วันที่ 29 ม.ค. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือ “แอมป์” นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ต้องขังคดี 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564
แอมป์ถูกคุมขังมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน ไม่รอการลงโทษ ส่งผลให้แอมป์ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา โดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฎีกา แม้จะมีความพยายามยื่นประกันตัวมาแล้ว 3 ครั้ง
ในห้วงเวลาที่โลกหมุนช้าลง แต่ชีวิตข้างในเรือนจำของแอมป์ ยังคงมีความหวัง การได้สนทนาอย่างมีผู้รับฟัง ก็ทำให้เขาบอกเล่าถึงความฝัน ยิ่งอยากให้เวลาผ่านไปเร็ววันเพื่อจะได้รับอิสรภาพ ออกไปทำธุรกิจด้านอาหารตามที่วางแผนไว้ “คิดว่าออกไป ก็จะไปทำธุรกิจตรงนี้เลย” บัณฑิต ICT ศิลปากรกล่าวย้ำ
______________________________
ในวันที่อากาศเย็นของปลายเดือนมกราคม วันนั้นห้องเยี่ยมทนายเต็ม การพูดคุยจึงทำได้เพียงผ่านโทรศัพท์ เสียงของแอมป์เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การย้ายจากแดน 6 มาสู่แดน 4 ที่มีเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองด้วยกัน ทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวเริ่มจางหาย
แอมป์สรุปสถานการณ์ว่า การย้ายแดนครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ หลังจากยื่นจดหมายเรื่องการถูกคุกคามแล้วก็ขอย้ายแดน ก็มีส่วนช่วยให้เรื่องการย้ายแดนเร็วขึ้นมาก โดยก่อนจะย้ายทางเรือนจำจัดการให้แยกห้องไปอยู่กับห้อง LGBTQ+ โดยเฉพาะ “ตอนนี้ผมโอเคดีขึ้น” แอมป์บอกเล่าสภาพจิตใจ
ส่วนเรื่องทางกายภาพ แม้อากาศข้างในค่อนข้างหนาว ตอนนี้จึงใส่เสื้อแขนยาว แอมป์ให้ภาพว่าปกติเวลาอยู่ในเรือนจำ วันจันทร์-ศุกร์จะให้ใส่เสื้อสีฟ้า วันหยุดหรือวันเสาร์-อาทิตย์ ก็แต่งตัวตามสะดวกได้
เมื่อสอบถามถึงก้อง อุกฤษฏ์ เพื่อนร่วมแดน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้ต้องขัง 112 ที่กำลังรอคอยการสอบอีก 3 วิชาเพื่อนเรียนจบ แอมป์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าก้องเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ก็เตรียมตัวรับความรู้สึกพอสมควร ไม่ได้ฟูมฟาย เครียด หรือเศร้าจนเกินไป
ช่วงวันตรุษจีน แอมป์เล่าย้อนถึงชีวิตครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่เคยกลับบ้านต่างจังหวัดไปพบญาติผู้ใหญ่ทุกปี แต่เมื่อเขาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ความสัมพันธ์กับญาติก็ห่างเหินไป
ท่ามกลางวันเวลาที่หมุนไปอย่างช้า ๆ แอมป์ยังคงฝันถึงอนาคต เขาเล่าถึงแผนเปิดร้านอาหารที่วาดฝันไว้ เคยไปดูสถานที่ไว้แล้วก่อนหน้านี้ สนใจทั้งทำเลแถวบรรทัดทอง ตลาดน้อย หรือหัวลำโพง คิดว่าหากออกไปก็จะไปเริ่มกิจการทันที เพราะธุรกิจอาหารเป็นความชอบส่วนตัว
แอมป์เล่าด้วยความมุ่งมั่นว่าอยากทำร้านยำที่ให้ลูกค้าเลือกวัตถุดิบเอง แล้วเอามาชั่งกิโลขาย ทำเป็นร้านนั่งดี ๆ เลย โมเดลนี้อาจจะคล้ายร้านยำเล็ก ๆ ตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ “คิดว่าออกไป ก็จะไปทำธุรกิจตรงนี้เลย” บัณฑิต ICT ศิลปากรกล่าวย้ำ
เมื่อวันจันทร์ ที่ 27 ม.ค. 2568 ขณะออกศาลในนัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุม แอมป์เจอกับอานนท์ นำภา ได้คุยถึงโอกาสในการยื่นประกันตัว โดยเฉพาะเมื่อคดีของเขามีข้อเท็จจริงคล้ายกับ “พอร์ท ไฟเย็น” ที่ได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้า แม้สองศาลจะพิพากษายืนเหมือนกัน แต่กรณีพอร์ทยังได้รับการประกันตัวในชั้นฎีกา
ทุก ๆ วัน ชีวิตในเรือนจำต้องปรับตัว แอมป์เล่าสภาพชีวิตข้างในว่า วันนี้กินข้าวที่เหลือจากเมื่อวาน ก่อนหน้านี้พอมีกับข้าวส่งเข้ามามีอะไรเก็บได้ ก็เก็บ เป็นการเก็บอาหารในถังสีที่มีน้ำแข็งก้อนใหญ่วางทับ แต่โดยรวมความเป็นอยู่ก็ต้องระวังเรื่องความสะอาด เพราะภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงเท่าคนอื่น
แอมป์ยังต้องปรับการกินยารักษาโรคประจำตัว (HIV) ที่ต้องตรงเวลา จนต้องปรับให้ตรงกับช่วงเคารพธงชาติ ส่วนถ้ายาหมดทางพยาบาลที่ดูแล จะจัดการประสานกับคุณแม่ “ปกติยาที่ผมไปเอามากินหมอข้างนอกจะสั่งให้ สามารถใช้ได้ 5-6 เดือน เบื้องต้นถ้ายาหมดจริง ๆ พยาบาลก็ได้หายามาสำรองไว้ คือเป็นยาตัวเดียวกัน แต่คนละยี่ห้อ” แอมป์กล่าวถึงการดูแลโรคประจำตัว
เมื่อถามเรื่องเรื่องจิตใจ แม้จะบอกไม่เป็นไร แต่แอมป์ก็คิดอยากจะขอพบนักจิตวิทยาอยู่เหมือนกัน เผื่อได้ปรึกษาระบาย “รู้สึกว่ามันน่าจะสบายใจขึ้น ผมไม่ได้มีภาวะซึมเศร้า ไม่ต้องรับยา แต่อยากมีคนรับฟัง”
จนถึงปัจจุบัน (6 ก.พ. 2568) แอมป์ ณวรรษ ถูกคุมขังระหว่างชั้นฎีกามาแล้ว 60 วัน ทั้งนี้จากบทบาทขึ้นปราศรัยในการชุมนุม ระหว่างปี 2563-2564 แอมป์ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองรวมทั้งหมด 20 คดี
ในวันที่ 17 ก.พ. 2568 นี้ เขาจะถูกนำตัวไปในนัดตรวจพยานหลักฐานของคดีที่ค้างอยู่อีก 2 คดี ได้แก่ ในช่วงเช้าเป็นคดีมาตรา 112 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และในช่วงบ่ายคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแขวงปทุมวัน
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทนายเร่งสอบถามเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กรณี“แอมป์” ณวรรษ ผู้ต้องขังคดี ม.112 โดนคุกคามทางเพศในเรือนจำ