เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ผู้ต้องขังในระหว่างฎีกา ในคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2567 เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน
ทนายความยื่นขอประกันตัวไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ก่อนศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัว ระบุว่า “เหตุที่อ้างตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา มิใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
“ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ย้อนดูคำสั่งที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวณวรรษตั้งแต่ถูกคุมขังปลายปี 67
กรณีของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นั้นถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2567 หลังถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน ในคดีมาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ กรณีปราศรัยใน #ม็อบ13กุมภา64 หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำระหว่างรอคำสั่งประกันตัว ต่อมาวันที่ 12 ธ.ค. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ในช่วงเวลาเกือบสองเดือนที่ณวรรษถูกคุมขังในเรือนจำ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวณวรรษไปแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยทุกครั้งศาลอาญาส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย
ในครั้งแรกเป็นการยื่นประกันตัวทันทีหลังมีคำพิพากษา ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุ “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 7 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”
ต่อมาทนายความยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ศาลฎีกาก็มีคำสั่งยกคำร้องอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ระบุว่า “พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของผู้ประกันแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
ต่อมาในวันที่ 9 ม.ค. 2568 ทนายความยื่นประกันตัวณวรรษเป็นครั้งที่สาม ซึ่งศาลฎีกาก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นเคย โดยระบุคำสั่ง “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่อ้างตามคำร้องของผู้ขอประกันที่ขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา มิใช่เหตุผลอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
ยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 4 แม้ระบุว่าจำเลยมีเหตุไปดูแลบิดามารดาของตนที่เจ็บป่วยและอยู่ระหว่างการพักฟื้นที่บ้าน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวณวรรษเป็นครั้งที่ 4 โดยคำร้องขอประกันตัวมีใจความสำคัญดังนี้
ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ พฤติการณ์ในคดีนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากจำเลยประสงค์ยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีประเด็นที่จะเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ที่พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ดังนั้นการอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างฎีกาซึ่งคดียังไม่สิ้นสุดย่อมแสดงถึงการปฏิบัติตามหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ รวมถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ที่สำคัญนั้น การที่จำเลยได้รับการประกันตัว ย่อมทำให้มีโอกาสกลับไปดูแลบิดาและมารดาซึ่งมีอาการเจ็บป่วยอย่างร้ายแรง โดยบิดาของจำเลยได้ประสบอุบัติเหตุจนต้องเข้ารับการรักษาและผ่าตัดช่วงขาที่โรงพยาบาลเมื่อช่วงปลายปี 2567 ปัจจุบันต้องกลับมารักษาตัวที่บ้าน เคยมีจำเลยเป็นผู้ดูแล หาอาหารการกิน และช่วงพยุงตัวเนื่องจากบิดาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเมื่อปลายปีที่แล้ว มารดาของจำเลยได้ตรวจพบว่าดวงตามีต้อกระจกทั้งสองข้าง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้ปัจจุบันมารดาของจำเลยไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ จำเลยเคยได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี และชั้นอุทธรณ์มาโดยตลอด และภายหลังจากจำเลยได้รับประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเดียวกันกับคำฟ้องในคดีนี้อีก ทั้งยังให้ความร่วมมือเข้าร่วมการพิจารณาคดีทุกนัดตลอดจนการฟังคำพิพากษาชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เหตุดังกล่าวจึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหากจำเลยได้รับการประกันตัวแล้วจะหลบหนี
จำเลยยินยอมให้มีการติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (หรือกำไล EM) หากจำเลยได้รับการประกันตัวแล้วจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายอื่น อีกทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี และขอศาลมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์คดีและพฤติการณ์ส่วนตัวของจำเลยว่าไม่มีพฤติการณ์ที่จะมีความเสี่ยงในการหลบหนี และจำเลยเชื่อมั่นว่าจะได้รับความยุติธรรมและได้รับการประกันตัวจากศาลตามกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันกับคดีมาตรา 112 ของจิรวัฒน์ ที่ได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ต่อมา ศาลฎีกามีคำสั่งลงวันที่ 6 ก.พ. 2568 ให้ยกคำร้องอีกครั้ง โดยระบุในคำสั่งว่า “เหตุที่อ้างตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา มิใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
คำสั่งดังกล่าวยังคงเป็นผลให้ณวรรษถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป ถึงแม้ว่าคดีนี้ยังคงอยู่ในระหว่างยื่นฎีกา จนถึงปัจจุบัน (11 ก.พ. 2568) เขาถูกคุมขังมาแล้ว 65 วัน
ทั้งนี้จากบทบาทขึ้นปราศรัยในการชุมนุม ระหว่างปี 2563-2564 ณวรรษถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองรวมทั้งหมด 20 คดี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น 6 คดี และในวันที่ 17 ก.พ. 2568 นี้ เขาจะถูกนำตัวไปในนัดตรวจพยานหลักฐานของคดีที่ค้างอยู่อีก 2 คดี ได้แก่ ในช่วงเช้าเป็นคดีมาตรา 112 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และในช่วงบ่ายคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแขวงปทุมวัน
อ่านบันทึกเยี่ยมฉบับล่าสุด