหาร ช่วยหาเลี้ยงครอบครัวกับภรรยาซึ่งประกอบอาชีพลูกจ้างรายวันในโรงพยาบาล เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุตรผู้เยาว์ และจำเลยยังมีบิดามารดาวัยชราที่จำเป็นต้องส่งเสียเลี้ยงดูด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวย่อมส่งผลกระทบต่อครอบครัวของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง
ตอนท้ายของคำร้องยังระบุว่า จำเลยขอให้คำมั่นและคำสาบานตนต่อศาลว่า การปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาจะทำให้การพิจารณาคดีสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย มีตัวจำเลยมาศาลเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อพิจารณาคดีและเพื่อการบังคับโทษ โดยหากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวใด ๆ ตามกฎหมาย หรือการแต่งตั้งผู้กำกับดูแล จำเลยยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เวลา 16.44 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัววีรภาพระหว่างพิจารณาให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน (17 พ.ค. 2567) วีรภาพถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานาน 233 วันแล้ว
(อัปเดตวันที่ 23 พ.ค. 2567) วันที่ 21 พ.ค. 2567 เวลา 14.12 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววีรภาพ ระบุว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง