วันที่ 13 ก.พ. 2568 นับเป็นเวลา 1 ปี แล้วที่ “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีตามมาตรา 112 จำนวน 2 คดีที่เขาถูกกล่าวหา และศาลอุทธรณ์พิพากษาโทษรวมกัน 7 ปี 30 เดือน (หรือประมาณ 9 ปีครึ่ง) โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
นอกจากนั้นแล้ว วันนี้ยังเป็นวันรับปริญญาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ของผู้ที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งยังไม่อาจทราบได้ว่าก้องจะมีโอกาสที่จะเรียนจบ ได้ใบปริญญาบัตร และออกไปสอบเป็นทนายความตามที่เขาวาดฝันไว้เหมือนกับเพื่อน ๆ อีกหลายคนได้หรือไม่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อาร์ม” เพื่อนของก้องที่กำลังขับเคลื่อนประเด็นและต่อสู้เพื่อให้ก้องได้สอบในเรือนจำและเรียนจบไปพร้อมกับเพื่อน
อาร์มเรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์ ส่วนก้องเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ พวกเขารู้จักกันมาประมาณ 2 ปีแล้วจากค่ายอาสาพัฒนาราม หลังจากนั้นจึงได้ร่วมงานและทำกิจกรรมร่วมกันมาซักพักหนึ่ง แต่ช่วงหลังมานี้ก่อนหน้าจะถูกคุมขัง อาร์มเล่าว่าก้องหันมามุ่งมั่นเรื่องการศึกษาของตนเองมากขึ้น เพื่อที่จะให้ตนเองเรียนจบ
อาร์มเล่าต่อว่าในกลุ่มเพื่อน ตัวเขาจะเป็นคนที่คอยเตือนเพื่อน ๆ ให้หันมาตั้งใจเรียน ส่วนตัวก้องเองมีแรงบันดาลใจอยากช่วยเหลือประชาชน อยากที่จะนำความรู้มาช่วยให้สังคมเกิดความยุติธรรม “เราทุกคนรู้กันว่าเจตจำนงของก้องเป็นประมาณนี้ พอสอบอันนี้ (สอบปลายภาคของมหาวิทยาลัย) เสร็จ ก็จะสอบตั๋วทนาย ซึ่งก้องก็มีการวางแผนอนาคตของตัวเองอยู่
“ก้องไม่ใช่คนหยาบคายอะไรเลย ก้องเป็นคนตลก และพยายามเล่นมุข ที่เราก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ก้องทำกับข้าวอร่อย ทุกครั้งที่ไปที่บ้านก็จะมีก้องที่เป็นพ่อครัวประจำบ้านราม เป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ค่อนข้างสูง ไม่ว่าใครขอให้ช่วยอะไรก็จะช่วยหมดเลย”
อาร์มเล่าต่อว่า บางคนอาจจะมองว่าการเรียน 8 ปี ดูไม่ใช่คนตั้งใจเรียน แต่ในความจริงถ้าเพื่อนตั้งใจ เพื่อนก็จะตั้งใจจริง ๆ และครั้งนี้เพื่อนตั้งใจจริง ๆ อาร์มจึงตั้งใจมาก ๆ ที่อยากให้เพื่อนประสบความสำเร็จ “ยังนัดกันอยู่เลยว่าจบพร้อมกันแน่ เทอมนี้ได้สอบแน่ ได้ถ่ายรูปชุดครุยแน่ เลยคาดหวังกับมหาวิทยาลัยว่าจะให้ เมื่อไม่ได้ก็ไม่เป็นไร พยายามสู้ต่อ”
.
ยื่นเรื่องขอสอบในเรือนจำ ครั้งแรกมหาลัยไม่อนุมัติ โดยไม่ระบุเหตุผลใด ๆ ยื่นหนังสือครั้งที่สองไปแล้ว ยังรอคำตอบจากมหาลัย ทำให้สอบซ่อมไม่ทัน ต้องรอสอบเทอมซัมเมอร์แทน
ครั้งหนึ่งอาร์มไปเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเรื่องกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาร์มได้รับผิดชอบในคดีของก้อง ตัวเขาพยายามที่จะเขียนรายงานเรื่องนี้ถึงกลไก UN แต่ก็ยังไม่ได้ส่งเรื่องไป เพรามีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง
แต่อย่างไรก็ตาม อาร์มมีโอกาสได้ขอข้อมูลและความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีจากทนายความ จึงได้คุยกันเรื่องการลงทะเบียนเรียนของก้อง เป็นเหตุให้อาร์มพยายามหาทางเข้าเยี่ยมก้องในเรือนจำ โดยเริ่มศึกษาจากระเบียบขั้นตอนการเข้าเยี่ยม และอาศัยการถามเพื่อน ๆ เช่น เพื่อนของเก็ท โสภณ ที่มีส่วนช่วยอาร์มในเรื่องนี้
ในช่วงลงทะเบียนเรียนเทอม 1 ก็ยื่นขอประกันตัว แต่ก็ไม่ได้ ต่อมาช่วงสอบ ก็ไม่ได้ประกันตัวอีก อาร์มเลยนึกถึงกรณีที่เคยมีการสอบในเรือนจำ มีคนแนะนำให้สอบถาม “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่เคยสอบในเรือนจำ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นอนุมัติให้สอบ เขาจึงค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับการสอบและเรียนจบในเรือนจำ
แต่อาร์มก็เล่าว่าตอนนั้นตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะน่าจะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เลยรู้สึกมืดแปดด้าน เขาจึงถามทนายความว่าทางเรือนจำจะอนุญาตหรือไม่ ถ้าให้มีการจัดสอบในเรือนจำ ซึ่งทราบคำตอบมาว่าเรือนจำก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร หากมหาวิทยาลัยอนุมัติ
อาร์มเล่าว่าโดยสรุปแล้ว ในส่วนของมหาวิทยาลัย ได้มีการส่งใบคำร้องขอสอบในเรือนจำถึงคณบดี 2 ครั้ง และมีอีกครั้งหนึ่งที่เป็นการยื่นหนังสือทั่วไปเกี่ยวกับนักศึกษา ม.รามฯ ถูกดำเนินคดี ม.112 ซึ่งในส่วนนี้มีเพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ยื่นหนังสือ
ในครั้งแรก ก้องเริ่มจากการเขียนใบคำร้องทั่วไปยื่นต่อมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้มีการสอบในเรือนจำ แต่การยื่นหนังสือครั้งแรกเอกสารมีความผิดพลาด เขาจึงรับเรื่องไว้ แต่ตีหนังสือกลับมาให้แก้ใหม่
อาร์มเล่าต่อว่าในระหว่างนั้น ก้องฝากให้เพื่อนอีกคนยื่นหนังสือในประเด็นนักศึกษารามฯ ถูกดำเนินคดี ม.112 ก่อนที่คณบดีจะมีคำสั่งไม่อนุมัติการสอบในเรือนจำหลังจากการยื่นหนังสือในครั้งแรก โดยไม่ได้ระบุเหตุผลใด ๆ ตัวเขาเองและเพื่อนสงสัยในเหตุผลจึงได้ยื่นหนังสือไปอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ได้เขียนหนังสือถึงทั้งคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน, คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอาจารย์ประจำวิชา ตอนนี้กำลังรอผลตอบกลับว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็จะนำหนังสือไปยื่นที่คณะกรรมาธิการฯ ด้วย
“เราไม่ได้อยากดิสเครดิตมหาวิทยาลัย แต่เราเองก็คาดหวังว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพมากพอที่จะทำเรื่องนี้ได้ ทำไมถึงไม่อนุมัติ จึงอยากให้มหาวิทยาลัยพิจารณาทบทวนเรื่องนี้อีกที” อาร์มกล่าว
หลังจากนั้นอาร์มไปขอคำแนะนำจากทนายความและคนอื่น ๆ จากคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ เขาได้รับคำแนะนำให้เขียนหนังสือร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจาก กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ตัวเขาเองยังทำเรื่องไม่ทัน แต่ก้องได้เขียนคำร้องเองถึง กสม. ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม อาร์มให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีของก้องว่า การสอบซ่อมของมหาวิทยาลัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 23-28 ม.ค. 2568 ก้องไม่สามารถสอบทันตามกำหนดการเดิมได้แล้ว แต่อาจรอช่วงเทอมซัมเมอร์อีกครั้ง ที่จะมีการเรียนและการสอบในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 2568 ซึ่งอาจไม่เปิดให้ลงทะเบียนทุกวิชา แต่ก็ทำเท่าที่สามารถทำได้ก่อน ส่วนในเทอม 1 ปีการศึกษาถัดไป เขาคาดว่าน่าจะยังลงทะเบียนได้ และอาจเป็นปีการศึกษาสุดท้ายที่ก้องสามารถลงทะเบียนเรียนได้
.
เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้อะไร?
“เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง” (คำขวัญมหาวิทยาลัยรามคำแหง) นั่นหมายความว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาส แต่ว่าเพราะอะไร ทรัพยากรไม่พอหรืออย่างไร ก็ไม่ทราบเหมือนกัน เราได้ยื่นเรื่องไปทางคณะกรรมาธิการฯ เผื่อจะมีการเรียกประชุมหารือเรื่องแนวทางการสอบ”
อาร์มเล่าต่อว่าการประชุมของคณะกรรมาธิการน่าจะหาทางออกได้ หวังว่าก้องน่าจะได้สอบ เขาเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยไม่เคยมีการจัดสอบแบบนี้ แต่ว่าที่อื่นก็เคยมี อย่างเช่น มข. (มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
“ก้องรหัส 61 เรากังวลว่าก้องจะ (เรียน) เกิน 8 ปี และอาจจะหมดสภาพนักศึกษา จึงต้องลงทะเบียนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้สอบ”
สำหรับก้อง อุกฤษฏ์ นั้นเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รหัส 61 (หรือเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2561) ก้องเหลือต้องสอบอีกเพียง 3 วิชา (จำนวน 9 หน่วยกิต) ยังต้องติดตามกับทางมหาวิทยาลัยว่าเพื่อนคนนี้จะลงทะเบียนได้เทอมสุดท้ายถึงเมื่อใด

ภาพยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567
เครดิตภาพจาก สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
การไปเยี่ยมก้องที่เรือนจำ อาร์มเล่าว่าเขาเข้าเยี่ยมบ้างเป็นระยะ อย่างเช่นไปพูดคุยเรื่องการลงทะเบียนเรียน หรือเกี่ยวกับเอกสารคำร้องต่าง ๆ อาร์มยังสื่อสารกับก้องอยู่ตลอดผ่านโดมิเมล (Domimail) เขาพยายามไม่ขาดการติดต่อ ถ้าหากช่วงนั้นตัวเขายุ่งจริง ๆ ก็จะส่งโดมิเมลไปว่า ‘ช่วงนี้อาร์มยุ่งจริงๆ นะ’
หลังจากก้องทราบเรื่องราวที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธการสอบในเรือนจำ อาร์มเล่าว่าตัวก้องก็รู้สึกเฟล พร้อมกับบ่นออกมาในทำนองว่า “โอ่ อะไร อีกแล้ว” ซึ่งตอนนี้ก้องค่อนข้างมีความกังวลเรื่องการหมดสภาพนักศึกษา อาร์มกำลังตรวจสอบยืนยันเรื่องนี้อยู่ว่า เพราะเทอมหน้า (ปีการศึกษา 2568) อาจจะเป็นปีการศึกษาสุดท้ายแล้ว เนื่องจากครบ 8 ปีพอดี แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันก้องยังมีสภาพเป็นนักศึกษาอยู่ เพราะว่าก้องยังไม่เคยขาดถึง 2 ภาคการศึกษา อันเป็นเหตุที่จะทำให้หมดสภาพนักศึกษา
อาร์มเล่าต่ออีกว่า ในกรณีถ้าก้องยังไม่ได้สอบ แล้วต้องหมดสภาพนักศึกษา เขากำลังศึกษาว่ามหาวิทยาลัยจะยังเก็บเกรดไว้ให้หรือไม่ หรือสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้หรือไม่ เขาพยายามให้กำลังใจก้องว่าเดี๋ยวก็น่าจะได้สอบ เพราะคิดไว้ว่าจะได้ไว้ก่อน แต่อาจจะต้องใจเย็น ๆ ไว้
.
