20 ม.ค. 2568 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกกลุ่มทะลุราม วัย 24 ปี หลังทนายความยื่นประกันเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุคำสั่ง พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องประกอบของจำเลยแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง แม้อุกฤษฏ์ซึ่งถูกขังระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 ยาวนานมาแล้วเกือบ 1 ปี ขอประกันตัวออกไปสอบไล่ตามกำหนดการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุถ้าหากไม่ได้ออกไปสอบ อาจสิ้นสภาพนักศึกษาได้
.
ยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 6 ขอศาลมีคำสั่งอนุญาต หากไม่ได้รับการประกันและไม่ได้ไปสอบไล่ที่มหาวิทยาลัย อาจสิ้นสภาพนักศึกษาได้ แต๋ศาลฎีกายังคงไม่อนุญาต
ในคดีนี้ อุกฤษฏ์ถูกคุมขังในระหว่างฎีกามาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2567 หลังถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 5 ปี 30 เดือน ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความ 5 ข้อความเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และศาลฎีกาไม่ให้ประกันระหว่างฎีกาเรื่อยมา
ซึ่งก่อนหน้านี้อุกฤษฏ์ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนจำคุก 2 ปี ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์โพสต์ข่าวไปยังกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ โดยศาลสมุทรปราการให้ประกันระหว่างฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาไม่ให้ประกันในคดีแรก อุกฤษฏ์จึงได้ถอนการประกันในคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการในเวลาต่อมา
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นขอประกันอุกฤษฎ์ในคดีโพสต์ 5 ข้อความ เป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เขาถูกคุมขังมา ซึ่งในคดีนี้ทนายความได้ยื่นฎีกาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 และศาลมีคำสั่งรับฎีกาแล้ว
คำร้องขอประกันตัวในชั้นฎีการะบุขอวางหลักทรัพย์ 400,000 บาท อันเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น ทั้งยังระบุเหตุผลจำเป็นด้านการศึกษาในการขอประกัน มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
จำเลยเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้ลงทะเบียนสอบซ่อม โดยมีกำหนดสอบซ่อมในวันที่ 25-28 ม.ค. 2568 หากจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกัน และไม่ได้สอบซ่อมตามกำหนดการนี้ อาจทำให้จำเลยสิ้นสภาพนักศึกษาได้ โดยก่อนหน้านี้จำเลยได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้มหาวิทยาลัยจัดสอบให้จำเลยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว แต่คณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีมติไม่อนุมัติดำเนินการตามที่จำเลยร้องขอ
จำเลยมีความจำเป็นด้านการศึกษา และสอบซ่อมเพื่อทำเรื่องขอจบการศึกษาต่อไป จึงขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ประกัน โดยจำเลยยินยอมติด EM และยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ ซึ่งหากจำเลยไม่ได้รับการประกันตัวจะกระทบต่ออนาคตด้านการศึกษาของจำเลยอย่างยิ่ง
อีกทั้งจำเลยไม่เคยกระทำผิดหรือถูกดำเนินคดีใด ๆ มาก่อน และปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับครอบครัว หากจำเลยได้ประกันครอบครัวจะคอยกำกับดูแลจำเลยให้ละเว้นการกระทำที่นำไปสู่การกระทำผิดอีก จึงขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนมารดาและบิดาเลี้ยงของจำเลย เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องขอประกันของจำเลยด้วย
ก่อนหน้านี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยติด EM ซึ่งจำเลยมาตามกำหนดนัดศาลทุกนัด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันในระหว่างฎีกาด้วย หากศาลกำหนดเงื่อนไขและคำสั่งใด ๆ จำเลยยินยอมที่จะปฏิบัติตามทุกประการ
หลังจากทนายความยื่นคำร้องขอประกันไปแล้วนั้น คำร้องดังกล่าวถูกส่งไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่ง ต่อมา ในวันที่ 16 ม.ค. 2568 ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุคำสั่ง “พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องประกอบของจำเลยแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง”
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้อุกฤษฏ์ยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป และอาจสิ้นสภาพนักศึกษาได้จากการที่ไม่สามารถไปสอบไล่ตามกำหนดการของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งจนถึงวันนี้ (20 ม.ค. 2568) เขาถูกขังมาแล้ว 343 วัน
.
ก้อง อุกฤษฏ์ – นักศึกษา ม.รามคำแหง ถูกคุมขังในเรือนจำ มหาลัยไม่อนุญาตให้สอบในเรือนจำ และศาลไม่อนุญาตให้ประกันเพื่อออกไปสอบ
สำหรับ อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยให้สัมภาษณ์กับศูนย์ทนายฯ ไว้ว่าเขาเริ่มออกมาร่วมเคลื่อนไหวและเข้าร่วมกลุ่ม “เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย” ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรง ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
เขาเริ่มจับไมค์ขึ้นปราศรัยบนเวทีอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยไม่ได้คาดคิด ถึง 2 คดี ใน 2 สถานีตำรวจ และถูกฟ้องใน 2 ศาล ซึ่งทั้งสองคดีดังกล่าว ในปัจจุบันศาลได้มีคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ออกมาแล้ว และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อุกฤษฎ์จึงไม่ได้รับโอกาสกลับไปศึกษา รวมไปถึงสอบไล่ตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลกับการสำเร็จการศึกษาของอุกฤษฏ์
อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊กเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยได้โพสต์กรณีของอุกฤษฎ์ว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมติไม่อนุมัติกรณีการขอสอบนอกมหาวิทยาลัยของอุกฤษฏ์ หลังจากเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการสอบไล่นอกมหาวิทยาลัย ต่อคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งในหนังสือดังกล่าวระบุถึงเหตุจำเป็นที่อุกฤษฏ์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีทางการเมือง และใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว ซึ่งยังเหลืออีก 3 กระบวนวิชา รวมทั้งหมดเป็น 9 หน่วยกิต จึงขอความอนุเคราะห์อนุญาตให้อุกฤษฏ์ได้สิทธิสอบนอกสถานที่ เพื่อให้ได้สำเร็จการศึกษาและได้มีโอกาสนำคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถที่ได้รับจากการศึกษาไปเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพในอนาคต
โพสต์ดังกล่าวยังระบุไว้อีกว่า สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จะดำเนินการประสานงานกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือในกรณีนี้ต่อไป
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง