ท่ามกลางเสียงแสดงความยินดีและภาพความสุขของบัณฑิตใหม่ที่กำลังสวมชุดครุยถ่ายรูปกับครอบครัว ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศช่วงต้นปี 2568 ยังมี “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ยังคงรอคอยโอกาสสุดท้ายที่จะได้สอบจบ เพราะเหลือการเรียนเหลืออีกเพียง 3 วิชา คิดเป็นจำนวน 9 หน่วยกิต ก็จะสำเร็จเป็นนิติศาสตรบัณฑิตแล้ว
350 วันในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่ก้อง ต้องอยู่ในนั้น เพราะศาลปฏิเสธคำร้องขอประกัน โดยเฉพาะการขอประกันครั้งที่ 6 ที่แม้ขอวางหลักประกัน 4 แสนบาท ทั้งระบุความจำเป็นด้านการศึกษาและสอบซ่อมเพื่อทำเรื่องขอจบการศึกษาต่อไป แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ก่อนหน้านี้แม้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงยื่นหนังสือขอคณะให้ความอนุเคราะห์ในการสอบไล่นอกมหาวิทยาลัยให้กับก้อง แต่สุดท้ายกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่อนุมัติให้ก้องได้สอบในเรือนจำ
ชีวิตและการศึกษาของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุราม จึงถูกแขวนไว้กับคำว่า “ไม่อนุญาต” ก้องยังรอวันที่อาจต้องสิ้นสภาพนักศึกษา และไม่สามารถจบการศึกษาเป็นบัณฑิต จากการที่ไม่สามารถเข้าสอบตามกำหนดของมหาวิทยาลัย ในขณะที่อิสรภาพที่จะได้ใช้ชีวิตข้างนอกยังคงอยู่ห่างไกล
________________
“บัณฑิตในความหมายของผม เป็นคนที่มีการศึกษา เป็นปัญญาชน มันไม่ใช่แค่ได้รับใบปริญญาอย่างเดียว” เสียงของก้องสะท้อนผ่านการเข้าเยี่ยมของทนายความเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 ขณะที่เขานั่งเล่าถึงความฝันและอุปสรรคในการศึกษาภายในรั้วเรือนจำ
ภาพงานรับปริญญาที่เห็นเพื่อน ๆ สวมชุดครุยถ่ายรูปกับครอบครัว แสดงความยินดีร่วมกัน ยังคงติดตรึงในความทรงจำของเขา แต่สำหรับก้อง เส้นทางสู่วันรับปริญญากลับไม่ได้ราบรื่นเช่นคนทั่วไป
“อุปสรรคหลัก ๆ มีสองอย่าง” ก้องกล่าว “หนึ่งคือปัญหาเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ให้สอบนอกสถานที่ และสองคือปัญหาเรื่องศาลที่ไม่ให้สิทธิในการประกันตัว” แม้จะมีความหวังว่าอาจโอนหน่วยกิตไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ก็ไม่สามารถโอนได้ครบทุกวิชา ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่ในบางรายวิชา
ในเรือนจำ ทรัพยากรการศึกษามีจำกัด หนังสือส่วนใหญ่เป็นเล่มเก่า โดยเฉพาะตำรากฎหมายที่ไม่ได้รับการอัปเดท แต่นั่นไม่ได้ทำให้ก้องย่อท้อ เขายังคงมุ่งมั่นอ่านทั้งหนังสือเตรียมสอบ ซึ่งยังเหลืออีกสามวิชา ที่ยังคั่งค้างสำหรับก้อง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1 และ 2, กฎหมายระหว่างประเทศคดีเมือง
เขาพยายามหาหนังสือมาอ่านเพื่อเตรียมความพร้อมรอสำหรับการสอบ ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม เพื่อจะได้สามารถสำเร็จการศึกษา เวลาว่างนอกเหนือจากนั้น หนังสือด้านการบริหารการเงินและการเมืองก็เป็นสิ่งที่ก้องสนใจเสมอ ๆ ซึ่งเป้าหมายระยะสั้นในตอนนี้ของก้องคืออยากเรียนจบปริญญาตรี เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปต่อยอดใช้กฎหมายช่วยเหลือสังคม
“ผมอยากเป็นทนายช่วยคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นเป็นเหมือนผม” ก้องกล่าวอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาสำหรับเขาไม่ใช่เพียงเพื่อตนเอง แต่เป็นหนทางที่จะนำความรู้ไปช่วยเหลือสังคม
สำหรับก้องแม้ในเรือนจำจะมีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน และการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่โอกาสทางการศึกษายังคงจำกัด ก้องเสนอว่ามีสองทางที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ คือการให้ประกันตัวเพื่อออกไปสอบ หรือการให้มหาวิทยาลัยเข้ามาจัดสอบในเรือนจำ
“การที่ผมจะจบได้ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม” ก้องกล่าวทิ้งท้ายบทสนทาว่า “ถ้าไม่ช่วยก็จะเสียทรัพยากรตรงนี้ไป อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันเรื่องประเด็นนี้ครับ”
สำหรับก้อง ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 2 คดี และถูกคุมขังในระหว่างฎีกามาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2567 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 5 ปี 30 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความ 5 ข้อความ และศาลไม่ให้ประกันระหว่างชั้นฎีกาเรื่อยมา
ก่อนหน้านั้นเขาถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีแชร์โพสต์ข่าวไปยังกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ โดยศาลสมุทรปราการให้ประกันระหว่างฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาไม่ให้ประกันในคดีแรก อุกฤษฏ์จึงได้ถอนการประกันในคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการในเวลาต่อมา
ทั้งนี้มีรายงานว่าในวันที่ 29 ม.ค. 2568 เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา จะมีกลุ่มนักกิจกรรมไปยื่นหนังสือแก่กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อประสานงานความช่วยเหลือให้ก้อง ได้เข้าสอบ 3 วิชาสุดท้ายในเรือนจำ
Thumb Rights – ทำไรท์ ยังรายงานว่า ทั้งก้องและเพื่อนยังยื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือกรณีนี้ไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้แฮชแท็ก #ก้องต้องได้สอบ เพื่อร่วมรณรงค์ในประเด็นดังกล่าวในโลกออนไลน์อีกด้วย
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง