ศาลยังคงไม่ให้ประกันตัว 5 ผู้ต้องขังทางการเมือง แม้พยายามยื่นประกันต่อเนื่อง

ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 14 ม.ค. 2566 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองหลายราย ได้แก่ “เอก” (นามสมมติ) และ “ก้อง” — อุกฤษฏ์ ในคดีข้อหาตามมาตรา 112, คทาธร – คงเพชร และ “แน็ก” — ทัตพงศ์ เขียวขาว ในคดีถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด

ทั้งนี้ ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีดังกล่าว โดยในคดีของ “ก้อง อุกฤษฏ์” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 แม้ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันต่อศาลฎีกา แต่ศาลก็ยังมีคำสั่งยืนตามศาลอุทธรณ์ ระบุ ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’

ก้อง อุกฤษฏ์ : ศาลอุทธรณ์ – ฎีกา ไม่อนุญาตให้ประกันต่อเนื่อง  ระบุการกระทำสร้างผลกระทบต่อความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ 

ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2565 “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นสมาชิกกลุ่มทะลุราม ถูกพิพากษาจำคุก 5 ปี 30 เดือน ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “John New World” รวม 5 ข้อความ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี  

ในวันที่ 23 ธ.ค. 2565 หลังจากคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวก้องในระหว่างอุทธรณ์ โดยศาลอาญาได้ส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์ได้มีความสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุคำสั่งว่า การกระทำของจำเลยส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปก่อเหตุอันตรายในลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง 

ต่อมาในวันที่ 28 ธ.ค. 2565 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องฎีกาคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของก้องอีกครั้ง แต่ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งลงวันที่ 30 ธ.ค. 2565 ยืนตามศาลอุทธรณ์ ระบุว่าหากปล่อยชั่วคราวแล้วจำเลยจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์เห็นชอบแล้ว 

ตลอดจนถึงวันที่ 10 ม.ค. 2566 ที่ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งลงวันที่ 11 ม.ค. 2566 ไม่อนุญาตให้ประกันตัว เห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ทำให้จนถึงวันนี้ (17 ม.ค. 2566) ก้อง อุกฤษฏ์ ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลากว่า 28 วันแล้ว

“เอก” พนักงานบาร์: ศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกันตัวในคดี 112 แม้เพิ่งถูกสั่งฟ้อง

คดีของ “เอก” (นามสมมติ) พนักงานบาร์ อายุ 28 ปี เขาถูกคุมขังหลังจากพนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีจากกรณีที่ถูกกล่าวหาแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ซึ่งมีเนื้อหาเชื่อมโยงคุกวังทวีวัฒนา และรัชกาลที่ 10 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ก่อนศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2565 ระบุคำสั่งเห็นว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง และผู้ร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว หากปล่อยชั่วคราว เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตในชั้นนี้ ยกคำร้อง 

วันถัดมา คือวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ทนายความได้ยื่นประกันตัวเอกเป็นครั้งที่ 2 โดยศาลอาญาเห็นว่ากรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

วันที่ 27 ธ.ค. 2565 ทนายยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกัน ในวันที่ 28 ธ.ค. 2565 “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดในข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับโจทก์คัดค้านการปล่อยชั่วคราว แม้โจทก์จะยื่นฟ้องคดีแล้ว แต่ยังมิได้มีการสืบพยาน หากอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รูปคดีได้ ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

ต่อมาในวันที่ 14 ม.ค. 2566 ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันอีกครั้งต่อศาลอาญาเป็นครั้งที่สาม แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาต โดยเห็นว่าศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

จนถึงวันนี้ (17 ม.ค. 2566) เอกถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลากว่า 27 วันแล้ว โดยคดีของเขามีนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 ก.พ. 2566 นี้ 

เท่าที่ทราบข้อมูล ณ ต้นปี 2566 กรณีของเขาเป็นเพียงกรณีเดียวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ในชั้นสั่งฟ้องคดี โดยยังไม่ได้เริ่มการตรวจพยานหลักฐาน ไม่ได้นัดสืบพยาน และศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาแต่อย่างใด

คทาธร – คงเพชร : ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมานานเกือบ 300 วันแล้ว 

“ต๊ะ” — คทาธร และ “เพชร” — คงเพชร นักกิจกรรมจากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อายุ 26 ปี ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 และเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในรอบปี 2565  ต๊ะกับเพชรถูกจับในกรณีมีระเบิดไว้ในครอบครอง ในขณะเดินทางเข้าร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง หรือชุมนุม #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม ซึ่ง ณ  ตอนนี้ก็เป็นระยะเวลาเกือบ 300 กว่าวันแล้วที่ทั้งสองยังคงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเพื่อออกมาสู้คดีของตนเอง

ในวันที่ 30 ธ.ค. 2565 ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัวนักกิจกรรมทั้งสองราย โดยศาลอาญายังคงคำสั่งเดิม ‘ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง’

สำหรับคดีของทั้งสองคนมีนัดสืบพยานที่ศาลอาญา ในวันที่ 7 มี.ค. 2566 นี้

ทั้งนี้ ต๊ะ คทาธร อายุ 26 ปี เขาเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ทั่วๆ ไป และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาธิปไตย เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่ถูกพร่ำสอนในโรงเรียนไม่สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อันที่จริงโดยส่วนตัวของต๊ะก็ไม่ได้คิดจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองมากนัก เพียงแต่การศึกษาในระดับที่โตขึ้น ทำให้ต๊ะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มันบิดเบี้ยว

ชวนรู้จักต๊ะ >>> อย่าลืม “ต๊ะ” คทาธร: หนึ่งในผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดในปี 2565 | 

ส่วน เพชร คงเพชร ชายหนุ่มวัย 18 ปี มีพื้นเพเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2564 เพชรเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่เคยถูกจับจากเหตุการณ์ #ม็อบ13กันยา64 ที่บริเวณดินแดง ในครั้งนั้นเขาได้ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายในระหว่างที่จับกุมด้วย

แต่ไม่ว่าจะต้องพบเผชิญกับความรุนแรงและโหดร้ายของสภาวะบ้านเมืองที่ไม่ปกติมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเชื้อไฟที่เติมเต็มให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมมากขึ้นเท่านั้น เพชรเข้าร่วมกลุ่มอาชีวะฯ ก็เพราะต้องการแสดงความไม่พอใจถึงการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ 

ชวนรู้จักเพชร >>> อย่าลืม “เพชร” คงเพชร: อีกหนึ่งผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดในปี 2565 

แน็ก — ทัตพงศ์: ถูกจับกุมในช่วงระหว่างการประชุม #APEC2022 ศาลยังคงคำสั่ง “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” แม้ยังไม่มีการพิพากษาคดี

ทัตพงศ์ เขียวขาว หรือ “แน็ก” หนุ่มวัย 25 ปี ซึ่งถูกจับกุมเนื่องจากเดินทางผ่านด่านตรวจเช็กประวัติ ก่อนเข้าเส้นทางรักษาความปลอดภัยของการประชุม APEC เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 และถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 โดยเขาถูกฝากขัง และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน รวมระยะเวลา 61 วันแล้ว

จากบันทึกเยี่ยมของทนายครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 พบว่าแน็กยังคงเคร่งเครียด และถามถึงครอบครัวบอกว่าอยากเจอหน้าแม่ พี่ชาย และแฟนสาว ก่อนหน้าที่จะต้องถูกคุมขังอยู่ในนี้ แน็กเป็นเพียงประชาชนทั่วไป เริ่มช่วยงานบ้านตั้งแต่หลังเรียนชั้นมัธยมจบ โดยที่บ้านมีร้านขายอาหารสด รายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 500 – 600 บาท 

แน็กเล่าให้ฟังอีกว่า เขาไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 โดยไปในฐานะผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งต่างๆ ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ทำให้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตามมาตรา 215-216 เป็นคดีแรกในชีวิต หลังจากถูกจับในครั้งนั้นเขาก็ไม่ค่อยได้เข้าร่วมการชุมนุมอีก จนกระทั่งช่วงการประชุม APEC เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565  ที่ผ่านมา เขากลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมอีกครั้งโดยไม่คาดคิด 

อ่านบันทึกเยี่ยมของแน็ก >>> บันทึกเยี่ยม: “ทัตพงศ์” ถูกคุมขังเกือบเดือน ตั้งแต่ช่วงประชุม APEC หวังได้ออกไปพบหน้าครอบครัว | 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ธ.ค. 2565 และ 14 ม.ค. 2566 ทนายความได้พยายามยื่นคำร้องขอประกันตัวแน็กต่อศาลอีกสองครั้ง แต่ศาลยังคงคำสั่งเดิม “พิเคราะห์แล้วศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีเป็นจำนวน 15 คนแล้ว โดยเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน

X