ศาลไม่ให้ประกันตัวออกมาสอบ ส่วนมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้สอบในเรือนจำ แล้วทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
“การที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะทุกปีก็มีการรณรงค์กันว่าเราจะไม่ให้ใครตกหล่น เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มันเป็นคำพูดที่สวยหรูมาก แต่จะทำจริง ๆ ได้หรือไม่ เวลาที่เขา (มหาวิทยาลัย) ปฏิเสธได้คำนึงถึงเรื่องนี้หรือไม่ ว่าเด็กคนหนึ่งจะหลุดจากระบบการศึกษา แล้วจะทำให้อนาคตของประเทศ หรือคุณภาพชีวิตของเขาแย่ลง” อาร์มกล่าว
ด้านศักยภาพของมหาวิทยาลัยรามคำแหง อาร์มมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในด้านนิติศาสตร์ เขาอยากให้มีการพิจารณาอีกครั้งและไตร่ตรองด้วยเหตุผล ไม่อยากให้มองว่าคุณเป็นคนแบบนี้ โดนคดีแบบนี้ นั่นเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่ให้มองว่าก้องเป็นนักศึกษา ซึ่งนักศึกษามีหน้าที่เรียน และเมื่อเขาไม่สามารถสอบได้ ก็ควรให้ความช่วยเหลือ
“เราไม่ได้เรียกร้องอะไรมากเลย เราแค่ขอความช่วยเหลือ เพราะเราเองก็ตกที่นั่งลำบากอยู่แล้ว เขาจะใจดำขนาดนี้เลยหรอ”
ด้านกระบวนการยุติธรรม อาร์มทราบว่าก้องขอประกันตัว และขอให้มีการติดกำไล EM เขาเล่าว่าก้องไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอยากให้ศาลพิจารณาสั่งให้ประกันตัว เพื่อที่จะให้ก้องได้ออกมาสอบ เพราะมีการส่งเอกสารเกี่ยวกับเรื่องเรียนไปเยอะมาก เพื่อบอกว่าก้องยังมีภารกิจที่จะต้องเรียน มีความจำเป็นที่จะได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาสอบ แต่ศาลยังคงไม่ให้ประกันตัว
“อยากให้มีการใช้เหตุผลจริง ๆ เพราะเราเองก็มีเหตุผลสุด ๆ แล้ว มีเอกสารครบทุกอย่างที่ต้องการ จึงอยากให้พิจารณาดูอีกรอบ เหลือแค่อยู่ที่ปลายปากกาของเขาแล้ว ขอให้มี Empathy นึกถึงความเป็นมนุษย์แล้วกัน”
จากตอนแรกที่มีเพียงตัวเขาเองและทนายความ ตอนนี้มีกลุ่มคนเล็ก ๆ อย่างกลุ่ม Thumb Rights กลุ่มเพื่อนก้อง เพื่อนจากกลุ่มไฟลามทุ่ง ทีมทะลุรามฯ เก่า รวมถึงสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ร่วมกันขยับและผลักดันประเด็นของก้องภายใต้แฮชแท็ก #ก้องต้องได้สอบ ในโลกออนไลน์
ส่วนการวางแผนในอนาคตสำหรับเรื่องนี้ อาร์มเล่าว่าเขากำลังจะเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการกฎหมายร่วมกับหลาย ๆ ภาคส่วน เช่น เรือนจำ มหาวิทยาลัย เพื่อหาแนวทางร่วมกันว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถจัดสอบในเรือนจำได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ก้องหมดสภาพนักศึกษาในปีนี้
“ถ้า (คุณ) จะทำก็ทำได้ ไม่ต้องกลัว อย่ากลัวเสียภาพลักษณ์ เข้าใจว่าอาจจะกลัวผู้ใหญ่ แต่ถ้ารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ทำไปเถอะ มันไม่มีอะไรเลย นี่มันคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว คือถ้าคิดว่ามันถูกต้อง ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเถอะ” อาร์มกล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2568
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
#ก้องต้องได้สอบ: 9 หน่วยกิตสุดท้าย ของ “อุกฤษฏ์” ที่รอวันสอบในรั้วเรือนจำ